ครั้งแรกของโลกสร้าง 'ชุดแสดงผลอักษรเบรลล์' อ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จาก 'แสงซินโครตรอน'

25 ม.ค. 2556


 

แม้ว่าปัจจุบันผู้พิการทางสายตาจะสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านการอ่านอักษรเบรลล์บนกระดาษแล้วก็ตาม แต่การบันทึกอักษรเบรลล์บนกระดาษจะสิ้นเปลืองพื้นที่การจัดเก็บ และจุดอักษรเบรลล์สามารถลางเลือนได้ง่าย อีกทั้งกระดาษยังเสียหายจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ด้วย และมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเผยแพร่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้การเข้าถึงข้อมูลของผู้พิการทางสายตาถูกจำกัด เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้พิการ (Assistive Technology) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถสื่อสารกับข้อมูลเหล่านี้ได้มากขึ้น โดยการสื่อสารกับตัวอักษรที่ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์จะถูกส่งผ่านมายังตัวแสดงผลอักษรเบรลล์ (Refreshable Braille Display) ที่สามารถสร้างและลบจุดนูนผ่านการควบคุมด้วยสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์และสามารถแสดงผลได้อย่างต่อเนื่อง

 

ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และอาจารย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา ได้ร่วมกันผลิตและพัฒนาชุดแสดงผลอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา โดยเมื่อปี 2552 ทีมงานวิจัยประสบความสำเร็จในการผลิตชุดแสดงผลอักษรเบรลล์จิ๋วขนาด 1 เซลล์ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเหรียญบาท แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้งาน คือ การประมวลผลทำได้น้อยเพียงครั้งละ 1 ตัวอักษรเท่านั้น

 

ทีมงานจึงได้ทำการวิจัยพัฒนาชุดอักษรเบรลล์ขนาด 3 เซลล์ด้วยแสงซินโครตรอนขึ้น จน ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ซึ่งเป็นชุดอักษรเบรลล์ที่ผลิตจากแสงซินโครตรอนครั้งแรกและมีเพียงแห่งเดียวของโลก และงานวิจัยดังกล่าวได้รับประกาศเกียรติคุณ “โครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ” ของคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมวุฒิสภา ประเภทองค์กรของรัฐ ที่มีผลงานโดดเด่นในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดร.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า ทีมงานวิจัยได้ใช้เทคนิคเอกซเรย์ลิโธกราฟี ย่านพลังงานรังสีเอกซ์ของแสงซินโครตรอน ในห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งมีอำนาจทะลุทะลวงสูง ในการผลิตชิ้นส่วนของตัวแสดงผลอักษรเบรลล์ขนาด 3 เซลล์ โดยการอาบรังสีเอกซ์ลงบนสารไวแสง SU-8 สามารถสร้างโครงสร้างที่มีผนังตั้งตรงและมีความหนาได้ถึง 1,000 ไมโครเมตร ซึ่งแสงในย่านพลังงานอื่น ๆ

 

ไม่สามารถทำได้  ทำให้ชิ้นงานมีความแม่นยำสูง จากนั้นได้นำชิ้นส่วนที่สร้างจากแสงซินโครตรอนไปประยุกต์ใช้กับตัวแสดงผลอักษรเบรลล์แบบแรงดันลม โดยการออกแบบโครงสร้างให้มีการเคลื่อนที่เหมือนกับลูกสูบ “...การใช้แสงซินโครตรอนผลิตชุดแสดงผลอักษรเบรลล์นั้น จะทำให้ได้ชิ้นส่วนจำนวนมากเพื่อนำมาประกอบเป็นชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ และส่งผลให้ต้นทุนในการสร้างอุปกรณ์ชิ้นนี้ขึ้นมานั้นมีราคาถูกลง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ซึ่งชุดแสดงผลพร้อมโปรแกรมมีราคาแพงกว่า 3 แสนบาทต่อเครื่อง แต่ชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ขนาด 3 เซลล์นี้ มีจุดสัมผัส 18 จุด และมีขนาดตัวอักษรเบรลล์เท่ากับมาตรฐานทั่วไป ถูกพัฒนาให้มีศักยภาพในการประมวลผลการอ่านข้อมูลได้มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งใช้งบประมาณในการจัดทำไม่เกิน 150,000 บาท และหากผลิตเพื่อจำหน่ายคาดว่าไม่เกินเครื่องละ 50,000 บาท เท่านั้น...”

 

ทั้งนี้ ทีมงานวิจัยได้นำชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 3 เซลล์ไปทดสอบกับผู้พิการทางสายตาในโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดนครราชสีมาแล้ว พบว่า คำภาษาไทยค่าเฉลี่ยในการอ่านได้ถูกต้องอยู่ที่ร้อยละ 67 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการอ่านได้ถูกต้องของคำภาษาอังกฤษอยู่ที่ร้อยละ 83 อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 3 เซลล์คือ ความยากในการอ่านด้วยการสัมผัส เนื่องจากลักษณะของหัวจุดเป็นแนวตัดที่ไม่โค้งมน เพราะใช้แสงซินโครตรอนในการสร้างโดยตรง ส่งผลให้พื้นที่ผิวของจุดสัมผัสกับนิ้วและเกิดขอบคมหรือที่เรียกว่า “จุดแตก” ทำให้การสัมผัสมีความคลุมเครือ และเมื่ออ่านเป็นเวลานานปลายนิ้วจะชิน และเกิดความด้านชาขึ้นมา หากสัมผัสเป็นเวลานานทำให้ความเข้าใจในจุดที่สัมผัสลดลง

 

ดร.รุ่งเรือง กล่าวตอนท้ายว่า ขณะนี้ทีมงานวิจัยอยู่ระหว่างการดำเนินการขอจดสิทธิบัตรชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ด้วยแสงซินโครตรอนจากฝีมือคนไทย และในอนาคตทีมงานวิจัย จะพัฒนาต่อยอดให้ได้ชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 10 เซลล์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตชิ้นงานคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในกลางปี 2556 นี้ จากนั้นหากได้รับการสนับสนุนงบประมาณทีมงานวิจัยจะมุ่งพัฒนาให้ชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ดังกล่าวนี้ สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ ทั้ง แท็บเล็ต  หรือ สมาร์ทโฟน ทำให้ใช้งานความสะดวกง่ายขึ้น  และสามารถอ่านสัญลักษณ์ที่เป็นรูปภาพได้นอกเหนือจากตัวหนังสือเท่านั้น เช่น รูปวงกลม รูปดาว รูปสี่เหลี่ยม โดยผู้ใช้สามารถเสียบชุดแสดงผลอักษรเบรลล์เข้ากับอุปกรณ์สื่อสาร

 

ที่มา www.dailynews.co.th

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: