สำนวน4ศพปัตตานีถึงมืออัยการ ระบุข้อหาร่วมกันฆ่า-พยายามฆ่า

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) 31 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2058 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร  เชิญตัวแทนฝ่ายรัฐและประชาชนให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ และบาดเจ็บอีก 4 คน ที่บ้านกาหยี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในวันที่ 29 ม.ค.2555 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ที่มาให้ข้อมูลคือ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.มนตรี อุมารี หัวหน้าคณะทำงานเยียวยาและศาสนา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า นายลือชัย เจริญทรัพย์ นายอำเภอหนองจิก นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.โพธ สวยสุวรรณ รองผบก.ภ.จว.ปัตตานี และ นายอนุกูล อาแวปูเตะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิม

พ.ต.อ.โพธเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพผู้ตายเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งให้พนักงานอัยการปัตตานีไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทำคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนการตาย และได้มีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดให้ศาลต้องไต่สวนการตายในกรณีการวิสามัญฆาตกรรม และการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานของรัฐในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ตำรวจยังได้ตั้งคดีอีก 2 สำนวน ในสำนวนแรก เจ้าพนักงานถูกกล่าวหาว่า กระทำอันเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย โดยในคดีนี้มีผู้ต้องหา 4 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งมีการตั้งข้อหาในประเด็นร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 และ 288 สำนวนที่ 2 คือ เจ้าพนักงานกล่าวหาว่ามีคนร้ายพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ในสำนวนนี้ยังไม่ได้มีการระบุตัวผู้ต้องหาและข้อหาแต่อย่างใด

พ.ต.อ.โพธกล่าวด้วยว่า ในการสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำตามระเบียบทุกประการ เช่น มีล่ามให้ในกรณีที่ผู้ถูกสอบปากคำใช้ภาษามลายูถิ่น และมีผู้ที่ผู้ถูกสอบปากคำให้การไว้วางใจ เข้าร่วมรับฟังทุกครั้ง ในกรณีการสอบปากคำเยาวชน จะมีบิดามารดาและนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมฟังการการสอบสวนทุกครั้ง

นายกมลศักดิ์ แวลีเมาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิม ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการดำเนินคดีกับชาวบ้านที่รอดชีวิต การเยียวยาที่ฝ่ายรัฐพยายามทำอยู่นี้จะไม่มีความหมาย

ด้านนายโกวิทย์ ธารณา ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวว่า เขาเกรงว่าผู้ไม่หวังดีจะเอาเรื่องนี้ไปเป็นประเด็น ถ้าหากว่าชาวบ้านถูกตัดสินว่ามีความผิด เรื่องนี้จะไม่จบ

ขณะที่ พล.ท.อุดมชัยกล่าวว่า ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะไม่เดินไปถึงขนาดที่นายกมลศักดิ์กล่าว แต่จำเป็นที่จะต้องให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมพล.ท.อุดมชัยได้สรุปถึงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กองทัพภาคที่ 4 แต่งตั้งขึ้นให้คณะกรรมาธิการการทราบ ซึ่งคณะกรรมาการชุดดังกล่าวสรุปว่า เหตุการณ์นี้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ โดยฝ่ายประชาชนเป็นผู้บริสุทธิ์ สาเหตุที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากสำคัญผิด เนื่องจากสภาพแวดล้อมในขณะเกิดเหตุมืดและเวลาเกิดนั้นค่อนข้างดึก

ในส่วนของการหาหลักฐานยังทำได้ไม่ถึงที่สุด เพราะชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ โดยแม่ทัพภาค 4 ได้แสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการ ในการจัดตั้งองค์คณะที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินการด้านนิติวิทยาศาสตร์ขึ้นในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน รวมทั้งให้มีนักจิตวิทยาเข้าไปดูแลทหารที่ทำงานภายใต้ภาวะกดดันเป็นเวลานาน

นายอนุกูลซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้มีคุณค่ามาก ในการคลี่คลายความคลางแคลงใจของชาวบ้าน แต่การหาหลักฐานอาจจะยังมีความติดขัดอยู่ เพราะชาวบ้านไม่เชื่อมั่น และไม่อยากให้ความร่วมมือในการพิสูจน์หลักฐานกับรัฐ ยกตัวอย่างเรื่องการผ่าศพชันสูตรที่หลายครั้งชาวบ้านปฏิเสธ เพราะเชื่อว่าผิดหลักการทางศาสนา ชาวบ้านตั้งคำถามว่า เมื่อผ่าศพแล้วศพเสียหาย ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร เขาไม่เชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม

ด้านนายปิยะกล่าวว่า ในช่วงต้นเดือนเม.ย.นี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. จะได้เสนอเรื่องให้กับทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พิจารณาว่า ผู้ที่เสียชีวิต 4ศพ เข้าข่ายที่จะได้รับเงินเยียวยา 7 ล้านบาทหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้เข้าเงื่อนไขทุกอย่าง แต่จะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับมติของกพต. โดยในเบื้องต้น ศอ.บต.ได้อนุมัติการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 4 คนไปแล้ว รายละ 5 แสนบาท

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: