ตั้งกก.แก้ปัญหาฝายราศีไศล เตรียมชดเชยกว่า130ล้าน

31 มี.ค. 2555


 

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ครั้งที่ 1/2555 โดยมี นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ผลสรุปที่ประชุมเห็นชอบผลการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการระดับจ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด และได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิครบ 30 วัน ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดคัดค้าน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรต่อไป โดยขอใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่ถือปฏิบัติในการจ่ายทุกครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด มีหนังสือแจ้งฝ่ายเลขานุการว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์และร้อยเอ็ด มีมติเห็นชอบรวม 2 กรณี คือ 1.บัญชีรายชื่อราษฎรที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะทำงานแก้ไขปัญหาฯ ระดับอำเภอ ซึ่งประกาศรับรองการทำประโยชน์แล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน แยกเป็นจังหวัดศรีสะเกษ 4 แปลง เนื้อที่ 29-1-83.40 ไร่, สุรินทร์ 22 แปลง เนื้อที่ 49-1-98 ไร่ รวมจำนวน 26 แปลง เนื้อที่ 78-3-81.40 ไร่ ไร่ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 2,526,512 บาท

2.บัญชีรายชื่อราษฎรที่ผ่านการตรวจสอบของคณะทำงานพิจารณาคำร้องคัดค้านประกาศอำเภอ (อุทธรณ์) ว่า ได้ทำประโยชน์ในลักษณะท้องถิ่นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2543 ประกอบกับมติการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล กับคณะทำงานพิจารณาคำร้องคัดค้านประกาศอำเภอ (อุทธรณ์) ทั้ง 3 จังหวัด เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2552 แยกเป็น จังหวัดศรีสะเกษ 528 แปลง เนื้อที่ 1,844-1-26.20 ไร่สุรินทร์ 273 แปลง เนื้อที่ 1,440-1-79 ไร่ ร้อยเอ็ด 315 แปลง เนื้อที่ 809-2-00.10 ไร่ รวม 1,116 แปลง เนื้อที่ 4,094-1-05.30 ไร่ ไร่ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 131,016,424 บาท รวม 2 กรณี เป็นจำนวน 1,142 แปลง เนื้อที่ 4,173-0-86.70 ไร่ อัตราไร่ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 133,542,936 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมยังมีการเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการจ่ายค่าชดเชยในแต่ละจังหวัด เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายค่าชดเชยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง ตามที่เสนอคณะรัฐมนตรีและได้ให้ความเห็นชอบมาแล้ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ กรรมการประกอบด้วย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด อัยการจังหวัด คลังจังหวัด นายอำเภอท้องที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน ผู้แทนกลุ่มสมัชชาเกษตรภาคอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรฝายราษีไศล ผู้แทนกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนกลุ่มอิสระ ผู้แทนกลุ่มสมัชชาลุ่มน้ำมูล ผู้แทนกลุ่มสมัชชาคนจน ผู้แทนกลุ่มชาวนา 2000 และมีผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง เป็นกรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลการจ่ายค่าชดเชยในแต่ละจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ คือ 1.พิจารณาและควบคุมการโอนจ่ายเงินค่าชดเชยให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ จำนวนเนื้อที่ และจำนวนเงินค่าชดเชย ตามคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 2.ปฏิบัติงานอื่นที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล เนื่องจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 65/2552 ลงวันที่ 27 ก.พ.2552 หมดวาระจากโครงการฝายราษีไศล ทั้ง 3 จังหวัด (ศรีสะเกษ, สุรินทร์, ร้อยเอ็ด) ที่แต่งตั้งโดยประธานกรรมการฯ ชุดเดิมหมดวาระตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของโครงการฝายราษีไศลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราศีไศล ในแต่ละจังหวัดทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้ องค์ประกอบ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 ธนารักษ์พื้นที่จังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน นายอำเภอท้องที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนกลุ่มสมัชชาเกษตรภาคอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรฝายราษีไศล ผู้แทนกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนกลุ่มอิสระ ผู้แทนกลุ่มสมัชชาลุ่มน้ำมูล ผู้แทนกลุ่มสมัชชาคนจน ผู้แทนกลุ่มชาวนา 2000 โดยมีหัวหน้าฝ่ายจัดหาที่ดิน 8 กรมชลประทาน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

อำนาจหน้าที่ 1. ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ พิจารณาแก้ไขปัญหา

1.แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อมอบหมายให้ดำเนินการตรวจสอบการครอบครองและการทำประโยชน์ของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล 2.รายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป 3.ปฏิบัติงานอื่นที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการนี้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: