นศ.ฮือบุกศาลากลางขอนแก่นค้านเวทีจัดการน้ำอีสาน รุมจวกไม่เป็นธรรม-ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน

31 ต.ค. 2555


 

 

วันที่ 29 ตุลาคม กลุ่มนักศึกษาในนามพรรคสามัญชน ประมาณ 30 คน เข้าคัดค้านการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 4 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) พื้นที่ 9 : ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ฝั่งขวา ในโครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่ ณ ห้องประชุมพระธาตุขามแก่น ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ที่มี นายธนวัฒน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุม

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมจะเริ่มต้น กลุ่มนักศึกษาได้เข้าไปในห้องประชุม และประกาศขอให้ยุติการประชุมครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า เวทีประชุมนี้ไม่มีกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นจึงอ่านคำแถลงการณ์ ต่อมาจึงมีผู้ประชุมบางคนเข้ามาเจรจากับกลุ่มนักศึกษาที่คัดค้านโครงการระบบโครงข่ายน้ำฯ โดยอ้างเหตุผลว่า ได้มีเวทีประชาพิจารณ์แล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เช่น อ.โคกโพธิ์ไชย และ อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น และขอให้กลุ่มผู้คัดค้านออกจากห้องประชุม เพื่อให้การประชุมได้ดำเนินต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กลุ่มนักศึกษาตอบโต้ว่า เวทีที่ประชาวิจารณ์มีขึ้นก่อนหน้านี้ ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงการส่งตัวแทน ซึ่งล้วนแต่มาจากองค์กรของภาครัฐเข้ามาร่วมทั้งสิ้น พร้อมยกประเด็นเรื่องเขื่อนห้วยสามหมอ ที่ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการโขง เลย ชี มูน ที่หากสร้างสำเร็จ จะเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่กว่าเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศถึง 4 เท่า และมีพื้นที่กว่า 400,000 ไร่ ที่ได้รับผลกระทบ ต้องอพยพผู้คนกว่า 20,000 ครอบครัวหรือกว่าหนึ่งแสนคน ออกจากพื้นที่ดังกล่าว และกลุ่มผู้คัดค้านยังคงยืนยันในเจตนารมณ์ต่อไปว่า จะไม่ยอมให้โครงการนี้เกิดขึ้น และจะไม่ล่าถอยจนกว่าจะยุติเวทีประชุมครั้งนี้

 

    “การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผลประโยชน์ก็ไม่ได้ตอบสนองภาคประชาชนโดยแท้จริง ดังนั้นเวทีดังกล่าวจึงขาดความชอบธรรม และเราจึงต้องการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงจุดยืนให้มีการดำเนินการจัดเวทีใหม่โดยให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง” น.ส.ศศิประภา ไร่สงวน ตัวแทนพรรคสามัญชน กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากนั้นสถานการณ์ภายในห้องประชุมเริ่มตึงเครียดขึ้น มีการปะทะคารมระหว่างผู้เข้าประชุมกับกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอยู่ตลอดเวลา ส่วนด้านนอกห้องประชุมก็เริ่มเกิดความวุ่นวาย โดยผู้ร่วมประชุมรายอื่นๆ เริ่มทยอยเข้ามาลงทะเบียน แต่ยังรอกันอยู่ข้างหน้าห้องประชุม จนกระทั่ง นายธนวัฒน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าฯขอนแก่น ต้องเข้ามาเจรจากับกลุ่มผู้คัดค้าน แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ส่วนกลุ่มนักศึกษายังคงปราศรัยให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความวุ่นวาย จนกระทั่งผู้เข้าร่วมประชุมที่อยู่ภายนอกสามารถเข้ามาในห้องประชุมได้

 

จากนั้นเวลาประมาณ 09.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 15 นาย ซึ่งบางคนพกอาวุธปืนเข้ามาในห้องประชุม และพยายามกดดันให้กลุ่มผู้คัดค้านออกจากพื้นที่ ซึ่งผู้คัดค้านเองได้คล้องแขนเกี่ยวกันเป็นหน้ากระดาน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผลักดัน ต่อมากลุ่มนักศึกษาได้ส่งตัวแทนมาเจรจากับผู้จัดงาน กระทั่งมีข้อตกลงว่า จะออกจากห้องประชุมโดยสันติ และขอให้รับรองความปลอดภัยของกลุ่มผู้คัดค้านด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการระบบเครือข่ายน้ำฯ ในครั้งนี้ว่า เป็นเพียงขั้นของการศึกษาของโครงการที่พยายามจะรวมน้ำในลุ่มน้ำชีมาไว้ที่เดียวกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทชีวิตความเป็นอยู่ของคนในลุ่มน้ำ ถือเป็นโครงการที่อัปลักษณ์ที่จะศึกษาความเหมาะสม (FS) ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) โดยการทำประชาพิจารณ์หรือกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาไม่พร้อมกัน ทั้งนี้กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนควรให้ประชาชนมีส่วนกำหนดตัวโครงการก่อนที่จะเริ่มขบวนการทั้งหมด ไม่ใช่รวบมาเป็นกระบวนการเดียว

 

 

                   “แม้โครงการจะมีงบประมาณมากแต่ไม่ใช่ตัวกำหนดว่าโครงการว่าดี ซึ่งโครงการนี้ใช้งบศึกษาถึง 865 ล้านบาท ชาวบ้านจึงมีความชอบธรรมที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการ” นายหาญณรงค์กล่าว

 

 

อีกทั้งเวทีการมีส่วนร่วมที่ประชาชนไม่ได้ร่วมให้ความเห็นอย่างแท้จริง ส่วนมากจะไม่ได้ยกเรื่องความต้องการของประชาชนในพื้นที่โครงการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มาเป็นประเด็นในการพูดคุย ดังนั้นเราจึงมีบทเรียนมากมาย ที่ว่าโครงการจัดการน้ำของรัฐไม่ได้ตอบสนองต่อภาคประชาชน

 

สำหรับ โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่ เพื่อทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ มีสาระสำคัญ คือ 1.ศึกษาวางโครงข่ายการพัฒนา ปรับปรุง อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และปัญหาความยากจน ในมิติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศึกษาจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2.ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (FS) งานศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) งานศึกษาประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) และงานศึกษาประเมินผลกระทบด้านสังคม (Social Impact Assessment: SIA) ของโครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่เครือข่าย ครอบคลุม พื้นที่ปกครอง 11 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ

 

โครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่เครือข่าย ประกอบด้วย พื้นที่ 1 ห้วยน้ำโสม พื้นที่ 2 ห้วยน้ำโมง พื้นที่ 3 ห้วยน้ำสวย พื้นที่ 4 ห้วยหลวง พื้นที่ 5 ลำพะเนียง พื้นที่ 6 เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ พื้นที่ 7 น้ำเชิญ-น้ำพรม พื้นที่ 8 ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ฝั่งซ้าย พื้นที่ 9 ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ฝั่งขวา พื้นที่ 10 ลำปาวตอนบน พื้นที่ 11 ห้วยสายบาตร พื้นที่ 12 ลำปาวฝั่งขวา พื้นที่ 13 ลำปาวฝั่งซ้าย พื้นที่ 14 น้ำสงครามตอนบน พื้นที่ 15 น้ำสงครามตอนกลาง พื้นที่ 16 น้ำสงครามตอนล่าง พื้นที่ 17 น้ำยาม พื้นที่ 18 น้ำอูน พื้นที่ 19 ริมน้ำโขง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยมีขอบเขตการศึกษา ดังนี้ 1)งานศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ในการบริหารจัดการน้ำภายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การใช้น้ำพรมแดนแม่น้ำโขง และการใช้น้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน 2) งานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (FS) งานศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) งานศึกษาประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) และงานศึกษาประเมินผลกระทบด้านสังคม (Social Impact Assessment: SIA) ของโครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤตน้ำ 19 พื้นที่เครือข่าย

 

3.งานศึกษา ติดตั้งสถานีตรวจวัดปริมาณน้ำ (โทรมาตร) และติดตาม ตรวจวัดปริมาณน้ำในแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และบริเวณพรมแดนแม่น้ำโขง (ฝั่งไทย) 4.งานศึกษาจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการบริหารน้ำอย่างบูรณาการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5.งานศึกษารูปแบบองค์กร การบริหารจัดการน้ำ การปรับโครงสร้างการผลิต การเพิ่มมูลค่าผลผลิตและการตลาด ตลอดจนกฎระเบียบ ข้อบังคับ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ 6.งานรับฟังความคิดเห็น การประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนรวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

 

อ่านข้อมูลโครงการที่:

http://www.publicconsultation.opm.go.th/phs/new_phs_proj_view.asp?editId=P540506001

http://www.thaiwatergrid.com/

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: