30เครือข่ายจี้รัฐแก้ปัญหามลพิษ หยุดขยายอุตสาหกรรมทั่วปท.

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 30 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2294 ครั้ง

กว่า 20 ปี นับจากการปรับปรุงปฏิรูปกฎหมาย และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษของประเทศไทย ขณะเดียวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ รุดหน้าไปมาก พร้อมๆ กับการตามมาของปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน ที่เกิดจากมลพิษอุตสาหกรรม และความขัดแย้งในสังคม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกระจายวงกว้าง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะการส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศยังดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่การจัดการกับปัญหามลพิษ การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางนโยบายและโครงการพัฒนายังคงมีปัญหา

 

 

มูลนิธิบูรณะนิเวศ, โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม, ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จึงร่วมกันจัดงานสัมมนา “20 ปีมลพิษอุตสาหกรรมไทย: ปัญหาและการจัดการ” ในวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายผู้ป่วยโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายกิตติ สิงหาปัด ดำเนินรายการ

 

จากนั้นเครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย และองค์กรพัฒนาเอกชน 30 เครือข่าย-องค์กร นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายจากเวทีสัมมนาฯ 3 ประเด็นหลักคือ

 

เสนอพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

 

 

1.รัฐบาลต้องเคารพสิทธิชุมชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาพื้นที่ตนเอง

2.การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ต้องคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่มุ่งเน้นแต่เพียงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และรัฐต้องกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาใหม่ โดยไม่ยึดติดแต่ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เท่านั้น

3.การกำหนดนโยบายการพัฒนาของรัฐ ทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และการรักษาความมั่นคงทางอาหาร และจะต้องไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งประมง

4.ในการส่งเสริมการลงทุน ต้องคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่และชุมชน และทำให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น โดยไม่ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพชุมชน

5.ต้องปฏิรูปกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศทุกฉบับที่ไม่รับรองและคุ้มครองสิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการมลพิษ

 

 

แนะแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการขยายอุตสาหกรรม

 

 

1.รัฐต้องคำนึงถึงมาตรการป้องกันเชิงพื้นที่ ให้มีความเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เช่น ผังเมือง, ประกาศเขตควบคุมมลพิษ, ประกาศเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ประกาศเขตคุ้มครองความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

2.รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมือง ทั้งในระดับชุมชน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ตลอดจนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผังเมืองอย่างเคร่งครัด และเมื่อร่างผังเมืองได้่ผ่านขั้นตอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว รัฐต้องป้องกันมิให้มีการดำเนินการใดที่ขัดต่อร่างผังเมืองดังกล่าว

3.รัฐต้องกำหนดให้ผังเมืองเก่าที่หมดอายุมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีผังเมืองใหม่ใช้บังคับ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย

4.รัฐต้องคุ้มครองพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ก่อนการพิจารณาอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์

5.ต้องมีการกำหนดระยะเวลาการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรม

6.การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ในด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพชุมชนเป็นสำคัญ

7.รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการให้สัมปทาน หรือการประมูลโครงการขนาดใหญ่ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

 

8.ต้องปรับปรุงกระบวนการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอไอ) เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติ-อนุญาตโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.1 กำหนดหลักเกณฑ์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำอีไอเอให้ชัดเจน

1.2 จัดทำระบบที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการของโครงการตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ

1.3 ต้องมีระบบการรับเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และเร่งดำเนินการตรวจสอบ-แก้ไขปัญหาให้รวดเร็วและเท่าทันต่อสถานการณ์

1.4 แก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในระบบการจัดจ้างทำอีไอเอ โดยยกเลิกระบบที่ให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโดยตรง และสร้างระบบที่มีองค์กรกลางเข้ามาจัดการแทน

 

 

แก้ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว

 

 

1.รัฐต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม ก่อนที่จะอนุญาตให้มีอุตสาหกรรมเพิ่มเติม

2.การขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมแล้ว ต้องมีการศึกษาศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ในภาพรวม  และเปิดเผยข้อมูลการศึกษาต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาอนุมัติ-อนุญาตอุตสาหกรรมเพิ่มเติม

3.ต้องมีการกำหนดพื้นที่กันชนระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย

4.รัฐต้องจัดทำระบบและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย

5.รัฐต้องจัดให้มีระบบการจัดการขยะอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงป้องกันและลดปัญหาขยะอุตสาหกรรม และการจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ต้องเป็นระบบที่เข้าถึงและตรวจสอบได้โดยสาธารณะ

6.หน่วยงานอนุมัติ-อนุญาต ต้องมีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษ และฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจดังกล่าว

7.หน่วยงานที่-อนุมัติอนุญาต ต้องใช้อำนาจในการกำกับดูแลโครงการ และต้องรับผิดชอบหากโครงการก่อให้เกิดผลกระทบ หากละเลยหรือเพิกเฉยต้องรับโทษทางวินัย หรือโทษอื่นใดตามกฎหมาย

 

8.การจัดสรรทรัพยากรน้ำ ต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ของชุมชนก่อนภาคอุตสาหกรรม

9.ต้องมีองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

10.ต้องมีระบบการแก้ไขเยียวยาปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

11.ให้มีกองทุนในการเยียวยาความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในการบริหารจัดการกองทุนต่อสาธารณะ

 

ในการรวมตัวกันครั้งนี้ พวกเราเห็นร่วมกันว่า การพัฒนาทางด้านวัตถุอย่างเดียวอย่างไม่สมดุลย์ เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสังคม จึงต้องมีการพัฒนาทางด้านจิตใจและความคิดของคนในสังคมควบคู่ไปด้วย   ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอข้างต้นให้บรรลุผลได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมือง ให้มีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมพร้อมกันไปด้วย

 

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: