พยาบาลจี้รัฐทำตามนโยบายที่แถลงสภาฯ แฉซ้ำปัญหารุมเร้า-บีบคั้นจนต้องลาออก วิจัยชี้ร.พ.ทั่วปท.ต้องการอีกกว่า4หมื่นคน แนะทางแก้ 5 ข้อดึงคนเก่า-สร้างคนใหม่

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 30 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4449 ครั้ง

จากกรณีที่ศูนย์ข่าว TCIJ ได้นำเสนอข่าวกลุ่มวิชาชีพพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ เตรียมรวมตัวกันเพื่อออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลโดย กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ.เร่งแก้ไขปัญหาการบรรจุตำแหน่งราชการให้กับพยาบาลลูกจ้าง และ ปัญหาความการขึ้นสู่ตำแหน่งพยาบาลชำนาญการพิเศษที่ยังติดขัดอีก 300 กว่าตำแหน่ง โดยระบุว่าหากรัฐบาลยังไม่เร่งแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จะมีการรวมตัวกันหยุดงาน พร้อมเรียกร้องให้สังคมหันมาให้ความสำคัญกับอาชีพพยาบาลเนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องทำงานในสภาวะกดดัน และความคาดหวังของสังคมจนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัจจุบันเกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านพยาบาลอย่างรุนแรง

 

นายกฯแถลงชัดจะพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพทั้งระบบ

 

ทั้งนี้ศูนย์ข่าว TCIJ ได้ติดตามข้อมูลในปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้เข้าขอข้อมูลจาก ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล ซึ่งได้ติดตามศึกษาประเด็นดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้มีการดำเนินการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อการแก้ปัญหาและเตรียมที่จะนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ดร.กฤษดาเปิดเผยว่า จากนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 ที่ผ่านมา มีนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาสุขภาพของประชาชนอยู่ด้วย ระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายลงทุนด้านบริการสุขภาพ โดยการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพทั้งระบบ พัฒนาระบบสารสนเทศด้านสาธารณสุข และเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอและยัง กำหนดแผนงานแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรในพื้นที่ สนับสนุนให้มีการเร่งผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้กลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนาในชนบท พร้อมกับการสร้างขวัญกำลังใจในเรื่องของความก้าวหน้าและค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งการแถลงนโยบายครั้งนั้นถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ที่จะทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

นอกจากนี้นโยบายด้านสาธารณสุข 16  ประการ ของนายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข ก็ได้สร้างความชัดเจนในแนวทางการพัฒนาการสาธารณสุขของประเทศ  และการพัฒนาบุคลากร  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พยาบาลที่ยังมีความขาดแคลน และปัญหาความก้าวหน้าของผู้ประกอบวิชาชีพที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนต้องการบริการเพิ่ม-ข้อจำกัดการจ้าง สาเหตุปัญหาขาดแคลนพยาบาล

 

ชี้มี 2 ปัจจัยทำให้ขาดแคลนพยาบาล

 

ดร.กฤษดากล่าวว่า ปัจจุบันการขาดแคลนพยาบาล ซึ่งเป็นกำลังคนหลักในระบบบริการสุขภาพ ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพยาบาล พบว่ามี 2 ประการหลัก คือ  ความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น และ หน่วยงานมีข้อจำกัดในการจ้างงาน และไม่สามารถรักษากำลังคนพยาบาลไว้ในระบบบริการสุขภาพได้ตามความต้องการ สวนทางกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และระบาดวิทยา ประกอบกับการขยายหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนไทย และการขยายบริการสุขภาพ เพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ ในฐานะศูนย์กลางการบริการการแพทย์ (Medical Hub) ในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ให้มีความต้องการพยาบาลเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาคลี่คลายลงจนถึงปัจจุบัน

 

อนาคตคนไทยต้องการพยาบาล 1 คน ต่อ 400 คน

 

จากข้อมูลผลการศึกษาของสภาการพยาบาล เพื่อคาดประมาณความต้องการพยาบาลในระยะ 10 ปีข้างหน้า ด้วยวิธี Health Demand Method ทั้งจากการใช้บริการสุขภาพของประชาชนไทย ประมาณ 65 ล้านคน และชาวต่างชาติ พบว่า ในระหว่างปี พ.ศ.2553-2562 ประเทศไทยจะมีความต้องการพยาบาลใน อัตราส่วนพยาบาล 1 คน ต่อ 400 ประชากร หรือประมาณ 163,500-170,000 คน ซึ่งผลการสำมะโนประชากรในปีพ.ศ. 2553 พบว่ามีประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 65.4 ล้านคน ควรจะต้องมีพยาบาลวิชาชีพประมาณ 163,500 คน ในขณะที่มีพยาบาลวิชาชีพอายุน้อยกว่า 60 ปี ทำงานในภาคบริการสุขภาพทั่วประเทศ ประมาณ 130,388 คน (ข้อมูลของสภาการพยาบาล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2554) ยังขาดแคลนอยู่ ประมาณ 33,112 คน ซึ่งเป็นการขาดแคลนในกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด ประมาณ 21,000 คน สำหรับพยาบาลด้านอาชีว-อนามัย มีความต้องการอีกประมาณ 8,000 คน สำหรับการดูแลด้านสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพและการขาดแคลนนี้ จะมากยิ่งขึ้นถ้าพยาบาลวิชาชีพที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว 18,000 คน ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนการขาดแคลนในโรงพยาบาลอื่นๆ ในสังกัดภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชน ประมาณ 12,100 คน  จำนวนพยาบาลที่ทำงานในภาคบริการของประเทศในปัจจุบัน  มีจำนวนใกล้เคียงกับไต้หวัน  ในขณะที่มีประชากรของประเทศไทยสูงกว่าไต้หวัน 3 เท่า รวมประมาณการขาดแคลนพยาบาลโดยรวมในปัจจุบันมีสูงถึง  41,100 คน

 

ขาดแคลนพยาบาลทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น

 

ดร.กฤษดากล่าวต่อว่า ปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ไม่ได้เกิดเพียงเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จากสาเหตุที่แตกต่างกัน จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า ความเพียงพอของพยาบาล ส่งผลสำคัญที่จะสามารถลดอัตราการตายของมารดาและทารกลงได้ เพราะจะสามารถให้ความครอบคลุมการให้วัคซีนในเด็กเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการขาดแคลนพยาบาล ยังส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชน โรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง ไม่สามารถเปิดแผนกผู้ป่วยหนักได้ บางแห่งไม่สามารถเปิดให้บริการหอผู้ป่วยในใหม่ให้เพียงพอได้ ทั้งที่มีอาคารและเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆพร้อมแล้ว ทำให้เกิดสภาพผู้ป่วยล้นเตียง

นอกจากนี้ยังพบว่า โรงพยาบาลที่ขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น อัตราการตายในโรงพยาบาลสูงขึ้น และระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาลของผู้ป่วยนานขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอีกด้วย

 

สาเหตุสำคัญคือต้องการมากแต่ผลิตน้อย

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้พยาบาลขาดแคลนมากนั้น ดร.กฤษฎากล่าวว่า เป็นประเด็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอด แต่กลับยังพบว่ายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยสาเหตุหลักๆ ได้แก่ 1.ความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ในขณะที่รัฐมีข้อจำกัดในการผลิต  ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาการบริการด้านสุขภาพมากขึ้น ทั้งด้านความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งการขยายสถานบริการสาธารณสุขไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศถึงระดับตำบล และจากความสำเร็จของระบบประกันสุขภาพ หลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันประชาชนไทยมีหลักประกันครอบคลุมถึง ร้อยละ 97.4 และ ก็ทำให้มีประชาชนมาใช้บริการสุขภาพในสถานบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จึงเป็นการเพิ่มผู้ป่วยมากขึ้น

 

“จากรายงานการให้บริการของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีการใช้บริการผู้ป่วยนอก, ผู้ป่วยในและการผ่าตัดเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 21.77, ร้อยละ 14.58 และร้อยละ 33.36 ตามลำดับ แต่กำลังคนพยาบาลมีอัตราเพิ่มเพียงร้อยละ 9.01 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งเป็นผลของการลดการผลิตพยาบาลวิชาชีพ และนโยบายการลดขนาดกำลังคนภาครัฐ ตั้งแต่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปีพ.ศ.2540 เป็นต้นมา ทำให้มีพยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษาใหม่ เข้าทำงานในโรงพยาบาลภาครัฐลดลง ตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 เป็นต้นมา ประกอบกับมีการขยายตัวอย่างมากของบริการสุขภาพภาคเอกชน โดยเฉพาะการส่งเสริม Medical Hub ส่งผลให้ความต้องการพยาบาล เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอีกด้วย” ดร.กฤษดากล่าว

 

อาจารย์พยาบาลก็ขาดแคลน

 

ดร.กฤษฎากล่าวต่อว่า นอกจากนั้นการพัฒนาศูนย์การแพทย์ที่เป็นเลิศ (Excellent center) ของโรงพยาบาลต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีการรักษาพยาบาลขั้นสูง เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ในการเปิดเสรีการค้าบริการสุขภาพ ส่งผลให้มีความต้องการที่จะต้องพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญของพยาบาลเฉพาะทาง ให้สอดคล้องกับด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่องอีกปีละกว่า 1,000 คน  ซึ่งความต้องการกำลังคนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้เอง ทำให้สถาบันการศึกษาพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างต้องเพิ่มการผลิตพยาบาลจาก ปีละ 6,000 คน เป็น ปีละ 7,000-8,500 คน ระหว่างปี 2549-2553 (Mega project) และจะต้องเพิ่มเป็น ประมาณ 9,000 คนต่อปี ระหว่างปี 2554-2559 อย่างไรก็ตามปัญหาก็ยังเกิดตามมาอีก เมื่อยังคงมีข้อจำกัดจากการขาดแคลนอาจารย์พยาบาลอีกกว่า 1,000 คน  เนื่องจากขาดแรงจูงใจผู้ที่จะเข้าทำงานเป็นอาจารย์

 

ขาดตำแหน่งบรรจุเป็นขรก.ยิ่งไหลไปสู่ร.พ.เอกชน

นอกจากนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์การพยาบาลกำลังรุนแรงมากขึ้น อีกประเด็นหนึ่งคือ การขาดตำแหน่งราชการบรรจุพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งจากนโยบายลดขนาดกำลังคนภาครัฐ  ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี2545เป็นต้นมา ทำให้มีการยกเลิกการให้ทุนนักศึกษาพยาบาล ที่เดิมได้รับการคัดเลือกจากชนบท และรับทุนการศึกษาเพื่อเรียนในสถาบันการศึกษาพยาบาลใกล้บ้าน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เพื่อทำงานในภูมิลำเนา ที่ดำเนินการมากว่า 50 ปี

แต่เมื่อมีการยกเลิกการให้ทุนและลดกรอบอัตราตำแหน่งราชการทำให้กระทรวงสาธารณสุข และภาครัฐ ต้องจ้างพยาบาลเป็นลูกจ้างชั่วคราว ในขณะที่ภาคเอกชนเริ่มขยายบริการหลังวิกฤติเศรษฐกิจ และต้องการพยาบาลเพิ่มด้วยเช่นกัน

จากข้อมูลพบว่า ในระหว่างปี 2549-2553 จำนวนพยาบาลวิชาชีพทำงานเต็มเวลาในโรงพยาบาลเอกชน เพิ่มจาก11,000 คน เป็น 15,000 คน เป็นการเพิ่มถึงร้อยละ 36.36 ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งการเข้างานสู่งานในภาคเอกชนของพยาบาลวิชาชีพปีละประมาณ 1,000 คน สภาการพยาบาลคาดว่า ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ภาคเอกชนจะต้องการพยาบาล ถึง 20,000 คน เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ได้เข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพจาก JCI ที่กำหนดให้มีการจัดอัตรากำลังพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ตามมาตรฐานบริการพยาบาลสากล ซึ่งมาตรฐานอัตรากำลังของพยาบาลไทยต่ำกว่าที่กำหนดของมาตรฐานวิชาชีพอยู่ถึงร้อยละ 30 ซึ่งหากปล่อยให้การแข่งขันในกลไกตลาดแรงงานดำเนินต่อไป อาจทำให้เกิดการบริการ 2 มาตรฐานระหว่างภาครัฐ และเอกชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของประชาชนไทยที่ไม่มีกำลังจ่าย

 

“ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีพยาบาลที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวประมาณ 18,000 คน และยังขาดแคลนทั่วประเทศอยู่อีกประมาณ 33,112 คน  ซึ่งการขาดแคลนก็จะทำให้ผู้ที่อยู่ในระบบต้องทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อความผิดพลาด และการฟ้องร้องก็จะทำให้มีการลาออกมากขึ้น การขาดแคลนกำลังคนในกระทรวงสาธารณสุข และภาครัฐอื่นๆ นี้ ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่ง มีการปรับตัวอย่างไร้ทิศทาง เพื่อให้สามารถดึงดูดให้พยาบาลเข้ามาทำงาน และรักษาคนไว้ในระบบ โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนต่างๆในโรงพยาบาลในเมืองให้ทัดเทียมภาคเอกชน ทำให้ขาดแรงจูงใจที่คนจะไปทำงานในเขตชนบท เพราะค่าตอบแทนต่ำกว่า  ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายภาครัฐสูงขึ้นในขณะที่ได้ประสิทธิผลเท่าเดิม  ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ จะทำให้ต้นทุนด้านสุขภาพของประชาชนสูงขึ้นอย่างแน่นอน” ดร.กฤษดาระบุ

 

น่านสูญเสียพยาบาลสูงถึงร้อยละ 90 ต่อปี

 

นอกจากจะมีการสูญเสียพยาบาลเนื่องจากการสูงอายุ และเกษียณอายุกว่าปีละ 2,000 คนในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าแล้ว ยังพบว่ามีการสูญเสียพยาบาล ที่ลาจากวิชาชีพก่อนวัยอันควรอีกด้วย ผลการศึกษาเพื่อคาดประมาณระยะเวลาการทำงานในวิชาชีพพบว่า ในช่วง ปี 2538 และปี 2548 พยาบาลวิชาชีพ มีระยะเวลาทำงานในงานบริการสุขภาพเฉลี่ย เพียงคนละ 22.5 ปีเท่านั้น และมีอัตราการสูญเสียร้อยละ 4.45 ต่อปี  สาเหตุสำคัญของการออกจากวิชาชีพก็คือ การขาดความก้าวหน้าในการทำงาน มีปัญหาสุขภาพ ค่าตอบแทนน้อย งานหนัก และการขาดความมั่นคงจากการถูกจ้างานเป็นลูกจ้างชั่วคราว

โดยในปี 2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่กระทรวงสาธารณสุขไม่มีตำแหน่งข้าราชการรองรับพยาบาลที่สำเร็จการศึกษา จึงต้องจ้างพยาบาลวิชาชีพเป็นลูกจ้างชั่วคราว จากเงินบำรุงของหน่วยบริการ มีการสูญเสียพยาบาลวิชาชีพสูงถึงร้อยละ 23.3 ของผู้สำเร็จการศึกษาในปีนั้น โดยจังหวัดที่อยู่ห่างไกลมีอัตราการสูญเสียสูงมาก เช่น จ.น่าน มีการสูญเสียถึงร้อยละ 90 ของจำนวนโควต้าพยาบาลที่จังหวัดได้รับจัดสรร ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าอัตราการสูญเสียต่ำมาก เพียงร้อยละ 7.7 ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงเกิดวิกฤตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงสาธารณสุขใช้มาตรการพิเศษ โดยการจัดสรรอัตราตำแหน่งว่างที่มีอยู่ในขณะนั้น เพื่อใช้บรรจุพยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นโควตาของพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียพยาบาลวิชาชีพออกจากพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

 

มูลค่าความสูญเสียจากการลาออกสูงถึงปีละ 90 ล้านบาท

 

ดร.กฤษฏายังให้ข้อมูลต่ออีกว่า จากผลการศึกษาเดียวกัน ยังพบด้วยว่า การลาออกของพยาบาลวิชาชีพที่เป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 95 แห่ง ในระหว่างปี 2548-2553 มีอัตราการลาออกรวม ร้อยละ 40.84 โดยในจำนวนนี้เป็นการลาออกภายในปีแรกของการทำงานถึงร้อยละ 48.68 และออกภายในปีที่ 2 ร้อยละ 25.57 ถ้าไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ส่งผลให้อายุการทำงานเฉลี่ยของพยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษาใหม่ ในโรงพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปสั้นเพียง 1.2 ปีเท่านั้นหากประมาณค่าความสูญเสียเป็นตัวเงินจากการลาออก และการมีอายุการทำงานสั้นของลูกจ้างเหล่านี้ ทำให้อัตราการสูญเสีย ร้อยละ 80.05 ต่อปี ซึ่งสูงกว่ากลุ่มข้าราชการ ถึง 18 เท่า จึงทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากในระบบกำลังคน

 

“หากคำนวณเป็นตัวเงินตามที่มีการศึกษาพบว่า Cost of turnover ของพนักงานที่เข้าใหม่ จะประมาณ ร้อยละ 30-50 ของ Annual salary เงินเดือนของตำแหน่งนั้นใน 1 ปี เช่นในระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมามีพยาบาลที่มีค่าจ้างประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน ลาออกรวมปีละ 1,000 คน จะเป็นการสูญเสียถึง 90,000,000 บาทต่อปี  โดยที่รัฐและประชาชนไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร จากการลงทุนมหาศาลในการผลิตพยาบาลใหม่มาชดเชยความสูญเสียดังกล่าว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงสาธารสุขที่ลงทุนผลิตพยาบาลวิชาชีพถึงปีละ 2,500–3,000 คน  แต่ไม่มีอัตรารองรับ จึงต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย” ดร.กฤษฎาระบุ

 

เสนอทางออกแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาล

 

ทั้งนี้ดร.กฤษฏากล่าวในตอนท้ายว่า จากสาเหตุปัญหาสำคัญทั้งหมด ทำให้กลุ่มวิชาชีพพยาบาลได้จัดทำ ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลขึ้นเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีรายละเอียดคือ

1.การเพิ่มการผลิตพยาบาลวิชาชีพ โดยนโยบายการวางแผนการผลิต จะต้องสามารถตอบสนองทั้งความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ และพร้อมต่อการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีเป้าหมายจะเปิดเสรีอย่างสมบูรณ์ ในปี 2558 รัฐบาล จึงควรดำเนินการดังนี้

1.1  ลงทุนเพื่อขยายเวลาการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่ม ในสถาบันการศึกษาภาครัฐ จากเดิม ผลิตปีละ 6,000 คน เป็นการเพิ่มอีก 2,320 คนต่อปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปีการศึกษา 2555 นี้ ได้ขยายเวลา ต่อไปอีกเป็นเวลา 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2556-2559 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตพยาบาลรวมทั้งประเทศอย่างน้อย 8,000 คนต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการพยาบาล ในอัตราส่วน 1 ต่อ 400 ประชากร และเพิ่มการผลิตในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ครอบคลุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง (ซึ่งยังขาดอยู่กว่า 2,000 แห่ง)

สำหรับใน พ.ศ.2555 กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มการผลิตปีละ10,000 คน  และมีโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการผลิตพยาบาลวิชาชีพ สำหรับให้บริการในสถานบริการสุขภาพแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดน ของประเทศไทย 140 แห่ง โดยผลิตเพิ่มอีกปีละ 35 คน

 

เพิ่มแรงดึงดูดให้คนที่เกษียณอายุมาเป็นอาจารย์

 

1.2 เพิ่มจำนวนอาจารย์พยาบาลอย่างน้อย 1,000 อัตรา ในระยะเวลา 4 ปี หรือประมาณปีละ 250 อัตรา เพื่อสนับสนุนการผลิตพยาบาลตามเป้าหมาย และทดแทนอาจารย์ที่เกษียณอายุ โดยเพิ่มมาตรการจูงใจทั้งด้านค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในราชการ และให้ทุนการศึกษาต่อเพื่อดึงดูดพยาบาลวิชาชีพที่มีคุณวุฒิปริญญาโท หรือปริญญาเอก เข้าเป็นอาจารย์พยาบาล

1.3 จัดสรรทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทเพื่อการยกระดับคุณวุฒิอาจารย์ในสถาบันการศึกษาของรัฐให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 625 คน

1.4  การสร้างความเข้มแข็งของหน่วยบริการ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาแหล่งฝึกปฏิบัติของนักศึกษาโดยจัดสรรทุนการศึกษาต่อปริญญาโท และปริญญาเอก แก่พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลภาครัฐทุกสังกัด ที่ร่วมผลิตนักศึกษาพยาบาลหรือนักศึกษาแพทย์ ในการศึกษาภาคปฏิบัติ โดยจัดสรรทุนในระดับปริญญาโท อย่างน้อยปีละ 200 ทุน และปริญญาเอกอย่างน้อยปีละ 50 ทุน และทุนการฝึกอบรมพยาบาลเฉพาะทาง ปีละ 1,000 ทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของพยาบาลให้มีความรู้ทักษะและความสามารถ เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ซับซ้อนมากขึ้น ช่วยสอนภาคปฏิบัติแก่นักศึกษา และสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ การสร้างพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านต่างๆ ได้มากขึ้น  จะสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ขยายโอกาสในการให้บริการใกล้บ้านที่มีคุณภาพและการเป็น Medical Hub of Asia สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

 

ปรับปรุงเส้นทางความก้าวหน้าให้เหมือนอาชีพอื่น

 

2.ลดการสูญเสีย และเพิ่มการธำรงรักษาพยาบาลวิชาชีพไว้ในระบบบริการสุขภาพ จัดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งด้านการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตพยาบาลใหม่เพิ่ม และได้ประโยชน์จากการที่จะมีกำลังคนที่มีประสบการณ์และมีทักษะสูงไว้ในระบบด้วย ควรมีมาตรการคือ

2.1 มีการวางแผนและการบริหารจัดการกำลังคนสาขาพยาบาลศาสตร์ กำหนดตำแหน่งหรือสถานที่ทำงานที่ยังขาดแคลนกำลังคนสาขาพยาบาลศาสตร์ให้ชัดเจนว่า อยู่ที่ใดบ้าง จำนวนที่ชัดเจนจะเหมาะสมกว่าการปล่อยให้แต่ละหน่วยงาน แสวงหาพยาบาลมาปฏิบัติงานเอง ทั้งนี้บางหน่วยงานก็ขาดงบประมาณในการแสวงหาพยาบาลใหม่ หรือผู้มีประสบการณ์มาทำงาน ควรบริหารจัดการ เช่นเดียวกับสาขาแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ ปัจจุบันสาขาพยาบาลศาสตร์ ยังไม่มีคณะกรรมการบริหารจัดการกำลังคนในส่วนกลาง

2.2 ปรับปรุงเส้นทางความก้าวหน้าของพยาบาลวิชาชีพในระบบราชการ ที่มีทักษะและความชำนาญสูง ให้เข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษได้ทุกตำแหน่ง และขยายกรอบอัตราตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับเชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ โดยไม่ต้องยุบรวมตำแหน่งเพื่อรักษากำลังคนที่มีความรู้ความสามารถสูงไว้ในระบบราชการ

 

ให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม-คุณภาพชีวิตที่ดี

 

2.3 การปรับปรุงระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ทั้งค่าตอบแทนในลักษณะ Hardship allowance สำหรับการปฏิบัติงานในชนบท พื้นที่ห่างไกล หรือมีความเสี่ยงทั้งในเชิงพื้นที่ และลักษณะงานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และความปลอดภัย เช่น การปรับปรุงค่าตอบแทนการทำงานเวรผลัด/ค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา ค่าตอบแทนการทำงานในพื้นที่ทุรกันดาร หรือห่างไกล และค่าตอบแทนเพิ่มตามผลการปฏิบัติงาน

2.4 สร้างหลักประกันความมั่นคงในอาชีพ โดยการบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการ โดยเฉพาะในพื้นที่ขาดแคลน ในอนาคตควรพัฒนาระบบการจ้างงานใหม่ ที่ไม่ใช่ระบบราชการ ที่มีสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าการเป็นข้าราชการ แต่สามารถตอบสนองความต้องการในด้านความมั่นคง ความก้าวหน้า โอกาสในการศึกษาต่อ ค่าตอบแทน และสวัสดิการ โดยควรมีการออกแบบเป็นชุดสิทธิประโยชน์ (Benefit Package) ที่ลูกจ้างของรัฐควรจะได้รับ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พยาบาลที่สำเร็จการศึกษาใหม่เข้าทำงานในสถานพยาบาลภาครัฐที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลน  เพราะพยาบาลวิชาชีพซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมักจะต้องการความมั่นคงและสวัสดิการสำหรับการทำงานในระยะยาว

2.5 พัฒนาระบบการจ้างงานหลังเกษียณ และการจ้างงานแบบบางเวลา (Part time) ซึ่งการขยายอายุการทำงานสำหรับพยาบาลที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในบางตำแหน่ง เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะบรรเทาความรุนแรงของการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพได้ โดยควรมีการพัฒนาระบบการประเมินสมรรถนะ และวิธีการจ้างงานอาจารย์พยาบาล และพยาบาลวิชาชีพต่อภายหลังเกษียณอายุราชการ เพื่อทำหน้าที่อาจารย์พยาบาล หรือครูพี่เลี้ยงในการฝึกสอนเพื่อเตรียมพยาบาลใหม่ให้สามารถทำงานที่ต้องการทักษะเฉพาะทาง 

นอกจากนั้น ควรมีการแก้ไขระเบียบ หรือข้อจำกัดของการจ้างงานในภาครัฐให้สามารถจ้างงานพยาบาลแบบบางเวลา ซึ่งอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถดึงดูดพยาบาลวิชาชีพที่ออกจากงานไปแล้วสามารถเลือกเวลากลับเข้ามาทำงานได้

 

พัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงาน-ที่พักอาศัย

 

2.6 พัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานและสถานที่ทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ในสถานการณ์การขาดแคลนกำลังคน จะส่งผลให้กำลังคนที่มีอยู่ในแต่ละโรงพยาบาล ทำงานหนักมากขึ้น มีความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ให้บริการ และความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ดังนั้นควรมีนโยบาย และมาตรการสนับสนุนเพื่อให้มีสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพ (Safety and Healthy Workplace/Healthy Hospital)   อย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

2.7 ลงทุนเพื่อการจัดหาและ หรือปรับปรุงหอพักสำหรับพยาบาล การที่พยาบาลต้องทำงานในลักษณะเวรผลัด หมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง สวัสดิการหอพัก หรือบ้านพักในโรงพยาบาล หรือในบริเวณใกล้เคียง จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความปลอดภัย ต่อการพักอาศัย การเดินทาง และความสะดวกในการทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่ให้แก่ราชการ ปัจจุบันหอพักในหลายโรงพยาบาลไม่เพียงพอ หรือมีสภาพทรุดโทรม จำเป็นต้องมีการจัดหาและซ่อมแซม

3.การจัดการกระจายพยาบาลวิชาชีพตามความต้องการของประชาชน เพื่อให้มีการกระจายพยาบาลวิชาชีพไปยังพื้นที่ขาดแคลน จึงควรมีมาตรการคือ

3.1 จัดสรรทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาล โดยควรมีกระบวนการคัดเลือกผู้เรียนจากพื้นที่ขาดแคลนเพื่อรับทุนดังกล่าว และกำหนดข้อผูกพันให้กลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่กำหนดอย่างเป็นธรรม (Local Recruitment and Hometown placement)

 

สร้างแรงจูงใจกับคนในพื้นที่กันดาร-ขาดแคลน

 

3.2  สร้างแรงจูงใจในพื้นที่ที่ขาดแคลน และมีความเสี่ยงสูงโดย  (1) ให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ หรือพัฒนาระบบการจ้างงานที่ได้รับผลตอบแทน ไม่น้อยกว่าการเป็นข้าราชการ (2) เปิดโอกาสให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องตามแผนการพัฒนาบุคลากรที่ต้องมีกำหนดไว้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาบริการสุขภาพ (3) จัดระบบการดูแลเกี่ยวกับสวัสดิภาพ ความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน และจัดให้มีระบบประกันอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน (4) จัดหาทรัพยากร อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ เวชภัณฑ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ และให้บริการประชาชนได้อย่างปลอดภัย (5) จัดสรรค่าตอบแทนพิเศษในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือพื้นที่ขาดแคลนในอัตราเหมาะสมเป็นธรรม

3.3 ลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ เพื่อให้มีข้อมูลในการติดตามและเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายของพยาบาลวิชาชีพในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการรับพยาบาลวิชาชีพเพิ่ม ในพื้นที่ที่ไม่ขาดแคลน หรือการสร้างแรงจูงใจที่จะให้พยาบาลมีการเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ขาดแคลน

4. การผลิตบุคลากรตามโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชายแดนและห่างไกลโดยสนับสนุนการผลิตบุคลากรพยาบาลโดยการคัดเลือกเยาวชนในเขตบริเวณชายแดนเข้าศึกษาหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลในวิทยาลัยพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ

5. การจัดทำแผนพัฒนาการพยาบาลและการผดุงครรภ์แห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2555-2559 เพี่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของประเทศ

            

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: