เครือข่ายฯสุรินทร์จี้ครม.สัญจร หยุดโรงไฟฟ้า-มลพิษห้วยเสนง

30 ก.ค. 2555


 

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เครือข่ายประชาชนจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาชนในจังหวัดสุรินทร์ รวมตัวยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร นำเสนอสถานการณ์ปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบ ในประเด็นปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจ.สุรินทร์ การรุกล้ำลำน้ำห้วยเสนง และการใช้สารเคมีและสารพิษในเมืองสุรินทร์

 

สืบเนื่องจากการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจังหวัดสุรินทร์ ทั้งหมด 27 โรง เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 โรง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 17 โรง มีกำลังการผลิต 220.72 เม็กกะวัตต์ จำหน่ายกระแสไฟฟ้า 181.04 เม็กกะวัตต์ เฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 โรง มีกำลังการผลิต 124.90 เม็กกะวัตต์ ซึ่งปริมาณชีวมวลในจังหวัดสามารถผลิตไฟฟ้าได้ไม่เกิน 100.35 เม็กกะวัตต์ เท่านั้น

 

ข้อมูลจากเครือข่ายประชาชนจ.สุรินทร์ ระบุว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวล เดินเครื่องจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว 2 โรง คือ โรงไฟฟ้ามุ่งเจริญกรีนเพาเวอร์ และโรงไฟฟ้าสุรินทร์จำกัด ซึ่งจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรง พบว่า ประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่โรงไฟฟ้าได้รับผลกระทบ ในเรื่องฝุ่นละออง น้ำฝนดื่มไม่ได้ น้ำบาดาลแห้ง มีกลิ่นเหม็น และเสียงรบกวน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ที่ถูกระบุในการวางแผนอนุภาคอีสานใต้ว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 700 เม็กกะวัตต์ 1 โรง เช่นเดียวกับจ.นครราชสีมา

 

ในส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยเสนงพบว่า ตอนบนของลุ่มน้ำ มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง และยูคาลิปตัส ซึ่งมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก การถมที่รุกล้ำลำน้ำกีดขวางทางระบายน้ำ และการปล่อยน้ำเสียที่ขาดการบำบัดจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ปัญหาดังกล่าวเป็นการพัฒนาที่ผิดทิศทางและรวมศูนย์อำนาจ ขาดการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเกษตรกรรมและความมั่นคงทางด้านอาหารของคนท้องถิ่นสุรินทร์ และขัดแย้งกับวิถีสุรินทร์เมืองเกษตรอินทรีย์

 

ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนจึงระบุข้อเสนอ ดังนี้ 1.ให้ระงับ-เพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้า ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ให้มีการตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าที่สร้างแล้ว มีการชดเชยและเยียวยาอย่างเป็นธรรม 2.รัฐและองค์กรท้องถิ่นต้องเร่งรัดให้เกิดการแก้ปัญหามลพิษและการรุกล้ำลำน้ำห้วยเสนง โดยการใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

 

3.รัฐต้องควบคุมการใช้สารเคมีอย่างเข้มงวด ลดการใช้สารเคมีอย่างจริงจัง สมดังคำกล่าวที่ว่า สุรินทร์เมืองเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมีและสารพิษ  4.ต้องมีการวางแผนพัฒนาจ.สุรินทร์ โดยประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคต

 

โดยแกนนำเครือข่ายประชาชนจ.สุรินทร์ระบุว่า จะได้ติดตาม ตรวจสอบ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: