‘โรเบิร์ต สไตเมทซ์’ แห่ง WWF ประเทศไทย พูดถึงวันที่เสือกำลังจะสูญพันธุ์

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 29 ก.ค. 2555


 

ศูนย์ข่าว TCIJ จึงสัมภาษณ์ โรเบิร์ต สไตเมทซ์ หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาการอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ และปฏิบัติงานในประเทศไทยมากว่า 20 ปี เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่งในพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ

 

ถาม : การทำงานของ WWF ที่เกี่ยวกับเสือคืออะไรบ้าง

 

โรเบิร์ต : เรามีบทบาท 2 อย่าง เกี่ยวกับการอนุรักษ์เสือโคร่งคือ 1.เราทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพราะว่าเสือเหลืออยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทยอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯ เราจึงทำงานร่วมกับกรมอุทยานฯ เสริมสร้างกำลังของกรมอุทยานฯ ในแง่การดูแล พิทักษ์ วิจัย และ 2.คือ เราสนใจที่จะทดสอบและทดลองแนวใหม่ในการอนุรักษ์ในพื้นที่อนุรักษ์ โดยหาวิธีให้ชุมชน ชาวบ้าน มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสัตว์ป่า

 

ถาม : ทำไมจึงเลือกให้ชาวบ้านร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า เพราะอะไร

 

โรเบิร์ต : ในพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งประเทศไทยมีประมาณ 300 แห่ง แต่ถ้าเราเทียบกับประชาชน ชาวบ้าน ที่อยู่รอบพื้นที่อนุรักษ์ กำลังของเจ้าหน้าที่น้อยนิด ถ้าเราไม่หาวิธีที่จะให้คนเหล่านี้มาเป็นพันธมิตรกับเจ้าหน้าที่เพื่อการอนุรักษ์ เราจะต้องต่อสู้ตลอดไป เราจะเหนื่อยมาก และอาจจะไม่สำเร็จด้วย เพราะอย่างไรในพื้นที่อนุรักษ์แห่งหนึ่ง จะมีเจ้าหน้าที่ไม่กี่ร้อยคน เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอาจจะเป็นสิบๆ คน แต่คนที่อยู่รอบนอกเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน เรารู้สึกว่าได้เวลาที่จะต้องให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ เท่ากับให้ความสำคัญกับการดูแลภายในพื้นที่ เพราะการคุกคามก็เกิดจากภายนอกอยู่แล้ว

 

ถาม : WWF ใช้วิธีอะไรเข้าไปพบกับชาวบ้าน

 

โรเบิร์ต : เราจะไปหา 3 ส่วน หนึ่งก็คือ ผู้นำชุมชน ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. แม้แต่กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนที่สองคือชาวบ้านทั่วไป คือชาวนา ชาวไร่ชาวสวน พ่อค้าแม่ค้า และส่วนที่สาม เด็กนักเรียน อันนี้คือสามส่วนที่เราไปหาพร้อมกัน

 

ถาม : มีกิจกรรมอะไรที่ทำกับคนเหล่านี้บ้าง

 

โรเบิร์ต : เราจะใช้กิจกรรมที่หลากหลาย อย่างแรกคือ เราจะไปเข้าประชุมกับหมู่บ้าน เพื่อแนะนำตัวเอง เพื่อให้ชาวบ้านรู้ว่า เรามีการเคลื่อนไหวแบบนี้ เพื่ออะไร ทำยังไง สองจะจัดประชุมพิเศษที่ค่อนข้างจะสนุก เช่นเราจะตั้งวงดนตรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและพวกเรากันเอง เพื่อให้มีเสียงดนตรีไม่ให้เป็นเรื่องที่ตึงเครียด เพื่อให้สนุกด้วย จะจัดกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียน

 

นอกจากนั้นตั้งเครือข่ายโรงเรียนฟื้นฟูสัตว์ป่าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ก็ชวนโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสัตว์ป่าที่อยู่ในผืนป่านั้น กิจกรรมหลักเครือข่ายโรงเรียนก็คือ การทำหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการฟื้นฟูสัตว์ป่าโดยเฉพาะ เพื่อดึงให้เด็กมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสัตว์ป่า ง่ายที่สุดคือให้เด็กเป็นทูตในหมู่บ้าน ในครอบครัวของตัวเอง เพื่อบอกกับพ่อแม่ว่า เขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง นอกจากนี้มีการเคลื่อนไหวโดยตรงในหมู่บ้าน มีการแห่ขบวน จัดกิจกรรมในป่า พาเด็กเข้าป่า เข้าค่ายทำโป่งเทียม เพื่อเป็นอาหารของสัตว์กีบที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง

 

บางครั้งเราเข้าไปในที่ประชุมของอบต. ของอำเภอ ของจังหวัด เพื่อเอาสไลด์ไปฉาย ซึ่งเราพยายามไปหาทั้งสามส่วนของสังคม เพื่อให้เกิดกระแส เกิดความกดดันทางสังคม เพราะจริง ๆ ในหมู่บ้านที่ไหนก็ตาม คนที่ไปล่าสัตว์เป็นส่วนน้อยมาก และคนส่วนใหญ่สังคมในหมู่บ้านหรือในเมืองไม่ค่อยสนใจกัน เพราะไม่กระทบกัน ไม่เกี่ยวกัน คิดว่าไม่เป็นไร เราจึงพยายามให้คนรู้ว่า มันกระทบยังไง ให้คนหันมามองคนล่าสัตว์ว่ามันไม่ดีแล้วนะ อันนี้เรียกว่าทำเกิดความกดดันทางสังคม เราพยายามให้เกิดความกดดันเช่นนี้

 

ถาม : ตอนนี้ทำให้กี่อุทยานแล้ว

 

โรเบิร์ต : ตอนนี้กำลังทำที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน จ.กำแพงเพชร สามพื้นที่ และก่อนหน้านี้เราเคยทำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี

 

ถาม : เลือกทำเฉพาะในพื้นที่ที่ไปสำรวจพบว่ายังมีเสือโคร่งอยู่ใช่หรือไม่

 

โรเบิร์ต : ใช่แล้วครับ ทั้งสามพื้นที่ที่เราทำปัจจุบัน เป็นพื้นที่ที่ยังมีเสืออยู่ แต่ไม่มาก เป็นพื้นที่ที่ยังมีเหยื่ออยู่ ยังมีสัตว์หลาย ๆ ชนิดอยู่ แต่เกิดจากผลกระทบจากการล่าเมื่อสมัยก่อน ทำให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ต้องการการฟื้นฟู อันนี้เราเข้าไปเพื่อจะฟื้นฟู

 

 

 

ถาม : ทำไม WWF จึงเลือกอนุรักษ์เสือ ทำไมไม่เลือกสัตว์ป่าชนิดอื่น

 

โรเบิร์ต : เสือเป็นสัตว์ที่เด่นที่สุด เราไม่ได้อนุรักษ์เสืออย่างเดียว แต่อนุรักษ์สังคมสัตว์ป่า เราจะอนุรักษ์เสือตัวเดียวไม่ได้ ซึ่งเสืออยู่ในสังคม มีเพื่อนบ้าน ที่ต้องคำนึงถึงด้วย เพราะเสือโคร่งมีคู่แข่ง เช่น เสือดาว หมาใน เป็นคู่แข่ง ซึ่งสัตว์พวกนี้กินเหยื่อแบบเดียวกัน เสือต้องขึ้นอยู่กับสัตว์ที่มันกินเป็นอาหาร เช่น เก้ง กวาง กระทิง หมูป่า ซึ่งถ้าไม่มีสัตว์เหล่านี้ เสือก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องฟื้นฟูสังคมสัตว์เหล่านี้ด้วย เราให้ความสำคัญกับสัตว์ทุกชนิด แต่เสือโคร่งค่อนข้างจะวิกฤตกว่า เพราะใกล้จะสูญพันธุ์

 

ถาม : WWF ทำงานเรื่องเสือในประเทศไทยมากี่ปีแล้ว

 

โรเบิร์ต : เกือบ 30 ปีแล้ว

 

ถาม : เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

 

โรเบิร์ต : เห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะ เสือโคร่งสูญพันธุ์ไปจากผืนป่าหลายแห่ง ตอนผมเริ่มทำงานปี 2536 เสือโคร่งยังมีอยู่ในป่าหลายแห่ง แต่ปัจจุบันหายไปแล้ว ทั้งที่ป่ายังเหลืออยู่ ไม่ได้หายไปเพราะคนไปถางป่า แต่เป็นป่าที่ไร้สัตว์ป่า ยกตัวอย่างที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เคยมีเสือมาก ตอนนี้อาจจะไม่เหลือสักตัว ถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติแถบภาคอีสาน เสือก็สูญพันธุ์ไปแล้วจากทุกที่ ยกเว้นแถบทับลาน ปางสีดา

 

นอกจากนี้ยังเห็นการกระจายของเสือโคร่งทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย เพราะไทยเป็นประเทศ 1 ใน 13 ประเทศทั่วโลก ที่ยังมีเสือโคร่งอยู่ แม้ในแต่ละประเทศการกระจายของเสือโคร่งกำลังลดลง แต่ผืนป่ายังอยู่

 

 

 

ถาม : ประเทศอื่นที่อยู่ติดกับประเทศไทย มีผลกระทบต่อการอนุรักษ์เสือในเมืองไทยหรือเปล่า

 

โรเบิร์ต : มีครับ ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ถ้าเราพูดถึงสถานภาพของเสือโคร่งในภูมิภาคนี้ อาจจะเห็นว่าเสือโคร่งที่ประเทศลาว กัมพูชา พม่า คงจะมีมากกว่า เมื่อก่อนเราเชื่ออย่างนั้น แต่ปัจจุบันนี้มีการสำรวจอย่างเข้มข้น ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ที่เวียดนามคงจะไม่เหลือสักตัว กัมพูชา เสือโคร่งน่าจะสูญพันธ์ไปแล้วทั้งประเทศ พม่าทั้งประเทศเหลือไม่กี่ตัว ขณะเดียวกันตลาดที่รับซื้ออวัยวะของเสือ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หนัง กระดูกของเสือ ขยายตัวมากยิ่งขึ้นที่ประเทศจีนบ้าง ที่ประเทศเวียดนามบ้าง มันก็ทำให้แรงกดดันที่จะทำให้คนไปล่าเสือยิ่งแรงกว่าสมัยก่อน ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านแทบจะไม่เหลือแล้ว ฉะนั้นคนที่จะไปล่าเสือมันจึงเพ่งเล็งมาที่ประเทศไทย เพราะฉะนั้นมีผลกระทบมาก ตอนนี้มีคนจากต่างประเทศ เข้ามาล่าเสือในประเทศไทยแล้ว

 

ถาม : ถ้าไม่มีเสือจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

โรเบิร์ต : ถ้าไม่มีเสือป่าจะเกิดการเสื่อมโทรมต่อไปในอนาคต ในนิเวศวิทยาของป่าเขตร้อน ต้นไม้เกือบทุกชนิดอาศัยสัตว์ป่าในการแพร่เมล็ดพันธุ์ ถ้าสังคมสัตว์ป่าไม่สมบูรณ์ ป่านั้นจะมีการเสื่อมโทรมแล้วป่าเป็นแหล่งของหลาย ๆ อย่างที่มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัย เป็นแหล่งน้ำ เป็นแหล่งอากาศ ตอนนี้เรากำลังเห็นผลกระทบ น้ำท่วมปีที่แล้วที่กรุงเทพฯ มันมีหลายสาเหตุ การจัดการน้ำก็ได้ พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำกลายเป็นสิ่งก่อสร้าง แต่ว่าสาเหตุหนึ่งคือ ผืนป่าไม่พอ ผืนป่าเสื่อมโทรม ไม่สามารถซึมซับน้ำที่มีอยู่ได้

 

ปัจจุบันนี้เมืองหัวหินเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติไปเยอะมาก ดังไปทั่วโลก กำลังจะประสบภัยแล้ง แหล่งน้ำของหัวกินมาจากผืนป่าแก่งกระจาน กุยบุรีทั้งหมด ถ้าป่าทั้งสองผืนนี้ไม่สมบูรณ์ จะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมนุษย์เราเลย และเสือก็อยู่ยอดของสายใยอาหาร เพราะฉะนั้นสัตว์ที่เป็นเหยื่อ สัตว์กีบต่างๆ ทั้งชะนี นก ต้องสมบูรณ์ ไม่ฉะนั้นป่าก็จะเสื่อมโทรมและกระทบถึงคนเราในที่สุด ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์เราที่อยู่ในเมืองไกลๆ

 

ถาม : ทำงานด้านนี้มานาน 20 ปี พบอะไรเป็นอุปสรรคกับการทำงานบ้าง

 

โรเบิร์ต : อุปสรรคยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ประชาชน คนในสังคมทั่วไปไม่ค่อยรู้ว่า ป่าที่เป็นมรดกของคนไทยทุกคนกำลังจะไร้สัตว์ป่า ความตระหนักไม่มี ความรู้แทบจะไม่มีว่า ป่าที่เหลืออยู่มีปัญหาอะไรบ้าง เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น เป็นวิกฤตที่เรามองไม่เห็น มันจะส่งผลกระทบต่อเรา แต่เราไม่รู้ เพราะเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำส่งผลกระทบต่อผืนป่าอย่างไรบ้าง

 

ยกตัวอย่างเคยทำงานกับครูคนหนึ่ง ตอนแรกที่ชวนครูมา ผมไม่รู้ว่าครูจะคิดอย่างไร แต่เขาก็สนใจมาก มีครูคนหนึ่งหลังจากที่เรารู้ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในป่า ในที่ประชุมเขาลุกขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมว่า เขาไม่เคยล่าสัตว์ป่า แต่เขาเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์ป่า เขาไม่เคยล่าสัตว์ แต่บางครั้งที่ไปร้านอาหารกับเพื่อน ก็สั่งผัดเผ็ดเนื้อเก้งอะไรพวกนี้บ้าง เขาบอกว่าเคยทำแบบนั้น แต่หลังจากที่ได้เรียนรู้ ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในป่าของประเทศไทย โดยเฉพาะในป่าของเขาที่กุยบุรี ต่อไปนี้เขาจะไม่กินเนื้อสัตว์ป่าอีกต่อไป และเขาจะบอกเพื่อน ๆ ด้วย ซึ่งถ้าเราเพิ่มความรู้ เพิ่มความตระหนัก ผมเชื่อว่าหลายคนจะเปลี่ยนพฤติกรรมเอง ถึงแม้จะมีกฎหมาย แต่คนจะเลิกกันเอง ไม่ใช่ทุกคน บางคนไม่เข้าใจไม่เป็นไร แต่เราสามารถที่จะก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาอีกเยอะ ถ้าคนรู้มากยิ่งขึ้น

 

 

 

 ถาม : มองแนวโน้มการอนุรักษ์ในประเทศไทยอย่างไร

 

โรเบิร์ต : ตอนนี้ดีขึ้น ยกตัวอย่างโครงการที่เราทำกับกรมอุทยานฯ ที่กุยบุรี ใน 4 ปีที่ผ่านมา การล่าสัตว์ลดลง 4 เท่าเราวัดจากการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขาจะบันทึกข้อมูลหลักฐานเรื่องการล่าสัตว์พบปลอกกระสุนปืน ว่าลดลง 4 เท่า คนกำลังจะให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น และสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งเพิ่มประชากรมากยิ่งขึ้น การขยายออกไป ความชุกชุม การกระจายตัวของเหยื่อเสือโคร่ง เพราะว่าป่ากำลังจะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น การล่าลดลง อันนี้ที่เราเห็นโดยตรง

 

แต่ในระดับประเทศเราต้องทำงานอีกเยอะ เพราะว่าคนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญก็ดี แต่ว่าบางครั้งคนที่จะไปล่าสัตว์หรือกินเนื้อสัตว์ป่าอยู่ไกลจากผืนป่านั้น ซึ่งต่อไปเราต้องสร้างความตระหนักถึงทั้งประเทศเลย อย่างไรก็ตามตอนนี้ประเทศไทยก็ให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น กรมอุทยานฯ มีแผนแม่บทอนุรักษ์เสือโคร่ง เป็น 1 ใน 13 ประเทศ ที่มีแผนแม่บทในตอนนี้ และหลายประเทศมองว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่ง

 

ถาม : มองรัฐบาลไทยอย่างไร เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม จะไม่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่ชอบที่จะปลูกต้นไม้ อยากทำอย่างอื่นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่ไม่สนใจเรื่องสัตว์ป่าเลย

 

โรเบิร์ต : สัตว์ป่าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น บางครั้งเราเห็นผืนป่าจะใช้ภาพถ่ายดาวเทียมก็ยังเห็นผืนป่าอยู่ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าผืนป่านั้นสมบูรณ์ มีวิกฤตเกิดขึ้นกับผืนป่านั้น แต่คนที่ไม่อยู่ในป่านั้นมองไม่เห็น เพราะฉะนั้นจึงไม่ให้ความสำคัญกับสัตว์ป่า ผมก็เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องไกลตัวมาก เป็นสิ่งที่มองเห็นยาก อาจจะมองว่าเป็นความล้มเหลวอย่างหนึ่งของนักอนุรักษ์ที่ไม่สามารถที่จะเผยแพร่ได้ดีกว่านี้ให้คนที่เป็นผู้นำระดับประเทศ ได้เห็นความสมบูรณ์ในป่าผืนนั้น ซึ่งต่อไปนี้เราต้องทุ่มเทให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนที่เป็นผู้นำระดับประเทศ เข้าใจความสำคัญของสัตว์ป่าในแง่ที่ว่าป่าที่สมบูรณ์ต้องมีสัตว์ป่าที่สมบูรณ์ด้วย จึงจะหล่อเลี้ยงชีวิตคนเราให้สมบูรณ์ แต่เป็นสิ่งที่ค่อนข้างไกลตัว เราต้องให้ความรู้และทำให้เกิดความหวงแหน

 

 

ถาม : แต่ก็ขัดแย้งกับการที่ประเทศไทยมีความต้องการเรื่องการพัฒนาทุกอย่าง อยากสร้างโน่นสร้างนี่ อย่างที่แม่วงก์ก็จะมีการสร้างเขื่อน คุณมองยังไงกับนโยบายของรัฐบาล ที่ขัดแย้งกับการอนุรักษ์

 

โรเบิร์ต :  บางครั้งไม่สอดคล้อง พื้นที่อนุรักษ์ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การจะสร้างอะไรจริงๆ แล้ว การจะสร้างอะไรในนั้นถือว่าผิดกฎหมาย เพราะแต่ละที่ก็มีพระราชบัญญัติกำหนดไว้อยู่แล้วว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สงวนไว้ไม่ให้สร้างอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นบางครั้งนโยบายของรัฐบาลจะขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลด้วยกันเอง

 

อันนี้เราต้องมองในแง่ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าว่าเป็นมรดกของชาติ ไม่ใช่ว่าอยากจะสร้างโน้นสร้างนี่ การตัดสินใจไม่ควรอยู่ที่เขาฝ่ายเดียว ไม่ใช่ว่าเขาจะสร้างเขื่อนแต่ว่า สิทธิในการตัดสินใจสำคัญที่สุดคือ คนไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนในท้องถิ่นนั้นเท่านั้น เพราะว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นของคนไทยทุกคน

 

ถาม : ในวันอนุรักษ์เสือโลกในวันที่ 29 กรกฎาคม WWF มีนโยบายหรืออะไรเพิ่มขึ้นหรือเปล่า จากการทำงานที่ผ่านมาแล้ว

 

โรเบิร์ต : เราอยากจะเผยแพร่ให้คนในสังคมรับรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ทั้งระดับจังหวัดและประเทศ เพื่อจะให้รู้ว่าเรากำลังอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของผืนป่าของชาวไทยทุกคน อยากให้คนหันมามองความสำคัญของผืนป่า ที่เหลืออยู่ คือไม่ใช่มีแต่ต้นไม้ แต่ควรมีสิ่งมีชีวิตในผืนป่านั้นด้วย ระบบนิเวศก็ยังอยู่ด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: