งานวิจัย‘คมน์ทนงชัย ฉายไพโรจน์’ ความเข้ม 'กม.ทรัพย์สินทางปัญญา'

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 29 พ.ย. 2555


นักวิจัยยืนยันกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามีผลต่อสังคมแน่นอน ไม่ด้านใดด้านหนึ่ง หวังผู้มีอำนาจนำงานวิจัยไปปรับใช้ในการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม

 

 

            “การทำวิจัยชิ้นนี้เป็นการทำวิจัยในภาพรวม การใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของ 150 กว่าประเทศทั่วโลกว่า การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด มีผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีหรือไม่ หมายความว่า ในเริ่มแรก เราตั้งโจทย์ไว้ว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้เทคโนโลยีเจริญเติบโตจริงหรือไม่ เป็นการท้าทายแนวความคิดของข้อตกลงทริปส์”

 

 

ดร.คมน์ทนงชัย ฉายไพโรจน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเจ้าของงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งได้รับทุกจากสถาบันมักซ์ พลังค์ ประเทศเยอรมนี เกริ่นถึงแนวคิดที่มาของการทำวิจัย เนื่องจากข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือทริปส์ (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPS) ซึ่งกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองขั้นต่ำสำหรับทรัพย์สินทางปัญญา มีข้อความประการหนึ่งระบุว่า ถ้าทุกประเทศปฏิบัติตามข้อตกลงทริปส์ โดยมีการใช้มาตรการที่เหมาะสม ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี

 

คือโจทย์ที่ ดร.คมน์ทนงชัย ต้องการค้นหาคำตอบว่า จริงหรือไม่ที่ทริปส์ให้ประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา

 

งานวิจัยตั้งโจทย์ท้าทายทริปส์ กม.ทรัพย์สินทางปัญญาเข้ม ช่วยประเทศกำลังพัฒนาด้านเทคโนฯ หรือไม่

 

 

ดร.คมน์ทนงชัยกล่าวว่า การศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นการศึกษาภาพรวมของทั่วโลก โดยการเลือกประเทศกลุ่มตัวอย่างประมาณ 3-4 กลุ่ม รวมกันประมาณร้อยกว่าประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก แล้วจึงดูระบบกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ว่า มีการปฏิบัติตามทริปส์หรือไม่ อย่างไร โดยแบ่งระดับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาออกเป็น 6 ระดับ ระดับ 6 ถือว่ามีการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเข้มที่สุด ระดับ 1 ถือว่าอ่อนที่สุด ซึ่งหมายถึงแทบไม่มีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเลยหรือมีแต่ไม่มีการบังคับใช้

 

การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยอยู่ระดับประมาณ 4-5 ซึ่งในความเห็นของ ดร.คมน์ทนงชัย ถือว่าเข้มงวดมาก แต่เป็นความเข้มงวดในแง่กฎหมายและมาตรการ ขณะที่ในแง่ของความต่อเนื่องและประสิทธิผล ดร.คมน์ทนงชัยไม่แน่ใจ และขยายความว่าการที่ประเทศไทยมีกฎหมายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์และการมีมาตรการบังคับจับกุม บางทีก็ทำให้สังคมได้รับผลกระทบในภาพรวม ซึ่งตรงนี้เป็นรายละเอียดในงานวิจัย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

              “แต่จากงานวิจัยพบว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีผลต่อการเติบโตทางด้านเทคโนโลยี เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ถ้าบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดจะส่งผลให้เทคโนโลยีก้าวหน้า เพราะคนในประเทศรู้สึกว่าเวลาที่เขาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้น หรือว่าประพันธ์บทเพลง แต่งหนังสือ เขาตั้งใจทำเพราะงานของเขาได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย นี่คือในประเทศที่พัฒนาแล้ว”

 

 

ในทางกลับกัน ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่ยังมีปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมืองไม่เข้มแข็งเพียงพอ การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวด กลับไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเลย

 

 

“นั่นหมายความว่า ตามผลจากการศึกษาข้อตกลงทริปส์ ไม่สามารถให้ประโยชน์โดยตรงในเชิงทฤษฎีกับประเทศกำลังพัฒนา แต่ข้อตกลงทริปส์จะให้ประโยชน์โดยตรงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว”

 

 

กม.ทรัพย์สินทางปัญญาเข้ม ไม่มีประโยชน์กับประเทศผู้ใช้เทคโนฯ

 

 

นอกจากนี้ ดร.คมน์ทนงชัย ยังศึกษาด้วยว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดในประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีและประเทศผู้ใช้เทคโนโลยีส่งผลแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งผลออกมาเหมือนสมการแรก คือในประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี ถ้ามีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดจะส่งผลในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ

 

ตรงกันข้ามประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา พบว่า ไม่มีนัยสำคัญในเชิงบวกว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดจะมีประโยชน์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                  “นี่คือผลจากการศึกษาในเชิงวิชาการที่ผมตั้งทฤษฎี โดยการเก็บตัวเลขปริมาณคดีที่เกิดในประเทศต่างๆ ทั่วโลกและการมีระบบกฎหมายที่ครบถ้วนหรือไม่ เพียงใด ตัวเลขเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เป็นสากลที่ใช้ในการศึกษา ซึ่งผมก็นำมาใส่ในสมการ”

 

 

การบังคับใช้ กม.ทรัพย์สินทางปัญญาต้องดูเป็นกรณี

 

 

                 “ผลสรุปจากเรื่องนี้ก็มีข้อเสนอแนะว่า การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาต้องดูเป็นกรณี ๆ ไปว่ากรณีไหนควรเข้มงวด กรณีไหนควรผ่อนคลาย สอง-ต้องดูสภาพเศรษฐกิจ สังคมของประเทศนั้น ๆ ว่าพร้อมแล้วหรือไม่ สาม-น่าจะมีการส่งเสริมหรือมาตรการสร้างแรงจูงใจให้คนในประเทศหันมาเป็นผู้สร้างสรรค์หรือผู้ประดิษฐ์คิดค้น เพราะเมื่อสังคมเป็นสังคมของการสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ คิดค้น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็จะค่อย ๆ ลดลงโดยอัตโนมัติ เพราะเมื่อสังคมเปลี่ยนจากสังคมผู้ใช้เป็นสังคมผู้ผลิตเทคโนโลยี สังคมจะมีกลไกในตัวเองที่จะปฏิเสธผู้ละเมิด”

 

 

เมื่อพยายามเชื่อมโยงสู่สังคมไทย แน่นอนว่าสังคมไทยยังคงเป็นแค่สังคมผู้ใช้เทคโนโลยีเท่านั้น ยังไม่อยู่ในจุดที่จะเป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างสรรค์ได้ แม้ว่าคนไทยจะมีความสามารถสูง ซึ่ง ดร.คมน์ทนงชัย กล่าวว่า เมื่อมีโปรแกรมใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมา คนไทยสามารถแก้ ปรับแต่ง หรือซ่อมได้หมด แต่ก็หยุดอยู่ตรงนั้น ไม่ค่อยมีการลงทุนศึกษาวิจัยพัฒนางานใหม่ออกไปแข่งขัน

 

                 “ถ้าตอบสั้น ๆ ว่า อีกไกลหรือไม่กว่าประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี ก็ต้องดูที่นโยบายขององค์กรหรือผู้ที่รับผิดชอบ ผมไม่อยากโทษรัฐบาล เพราะงานท่านเยอะ ผมคิดว่าคนในประเทศมีหน้าที่ทุกคน ยกตัวอย่าง ผมเพิ่งกลับจากญี่ปุ่นเพื่อศึกษาเรื่องพวกนี้ ตอนนี้มาเลเซียมีอัตราการจดสิทธิบัตรสูงกว่าไทยมา 5 ปีแล้ว อัตราการจดสิทธิบัตรเป็นตัวเลขบอกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของคนในประเทศ ทั้งที่มาเลเซียตามเรามาตลอด แต่ 5 ปีที่ผ่านมาเขานำเรามาตลอด แปลว่าคนของเขาเริ่มแล้ว”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อัตราการตายของทารกมีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดในประเทศยากจน

 

 

อีกหนึ่งผลการศึกษาที่น่าสนใจคือเรื่องอัตราการตายของเด็กทารก ดร.คมน์ทนงชัยเล่าว่า เมื่อได้ผลการวิจัยออกมาเช่นนี้ ทางอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาจึงมีความคิดว่า น่าจะทำการศึกษาในแง่มุมอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย จึงนำไปสู่การศึกษาว่า การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามีผลต่อสุขภาพและการเข้าถึงยาหรือไม่ ซึ่งนับเป็นงานวิจัยชิ้นแรก ๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้และอธิบายในแง่มุมอื่น นอกจากผลกระทบทางด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

 

ผลการศึกษาที่เป็นตัวเลขในเชิงทฤษฎีโดยภาพรวมจากร้อยกว่าประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยประเทศเดียวหรือบ่งชี้ว่าประเทศไหนโดยเฉพาะ อธิบายว่าในประเทศที่มารดาจำเป็นต้องออกไปหาเลี้ยงชีพ หรือออกไปทำงาน โดยต้องอาศัยการพึ่งพารายได้จากฝ่ายหญิงเป็นหลัก เมื่อเรานำระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาใส่เข้าไปในสมการ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งจากหลาย ๆ ปัจจัยที่งานวิจัยนำเข้าสู่สมการ ผลออกมาว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด อัตราการรอดชีวิตของทารกจะน้อยลง ขณะที่อัตราการตายของทารกมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

 

                 “เพราะฉะนั้นสรุปว่า เราเชื่อว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด ในประเทศกำลังพัฒนาที่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือคุณภาพชีวิต ที่ยังจำเป็นต้องดิ้นรนอยู่มากในหมู่ประชาชน การศึกษาชิ้นนี้ก็บ่งชี้ว่าจะมีผลกระทบต่อสุขอนามัยของเด็กทารกหรือพลเมืองโดยภาพรวม”

 

 

ด้วยความสงสัยจึงถามต่อว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด อัตราการตายของทารกต่ำก็ยังต่ำกว่าหรือไม่ ดร.คมน์ทนงชัย ตอบว่า เวลาเราศึกษา เราจะไม่เปรียบเทียบอย่างนั้น เราจะตั้งสมมติฐานว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีผลอย่างไรต่ออัตราการตายของเด็ก แต่จะไม่เปรียบเทียบประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราการตายสูงหรือต่ำ เราแค่อยากรู้ว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด มันมีผลต่อการรอดชีวิตของเด็กหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาจากการศึกษานี้คือยิ่งเข้มงวดก็จะยิ่งมีผลให้อัตราการรอดของทารกน้อยลง เพราะตัวแปรที่ใส่ในสมการนี้เป็นสมการของ Health Welfare for Strong and Weak IPR Protection ถ้าคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแบบผ่อนคลาย เด็กก็จะรอดมากขึ้น แต่ถ้าเข้มงวดเด็กก็จะมีอัตราการรอดลดลง แต่ขอเน้นย้ำว่าไม่ได้เจาะจงว่าเป็นประเทศไหน แต่เป็นผลภาพรวมในเชิงตัวเลขเฉย ๆ

 

งานวิจัยข้างต้น ดร.คมน์ทนงชัยกล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาจากการเข้าร่วมเวทีประชุมต่าง ๆ โดยเฉพาะเวทีที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองอย่างเข้มงวดและด้านเจ้าของสิทธิ์ บอกว่างานวิจัยนี้ยังต้องทำการศึกษาอีกมาก ซึ่งดร.คมน์ทนงชัย ก็เห็นด้วย เนื่องจากการศึกษาชิ้นหนึ่ง ไม่สามารถให้ข้อสรุปที่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อเนื่อง และในงานวิจัยเองก็บอกเอาไว้เช่นนั้น เพราะอัตราการตายของเด็กไม่ได้เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเดียว ในบางประเทศถึงไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ก็มีอัตราการตายของเด็กสูงอยู่แล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                    “เราเพียงอยากรู้ว่า การคุ้มครองเข้มงวดมีผลหรือไม่ งานนี้อาจจะบอกว่ามีผล ผมเขียนข้อปฏิเสธในงานนี้ว่า งานนี้ไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพียงแต่ว่างานนี้เป็นการศึกษาในเชิงคณิตศาสตร์ ผ่านกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ไม่ใช่งานศึกษาในเชิงคุณภาพที่เขียนวิจารณ์อย่างเดียว นี่เป็นตัวเลข ดังนั้น คนที่จะโต้แย้งก็ต้องทำในกระบวนการเดียวกัน ไม่ใช่จู่ ๆ คิดว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ได้ทำอะไรเลย ดังนั้นเวลาเราพูดถึงข้อเท็จจริง ผมคิดว่าเราต้องพูดถึงตัวเลขเป็นหลัก”

 

 

รับทริปส์พลัสหรือไม่? ต้องพิจารณาได้หรือเสียมากกว่า

 

 

ท่ามกลางกระแสการผลักดันการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปหรืออียูของภาครัฐ และการคัดค้านของภาคประชาชนและเอ็นจีโอ เนื้อหาส่วนหนึ่งของเอฟทีเอ ไทย-อียู เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่ทางอียูเรียกร้องจากไทยเกินกว่าที่ข้อตกลงทริปส์กำหนด ส่วนที่เกินนี้เรียกว่า ทริปส์พลัส ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่า อาจส่งผลกระทบด้านสาธารณสุขของไทย เราจึงสอบถามเจ้าของงานวิจัยว่า ทริปส์พลัสจะมีผลกระทบหรือไม่หากไทยยอมรับ

 

 

                   “ผมไม่แน่ใจ ผมเคยอ่านทริปส์พลัสอยู่หลายแห่ง  ผมมองว่าทริปส์พลัสเป็นการใช้อำนาจต่อรองเพื่ออะไรบางอย่างมากกว่า แต่จะมีผลร้ายมากขึ้นหรือเปล่า มันต้องดูว่าถ้ามีทริปส์พลัสแล้วประเทศจะได้อะไร ผมไม่ได้มองว่าทริปส์พลัสจะแย่ไปเสียหมด ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันดี แน่นอนว่าถ้าเราคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างดี ความเชื่อมั่นมันมา ทั้งการค้า การลงทุน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งของสังคม เราต้องคำนึงด้วยว่ามีโอกาสสูญเสียหรือเปล่า ส่วนจะสูญเสียอะไร คงต้องไปพิจารณาในรายละเอียด”

 

ดร.คมน์ทนงชัยกล่าวว่า ไม่ควรเหมารวมว่าดีหรือแย่เวลาที่พูดถึงทริปส์พลัสหรือข้อตกลงระหว่าประเทศแต่จำเป็นต้องมองหลายแง่มุม โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านกฎหมาย ต้องดูผลกระทบหลังจากที่กฎหมายถูกบังคับใช้ด้วยว่าใช้แบบไหน ดร.คมน์ทนงชัยย้ำว่าต้องไม่ลืมว่ากฎหมายมีกระบวนการบังคับใช้ ตอนเป็นกฎหมายทุกอย่างดูดีไปหมด แต่กระบวนการบังคับใช้ถูกใช้ โดยคนที่มีวิจารณญาณ หรือคนที่ว่าไปตามตัวบท หรือถูกใช้ด้วยนโยบายอะไรก็ตาม แต่ที่ลืมมองความเป็นจริงทางสังคม ดังนั้นเวลาดูกฎหมายเราจึงต้องดูหลาย ๆ เรื่อง

 

 

                “กฎหมายทุกฉบับ ผมคิดว่าโดยหลักออกมาดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่หมายถึงทั่วโลก อยู่ที่ผู้ใช้มากกว่า ส่วนคำถามว่าทริปส์พลัสเป็นอย่างไร ต้องดูว่าขณะที่ประเทศหนึ่งทำทริปส์พลัส ประเทศนั้นต้องการอะไร ซึ่งเราต้องคำนึงถึงผู้กำหนดนโยบายด้วยว่า เขามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องทำ เพราะผมเชื่อว่าทุกรัฐบาลของทุกประเทศไม่มีใครมีเจตนาร้ายต่อแผ่นดิน เพียงแต่ ณ ช่วงเวลานั้นเขาจำเป็นต้องทำอะไร ขณะเดียวกันผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็จะมีเหตุผลของตนเองเหมือนกัน ดังนั้น เวลาพูดถึงทริปส์พลัส ผมจึงไม่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะจะกลายเป็นว่าเราตัดสินเรียบร้อยไปแล้วว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร เวลามีข่าวออกมาผมจึงเฝ้าดูและคิดต่อว่า ถ้ามันมีผลบังคับใช้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะได้มากกว่าเสียหรือไม่”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นำงานวิจัยไปปรับใช้บริหารจัดการ เชื่อสังคมไทยได้ประโยชน์

 

 

ดร.คมน์ทนงชัย เชื่อว่า หากสามารถนำงานวิจัยชิ้นนี้ไปใช้เพื่อกำหนดนโยบายด้านการวิจัยพัฒนาจะช่วยให้เกิดประโยชน์ เพราะในสมการเรื่องเทคโนโลยีมีการใส่เรื่องการวิจัยและพัฒนาลงไปด้วย หมายความว่าถ้ามีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในผลิตภัณฑ์ จะส่งผลให้เทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วขึ้น

 

ประการที่ 2 ผู้กำหนดนโยบายไม่ว่าภาคส่วนใด ถ้าคำนึงถึงระดับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เมื่ออ่านงานวิจัยนี้จะสามารถเห็นว่า ส่วนไหนบกพร่อง ส่วนไหนควรจะเติมให้เต็ม ส่วนไหนควรจะเข้มงวด และส่วนไหนควรจะผ่อนคลาย

 

 

                “ก่อนหน้านี้ผมเคยได้รับทุนจากยุโรป ให้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ยกตัวอย่าง ปัจจุบันผู้บริโภค เช่น เจ้าของร้านอาหาร สถานประกอบการต่าง ๆ เขาก็รอคอยระบบที่ดีในการชำระค่าใช้สิทธิ์ เพราะปัจจุบันมีเจ้าของสิทธิ์สามสิบสี่สิบรายไปเก็บค่าบริการเขาซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาจ่ายไม่ถูก บางกิจการก็ต้องเลิกไปเพราะรับภาระไม่ไหว นี่ก็เกี่ยวพันกับงานวิจัยนี้ที่บอกว่า การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องน่าจะลองพิจารณาดู”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประการสุดท้ายที่งานวิจัยชิ้นนี้น่าจะเป็นประโยชน์คือ งานวิจัยชิ้นนี้อธิบายทุกสมการทุกส่วนว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับผลกระทบต่อสังคมนั้นแยกกันไม่ออก เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะเลือกอะไร ไม่ใช่ว่าสังคมอยู่ส่วนหนึ่ง การคุ้มครองเจ้าของสิทธิ์อยู่ส่วนหนึ่ง แต่ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด เพราะฉะนั้นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะถูกนำมาบริหารจัดการแบบไหน คุ้มครองแบบไหน ใช้มาตรการแบบไหน ย่อมกระทบต่อสังคมไม่มากก็น้อย และนี่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจหากนำงานชิ้นนี้ไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็น่าจะเป็นประโยชน์

 

 

ดร.คมน์ทนงชัย ย้ำในช่วงท้ายว่า ไม่ได้บอกว่าให้ผ่อนคลายการใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา แต่ต้องรู้จักวิธีบริหารจัดการ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ

 

 

                “คือเราไปโทษกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือโทษรัฐบาลก็ไม่ได้ เราไม่ควรกล่าวโทษหน่วยงานใด ๆ เพราะเขาก็มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องทำ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาปัจจุบัน ถ้าดูทุกฉบับ เหมือนกับเรากำลังอธิบายว่าเราพร้อมแล้วที่จะใช้มาตรฐานเดียวกันกับประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น หรือในยุโรป ขณะเดียวกัน ผมชอบใช้คำว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตื่นตัว ที่จะคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนร่วม หรือสังคมสักเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเรื่องซีแอลหรือมาตรการบังคับใช้สิทธิ เรามีมาตรการซีแอล แต่เราไม่ค่อยได้ใช้ หมายถึงเราใช้เป็นครั้งคราว แต่ว่าเวลาใช้ เราก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย นี่คือสิ่งที่ผมพูดถึงเรื่องการบริหารจัดการ หมายความว่าเราไม่ได้ผ่อนคลาย แต่ต้องรู้จักการบริหารจัดการ คนที่มีหน้าที่บริหารจัดการ จะเป็นใครผมไม่ทราบ เพราะมีอยู่หลายส่วน ทั้งหมดเป็นเรื่องของการบริหารจัดการโดยแท้ เราไม่สามารถไปตำหนิใครได้”

 

 

อย่างไรก็ตามเรากำลังคิดว่า ข้อสำคัญเบื้องต้นคงมิได้อยู่ที่ว่าจะนำผลการวิจัยไปปรับใช้อย่างไร แต่น่าจะอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจหรือผู้กำหนดนโยบายจะอ่านงานวิจัยที่มีประโยชน์ชิ้นนี้หรือไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: