อาหารไทยกำลังวิกฤติ(1)ชี้6ปัจจัยเสี่ยง โชว์ห่วยตาย-คนไร้ที่ทำกิน-จีเอ็มโอระบาด สารเคมีอื้อ-รัฐอุ้มอุตฯ-เสียเปรียบอาเซียน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 28 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3410 ครั้ง

ปี 2551 เกิดภาวะราคาอาหารในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้น ขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซ้ำเติมด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน หลายฝ่ายจึงวิตกกังวลว่ามันคือสัญญาณของการขาดแคลนอาหารในอนาคต เกิดคำถามว่าโลกจะต้องแบกรับภาระหนักแค่ไหน เพื่อจัดหาอาหารให้เพียงพอเลี้ยงคน 7,000 ล้านคน

 

ณ ช่วงเวลานั้น มีกระแสข่าวว่า ชาวต่างชาติเข้ามากว้านซื้อที่ดินในประเทศไทยเพื่อปลูกข้าวส่งกลับไปยังประเทศของตัวเอง จนเกิดกระแสต่อต้านขึ้น อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยซึ่งประกาศตนเป็น “ครัวของโลก” ก็มองเห็นเป็นโอกาสตักตวงผลประโยชน์จากราคาอาหารที่สูงขึ้น คงกล่าวไม่ผิดว่า ‘อาหาร’ และ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ กำลังจะกลายเป็นวาระสำคัญของโลก และอาจนำพามาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต

 

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร จัดการประชุมสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2555 ประเด็น “อิสรภาพทางพันธุกรรม อธิปไตย และความมั่นคงทางอาหาร” เนื้อหาของงานเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยหลายประการ และทำให้รู้ว่า ประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ เป็นครัวของโลก กลับยังมีคนไทยประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์หรือ 10.7 ล้านคน อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร ทั้งที่ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนอาหาร แต่ปัญหากลับอยู่ที่ระบบการกระจายตัวอาหารเองที่ไม่ปลอดภัย และไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ และที่สำคัญที่สุดคือ โครงสร้างทางการเมือง-เศรษฐกิจ ที่กำลังบั่นทอนความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย

 

ประเด็นว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารจึงไม่ได้หยุดแค่ว่า ประเทศไทยผลิตอาหารเพียงพอหรือไม่ แต่มีความสลับซับซ้อนกว้างไกลยิ่งกว่า และทั้ง 6 สถานการณ์เด่นด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยต่อไปนี้ จะเป็นจิ๊กซอว์ต่อขยายภาพให้เห็นว่า ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ที่สังคมไทยเชื่อมั่น ถึงที่สุดแล้ว ความมั่นคงทางอาหารของไทยเปราะบางเพียงใด

 

1.การรวมศูนย์การกระจายอาหารกับผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในช่วงมหาอุทกภัย

 

รวมศูนย์ฯทำห้างสรรพสินค้าขาดสินค้าแต่โชว์ห่วยกลับมีขาย

 

การขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม เหลือเพียงชั้นวางสินค้าที่ว่างเปล่าตามห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อ ในช่วงเหตุการณ์มหาอุทกภัยปลายปี 2554 เป็นภาพสะท้อนว่า ระบบการกระจายอาหารผ่านห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเดียว อาจไม่ใช่หลักประกันความมั่นคงทางอาหารเพียงพอสำหรับสังคมไทย

 

                    “ขณะอีกด้านพบว่า ยังสามารถหาซื้อน้ำ อาหาร สิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันได้จากร้านโชว์ห่วยต่างๆ จึงต้องกลับมาดูว่า ทำไมระบบใหญ่ที่เราเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า สามารถทำงานได้ในภาวะปกติ เมื่อเจอภาวะภัยพิบัติกลับไม่สามารถทำงานได้” รพิจันทร์ ภูริสัมบรรณ นักวิจัยจากมูลนิธิชีววิถี กล่าว

 

รพิจันทร์อธิบายว่า การรวมศูนย์ระบบกระจายอาหาร อาจตอบสนองการเข้าถึงอาหารได้ในภาวะปกติ แต่ในภาวะภัยพิบัติจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการอาหารได้ รพิจันทร์ยกตัวอย่างห้างค้าปลีก เช่น เทสโก้โลตัส ซึ่งมีศูนย์กระจายสินค้าหลัก 4 แห่งคือ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี, อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เห็นได้ว่า เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมทั้งสิ้น ทำให้ไม่สามารถกระจายสินค้าจากศูนย์ทั้ง 4 แห่งนี้ได้ ขณะเดียวกันห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ จะสต็อกสินค้าประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมกินเวลา 2-3 เดือน ทำให้สินค้าขาดตลาด

 

 

นอกจากนี้การรวมศูนย์กระจายอาหาร ไม่มีระบบการจัดการที่ยืดหยุ่นพอในภาวะวิกฤต เช่น เมื่อเกิดกรณีผู้ผลิตหลักไม่สามารถส่งสินค้าได้ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เหล่านี้ก็ไม่สามารถหาผู้ผลิตรายอื่นมาทดแทนได้ เนื่องจากมีขั้นตอนยุ่งยาก เช่น การต้องทำสัญญา การเสียธรรมเนียมค่าแรกเข้า ทำบาร์โค้ด ปัญหาการกระจายอาหารเห็นได้ชัดเจนกรณีน้ำดื่ม รพิจันทร์กล่าวว่า มีผู้ผลิตน้ำดื่มทั้งรายใหญ่-รายย่อยกว่า 7,000 รายทั่วประเทศ แต่กลับต้องนำเข้าน้ำดื่มในช่วงตุลาคม 2554 หรือไข่ไก่ที่หายไปจากห้างค้าปลีกฯร้านอาหาร โรงงานแปรรูป ซึ่งคิดเป็นเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการผลิตไข่ไก่ทั้งประเทศเท่านั้น ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ของไข่ไก่ที่เหลือ กระจายไปตามตลาดสด ตลาดนัด รถเร่ และร้านขายของชำ

 

ดันกฎหมายหนุนโชว์ห่วยกระจายอาหารลดความเสี่ยง

 

ข้อมูลข้างต้นชี้ชัดว่า การรวมศูนย์การกระจายอาหารไว้เพียงแห่งเดียว ไม่อาจรับมือภาวะภัยพิบัติได้ แต่การกระจายความเสี่ยงออกไปให้แก่หน่วยย่อยๆ เช่น ร้านโชว์ห่วย ตลาดสด จะเพิ่มหลักประกันการเข้าถึงอาหารในภาวะภัยพิบัติได้ดีกว่า

 

                    “เราต้องพัฒนาทางเลือก อย่างการส่งเสริมโชว์ห่วย บางครั้งเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในชุมชนด้วย ที่เจ้าของร้านรู้สึกว่าจะต้องช่วยคนที่ประสบภัยเหมือนกัน ด้วยการหาสินค้ามาขายให้ได้ หรือตลาดทางเลือก ตลาดชุมชน จะช่วยกระจายความเสี่ยง สร้างทางเลือก และเพิ่มความหลากหลายของอาหาร เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีอาหารแตกต่างกัน”

 

 

ทว่าข้อมูลการขยายตัวของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่พบว่า จากเดิมที่มีจำนวน 169 แห่ง ในปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็น 408 แห่งในปี 2554 ส่วนร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 9,260 แห่ง ในปี 2554 จากเดิม 3,428 แห่ง ในปี 2548 ตัวเลขที่สูงขึ้นของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ หมายถึงการล่มสลายของร้านค้าปลีกดั้งเดิมจำนวนมากตามที่ทราบกันดีอยู่ รพิจันทร์เห็นว่า เพื่อความมั่นคงและการเข้าถึงอาหาร นอกจากการพัฒนาทางเลือกแล้ว ยังต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น การแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 หรือการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เพื่อคุ้มครองร้านค้าปลีกดั้งเดิม และสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐ ชุมชน ภาคประชาชน จัดทำยุทธศาสตร์คลังสินค้าอาหาร จัดระเบียบคลังสินค้าของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และให้อำนาจรัฐเข้าตรวจสอบสต็อกได้ในภาวะวิกฤต และต้องพัฒนาระบบการพึ่งพาตนเองของชุมชนให้เกิดขึ้น

 

 

2.นโยบายการบริหารจัดการน้ำกับผลกระทบต่อเกษตรกรและชุมชน

 

เร่งขุดลอก-ขยายแม่น้ำหวังแก้น้ำท่วมแต่กลับทำให้แม่น้ำแห้ง

 

การบริหารจัดการภาวะอุทกภัยที่ผิดพลาดของรัฐบาล เกิดเสียงติเตียนเซ็งแซ่ไปทั้งสังคม จนส่งผลต่อมุมมองวิธีคิดการจัดการน้ำของภาครัฐว่า ต้องนำน้ำออกจากทุ่งให้เร็วที่สุด เกิดการขุดลอกและขยายลำน้ำหลายแห่งกระทั่งมิได้คาดคิดถึงผลที่ตามมา หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า

 

                  “วันนี้รัฐขุดและขยายแม่น้ำให้กว้างขึ้น ด้วยหลักคิดว่าเมื่อลำน้ำใหญ่ขึ้น ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านก็จะไหลได้มากขึ้น หลายที่ทำอย่างนี้ แต่พอลำน้ำใหญ่ขึ้นปรากฏว่าน้ำไม่มี มีแต่ทราย แหล่งน้ำธรรมชาติก็ขุดลอกหมด แล้วทำดินล้อมรอบ พอน้ำท่วมก็หาทางลงไม่ได้ เสียเวลาที่น้ำจะลงแม่น้ำซึ่งแต่เดิมลงได้เลย เดิมทีใช้เวลาแค่ 7-15 วัน ตอนนี้ใช้เวลามากกว่า 1 เดือน บางพื้นที่มากกว่า 3 เดือน เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำด้วยการเอางบเป็นตัวตั้ง งบปีที่แล้วประมาณ 5 หมื่นล้าน กรมน้ำมีงบขุดลอกแบบนี้ประมาณ 5 พันล้าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีงบทั้งก่อสร้างและการลงทุนประมาณ 3-4 หมื่นล้าน”

 

 

นโยบายรัฐอุ้มอุตสาหกรรมทำลายเกษตรกรรม

 

การจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง เกี่ยวพันกับความมั่นคงทางอาหารอย่างไร หาญณรงค์เฉลยว่า เพราะการจัดการน้ำเกี่ยวพันกับการเกษตรโดยตรง โดยยกตัวอย่างแผนการจัดการน้ำและระบายน้ำฝั่งตะวันตกว่า แนวทางการจัดการน้ำหลังจากนี้คือ ประตูระบายน้ำที่อยู่ในลำน้ำเจ้าพระยาทุกประตู จะปิดหมด และสร้างคันดินริมฝั่งเจ้าพระยาและท่าจีน ฝั่งแม่น้ำท่าจีนจะกั้นโดยถนน ซึ่งไม่ได้ขนานแม่น้ำเท่ากันตลอดแนวฝั่ง บางจุดห่าง 2 กิโลเมตร บางจุด 200 เมตร ทำให้เกิดสภาพคอขวดตลอดลำน้ำ ทำให้พื้นที่ของเกษตรกรที่อยู่ติดลำน้ำได้รับผลกระทบ หากอนาคตน้ำท่วมเช่นปีที่แล้ว บริเวณดังกล่าวจะถูกน้ำท่วมทุกปี สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือพื้นที่เรือกสวนไร่นาที่ติดกับริมแม่น้ำท่าจีนจะสูญเสียไปประมาณมากกว่า 2 แสนไร่

 

ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนแนวทางการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรม ด้วยการดึงทรัพยากรจากส่วนต่างๆ ไปอุดหนุนและละเลยภาคการเกษตร หาญณรงค์กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรจำกัดอยู่แล้ว แต่รัฐบาลกำลังวางแผนเอาพื้นที่เกษตรกรรม มาใช้รับน้ำเพื่อป้องกันอุตสาหกรรมที่เหมือนกับ “คนผิดที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ผิด”

 

                   “ทั้งหมดรัฐบาลลงทุนให้กับพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ควรอยู่ เช่น อยุธยา ปทุมธานี เราใช้พื้นที่แสนกว่าไร่ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรม แต่พูดถึงความมั่นคงทางอาหารน้อยมาก เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่านี่ไม่ใช่ปัญหาง่ายๆ ที่รัฐบาลจะทำไปโดยไม่มีการรับฟังและมีส่วนร่วมของประชาชน”

 

 

3.ปัญหาและนโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

 

 

ส.ส.มีที่ดินเฉลี่ยคนละ 100 ไร่ เกษตรกร 6.75 ล้านคนไร้ที่ทำกิน

 

 

ประเด็นที่ต่อเนื่องกับประเด็นของหาญณรงค์คือ ประเด็นการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังประการหนึ่งของสังคมไทย ที่ยังไม่มีวี่แววจะแก้ไขลุล่วง ปัญหาการจัดการที่ดินสะท้อนผ่านตัวเลขการกระจุกตัวของที่ดินที่ ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในปี 2549 ประเทศไทยมีเกษตรกรถึง 39.7 เปอร์เซ็นต์ แต่ชาวไร่ ชาวนากว่า 40 เปอร์เซ็นต์ กลับไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ และมีเกษตรกรไร้ที่ดินถึง 6.75 ล้านคน ขณะที่บุคคลธรรมดา 50 อันดับแรกกลับถือครองที่ดินรวมกันถึง 41,509.67 ไร่

 

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ดินประมาณ 30 ล้านไร่ในเขตชลประทาน และเหมาะสมกับการทำนา กลับถูกนำไปใช้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม รีสอร์ต บ้านจัดสรร สถานที่ราชการและสถานศึกษา ประมาณ 1 ใน 6 ของพื้นที่หรือ 5 ล้านไร่ ซ้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

 

                 “ส.ส.สี่ร้อยห้าร้อยคนในสภา มีที่ดินเฉลี่ยคนละประมาณมากกว่า 100 ไร่ ส่วนที่ดิน 39 ล้านไร่ของเกษตรกรกลับกำลังจะหลุดมือ มันสะท้อนปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน”

 

กระทุ้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ‘ปฏิรูปที่ดินด้วยน้ำยาบ้วนปาก’

 

การปฏิรูปที่ดินจึงจำเป็นต่อความอยู่รอดของภาคการเกษตร ที่ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงประเทศ ดร.ประภาสกล่าวว่า การจัดการปฏิรูปที่ดินจะต้องทำทั้งระบบ และหากลไกรักษาที่ดินไม่ให้หลุดมือจากเกษตรกร ด้วยแนวคิดโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นแนวคิดการจัดการที่ดินแบบกรรมสิทธิ์หน้าหมู่ โดยชุมชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่สิทธิการใช้ประโยชน์เป็นของบุคคล และสามารถสืบทอดทางมรดกให้แก่ลูกหลานได้ แต่ไม่สามารถขายที่ดินให้คนนอกชุมชน และการเปลี่ยนมือที่ดินทุกแปลงต้องผ่านมติกรรมการและสมาชิกในชุมชนก่อน

 

 

ดร.ประภาสกล่าวว่า นโยบายโฉนดชุมชนต้องดำเนินควบคู่ไปกับนโยบายธนาคารที่ดิน ภาษีที่ดิน และทรัพย์สินที่จะคอยเป็นแหล่งงบประมาณในการจัดหาที่ดิน ซึ่งในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 โดยมีชุมชนที่ยื่นคำขอ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2554 จำนวน 435 ชุมชน รวมพื้นที่ 2,227,726 ไร่ มีการอนุมัติโครงการนำร่อง 163 ล้าน เพื่อซื้อที่ดินที่เป็นข้อพิพาท แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อ นโยบายโฉนดชุมชน จึงยังไม่คืบหน้าแต่อย่างใด ผลคือนายทุนที่ชาวบ้านเจรจาซื้อที่ดินด้วยเริ่มลังเล

 

                 “ธนาคารที่ดินที่จัดตั้งเป็นองค์การมหาชนแล้ว แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ ภาษีที่ดินก็ไม่มีการทำอะไร โฉนดชุมชนก็ไปไม่ค่อยได้ ตอนรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เราก็วิจารณ์ว่าบ้วนปากด้วยนโยบายปฏิรูปที่ดิน คือไม่ค่อยทำอะไร แต่รัฐบาลชุดนี้ ผมคิดว่าเขาปฏิรูปที่ดินด้วยน้ำยาบ้วนปาก นี่คือชะตากรรมของการปฏิรูปที่ดินช่วงที่ผ่านมา”

 

4.นโยบายความปลอดภัยทางอาหารกับสถานการณ์ใช้สารเคมี

 

สารเคมีทำคนไทยเป็นมะเร็ง-เบาหวานเพิ่ม

 

ใกล้ตัวเข้ามายิ่งขึ้น นโยบายการควบคุมสารเคมีการเกษตรที่ผ่านมาของไทยยังย่อหย่อน แม้จะมีความพยายามปรับกฎระเบียบการขึ้นทะเบียนสารเคมีใหม่ แต่ก็ยังมีช่วงผ่อนผัน ซึ่งช่องว่างเวลาตรงนี้ทำให้เกิดการโหมนำเข้าสารเคมีมากกว่าเดิม ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษมสมบูรณ์ จากภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สารเคมีหลายตัวนำเข้ามากขึ้นกว่า 200 เปอร์เซ็นต์

 

                    “เครือข่ายของเรารณรงค์เรื่องสารเคมีต่อเนื่องนับ 10 ปี แต่ที่น่าตกใจคือ ยิ่งรณรงค์กลับยิ่งนำเข้าสารเคมีมากขึ้น ทั้งที่ทั่วโลกมีความตื่นกลัว มีการแบนสินค้าที่ปนเปื้อนจากประเทศผู้นำเข้าอย่างอียู ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภคเกิดความตื่นกลัว ซึ่งมีข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน”

 

ดร.นพ.ปัตพงษ์ ยกตัวอย่างปัญหาพิษภัยจากสารเคมีทางการเกษตรในประเทศสหรัฐฯ ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ 2 ถึงปีละมากกว่า 5.5 แสนคน มีผู้เป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นปีละ 1.5 ล้านคน จนนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ คณะทำงานดังกล่าวชี้ว่า สารเคมีที่อยู่ในท้องตลาดมากกว่า 80,000 ชนิด แต่มีความรู้เกี่ยวกับสารเคมีเหล่านี้เพียงแค่หลักร้อย ซึ่งจำนวนมากนำมาใช้ทั้งในภาคการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยไม่มีการทดสอบและการวิจัยนั้น มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง

 

 

ขณะที่ประเทศไทย มะเร็งกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 มากกว่าโรคเอดส์และอุบัติเหตุต่อเนื่องมากว่า 5 ปี มียอดเสียชีวิตประมาณ 56,000 ราย ดร.นพ.ปัตพงษ์อธิบายว่า ดีเอ็นเอเป็นต้นทางของกระบวนการชีวิต แต่สารเคมีไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดีเอ็นเอ และก่อให้เกิดการแบ่งตัวที่ผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง งานศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ที่ใช้สารเคมีปริมาณมากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ

 

                 “ล่าสุดพบงานวิจัยยืนยันว่า สารเคมีเป็นสาเหตุให้เกิดการต่อต้านอินซูลิน เดี๋ยวนี้คนไทยเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น การสำรวจปี 2552 พบว่าคนไทยอายุ 55 ปีขึ้นไป 6.8 เปอร์เซ็นต์เป็นเบาหวาน”

 

การควบคุมสารเคมีจึงส่งผลต่อความปลอดภัยในอาหารและสุขภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม สารเคมีทางการเกษตรเชื่อมโยงโดยตรงกับการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นรูปแบบการเกษตรกระแสหลักในปัจจุบัน หากไม่มีการปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรที่เหมาะสม การลดการใช้สารเคมีคงเป็นเรื่องยาก

 

5.รายงานผลกระทบการตรวจสอบการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย

 

 

พืชจีเอ็มโอทำลายพันธุกรรมท้องถิ่นถาวร

 

ขณะที่สารเคมีเป็นภัยสั่นคลอนความปลอดภัยทางอาหาร พืชดัดแปรพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms- GMO) ก็เป็นอีกข้อวิตกกังวลหนึ่งที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงทางอาหารโดยตรง การรุกรานหรือการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอในธรรมชาติมีผลต่อการสูญเสียทรัพยากรพันธุกรรมท้องถิ่น ซึ่งหากสูญเสียไปแล้วจะไม่สามารถคืนกลับได้อีก ทั้งการจะกำจัดพืชจีเอ็มโอออกไปจากธรรมชาติก็เป็นเรื่องยากมาก

 

ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทรานสเจนิคเทคโนโลยีในพืชและไบโอเซ็นเซอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พืชจีเอ็มโอไม่ถือว่าเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ในทุกๆ เงื่อนไข ดังนั้นจึงมีผลต่อการล่มสลายของการผลิตพืชอินทรีย์ หากเกิดการปนเปื้อน จะทำให้ตัวสินค้าเสียภาพลักษณ์ และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเพื่อตรวจสอบ-รับรอง ว่าไม่ใช่พืชจีเอ็มโอก่อนส่งออก เนื่องจากยังมีหลายประเทศในตะวันตกที่ไม่ยอมรับพืชจีเอ็มโอ เท่ากับเป็นเพิ่มต้นทุนในระยะยาว

 

 

บรรษัทผูกขาดเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ หวั่นเกษตรกรไทยถูกฟ้อง

 

 

ประเด็นสำคัญที่ ดร.ปิยะศักดิ์เป็นห่วงคือ การหลุดรอดของพืชจีเอ็มโอสู่ไร่นา มักเกิดขึ้นโดยที่เกษตรกรเกษตรกรไม่รู้ตัว ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอนุญาต ให้ปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ หมายความว่า เกษตรกรอาจกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว และเกิดคำถามต่อไปว่า หากต้องทำลายผลิตผลที่ปนเปื้อนพืชจีเอ็มโอจะดำเนินการอย่างไร จะมีมาตรการชดเชยอย่างไร เหล่านี้สะท้อนให้เห็นช่องว่างในการควบคุมกำกับดูแล

นอกจากนี้พืชจีเอ็มโอยังถูกผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติ ในทุกๆ เมล็ดของพืชจีเอ็มโอมีสารพันธุกรรมชนิดที่ไม่เคยปรากฏอยู่ในธรรมชาติมาก่อน เช่น ตัดต่อยีนจากแบคทีเรียที่ต้านทานแมลงใส่ลงไป ถ้าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้หลุดออกไปอยู่ในมือเกษตรกรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เจ้าของสิทธิบัตรย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเกษตรกร

 

               “ท้ายที่สุด สิ่งที่เราเป็นห่วงคือ การหลุดรอดนี้จะทำให้หลายคนใช้ตรรกะผิดทิศผิดทาง เหมือนว่าเมื่อมันปนเปื้อนแล้วก็ปลูกซะเลย ซึ่งเป็นตรรกะที่ผิด เป็นเหตุผลที่เราสำรวจการปนเปื้อน ทำมาตั้งแต่ปี 2550”

 

 

‘ฝ้าย-มะละกอ’ปนเปื้อนจีเอ็มโอ โชคดียังไม่พบในข้าว

 

จากการสำรวจระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงเดือนเมษายน 2555 ทั้งหมด 319 ตัวอย่าง พบการหลุดรอดและปะปนของพืชจีเอ็มโอในฝ้าย 9 ตัวอย่าง จาก 27 ตัวอย่าง คิดเป็น 33.33 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในพื้นที่จ.กาญจนบุรี และสุโขทัย และพบในมะละกอ 29 ตัวอย่างจาก 74 ตัวอย่าง คิดเป็น 39.19 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในพื้นที่จ.กาญจนบุรี แต่ยังโชคดีที่ตั้งแต่การสำรวจมายังไม่พบการปนเปื้อนในข้าว

 

“ปัญหาการปนเปื้อนกระทบโดยตรงต่อชุมชนและสังคม ประเด็นจีเอ็มโอไม่ใช่แค่การตรวจพบ แล้วจบ แต่เราต้องสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้กระทบกับความมั่นคงทางอาหารต่อสังคมในระยะยาว”

 

6.ความมั่นคงทางอาหารภายใต้กระแสการค้าการลงทุนของจีนและประชาคมอาเซียน

 

ประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในอาเซียน

 

กระแสโลกาภิวัตน์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำลังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย เมื่อมองภาพในระดับอาเซียนที่เกี่ยวพันกับไทย การเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 มีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ภาคการเกษตรของไทย วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ฉายภาพตำแหน่งแห่งที่ของไทยในอาเซียนให้เห็นว่า หากวัดขนาดเศรษฐกิจจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพี ประเทศไทยในอาเซียนเป็นรองแค่อินโดนีเซีย แต่เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อคน ประเทศไทยกลับอยู่ในอันดับ 4 เป็นรองสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย และเมื่อดูจากทรัพยากรพื้นที่ป่าไม้ต่อคนซึ่งถือเป็นฐานทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 จากท้าย

 

                    “มันหมายถึงทรัพยากรที่จะรองรับเรื่องอาหาร หรือการพัฒนาเศรษฐกิจ ช่วงที่ผ่านมาเราขายทรัพยากรไปมากแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่าเราอยู่ตรงไหนในอาเซียน เพราะภาพที่เราได้รับจากสื่ออาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริงที่เราเป็น ยิ่งถ้าดูตัวเลขความเหลื่อมล้ำของประชากรในไทย จากจีดีพีเทียบกับของประเทศอื่นในอาเซียน เราอยู่ท้ายสุด หมายความว่าเรามีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด”

 

 

ข้าวไทยต้นทุนแพง-ผลผลิตต่ำ หวั่นเปิดเสรีกระทบชาวนา

 

 

เมื่อพิจารณาเฉพาะสินค้าเกษตร ประเทศไทยเปิดเสรีการค้าภายในอาเซียนไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2553 วิฑูรย์ อธิบายว่า แต่ละประเทศสามารถกำหนดรายการสินค้ายกเว้นได้ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ รายการสินค้าอ่อนไหว, รายการสินค้าอ่อนไหวสูง และรายการสินค้ายกเว้นทั่วไป แต่ข้อน่าสังเกตคือ ประเทศไทยกำหนดสินค้าอ่อนไหวไว้เพียง 4 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ไม้ตัดดอก มันฝรั่ง กาแฟ และเนื้อมะพร้าว ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กำหนดให้ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหวสูง ซึ่งจะไม่มีการลดภาษี ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงทางอาหาร แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้กำหนดไว้แต่อย่างใด วิฑูรย์เห็นว่า เป็นความผิดพลาดทางวิธีคิดของภาครัฐที่เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการผลิตข้าวสูงกว่าประเทศอื่น

 

แต่ข้อมูลของวิฑูรย์กลับแสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพการผลิตข้าวของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่เพียง 448 กิโลกรัม อยู่อันดับ 6 จาก 8 ประเทศในอาเซียน ขณะที่เวียดนามมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มากกว่าไทยเท่าตัว แต่ต้นทุนการผลิตของไทยกลับสูงกว่าเวียดนาม หมายความว่าเกษตรกรไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับข้าวจากกลุ่มประเทศอาเซียน

 

                 “ผมไปดูงานศึกษาการเตรียมความพร้อม พบว่าเราไม่เคยบรรจุข้าวไว้เลยว่าเป็นสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ และยังมีอีกหลายตัวที่ไม่ได้บรรจุไว้ เช่น ข้าวโพด นี่เป็นปัญหาที่ผมคิดว่าเราต้องสรุปบทเรียน”

 

นอกจากนี้ ข้อตกลงเออีซียังเปิดเสรีด้านการลงทุนให้นักลงทุนในอาเซียนและนักลงทุนนอกอาเซียนที่ลงทุนในอาเซียนอยู่แล้วมีสิทธิเท่ากับคนในประเทศไทย วิฑูรย์แสดงความเป็นห่วงว่า อาจเปิดช่องให้กลุ่มทุนใหญ่ของสิงคโปร์เข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรในไทย ดังที่ทำมาแล้วในประเทศต่างๆ เป็นพื้นที่ประมาณ 10 ล้านไร่

 

 

รัฐบาลงุบงิบเปิดเสรี-ตั้งอดีตซีอีโอบรรษัทข้ามชาติศึกษาเปิดเสรีเมล็ดพันธุ์

 

 

วิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านั้นประเทศไทยได้กำหนดรายการสินค้าสงวนชั่วคราวและต้องเปิดเสรีภายในปี 2553 ใน 3 สาขา ได้แก่ การทำประมง เฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, การทำป่าไม้จากป่าปลูก และการทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ศ.ระพี สาคริก และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 103 องค์กร เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเปิดเสรีใน 3 รายการดังกล่าว เพราะประเทศอื่นไม่ได้เปิดเช่นเดียวกับเรา รัฐบาลขณะนั้นจึงได้สั่งการให้ทบทวนและยุติการเปิดไว้ก่อน และให้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

 

                 “แต่ในช่วงน้ำท่วม ตอนที่คนไม่มีกะจิตกะใจติดตามนโยบายการเมือง รัฐบาลชุดนี้ก็เสนอสภาให้มีการเปิดเสรีในบางสาขาของ 3 สาขานี้ไปแล้ว คือ การเลี้ยงกุ้งมังกรสายพันธุ์ไทย การเลี้ยงปลาทูน่าในกระชังน้ำลึก และเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่”

 

ซ้ำยังตั้งคณะนักวิจัยด้านเมล็ดพันธุ์ที่จะคอยให้คำแนะนำการเปิดเสรีเมล็ดพันธุ์แก่กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งวิฑูรย์เปิดเผยว่า นักวิจัย 3 คนมีความข้องเกี่ยวกับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ โดยเฉพาะหัวหน้าคณะนักวิจัยเป็นอดีตผู้บริหารของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ

 

               “สามเรื่องนี้เมื่อเปิดเสรีแล้วเท่ากับเราเปิดช่องทางให้บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทต่อความมั่นคงด้านอาหารมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม และเปิดช่องทางให้กับกระบวนการแย่งยึดที่ดินในประเทศ ในทางกลับกัน เรากลับพบว่า เครือข่ายของพี่น้องที่ทำงานด้านเมล็ดพันธุ์กำลังเผชิญหน้ากับการดำเนินการทางนโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม กดดันให้ชาวบ้านต้องยกเลิกหรือหยุดการผลิตเมล็ดพันธุ์ แต่อีกด้านกลับเปิดให้บรรษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน”

 

จาก 6 ประเด็นข้างต้น เมื่อนำมาร้อยเรียงกันเป็นภาพใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ที่สังคมไทยเชื่อมั่นอาจไม่ได้เป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของคนไทยเลย เมื่อการดำเนินนโยบายของรัฐดำเนินไปอย่างไมมีความสมดุล แยกส่วน และมองไม่เห็นความยึดโยงของประเด็นต่างๆ ต่อความมั่นคงทางอาหารของคนไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: