ฮือไล่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-ระเบิดทะเล แฉขนผู้นำท้องถิ่นทัวร์ญี่ปุ่นหวังปิดข้อมูล อบต.จ่อฟ้องศาลปกครองจี้หยุดโครงการ

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ 28 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2810 ครั้ง

ชาวบ้านกระบื่ฮือต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

 

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2555 ที่หอประชุมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 2 ต.โคกยาง อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับบริษัท แอร์เซฟ จำกัด มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของกฟผ.ที่ต.คลองขนาน อ.หนือคลอง โดยมีชาวบ้านต.ปกาสัย ต.โคกยาง ต.เกาะศรีบอยา ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เข้าร่วมประมาณ 400 คน

 

นายวิชาญ ชูศรี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย หมู่ 4 ต.ปกาสัย กล่าวในเวทีว่า ที่ผ่านมากฟผ. ไม่เคยให้ข้อมูลผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ กับชาวบ้านอ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม และไม่ชี้แจงผลกระทบจากกระบวนการขนส่งถ่านหิน กับชาวบ้านอ.เกาะลันตา ชาวบ้านยังไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย การขนส่งถ่านหินปลายแหลมทราย เกาะศรีบอยา บริเวณนั้นน้ำตื้นต้องขุดลอกคลอง ระเบิดหินโสโครก จะส่งผลกระทบต่อประมงพื้นบ้านขนาดไหน

 

                   “ล่าสุดที่บ้านแหลมกรวด เรือบรรทุกน้ำมันรั่ว ถามว่าน้ำมันเตาในจ.กระบี่ มีโรงงานไหนใช้บ้าง นอกจากโรงไฟฟ้ากระบี่เท่านั้น ผมคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน โฆษณาว่า อากาศที่แม่เมาะดีอย่างโน้นอย่างนี้ ทั้งที่ยังมีปัญหาเรื้อรังอยู่ กฟผ.จะสร้างโรงไฟฟ้าที่ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง แต่ถูกต่อต้านอย่างหนัก อย่าคิดว่าคนกระบี่อ่อนแอไม่เข้มแข็ง ไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านเต็มรูปแบบได้” นายวิชาญ กล่าว

 

 

กฟผ.หมกเม็ดข้อมูล จ่อฟ้องศาลปกครองให้สั่งหยุด

 

 

ด้าน นายชลิต สุโข สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย หมู่ 1 ต.ปกาสัย กล่าวว่า ตอนแรกกฟผ. ใช้ชื่อ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อสับขาหลอกชาวบ้าน ชาวบ้านที่ปกาสัยได้รับผลกระทบโดยตรง ตนยืนยันคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินร้อยเปอร์เซ็นต์

 

                     “วันนี้ผมมาฟังข้อมูลดู ทั้งที่คนปกาสัยสามารถจัดเวทีคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินคู่ขนานกับเวทีนี้ได้ แต่เราไม่ทำ อยากให้กฟผ.บอกข้อมูลให้รอบด้าน ไม่เช่นนั้นจะฟ้องศาลปกครองให้สั่งหยุดโครงการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ ผมถามถึงบริษัทที่ปรึกษา และมหาวิทยาลัยที่มาร่วมทำวิจัยว่า มีความเป็นกลางมากน้อยแค่ไหน” นายชลิตกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้กฟผ.ยังจัดรับฟังความคิดเห็นกรณีที่จะมีการสร้างท่าเทียบเรือ เพื่อขนถ่ายถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย มายังจุดขนถ่ายถ่านหินกลางทะเล บริเวณเกาะปอ จากนั้นขนถ่ายถ่านหินจากเรือใหญ่ลงสู่เรือบาร์จ โดยมีอัตราการขนถ่ายประมาณวันละ 1,200 ตัน ตามเส้นทางเกาะปอ - แหลมหิน – คลัง น้ำมันบ้านคลองรั้ว– แหลมกรวด – คลองเพหลา – คลองปกาสัย – ท่าเทียบเรือบริเวณโรงไฟฟ้า ซึ่งจะต้องขุดลอกใต้ทะเลเป็นร่องน้ำลึกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นอย่างมาก โดยมีชาวบ้านจากอ.เกาะลันตา อ.เหนือคลอง อ.คลองคลองท่อม และอำเภอใกล้เคียง จ.กระบี่ เข้าร่วมประมาณ 300 คน

 

 

อบต.เตรียมกระจายข้อมูลชุมชนลุกขึ้นต้าน

 

 

นายชลิต สุโข สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย หมู่ 1 ต.ปกาสัย กล่าวว่า กฟผ.มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สร้างท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน ทั้งที่โรงไฟฟ้าน้ำมันเตาก่อปัญหาให้กับคนปกาสัยยังไม่ได้รับการแก้ไข ตนและชาวบ้านปกาสัยตั้งใจว่า จะต่อต้านไม่ให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเด็ดขาด แม้ว่ากฟผ.ตั้งธงก่อสร้างก็ตาม ตนจะกลับไปเผยแพร่ข้อมูลให้กับชาวบ้าน และหาแนวร่วมพื้นที่อื่นๆ ลุกขึ้นต้านให้ได้

 

นายศุภรัตน์ ทองทิพย์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย หมู่ 6 ต.ปกาสัย กล่าวว่า ตนคนหนึ่งที่ต้านทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการท่าเทียบเรือบริเวณโรงไฟฟ้ากระบี่ และโครงการท่าเทียบเรือบริเวณสะพานช้าง ตั้งอยู่ริมคลองเพหลา หมู่ 6 บริเวณบ้านคลองหวายเล็ก ต.คลองขนาน ซึ่งแน่นอนว่า ไม่นานนี้จะมีการแตกหักกันระหว่างคนที่สนับสนุนกับต้านแน่นอน

 

 

แฉกฟผ.พากำนัน-ผญบ.ไปเที่ยวญี่ปุ่น

 

 

นายอดุลย์ ซอบีรีน ชาวบ้านบ้านหัวแหลม ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ แสดงความเห็นในเวทีว่า ขณะนี้ที่เกาะปอ ต.เกาะลันตาใหญ่ มีเรือบรรทุกปูนซิเมนต์ ของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด แออัดอยู่แล้ว หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีการขนถ่ายถ่านหินอีก จะทำให้ปริมาณเรือเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีอาชีพอีกต่อไป ขนาดเรือบรรทุกปูนซิเมนต์ยังส่งผลกระทบแล้ว หากเป็นถ่านหินย่อมอันตรายกว่าปูนซิเมนต์อยู่แล้ว ตนและชาวบ้านเกาะปอ แหลมทราย หัวแหลม ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

นายพิบูลย์ สาระวารี นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาองค์กรชุมชนภาคพลเมืองจังหวัดกระบี่ แสดงความเห็นในเวทีว่า ได้ติดตามการทำงานของกฟผ. เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงการรับงานของบริษัทที่ปรึกษา และมหาวิทยาลัย พบข้อพิรุธคือ มีการโฆษณาชวนเชื่อจากสถานีวิทยุเชิงข่มขู่ชาวบ้านว่า หากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้สร้าง ชาวบ้านจะไม่มีไฟฟ้าใช้ อีกทั้งกฟผ. ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลรอบด้านทั้งข้อดี ข้อเสีย แถมยังมีการนำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อล็อบบี้ให้มีการสนับสนุนโรงไฟฟ้าด้วย

 

                     “เรือขนส่งถ่านหินเดินทางจากอินโดนีเซีย ผ่านเกาะตะรุเตา ทะเลสตูล ทะเลตรัง ผ่านเกาะปอ เกาะยาว แหลมกรวดวันละ 12 เที่ยว ทางเดินเรือเป็นน้ำตื้นถ้าจะเดินเรือต้องขุดลอก และระเบิดหินโสโครกใต้น้ำ 3 จุด ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทะเลของชาวประมงพื้นบ้าน ของชาวบ้านต.เกาะศรีบอยา ต.ตลิ่งชัน นี่ขนาดเรือบรรทุกน้ำมันเตารั่ว ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้เลย” นายพิบูลย์กล่าว

 

 

โครงการท่าเทียบเรือ 2 แห่ง

 

สำหรับโครงการท่าเทียบเรือบริเวณโรงไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ รับเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอส ความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 100 เมตร หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวม ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตร ขึ้นไป ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งแผนการพัฒนาท่าเทียบเรือบริเวณโรงไฟฟ้า มีองค์ประกอบสำคัญคือ ท่าเรือความยาว 200 เมตร งานก่อสร้างลานกอง เขื่อนป้องกันตลิ่งกันกัดเซาะ งานก่อสร้างถนนภายในโรงไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภค

 

ท่าเรือมีโครงสร้างแบบ concrete deck on piles มีลักษณะเป็นเสาเข็มตอกฝังลึกจนถึงชั้นดินแข็ง ด้านบนของเสาเข็มจะหล่อคานคอนกรีตเสริมเหล็ก และพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้างคูณยาว 29 เมตร  คูณ 200 เมตร หรือมีพื้นที่หน้าท่าเรือ 5,800 ตารางเมตร มีระดับพื้นท่าสูงกว่าระดับน้าทะเลปานกลาง +4.0 เมตร

 

 

รองรับขนาดเรือลำเลียงขนาดเล็กเดินทะเลและภายในลำน้ำ แบบสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง (River Sea Going Barges - RSGB) มีขนาด 1,300 ตัน กินน้ำลึก 2.5 เมตร ความยาวเรือ 85 เมตร และความกว้างเรือ 16 เมตร ความยาวหน้าท่า โครงการออกแบบให้มีความยาวหน้าท่า 200 เมตร และมีความกว้างหน้าท่า 29 เมตร ความลึกหน้าท่า โครงการออกแบบให้มีความลึกหน้าท่าที่ระดับต่ำกว่าระดับน้ำลงต่ำสุด -3.0 เมตร หรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง -5.50 เมตร

 

ส่วนการขนส่งถ่านหิน โครงการจะใช้เรือเดินทะเลขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์สำหรับขนถ่ายถ่านหินติดตั้งใช้งานบนเรือ มีระวางบรรทุกระหว่าง 50,000-100,000 DWT ขนส่งถ่านหินจากท่าเรือต้นทาง เช่น อินโดนีเซีย มายัง จุดขนถ่ายถ่านหินกลางทะเล บริเวณเกาะปอ จากนั้นใช้อุปกรณ์บนเรือ คือ crane & grab ทำการขนถ่ายถ่านหินจากระวางเรือใหญ่ลงสู่เรือบาร์จ โดยมีอัตราการขนถ่ายประมาณวันละ 1,200 ตัน ขนถ่านหินของเรือบาร์จจะเริ่มจากจุดทอดสมอบริเวณเกาะปอ - แหลมหิน – คลัง น้ำมันบ้านคลองรั้ว– แหลมกรวด – คลองเพหลา – คลองปกาสัย – ท่าเทียบเรือบริเวณโรงไฟฟ้า

 

สำหรับโครงการท่าเทียบเรือบริเวณสะพานช้าง ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ริมคลองเพหลา หมู่ 6  บ้านคลองหวายเล็ก ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ห่างจากโรงไฟฟ้ากระบี่ ไปทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งทะเล 15.7 กิโลเมตร

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: