สหรัฐฯเร่ง'ทีพีพี'ไทย-ปิดล้อมจีน กลัวเสียอิทธิพลเศรษฐกิจในเอเชีย บีบไทยเลือกข้าง-ใช้โยงอาเซียน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 27 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1562 ครั้ง

 

เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ให้ความเห็นชอบร่างแถลงข่าวร่วมแสดงความตั้งใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก ‘ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ หรือทีพีพี (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ซึ่งประจวบเหมาะกับการมาเยือนประเทศไทยของบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

แม้ว่าจะเป็นเพียงการแสดงเจตจำนงของรัฐบาล แต่ก็สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความวิตกกังวลแก่หลายภาคส่วนในสังคม ตั้งแต่ระดับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่เป็นห่วงว่าภาคการเงินของไทยยังไม่มีความพร้อม ไปจนถึงเอ็นจีโอและภาคประชาชนที่ติดตามประเด็นการค้าเสรีที่เกรงว่าจะเกิดผลเสียต่อสังคมไทยหลายด้าน

 

ส่วนท่าทีของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แสดงออกค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องการเข้าร่วมทีพีพี โดยมองผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับในเชิงเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่ง ผู้ที่ติดตามผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีมองว่า ทีพีพีเป็นกรอบการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ มาตรการมีความเข้มข้นมากกว่าเขตการค้าเสรีทั่วไป และมีผลกระทบสูงต่อสังคมไทย ดังนั้นรัฐบาลไทยจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

 

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศไทยจะหลงลืมมิได้คือ แง่มุมในเชิงการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะถึงที่สุดแล้ว ทีพีพีอาจไม่ได้ตรงไปตรงมา เพียงแค่การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจดังที่สหรัฐฯ แสดงออกเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงยุทธศาสตร์ด้านการเมืองและความมั่นคงของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน

 

 

นักวิชาการวิเคราะห์ทีพีพี ไทยต้องการให้ของขวัญโอบามา

 

 

ทีพีพีเป็นความพยายามของสหรัฐฯ ภายหลังที่ไม่สามารถเจรจาเขตการค้าเสรีในกรอบประเทศสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปกได้ (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ในช่วงเริ่มต้นทีพีพี มีสมาชิกเพียง 4 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และชิลี แต่ก็มีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ นอกจาก 4 ประเทศที่กล่าวไปแล้วก็มีเปรู แคนาดา เม็กซิโก สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่ง 4 ประเทศหลังเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน

 

รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า หากมองในเชิงรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ ทีพีพีถือเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ ทางด้านเศรษฐกิจต่อภูมิภาคเอเชีย ที่เริ่มต้นมาประมาณ 3-4 ปีในยุคของโอบามา ซึ่งมีความพยายามล็อบบี้ให้ประเทศไทยเข้าร่วมอย่างเงียบ ๆ มาโดยตลอด เป็นเหตุให้สังคมไทยรู้จักทีพีพีไม่มาก

 

ขณะที่ประเทศไทยเองก็พิจารณาเรื่องนี้มานานพอสมควร การที่รัฐบาลไทยประกาศว่า สนใจเข้าร่วมทีพีพีในจังหวะเดียวกันกับที่โอบามาเยือนประเทศไทย รศ.ดร.ประภัสสร์มองว่า เป็นการตัดสินใจบนฐานการเมืองที่ต้องการเอาใจโอบามา เสมือนเป็นการมอบของขวัญ ไม่ให้โอบามากลับไปมือเปล่า

 

 

สหรัฐฯ เร่งทีพีพี กลัวเสียอิทธิพลด้านเศรษฐกิจในเอเชีย

 

ดร.ประภัสสร์อธิบายภูมิหลังของบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ว่า วัตถุประสงค์หลักของสหรัฐฯ ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือการครองความเป็นเจ้าในด้านการทหารและเศรษฐกิจ ซึ่งในด้านการทหาร สหรัฐฯ มีกองกำลังและพันธมิตรอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย เป็นต้น ถือว่าสหรัฐฯ คุมเกมด้านการทหารไว้ได้และยังเป็นการสกัดกั้นอิทธิพลทางทหารของจีนไปพร้อม ๆ กัน

 

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เนื่องจากอิทธิพลด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้ามกับจีนที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก สหรัฐฯ จึงวิตกกังวลและต้องการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนทางเศรษฐกิจด้วย

 

 

 

                 “อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย ในอนาคตศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกจะย้ายจากทางตะวันตกมาทางตะวันออก ภูมิภาคนี้กำลังจะเป็นเค้กก้อนสำคัญทางเศรษฐกิจของอเมริกาที่ไม่สามารถละเลยได้อีกต่อไป และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ประเทศในเอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ เกิดการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ (Free Trade Agreement: FTA) ที่มีอาเซียนเป็นแกน เกิดเอฟทีเอ อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-ออสเตรเลีย แล้วยังจะมีเอฟทีเอ อาเซียน+3 ซึ่งมีจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่มีสหรัฐฯ อยู่ด้วย” ดร.ประภัสสร์อธิบาย

 

สหรัฐฯ จึงมองวิวัฒนาการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศลักษณะนี้ ด้วยความกังวลว่า จะทำให้ตนเองลดบทบาทลง และถูกกีดกันจากความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ทีพีพีจึงเกิดขึ้น

 

 

ทีพีพีสหรัฐฯตีกันเอเชีย-ไม่เอาจีน

 

 

แม้เริ่มแรกทีพีพี สหรัฐฯ จะมุ่งเรื่องเศรษฐกิจ แต่ภายหลังสหรัฐฯ เริ่มมองว่า ทีพีพีจะเป็นกลไกสำคัญที่จะใช้แข่งกับเอฟทีเอของอาเซียน กันไม่ให้เอเชียรวมกลุ่มกัน โดยเฉพาะอาเซียน+3 ที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก และมีเอฟทีเอของตนเอง สหรัฐฯ เกรงว่าเศรษฐกิจโลกจะแบ่งเป็น 3 ขั้ว คือขั้วสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ยอมไม่ได้ เพราะการรวมกลุ่มของเอเชียจะท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าของอเมริกา จะส่งผลกระทบอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ซึ่งทีพีพีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้ว จากการที่อาเซียนเป็นแกนกลางของเอฟทีเอของภูมิภาคมาเป็นสหรัฐฯ และที่สำคัญทีพีพีจะเป็นเครื่องมือปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ

 

ดร.ประภัสสร์อธิบายว่า เขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก หรืออาเซียน+3 จะกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯ ถึงปีละ 25,000 ล้านดอลล่าร์ จึงจำเป็นที่สหรัฐฯ ต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่ม และทำให้การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของกรอบที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือ เป็นส่วนหนึ่งของทีพีพี ทางสหรัฐฯ โฆษณาว่าเป็นเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูงที่สุดในโลก เป็นเอฟทีเอของแท้ เปิดทุกสาขาและครอบคลุมประเด็นการค้าใหม่ ๆ ทั้งหมด หากสำเร็จจะทำให้ทีพีพีเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก สหรัฐฯ ยังวิพากษ์วิจารณ์เอฟทีเอของอาเซียนว่า มีมาตรฐานต่ำและไม่เปิดเสรีจริง

 

 

                 “แต่การที่สหรัฐฯ บอกว่า ทีพีพีจะครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมดนั้น คงไม่ใช่ ต้องขอวงเล็บไว้ว่ายกเว้นจีน สหรัฐฯจะไม่เอาจีนเข้าร่วมทีพีพี เพราะต้องการปิดล้อม ทีพีพีจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ” ดร.ประภัสสร์กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไทยเข้าร่วมเพราะกลัวตกรถไฟ และอยากเป็นเด็กดีของสหรัฐฯ

 

 

ดร.ประภัสสร์กล่าวถึงผลดีในด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ไทยน่าจะได้คือ การส่งออกไปอเมริกาได้มากขึ้น ขณะที่ประเทศสมาชิกทีพีพีอื่น ๆ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก มีการค้ากับไทยน้อยมาก ส่วนบรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ประเทศไทยมีเอฟทีเอกับประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว ประเทศชิลีและเปรู การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสองประเทศนี้ ก็กำลังจะเสร็จสิ้น ซึ่งทีพีพีคงไม่เพิ่มประโยชน์ให้มากนัก

 

 

               “ส่วนผลดีในแง่รัฐศาสตร์ คือเรากลัวตกรถไฟสายทีพีพี เพราะถ้าประเทศอื่นเข้ากันหมด เราไม่เข้าก็จะเสียเปรียบ รัฐบาลก็ต้องบอกว่าจะกระโดดขึ้นรถไฟสายทีพีพีตอนไหนดี ก่อนที่จะสายเกินไป แล้วถ้าเข้าช้ากระทรวงพาณิชย์ก็บอกว่า มันต้องเสียค่าเข้าเหมือนกับองค์การการค้าโลก ผลดีประการสุดท้ายคือเราจะได้เป็นพันธมิตร ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เราเข้าร่วมทีพีพี สหรัฐฯจะแฮปปี้ ในสายตาของเขาก็จะมองไทยในเชิงบวกมากขึ้น เป็นเด็กดีของสหรัฐฯ เขาก็จะให้รางวัล ไทยก็หวังว่าถ้าใกล้ชิดสหรัฐฯ ก็จะได้ประโยชน์”

 

 

ขณะเดียวกันจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทยหลายสาขา ทั้งการเกษตร การค้าภาคบริการ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน และมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐฯ จะใช้เป็นข้ออ้างในการกดดันไทย ส่วนผลกระทบในเชิงการเมืองคือ สหรัฐฯจะสามารถครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคนี้ต่อไป ขณะที่การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออก จะไม่ประสบความสำเร็จ และกระทบต่อเอฟทีเอที่มีอยู่แล้ว ระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดบทบาทของอาเซียน และที่สำคัญจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน

 

 

นักวิชาการจีนศึกษาเชื่อ สหรัฐฯ เกรงจีนผงาด

 

 

ด้านวรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นว่า ไม่ว่าเราจะยอมรับการค้าเสรีหรือใหม่ ถึงที่สุดแล้วการยอมรับข้อตกลงเขตการค้าเสรีจะต้องเกิดขึ้น แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างไทยกับจีนที่วรศักดิ์อธิบายคือ

 

 

               “ตั้งแต่เราพูดเรื่องการค้าเสรีตลอดสิบยี่สิบปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าชาวไทยระดับล่างมีความรู้ ข้อมูลน้อยมาก ซึ่งแตกต่างกับจีนมาก จีนต่อสู้เพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกมานับสิบกว่าปี และเมื่อรู้ว่าจะได้เป็นสมาชิก จีนก็ทำคู่มือการค้าเสรีแจกประชาชนว่า ถ้าทำแล้วจีนจะเสียเปรียบอะไร และอะไรคือสิ่งที่จีนจะได้ ประเทศไทยมีประชาชนแค่ 60 กว่าล้านคน แต่เราไม่เคยได้รับข้อมูลจากชนชั้นนำเลย”

 

 

 

จะเห็นได้ว่า หากเปรียบเทียบประเทศไทยกับจีน จีนถือว่าไม่กลัวการค้าเสรี และนับตั้งแต่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกตั้งแต่ปลายปี 2544 เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างแข็งแกร่ง วรศักดิ์ขยายภาพการขยายอิทธิพลของจีนว่า หลายปีที่ผ่านมาที่จีนเปิดการค้าเสรี และรุกคืบเข้ามาในอาเซียนและได้ประโยชน์ไปไม่น้อย ขณะเดียวกันจีนได้เตรียมการณ์มานับสิบปี เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (Asean Economic Community : AEC) ในปี 2558 ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ถดถอยลงอย่างช้า ๆ กระทั่งปี 2551-2552 ฟองสบู่ของสหรัฐฯ จึงแตก

 

 

                “ถึงตอนนั้นแล้ว จีนก็รุ่งเรือง ช่วงนั้นจีนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก งานเปิดอลังการมาก ผมคิดว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของมหาอำนาจใหม่ และกำลังบอกว่าจีนจะเป็นมหาอำนาจที่มีพฤติกรรมแตกต่างไปจากมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งเคยดำรงอยู่เป็นสิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะฉะนั้นความวิตกกังวลในเรื่องนี้จึงเริ่มเกิดขึ้น ถ้าไทยเป็นสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจกำลังถดถอย เราคิดหรือไม่ ต้องคิด”

 

 

วรศักดิ์จึงถือว่าทีพีพีเป็นกลไกส่วนหนึ่งของการค้าเสรี ที่ขยับขึ้นมาอีกก้าว จากที่เคยมีอยู่แต่เดิม ซึ่งครั้งนี้สหรัฐฯ เป็นฝ่ายรุก หลังจากที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปล่อยให้จีนเป็นฝ่ายรุก

 

 

หากสหรัฐฯ เป็นภัยคุกคาม จีนพร้อมทำสงคราม

 

 

เมื่อทีพีพีคือยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ใช้ปิดล้อมจีน หากมองจากสายตาของจีน วรศักดิ์มองว่า สามารถตอบได้ 2 แบบ แบบหนึ่งคือตอบแบบนักการทูต โดยยกตัวอย่างการตอบคำถามของอ้าย ผิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิเทศสัมพันธ์ แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อนักข่าวถามถึงนโยบาย ‘ปิดล้อมจีน’ (More Containment) ของสหรัฐฯ อ้าย ผิง ตอบว่า อย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย ขอให้เป็น More Engagement หรือมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นดีกว่า ซึ่งเป็นภาษาแบบนักการทูต

 

ส่วนการตอบแบบที่ 2 วรศักดิ์อ้างอิงจากสมุดปกขาว ที่ออกจากกลุ่มคลังสมองของจีน เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งกล่าวถึงอำนาจอิทธิพลของสหรัฐฯ และนำตัวเลขแสนยานุภาพของสหรัฐฯ มาเปิดเผย

 

 

 

 

 

           

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

              “ครั้งหนึ่งผมได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน เมื่อสิบกว่าปีก่อน เจ้าหน้าที่ท่านนี้บอกว่า จีนรู้โดยตลอดว่า แสนยานุภาพทางการทหารของจีนสู้สหรัฐฯ ไม่ได้ แต่ถ้าสหรัฐฯ มีนโยบายอะไรก็แล้วแต่ ที่แสดงความเป็นเจ้า จนกระทั่งเป็นภัยคุกคาม ถึงแม้แสนยานุภาพทางการทหารของจีนจะสู้สหรัฐฯ ไม่ได้ แต่ถามว่าจีนพร้อมทำสงครามหรือไม่ จีนตอบว่าพร้อม ดังนั้น การรุกแบบนี้ของสหรัฐฯ สำหรับผมเท่ากับวิกฤตทางการเมือง ซึ่งฟังดูแล้วน่ากลัว อาจจะเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่ผมคิดว่าในมิติทางเศรษฐกิจก็น่ากลัวไม่แพ้กัน”

 

 

เกมอำนาจสหรัฐฯ-จีน ไทยเล่นบทยาก

 

 

คำถามสำคัญก็คือ ท่ามกลางการแข่งขันกันขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและจีนในภูมิภาคนี้ ประเทศเล็ก ๆ อย่างไทยจะเล่นบทบาทอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นเบี้ยบนกระดานของทั้งสองประเทศ

 

ในประวัติศาสตร์การทูตของไทย ที่ดำเนินยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม เรารอดจากการเป็นเมืองขึ้น เพราะเราดำเนินนโยบายการทูตที่เรียกว่า สนลู่ลม หมายถึงเราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันไทยก็ยังดำเนินยุทธศาสตร์สนลู่ลมอยู่ คือพยายามมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับจีนและสหรัฐฯ

 

 

             “ในสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนยังปกติ การดำเนินยุทธศาสตร์แบบที่ผมเรียกว่า เหยียบเรือสองแคม น่าจะยังใช้ได้อยู่ แต่ในอนาคตที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน กำลังจะมีความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมคิดว่ายุทธศาสตร์เหยียบเรือสองแคม น่าจะยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทั้งสองฝ่ายเริ่มที่จะเล่นแรงขึ้น ๆ ดังนั้น กรณีที่เลวร้ายที่สุดของไทยก็คือ การถูกบีบให้เลือกข้าง ทั้งที่เราไม่ต้องการเลือกข้าง แต่เราต้องการที่จะดีทั้งกับจีนและสหรัฐฯ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แนวโน้มไทยเลือกข้างสหรัฐฯ กระทบความสัมพันธ์จีน

 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ประภัสสร์กล่าวว่า ถ้าไทยเข้าร่วมทีพีพีย่อมแสดงให้เห็นจุดยืนว่า ไทยเข้าข้างอเมริกาในการโดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะจะเกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เพราะจะเห็นว่าประเทศที่สนิทสนมกับจีน คือ พม่า ลาว กัมพูชา ไม่มีประเทศใดเข้าร่วมทีพีพี

 

ความเห็นของดร.ประภัสสร์ สอดคล้องกับวรศักดิ์ที่มองว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างเขาควาย เพราะจะเลือกข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ จะอยู่ตรงกลางก็แทบจะไม่ได้ แต่วรศักดิ์เห็นว่าแนวโน้มของไทยจะอิงอยู่กับสหรัฐฯ ในขณะที่จีนมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ แล้วไทยจะวางบทบาทกับจีนอย่างไร วรศักดิ์กล่าวว่า

 

            “ผมค่อนข้างเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ จีนคงจะเพิ่มบทบาทของตัวเองมากขึ้น ในแง่ที่ต้องการเห็นจุดยืนของประเทศสมาชิกอาเซียนว่า คิดอย่างไรต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ แม้กระทั่งบทบาทที่มีต่อสหรัฐฯ”

 

 

ส่วนที่ว่าไทยต้องทำอย่างไรนั้น ดูจะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเวลานี้ ดร.ประภัสสร์ตอบกว้าง ๆ ว่า เมื่อไทยถูกบีบให้ต้องเข้าร่วมทีพีพี หลังจากนี้ บทบาทของไทยกลางแรงบีบของสหรัฐฯ และจีนจะเล่นยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่ว่าไทยจะเลือกยืนอยู่ฝ่ายไหน อีกฝ่ายย่อมไม่พอใจ ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่มาก สำหรับนโยบายต่างประเทศของไทยในอนาคต

 

ขณะที่ วรศักดิ์ระบุว่า ยุโรปและสหรัฐฯ กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้การที่สหรัฐฯ จะทำอะไรที่เป็นฝ่ายรุกมาก ๆ ยังไม่ได้ คิดว่าตอนนี้ไทยยังมีเวลาหายใจ เราจึงมีเวลาที่จะพิจารณาตั้งรับได้มากกว่าปกติ

 

 

            “ที่เหลือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลแล้วว่า จะดำเนินนโยบายอย่างไรไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบ และกลายเป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่ง ให้มหาอำนาจฉวยใช้บนเวทีการเมืองโลก”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: