ศาลปกครองชี้กฟผ.เปิดสัญญาซื้อไฟได้ ระบุไม่ละเมิดบุคคล-ความลับทางการค้า ชาวบ้านเดินหน้าฟ้องขวางตั้ง3โรงไฟฟ้า

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 27 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2875 ครั้ง

 

 

ศาลยกคำร้องคดีโรงไฟฟ้าฟ้องกฟผ.เปิดสัญญา

 

 

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 1970/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 1708/2555 ที่บริษัท กัลฟ์ เจพี ยูที จำกัด หรือบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ยื่นฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นไปเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัย การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ที่มีมติให้เปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งกฟผ.ทำกับบริษัท กัลฟ์ เจพี ยูที จำกัด หรือบริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด แก่ภาคประชาชน 4 เครือข่าย คือ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว และเครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ผู้ร้องสอดเข้าไปเป็นคู่กรณีฝ่ายที่ 3 และเพิกถอนคำสั่งของ กฟผ.ที่เห็นควรเปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

 

ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรณี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 เครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้า 4 พื้นที่ มีการชุมนุม และยื่นหนังสือเรียกร้องให้กฟผ.เปิดเผยสัญญา ที่กฟผ.ลงนามซื้อขายกระแสไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (ไอพีพี) 3 ราย จาก 3 โครงการ คือ 1.โรงไฟฟ้าถ่านหิน บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง 2.โรงไฟฟ้าบางคล้า บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ในพื้นที่ ต.เสม็ดเหนือ-ใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และ 3.โรงไฟฟ้าหนองแซง ของ บริษัท เพาเวอร์เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา โดยที่ขณะนั้นโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน ของ บริษัท ไทยเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ยังไม่มีการเซ็นสัญญา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ต่อมากฟผ.พิจารณาและเห็นว่า ควรเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้ขอ แต่บริษัทเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า คือ บริษัทสยามเอ็นเนอจี (ผู้ฟ้องคดี 1970/2552) และกับบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด (ผู้ฟ้องคดี 1971/2552) ได้คัดค้านการเปิดเผยข้อมูลสัญญา และยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ได้มีคำวินิจฉัยให้ กฟผ.เปิดเผยข้อมูลข่าวสารสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงเพิ่มเติมให้แก่ผู้ขอ ยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 2 (ความพร้อมจ่ายพลังงานไฟฟ้า) และเอกสารแนบท้ายสัญญาหมายเลข 3 (ค่าพลังงานไฟฟ้า)

 

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองที่ยืนยันตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งให้คัดถ่ายเนื้อหาสัญญาดังกล่าวได้ โดยให้ยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญา หมายเลข 2 และเอกสารแนบท้ายสัญญา หมายเลข 3 ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจดูได้เท่านั้น

 

 

หวังคำตัดสินสร้างบรรทัดฐานการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

 

 

กนิษฐ์ พงษ์นาวิน เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า คำพิพากษาวันนี้นับว่า เป็นการสร้างบรรทัดฐานสำคัญ ในการรับรองสิทธิของประชาชน ที่จะได้รับรู้ข้อมูลของภาครัฐในกรณีการทำสัญญาต่าง ๆ ไม่ว่ากรณีการซื้อขายไฟฟ้าทำกันอย่างไร หรือโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งเกิดขึ้นได้อย่างไร ถือเป็นการรับรองสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งจะเป็นที่พึ่งทางหนึ่งของประชาชนได้ต่อไป

 

ขณะที่ นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า คำพิพากษาในคดีดังกล่าว ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางราชการของประชาชน ซึ่งจะรวมไปถึงสัญญาทางปกครองอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และจะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมด้วย ขณะนี้ชาวบ้านถือเป็นผู้ชนะคดี แต่คาดว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ จะมีการยื่นอุทธรณ์และขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี ซึ่งจะมีผลต่อการเปิดเผยข้อมูลสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว

 

ส่วนกรณีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1971/2552 ที่บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ฟ้องคดีในกรณีเดียวกัน สงกรานต์คาดหวังว่าจะมีผลการพิจารณาออกมาไม่แตกต่างกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ข้อมูลที่ให้เปิดเผยไม่เสียหาย-ไม่ละเมิดความลับการค้า

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษายกฟ้องของศาลปกครอง สรุปความได้ว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสกว้างขวาง ในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็น และใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง เว้นแต่การเปิดเผยนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติหรือประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานรัฐต้องจัดหาให้แก่ผู้ขอ

 

อีกทั้งมีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หลายราย ยินยอมให้เปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ทำกับกฟผ. โดยยกเว้นเอกสารแนบท้ายสัญญา หมายเลข 2 และเอกสารแนบท้ายสัญญา หมายเลข 3 แสดงว่า หากเปิดเผยไป ก็ไม่ได้มีผลกระทบให้ผู้ฟ้องคดี เกิดความเสียหายอย่างรายแรง ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว จะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจนั้น ต้องพิจารณาจากผลกระทบ ซึ่งกรณีนี้ไม่ถึงกับส่งผลกระทบเช่นนั้น

 

 

อ้างมั่วสัญญาขายไฟฟ้าให้รัฐเป็นความลับส่วนบุคคล

 

 

ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การเปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ได้กำหนดความหมายของคำว่าบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ โดยไม่รวมถึงนิติบุคคล จึงไม่สามารถกล่าวอ้างได้

 

ส่วนการอ้างถึงสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งกำหนดให้คู่สัญญารักษาความลับของข้อมูลในสัญญานั้น เมื่อคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้ว การใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลย่อมชอบด้วย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการเปิดเผยดังกล่าวไม่ได้ละเมิดสิทธิในเรื่องความลับทางการค้า เนื่องจากการขอข้อมูลข่าวสารของผู้ร้องสอด มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยหรือความปลอดภัยของสาธารณชน และเพื่อตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า

 

นอกจากนี้ ผู้ร้องสอดยังเป็นประชาชนในชุมชนที่อยู่อาศัยในบริเวณก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่ง ซึ่งได้รวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยอ้างว่าอาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิต และต้องเสียค่าไฟฟ้าเพิ่ม เนื่องจากสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิในการรวมกลุ่ม เพื่อคุ้มครอง รักษาสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย หรือคุณภาพชีวิตของตนตามหลักสิทธิชุมชน ที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ

 

 

5 ปี รอดูสัญญาซื้อขายไฟ โครงการเดินหน้าเพียบ

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่งในขณะนี้ โครงการโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) หลังจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านการพิจารณาแล้ว โครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด ถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านอย่างหนัก ต้องย้ายไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมอนุมัติเพิ่มค่าไฟฟ้าใหม่อีก 9.49 สตางค์ต่อหน่วย

 

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง อยู่ระหว่างก่อสร้างในพื้นที่ ขณะที่ชาวบ้านฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งไม่เหมาะสมและขัดต่อกฎกระทรวงออกตามกฎหมายโรงงาน อีกทั้งในพื้นที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวม ซึ่งตามกฎกระทรวงดังกล่าวมีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่

 

 

อีกคดีก็ยกคำร้อง-ยันเปิดสัญญาดูได้

 

 

ต่อมา วันที่ 25 ก.ย. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 1971/2552 ที่เครือข่ายภาคประชาชน 4 กลุ่มคือ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม เครือข่ายรักษ์แปดริ้ว และเครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน ร้องสอดเข้าไปเป็นคู่กรณีฝ่ายที่ 3 ในคดีที่บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด หรือ บริษัท กัลฟ์ เจพี เอ็นเอส จำกัด ฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.

 

โดยโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ที่มีมติให้กฟผ.เปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้าซึ่งกฟผ.ทำกับบริษัท ให้แก่เครือข่ายฯ ในฐานะผู้ขอข้อมูลและเพิกถอนคำสั่งของกฟผ.ที่เห็นควรเปิดเผยข้อมูลสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ศาลปกครองมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มีเจตนารมณ์ให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐ เพื่อสามารถแสดงความคิดเห็น และแสดงออกทางการเมือง เว้นแต่การเปิดเผยนั้น ทำให้เกิดความเสียหายอย่างชัดแจ้ง ประกอบกับ มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ รับรองสิทธิในการขอข้อมูลข่าวสาร โดยไม่จำกัดว่า จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ ดังนั้น ผู้ร้องสอดในฐานะประชาชนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา จึงสามารถขอข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐได้

 

ส่วนประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การเปิดเผยข้อมูลตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงเพิ่มเติม จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจนั้น ศาลเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูลนี้ไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประเทศและเศรษฐกิจ จึงไม่ใช่ข้อมูลที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศาลชี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชอบด้วยกฎหมาย

 

 

อีกทั้งการเปิดเผยเนื้อหาสัญญาและข้อตกลงก็มิใช่การรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ได้กำหนดนิยามของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ไว้เฉพาะข้อมูลข่าวสารของบุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมข้อมูลของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยเช่นกัน

 

เมื่อคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนแล้ว การใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลย่อมชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการเปิดเผยดังกล่าวไม่ได้ละเมิดสิทธิ ในเรื่องความลับทางการค้า เนื่องจากเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการค้าแต่อย่างใด ดังนั้นไม่ว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นความลับทางการค้าหรือไม่ ก็ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545

 

อย่างไรก็ตาม แม้คำพิพากษาของศาลปกครองจะยืนยันตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งให้คัดถ่ายเนื้อหาสัญญา ที่ไม่ครอบคลุมถึงเอกสารเรื่องความพร้อมจ่ายพลังงานไฟฟ้า และเอกสารเรื่องค่าพลังงานไฟฟ้า ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปตรวจดูได้ แต่ในปัจจุบัน ประชาชนก็ยังไม่สามารถเข้าตรวจดูหรือคัดถ่ายเอกสารดังกล่าวได้ เนื่องจากศาลปกครองมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับ ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ยังมีผลต่อไปจนกว่าจะพ้นระยะเวลาอุทธรณ์ หรือศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: