แกะงบกู้แก้น้ำท่วม3.5แสนล.-ใช้คุ้มไม่คุ้ม จับตาพนังกั้นป้อง7นิคมต้องเสร็จสิ้นเดือน ลุ้นฝีมือคนของรัฐบาลสมราคาคุยหรือไม่

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 27 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2313 ครั้ง

ฤดูฝนปีนี้ ฟ้าฝน หล่นไม่ทั่วฟ้า นักพยากรณ์ภูมิอากาศบอกไปในทิศทางเดียวกันว่า หากมีพายุเดือนละเกิน 3 ลูก ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะน้ำท่วมประเทศซ้ำรอยปลายปี 2554

 

แต่ปีนี้ เกิดปรากฏการณ์ แห้งแล้งกลางฤดูฝนในภาคอีสาน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าปกติ มีน้ำเหลือเพียง 1 ใน 4 ของปริมาณน้ำทั้งเขื่อน เพราะการบริหารน้ำที่ผิดพลาด เป็นที่วิจารณ์ของกูรูน้ำหลายราย

 

ต่างจากจังหวัดในภาคกลาง และภาคใต้ ที่ปริมาณฝนไม่เคยต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในแต่ละวัน

 

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ภาคธุรกิจ การเมือง ต้องลุ้นว่าปีนี้ น้ำจะท่วมอีกหรือไม่ ภารกิจการปิดล้อมไม่ให้น้ำเข้านิคมอุตสาหกรรม จะแล้วเสร็จก่อนพายุใหญ่จะมาหรือไม่ แผนงานของรัฐบาลไปถึงไหน ทุกภาคส่วนใคร่รู้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หากติดตามคำสัญญาของรัฐบาล ที่เคยบอกกับนักลงทุนนานาประเทศไว้ว่า ภายในเดือนเมษายน 2555 แผนการป้องกันน้ำท่วมของประเทศจะมีความชัดเจน และภายในเดือนสิงหาคม 2555 แผนการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมต้องแล้วเสร็จ

 

ก่อนฟังการสรุปผลการแก้ปัญหาน้ำท่วม และแถลงความคืบหน้าของรัฐบาลในช่วงสัปดาห์หน้า (27-31 ส.ค.) โปรดติดตามแผนการป้องกันน้ำท่วม ที่มีการจัดวางเค้าโครงไว้ตั้งแต่ปลายฤดูฝนปี 2554 และอัพเดทแผนการใช้เงิน 3.5 แสนล้านของรัฐบาล

 

ร่างพิมพ์เขียวแผนป้องกันน้ำท่วม ที่รัฐบาลใช้เป็นยันต์กันน้ำท่วมคือ

 

1.กำหนดกรอบการดำเนินงาน ทำแผนแก้น้ำท่วมโดยกำหนดเป้าหมายระยะสั้น ได้แก่ การสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุนว่า ก่อนฤดูฝนปี 2555 จะมีการบริหารจัดการน้ำ เพื่อมิให้เกิดวิกฤตอุทกภัย ซึ่งการฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมในระยะ 1 ปีข้างหน้านั้น รัฐบาลจะประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนเป้าหมายระยะยาว ได้แก่ การจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การวางแผนในเรื่องการลงทุนด้านบริหารจัดการน้ำในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยประสานกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ การวางแผนการใช้ที่ดิน การพิจารณาพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม การพัฒนาธุรกิจประกันภัยของไทย การปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การร่วมมือกับต่างประเทศ 2) การพิจารณาจัดหาแหล่งเงินและรูปแบบการลงทุน 3) การจัดตั้งองค์การถาวรและแนวทางการปฏิบัติราชการแผ่นดิน 4) การสร้างความเข้าใจกับสาธารณะ

 

2.สร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัย เพื่อให้บริษัทรับประกันภัยเกิดความมั่นใจในแนวทางบริหารจัดการน้ำ เพื่อมิให้เกิดวิกฤตอุทกภัยซ้ำในปีหน้า และสามารถดำเนินธุรกิจประกันภัยได้ตามปกติ ภายใต้การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม พร้อมทั้งอาจมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในวงเงินความคุ้มครอง เช่น กรณีความเสียหายที่เกิดจากภัยน้ำท่วม บริษัทประกันภัยจะไม่จ่ายค่าสินไหมเต็มจำนวนวงเงินเอาประกัน แต่จะจ่ายเป็นสัดส่วนของวงเงินเอาประกัน ตามที่ได้ตกลงกัน (sub-Limit) ซึ่งจะต้องพิจารณาสัดส่วนการรับผิดชอบความเสียหาย ระหว่างผู้เอาประกันและบริษัทประกันภัยต่อไป ในกรณีที่ภาครัฐมีมาตรการแก้ไขและจัดการที่ชัดเจน จะช่วยให้ผู้เอาประกันรับสัดส่วนความรับผิดชอบความเสียหายน้อยลง

 

3.นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ควรจัดทำกำหนดเวลาการก่อสร้างเขื่อน หรือคันกั้นน้ำของแต่ละนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้รัฐบาลทราบเป็นระยะๆ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเป็นธรรม สอดคล้องกับเงื่อนไขความคุ้มครองของกรรมธรรม์ประกันภัย สำหรับผู้ป่วยประกอบการในพื้นที่ทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม

 

 

4.ฟื้นฟูธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งนายวีรพงษ์ รามางกูร ได้หารือกับภาคเอกชนญี่ปุ่น ได้แก่ องค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อฟื้นฟูความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น และสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นในประเทศไทย รัฐบาลให้ความมั่นใจกับภาคเอกชนญี่ปุ่นว่า จะไม่ให้เกิดปัญหาอุทกภัยที่จะกระทบธุรกิจของนักลงทุนทั้งในและระหว่างประเทศ และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากทุกภาคส่วน

 

ต้นฤดูฝน ต้นเดือนสิงหาคม 2555 คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหาน้ำท่วม จากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธาน ภายใต้การบริหารกรอบงบประมาณเกินกู้ 350,000 ล้านบาท มีผลการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ

 

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงิน ให้กับหน่วยงานไปดำเนินการแล้ว 47,963 ล้านบาท โดยมีแผนงาน/โครงการที่ได้รับการอนุมัติที่สำคัญ ดังนี้

 

แผนการดำเนินการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 10,000 ล้านบาท

แผนการป้องกันปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 24,113 ล้านบาท

 

แผนการฟื้นฟูการอนุรักษ์ป่าและดิน การทำฝาย วงเงิน 10,000 ล้านบาท

แผนการพัฒนาประสิทธิภาพการเก็บและการระบายน้ำในพื้นที่รับน้ำนอง วงเงิน 614 ล้านบาท

แผนการก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัยสำหรับนิคม/สวน/เขตอุตสาหกรรม วงเงิน 3,237 ล้านบาท

 

 

ส่วนวงเงินที่เหลือ 302,036 ล้านบาท กบอ. ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจร่วมเสนอกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และระบบการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยในอนาคต  อยู่ระหว่างการยื่นทีโออาร์จากบริษัทรับเหมาเอกชน

 

สำหรับความคืบหน้าการป้องกันน้ำท่วมให้กับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการลงทุนและความเชื่อมั่นพบว่า มีโครงการลงทุนก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินการเอง โดยใช้เงินจากแหล่งอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (Soft Loan) ซึ่งไม่รวมอยู่ในเงินกู้ 350,000 ล้านบาท

 

จากนั้นวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีมติเห็นควรอนุมัติให้ กนอ. ดำเนินโครงการลงทุนก่อสร้างระบบป้องกันอุทกภัยของนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง โดยควรปรับวงเงินค่าก่อสร้าง จาก 5,405.14 ล้านบาท เหลือ 3,546.24 ล้านบาท ตามผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง (Detail Design) ที่ กนอ.ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเห็นควรให้กนอ.กู้ยืมเงินจากธนาคารออมสิน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลา 15 ปี โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ (Grace Period) 5 ปีแรก

 

ปัจจุบันมีแผนก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวม 6 แห่ง วงเงิน 3,546.24 ล้านบาท โดยให้กู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าวจากธนาคารออมสิน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลา 15 ปี และให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยโดยไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้นใน 5 ปีแรก เพื่อดำเนินการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 6 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร เพื่อเป็นการป้องกันอุทกภัยอย่างถาวร ระยะเวลาดำเนินงาน 6 เดือน (กรกฎาคม-ธันวาคม 2555)

 

 

ส่วนความคืบหน้าการฟื้นฟูที่นิคมอุตสาหกรรม ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หลังได้อนุมัติมาตรการสินเชื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย โดยธนาคารออมสินจะจัดสรรวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี รวมวงเงิน 15,000 ล้านบาท ให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลรับภาระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ในวงเงินไม่เกิน 4,431 ล้านบาท

 

 

 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รายงานความคืบหน้าการฟื้นฟูนิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรมเพิ่มเติม ดังนี้

 

1.สถานภาพการประกอบกิจการโรงงานในนิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยทั้ง 7 แห่งคือ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และสวนอุตสาหกรรมบางกะดี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 มีผู้ประกอบการที่เปิดดำเนินการได้ 531 ราย จากจำนวนผู้ประกอบการ 839 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 63.29 แบ่งเป็น ผู้ประกอบการที่เปิดดำเนินการเต็มกำลังการผลิต จำนวน 204 ราย และเปิดดำเนินการบางส่วนจำนวน 327 ราย

 

2.ความก้าวหน้าการก่อสร้างเขื่อน/พนังกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรม คาดว่าจะสามารถสร้างเสร็จได้ทันภายในเดือนสิงหาคม 2555 โดยความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญมีดังนี้

 

นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ประมาณการค่าก่อสร้าง 650 ล้านบาท ปัจจุบัน Conceptual Design ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วอยู่ระหว่างการออกแบบ Detailed Design คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2555 สำหรับการดำเนินการปรับปรุงแผนการเงินเพื่อกู้เงินสร้างเขื่อนได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

 

นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ประมาณการค่าก่อสร้าง 550 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ประมาณร้อยละ 18.68 ของปริมาณงานก่อสร้างตามสัญญา

 

 

นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ประมาณการค่าก่อสร้าง 728 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ประมาณร้อยละ 19.16 ของปริมาณงานก่อสร้างตามสัญญา

 

เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ ประมาณการค่าก่อสร้าง 2,233 ล้านบาท โดยงานปรับปรุงคันดินเสร็จสิ้นแล้วร้อยละ 23 ของปริมาณงานในส่วนของงานคันดินประมาณ 18 กิโลเมตร จากทั้งหมด 77 กิโลเมตร ส่วนงานตอกเสาเข็มคอนกรีตทำได้ 2,066 เมตร คิดเป็นร้อยละ 2.77 ของปริมาณงานในส่วนนี้

 

นิคมอุตสาหกรรมนวนคร การค่าก่อสร้าง 1,102 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ประมาณร้อยละ 8.53 ของปริมาณงานก่อสร้างตามสัญญา

 

สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ประมาณการค่าก่อสร้าง 272 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณงานก่อสร้างตามสัญญา

 

ต้องดูฝีมือรัฐบาลว่า ร่างพิมพ์เขียวที่จะทำให้น้ำไม่ท่วม ด้วยเงินกู้ 350,000 ล้านบาท และแผนป้องกัน 7 นิคมอุตสาหกรรม จะเอาอยู่หรือไม่ หรือสมราคาคุยของคนที่รัฐบาลมอบหมายให้มารับทำงานใหญ่หรือไม่ ปลายฤดูฝนปีนี้ คงได้เห็นผลกัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: