เปิด‘เซฟตี้โซน’ป้องกัน‘ไข่แดง’  7 เมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้

ฮัสซัน โตะดง และนูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) 27 ก.ย. 2555


เหตุคาร์บอมบ์กลางตลาดเมืองสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อช่วงเที่ยง ของวันที่ 21 กันยายน 2555 นับเป็นเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง ที่คนร้ายมุ่งต้องการทำลายเศรษฐกิจของเมืองให้ได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในย่านเศรษฐกิจสำคัญๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเมืองสำคัญอย่างอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ด้วย

 

หลังเหตุคาร์บอมบ์กลางเมืองหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้มีการพูดถึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันเหตุร้ายในย่านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน (Safety Zone)

 

กระทั่งล่าสุด รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนในการกำหนดเซฟตี้โซน (Safety Zone) ใน 7 หัวเมืองเศรษฐกิจ หลังเกิดเหตุคาร์บอมบ์ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 และที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555

 

ทั้ง 7 หัวเมืองเศรษฐกิจดังกล่าว ได้แก่ 1.พื้นที่อ.เมือง จ.ปัตตานี 2.พื้นที่อ.เมือง จ.ยะลา 3.พื้นที่อ.เบตง จ.ยะลา 4.พื้นที่อ.เมือง จ.นราธิวาส 5.พื้นที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 6.พื้นที่อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ 7.พื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยจะมีมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ในเขตเซฟตี้โซน เช่น กำหนดให้เดินรถทางเดียว หรือ one way กำหนดทางเข้าออกชัดเจน และมีจุดตรวจบริเวณทางเข้าและทางออก โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เครื่องมือทันสมัยในการตรวจวัตถุต้องสงสัย มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพิ่ม รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยประจำจุดต่าง ๆ

 

ที่สำคัญมีการตรวจตรารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ทุกคนคันที่ผ่านเข้าออก หรือแม้กระทั่งการตรวจบุคคล ซึ่งแน่นอนย่อมสร้างความไม่สะดวกให้กับประชาชน จนส่งอาจผลให้วิถีชีวิตของประชาชนในเขตเซฟตี้โซนเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งอาจกระทบกับการค้าการขาย จนทำให้พ่อค้าแม่ค้าไม่เห็นด้วย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับย่านเศรษฐกิจถนนรวมมิตรในเขตเทศบาลนครยะลามาแล้ว

 

การจัดทำเขตเซฟตี้โซนในย่านถนนรวมมิตรครั้งแรก มีขึ้นหลังเหตุระเบิดทั่วเมืองยะลา 12 จุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 แต่ทำได้เพียงเดือนเดียว ก็ถูกผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งออกมาประท้วงไม่เห็นด้วย จนต้องยกเลิกไป กระทั่งเกิดเหตุคาร์บอมบ์อีกครั้งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 พร้อมกับเหตุคาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จึงมีการจัดทำเป็นเขตเซฟตี้โซนอีกครั้งกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครออกมาประท้วง

 

ถึงกระนั้นการกำหนดเขตเซฟตี้โซน ก็ใช่ว่าจะสามารถป้องกันเหตุร้ายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างเหตุระเบิดห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ 4 สาขานราธิวาส ซึ่งเป็นห้างดังและใหญ่ที่สุดของจังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่บนถนนจำรูญนรา ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 31 สิงหาคม 2555 จนเกิดเพลิงไหม้เสียหายอย่างหนัก ห้างนี้ก็ตั้งอยู่ในเขตเซฟตี้โซนเช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดังนั้นการกำหนดเขตเซฟตี้โซนทั้ง 7 หัวเมืองเศรษฐกิจ จึงมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายที่เห็นด้วย มองว่า อย่างน้อยก็ช่วยรักษาชีวิตได้ แม้จะสร้างความลำบากอยู่บ้างก็ตาม

 

ฝ่ายผู้ประกอบการที่เห็นด้วย อย่างนายวรพจน์ อุฬาร์ศิลป์ เจ้าของห้างทองโอฬาร (อุ่ยยงพง) ในเขตเทศบาลนครยะลา แต่อยู่นอกเขตเซฟตี้โซน มองว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะประชาชนจะได้รับความปลอดภัยมากขึ้น และอยากให้เพิ่มเขตเซฟตี้โซนในเขตเทศบาลนครยะลาขึ้นอีก

 

แต่ในมุมมองของพนักงานร้านค้าบนถนนรวมมิตรคนหนึ่ง มองว่า หากกำหนดเซฟตี้โซนเพิ่ม ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนในเขตเซฟตี้โซนไม่ค่อยอยากออกจากบ้าน เพราะการจราจรไม่สะดวก แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะได้รับความปลอดภัยมากขึ้น และเห็นด้วยที่จะให้มีเขตเซฟตี้โซนใน 7 เมืองเศรษฐกิจ เพราะจะรู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยเวลาไปเที่ยวในพื้นที่นั้น ๆ

 

ขณะที่นายเดชรัฐ สิ้มศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ระบุว่า การกำหนดเขตเซฟตี้โซนทั้ง 7 เมืองดังกล่าว รัฐบาลควรนำรูปแบบเซฟตี้โซนของจังหวัดยะลาไปเป็นตัวอย่าง เพราะมีมาตรการที่ดีสามารถดูแลรักษาความปลอดภัยได้

 

 

นายเดชรัฐ ย้ำด้วยว่า การเพิ่มเขตเซฟตี้โซนในเขตเทศบาลนครยะลานั้น ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุด้วย ซึ่งหน่วยงานรัฐได้ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา และเห็นว่าขณะนี้เขตที่จำเป็นต้องทำเซฟตี้โซน มีเพียงถนนยะลาสายกลางและถ.รวมมิตร

 

ส่วนความเห็นของภาคเอกชนในพื้นที่จ.ปัตตานี อย่างนายสมศักดิ์ อิสริยะภิญโญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี มองว่า อยากเห็นรูปแบบเซฟตีโซนที่รัฐบาลต้องการก่อนว่าเป็นอย่างไร จึงจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยส่วนตัวเห็นด้วย “แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีของประชาชนในพื้นที่มากจนเกินไป อาจเป็นประโยชน์ครึ่งต่อครึ่งระหว่างรัฐกับประชาชน”

 

สอดคล้องกับความเห็นของภาครัฐอย่าง นายเสรี ศรีหะไตรรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ที่มองว่า เซฟตี้โซนของคนปัตตานี หมายถึง วิถีชีวิตปกติของประชาชนในพื้นที่ อะไรก็ตามที่ทำให้วิถีชีวิตผิดปกติไปจากเดิม สิ่งนั้นไม่ใช่เซฟตี้ของปัตตานี

 

 

              “เซฟตี้โซนของปัตตานีคือ บริเวณที่พี่น้องอาศัยอยู่จะไม่มีสิ่งของขวางกั้น ทั้งป้อมยาม ด่านตรวจ การเดินรถทางเดียว หรือการตรวจเข้มเฉพาะบุคคลที่สวมชุดโต๊ปและหมวกกะปิเยาะ แต่เซฟตี้โซนในที่นี้หมายถึงการเพิ่มความแน่นแฟ้นของพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งทุกคนต้องช่วยเจ้าหน้าที่ดูแลระมัดระวังสิ่งที่แปลกปลอมที่จะเข้ามาในพื้นที่ แต่ยังคงมีมาตรการเสริมในการดูแลจุดที่ล่อแหลมต่างๆอยู่” นายเสรียืนยัน

 

 

ในส่วนของจ.นราธิวาส นายกู้เกียรติ บูรพาพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส เห็นว่า ในจ.นราธิวาส เกิดเหตุรุนแรงมาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ที่สามารถยับยั้งการก่อเหตุได้ ซึ่งเห็นด้วยการทำเขตเซฟตี้โซนตามนโยบายของรัฐบาล อย่างน้อยก็สามารถสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย

 

นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ นายอำเภอเมืองนราธิวาส ระบุว่า ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ที่ผ่านมามีการกำหนดเขตเซฟตี้โซนบริเวณถนนภูผาภักดีมาแล้วประมาณ 8 เดือน ยังไม่เกิดเหตุรุนแรงใดๆ กระทั่งเกิดเหตุระเบิดวางเพลิงห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ 4 บนถ.จำรูญนรา

 

นายเถกิงศักดิ์ระบุต่อไปว่า ในเขตเซฟตี้โซนมีการตั้งจุดตรวจทางเข้า-ออก มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ประมาณ 150 นาย ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด แต่ไม่ได้จัดระบบจราจรให้เดินรถทางเดียว

 

นายจำนัน เหมือนดำ นายอำเภอเมืองสุไหง โก-ลก จังหวัดนราธิวาส ระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่งดำเนินการเรื่องเซฟตี้โซนในเขตเทศบาลเมืองสุไหง โก-ลกมาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา รวม 4 จุด

 

              “ผมเห็นด้วยกับการทำเขตเซฟตี้โซนใน 7 เมืองเศรษฐกิจ หากเป็นไปได้ควรขยายเขตเซฟตี้โซนออกไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและนอกเมือง” นายจำนันกล่าว

 

ขณะที่นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ระบุว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงาน 3 ฝ่าย ทั้งตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองในการกำหนดมาตรการที่จะใช้เขตเซฟตี้โซนตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีการรับฟังความคิดจากประชาชนในพื้นที่ด้วย

 

               “เขตเซฟตี้โซนของนราธิวาส จะครอบคลุมทั้งในเขตชุมชนเมืองและย่านเศรษฐกิจ โดยจะเพิ่มจุดตรวจและปรับปรุงระบบจราจรให้เป็นระเบียบมากขึ้น” นายอภินันท์ระบุ

 

 

ในส่วนของพื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แม้จะอยู่นอกเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่คนในหาดใหญ่ก็รู้สึกหวาดผวาทุกครั้ง เมื่อเกิดเหตุคาร์บอมบ์ในเขตเมือง เนื่องจากหาดใหญ่เองเคยประสบกับเหตุรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งมักเป็นเหตุการณ์ใหญ่และส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

 

ที่ผ่านมา ทางจ.สงขลาได้กำหนดเขตเซฟตี้โซนในอำเภอหาดใหญ่มาแล้ว แต่มีมาตรการที่แตกต่างกับที่ใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเน้นการใช้กำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน เครือข่ายภาคประชาชน และตำรวจในการดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อมิให้กระทบกับบรรยากาศการเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยมีการลาดตระเวนในย่านเศรษฐกิจกลางเมือง หรือเรียกว่าพื้นที่ไข่แดง และมีการการติดตั้งวงจรปิดกว่า 300 จุด

 

ในขณะที่การตั้งด่านตรวจหรือจุดตรวจ ที่อาจจะส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนนั้น จะตั้งอยู่ในพื้นที่รอบนอกหรือบริเวณทางเข้าพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ รวม 17 จุด

 

“เซฟตี้โซน” เป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและใช้เฉพาะพื้นที่เท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าคนในพื้นที่อื่นไม่ต้องการความปลอดภัย ดังนั้นในภาวะเช่นนี้ จะทำอย่างไรที่จะให้ทุกพื้นที่กลายเป็นเซฟตีโซนทั้งหมด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: