ชี้พ่อแม่ตัวการสำคัญทำลูกเป็น 'โรคอ้วน' ครูจี้สธ.คุมเข้ม 'ร้านอาหารหน้าโรงเรียน' รับทำขนมไทยเด็กไม่กิน-ต้องขายขนมถุง

นาฏินันท์ จันทร์ธีระวงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 26 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3800 ครั้ง

จากปัญหาสุขภาพของเด็กไทย ที่ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกซื้ออาหารที่ไม่มีคุณภาพ ไร้ประโยชน์จากร้านค้าหน้าโรงเรียน ทำให้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงาน พยายามรณรงค์ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อลดปัญหาด้านโภชนาการดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมมากนัก

 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข่าว TCIJ สำรวจข้อมูลการรณรงค์เกี่ยวกับการดูแลด้านโภชนาการของเด็กนักเรียนในโรงเรียนพบว่า ส่วนใหญ่มีการจัดโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้รับความรู้ในการเลือกซื้ออาหารรับประทานด้วยตัวเองแต่ มีปัจจัยหลายอย่างที่ยังไม่ทำให้แต่ละโครงการได้รับสำเร็จเท่าที่ควร

 

 

หวัง “เด็กไทยไร้พุง” แก้ปัญหาเด็กไทยอ้วน

 

 

หนึ่งในโครงการดังกล่าวคือ “โครงการเด็กไทยไร้พุง” ซึ่งมีการดำเนินการในสถานศึกษาหลายแห่ง เพื่อสร้างความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดี ในการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกายและการบริโภคอาหาร ให้เด็กนักเรียน  เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดี สมดุล เหมาะสมกับวัย รู้จักควบคุมอารมณ์ ความอยากอาหาร และโรงเรียนก็จะสามารถจัดบริการอาหารกลางวันอย่างมีคุณภาพ สะอาดปลอดภัย ถูกต้องตามหลักการโภชนาการ  เช่น ที่โรงเรียนวัดดอนเมือง ทหารอากาศอุทิศ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ที่ดำเนินโครงการนี้เช่นกัน

 

 

ภายในโรงเรียน มีการจัดระเบียบร้านค้าขายอาหารในโรงเรียนไม่จำหน่ายขนมหวาน เครื่องดื่ม ที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยให้นักเรียนเรียนรู้และเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ ป้องกันไม่ให้เกิดโรคอ้วนจากการรับประทานอาหาร ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยและการเจริญเติบโตของนักเรียน

 

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้นักเรียนที่มีปัญหาภาวะโภชนาการเกิน คือ เริ่มอ้วนและอ้วน ได้ออกกำลังกาย โดยจัดตารางการลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย ช่วงเวลาหลังเลิกเรียน ระหว่างเวลา 16.00-17.00 น. ด้วยการเล่นกีฬา มีกีฬา 3 ประเภท ได้แก่ บาสเก็ตบอล ฮูลาฮู้ป และการเต้นแอโรบิค มีการจัดทำบันทึกรายงานน้ำหนักส่วนสูงของนักเรียน แบบสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนกลุ่มเริ่มอ้วนและอ้วน และจัดทำรายงานผลการจัดโครงการตลอดปีการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดอัตราภาวะโภชนาการเกินของเด็กนักเรียนที่ร่วมโครงการได้

 

 

โรงเรียนชี้ พ่อแม่ไม่มีเวลาทำให้ลูกติดขนม

 

 

นายไพรพันธุ์  วรรณศิริ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดดอนเมือง (ทหารอากาศอุทิศ) กล่าวกับ TCIJ ว่า เด็กอ้วนถือว่าเป็นเด็กน่าสงสาร เคลื่อนไหวไม่กระฉับกระเฉง และส่งผลไปถึงพัฒนาการการเจริญเติบโต และการพัฒนาสมอง เรียนช้า คิดช้า แต่จะไปโทษว่าการที่เด็กกินขนมหลังเลิกเรียนแล้วทำให้อ้วน ก็คงจะไม่ถูกทีเดียวนัก เพราะต้องดูที่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองปัจจุบันด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่พบว่ามีการเลี้ยงลูกแบบขาดความรู้ ไม่มีหลักเกณฑ์

 

 

             “ตอนนี้พบว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ ให้เด็กซื้ออาหารรับประทานเอง เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาเตรียมอาหาร เด็กก็จะไม่รู้ว่าอาหารแบบไหนรับประทานแล้วมีโทษ อันไหนมีประโยชน์ ชอบแบบไหนก็จะกินอย่างนั้นตลอด บางคนชอบกินของทอด โดยเฉพาะไก่ทอด จะขาดไม่ได้เลย ทีนี้พออ้วนไปแล้วจะมาห้ามไม่ให้กินทีหลัง ก็ห้ามยากแล้ว" นายไพรพันธ์กล่าว

 

 

ทั้งนี้ สำหรับโครงการที่โรงเรียนวัดดอนเมือง ทหารอากาศอุทิศนั้น นายไพรพันธ์ กล่าวว่า สิ่งที่โรงเรียนพยายามทำขณะนี้ คือการดูแลสุขภาพและโภชนาการเด็กให้มีการออกกำลังกาย และได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ส่งเสริมให้กินผัก ผลไม้ โดยอาหารที่ทางโรงเรียนจัดให้จะมีส่วนผสมของผักที่พยายามหั่นให้เป็นชิ้นเล็กที่สุดเพื่อที่นักเรียนจะได้ไม่เขี่ยทิ้ง มีของหวาน เป็นผลไม้ตามฤดูกาล แต่หลังจากนั้น เวลาเลิกเรียน เป็นเรื่องปกติว่าระหว่างที่รอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เด็กก็จะซื้ออะไรกินรองท้องก่อน เพราะหิว ของที่มีขายอยู่หน้าโรงเรียนก็เป็นพวกขนมต่างๆ ไก่ทอด ส้มตำ ยำ มาม่า แต่เป็นไปไม่ได้ที่โรงเรียนจะไปห้ามพ่อค้าแม่ขายที่มาขายของให้เด็กตอนเย็นหลังเลิกเรียน แต่หากในส่วนของในโรงเรียน  มีการเปิดโรงอาหาร มีร้านค้าสหกรณ์ ในตอนเช้าและกลางวัน  ส่วนขนมกรุบกรอบ ยอมรับว่ายังมีขายอยู่ เคยพยายามเปลี่ยนให้เป็นขนมไทย ประเภท ข้าวต้มมัด แต่ไม่ได้รับความสนใจ จึงอาจจะต้องมีขนมประเภทนี้บ้าง แต่สิ่งที่โรงเรียนห้ามให้มีขายคือน้ำอัดลม และเด็กจะรับรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

 

 

ระบุห้ามร้านค้าไม่ได้

 

 

                “อย่างไรก็ตาม ที่โรงเรียนแห่งนี้ ก็พบปัญหาเช่นเดียวกับอีกหลายโรงเรียน ที่ไม่สามารถห้ามไม่ให้นำสินค้ามาขายให้นักเรียนในเวลาหลังเลิกเรียน เพราะเป็นสิทธิ์ของผู้ค้า ส่วนการห้ามขายในสถานศึกษานั้นเป็นกฎระเบียบอยู่แล้ว ในตอนเช้าและกลางวันเด็กนักเรียนจะสามารถซื้ออาหารและขนมจากร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียน และในโรงอาหาร ซึ่งโรงเรียนพยายามคัดเลือกสิ่งที่ไม่มีโทษมาจำหน่าย รวมทั้งได้มีการพยายามให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกอาหารและขนมให้เด็กได้รู้ว่า อะไรที่ปลอดภัย หรืออะไรที่ไม่ควรซื้อรับประทาน ซึ่งก็ต้องขอร้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความร่วมมือด้วยอีกแรง นอกจากนี้ พบว่า บางโรงเรียนมีการขอความร่วมมือจากผู้ค้าให้จำหน่ายอาหารที่สะอาด และมีคุณภาพ รวมไปถึงมีการเก็บเงินสมทบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดสถานที่ด้วย เดือนละ 100 บาท ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด” นายไพรพันธ์กล่าว

 

 

คาดเงินหมุนเวียน แผงขนมหน้าโรงเรียนวันละกว่าห้าหมื่น

 

 

ขณะที่โรงเรียนราชีนีบน ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์ หัวหน้าส่วนวิจัยและพัฒนา ฝ่ายนโยบายแผน กล่าวว่า ที่โรงเรียนราชีนีบน ได้จัดทำโครงการด้านอาหารของนักเรียนด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมา มีการดำเนิน โครงการเรียนรู้คู่วิจัย ศึกษาสภาพและปัญหาของแผงอาหารหน้าโรงเรียนราชินีบน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งที่ผ่านมาบริเวณหน้าโรงเรียนมีแผงขายอาหารเยอะมาก ยาวไปถึงท่าเรือเกือบครึ่งกิโลเมตร ซึ่งมีทั้งรถขายลูกชิ้นปิ้ง บาร์บีคิว เกี๊ยวทอด เฟรนช์ฟราย ซูชิ ข้าวกล่อง ชานมไข่มุก น้ำผลไม้ปั่น ฯลฯ เฉพาะช่วงเลิกเรียนก่อนกลับบ้าน เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่เด็กๆ รุมล้อมซื้อขนม สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้แผงขายอาหารเหล่านั้นวันละกว่า 50,000 บาท

 

 

จากการเก็บข้อมูลและทดสอบตัวอย่างอาหาร พบว่า อาหารที่เปิดขายให้กับเด็กนักเรียนเหล่านี้ มีสารเคมีเจือปนทั้งบอแรกซ์และสีสังเคราะห์ มีปริมาณจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน ผู้ค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติตนตามหลักการสุขาภิบาลที่ดี ดังนั้น ถ้าเด็กรับประทานบ่อยๆ จะต้องส่งผลกระทบต่อสุขภาพแน่นอน โรงเรียนจึงได้พยายามรณรงค์สร้างความรู้ สร้างวิจารณญาณในการเลือกเพื่อให้นักเรียนเลือกซื้ออาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยวัตถุประสงค์หลักของการวิจัยคือการสร้างกระบวนการคิด เรียนรู้การเก็บข้อมูล เพื่อคิดวิเคราะห์ หัวข้อในการเรียนรู้ก็จะเปลี่ยนไปตามสภาพปัญหา หรือสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่ในประเด็นเรื่องอาหาร เราไม่พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากนัก ปัญหาที่เกิดจากผู้ขายไม่รักษาความสะอาด และการปนเปื้อนสารเคมียังมีอยู่อย่างเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางโรงเรียนมองเห็นแต่ไม่สามารถไปจัดการ หรือควบคุมการค้าขายของผู้ค้าได้ โรงเรียนทำได้เพียงนำข้อสรุปที่ได้มาช่วยให้เด็กนักเรียนมีความรู้ในการเลือกอาหารหรือขนม

 

 

ชี้หน้าที่สธ.ตรวจเข้มอาหารสาธารณะ

 

 

               “โรงเรียนมีหน้าที่จัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเด็กแต่ละคนจะสามารถมีวิจารณญาณในการเลือกสรรสิ่งที่มีประโยชน์อย่างไร แต่ในส่วนของอาหารที่โรงเรียน เราก็มีหน้าที่ดูแลความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของโรงอาหารให้ถูกสุขอนามัย เลือกสรรอาหารตามหลักโภชนาการ ส่วนอาหารข้างนอก เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมของโรงเรียน ที่ควรจะอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข  แต่สิ่งที่พบเห็นมาตลอดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย คือความใส่ใจในการปรุงอาหารในปริมาณมากๆ ให้คนอื่นรับประทาน ผู้ปรุงมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาด ปลอดภัยน้อยมาก ซึ่งก็อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน เรื่องของเวลา หรือปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่เราไม่สามารถไปควบคุมได้ เพราะฉะนั้น การสอนให้เด็กมีความรู้และรู้จักเลือกเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่โรงเรียนจะทำได้" ดร.พิรุณกล่าว

 

 

ตรังเจอปัญหาเด็กลดอ้วนด้วยยา

 

 

ด้านนางศิริกาญจน์ วงศ์สุวรรณ นักวิชาการการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาตรังเขต 1 จ.ตรัง กล่าวกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ในส่วนของเด็กนักเรียนใน จ.ตรังนั้น มีข้อมูลว่า ในจ.ตรังมีเด็กนักเรียนพบปัญหาที่เป็นโรคอ้วนจำนวนมาก ทั้งเด็กชั้นประถมศึกษา และเด็กชั้นมัธยมศึกษา ที่ส่วนใหญ่จะมีการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์กับตัวเอง โดยในเด็กประถมจะพบว่าเกิดปัญหาโรคอ้วน ในขณะที่เด็กโตระดับมัธยม นอกจากจะเป็นปัญหาเรื่องของโรคอ้วน น้ำหนักเกินแล้ว ยังพบปัญหาเรื่องผิวหนัง เป็นสิว ทำให้มีการเลือกใช้ยาผิดชนิดตามมาอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้อาหารไร้ประโยชน์ด้วย โดยพบว่าเมื่อเด็กอ้วนแล้ว จะนำไปสู่การรับประทานยาลดความอ้วนตามมา พบว่ามีถึง 70 เปอร์เซนต์ที่เป็นปัญหานี้

 

 

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาของเขตพื้นที่การศึกษา ได้มีการนำเรื่องเกี่ยวกับการดูแลเรื่องโภชนาการของเด็กเข้าไปเป็นหนึ่งในประเด็กการประเมินการศึกษาด้วย โดยโรงเรียนแต่ละโรงเรียนจะเป็นคนกำหนด ดำเนินการภายในโรงเรียนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชน เพราะหากโรงเรียนทำอย่างเดียวแต่ ผู้ปกครองและชุมชนไม่ได้สนใจก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้

 

 

               “ที่จ.ตรังเรามีโรงเรียนวัดมงคลสถาน ที่สามารถดำเนินการเป็นต้นแบบเรื่องของดูแลโภชนาการ ในระดับประเทศ ซึ่งจะมุ่งในเรื่องของพื้นที่ ที่จะต้องรวมกันระหว่างชุมชนและโรงเรียนทุกฝ่ายต้องทำกันหมด คือพยายามที่จะรณรงค์ ไม่ให้มีการนำอาหารที่ไม่มีประโยชน์มาขายให้กับเด็กเลย โดยเฉพาะการตั้งร้านค้าจำพวกฟาสต์ฟู้ดต่างๆ โดยสิ่งที่จะทำให้การรณรงค์ประสบความสำเร็จมีการนำรางวัลมาจูงใจให้กับ ครู โรงเรียน และระดับชุมชนด้วย เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาที่แก้ไขยากถ้าหากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน” นางศิริกาญจน์กล่าว

 

 

นักโภชนาการชี้อาหารริมถนน แค่เจอฝุ่นก็ไม่ควรซื้อ

 

 

ด้านนักโภชนาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กิ่งกมล กิตติภูมิรัตน์ เปิดเผยว่า ปัญหาโภชนาการในเด็ก ผู้ใหญ่ทั้งผู้ปกครอง และครู จะต้องให้ความสำคัญ เพราะการปล่อยให้เด็กเลือกซื้ออาหารรับประทานเองได้อย่างอิสระโดยไม่ให้ความรู้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยต้องประสบกับภาวะโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจากขนมและอาหารซึ่งขายอยู่ตามหน้าประตูโรงเรียนต่าง ๆ มีหลากหลายมาก ซึ่งจะสะอาด ถูกหลักอนามัย หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาปรุง อย่างลูกชิ้นปิ้ง หรือลูกชิ้นทอด ก็มีทั้งที่เป็นลูกชิ้นแท้และลูกชิ้นปลอม คือส่วนผสมที่นำมาทำลูกชิ้น หรือไส้กรอกประเภทต่าง ๆ อาจจะเป็นวัตถุดิบที่มีราคาไม่สูง เพราะต้องคุมเรื่องต้นทุน คุณภาพก็ต่ำไปด้วย แต่ที่แน่ ๆ คืออาหารและขนมเหล่านั้นวางขายอยู่บนแผงขายที่มีทั้งฝุ่นละออง แมลงและฝุ่นควันต่าง ๆ ที่มองไม่เห็น หากจะพิจารณาแค่เรื่องความสะอาด ก็ถือว่าไม่ผ่านแล้ว ถ้าจะให้เด็กรับประทาน

 

เช่นเดียวกับข้อแนะนำที่จะทำให้การรับประทานอาหารนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี เด็กก็ควรจะได้รับประทานอาหารตามหลักโภชนบัญญัติ คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายและหมั่นดูแลน้ำหนักตัว กินข้าวเป็นอาหารหลักสลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ กินพืชผักให้มากและกินผลไม่เป็นประจำ กินปลา กินเนื้อไม่ติดมัน ไข่และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสหวานจัดและเค็มจัด กินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน และงดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

 

นอกจากนี้ สื่อเองก็มีส่วนอย่างมากต่อพฤติกรรมการบริโภคของบรรดาเด็กๆ ที่กระตุ้นให้เด็กชื่นชอบ และอยากกินขนมกรุบกรอบ ไอศกรีม น้ำอัดลม ที่อุดมไปด้วยความหวาน แป้ง และผงปรุงรส

 

 

กินดี-ไม่ดี อยู่ที่พ่อแม่ทำตัวอย่างให้เห็น

 

 

                “การสร้างนิสัยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จำเป็นที่จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก การให้ความรู้ ให้ข้อมูล สร้างทัศนคติที่ดีในการเลือกรับประทานอาหาร ซึ่งคนที่จะมีส่วนสำคัญอย่างมากคือพ่อแม่ผู้ปกครอง อาหารที่ดีต้องเริ่มต้นมาจากที่บ้าน หากพ่อกับแม่มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ดีต่อสุขภาพอยู่แล้ว เช่น ชอบทานของทอด ขนมกรุบกรอบ ติดหวาน ฯลฯ ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ด้วยหากเป็นห่วงลูก  นอกจากนี้โรงเรียนก็ต้องเป็นตัวกลางในการสร้างความรู้ กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีสุขภาพที่ดี” นักโภชนาการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้ข้อแนะนำ

 

 

ขณะที่ผู้ปกครองหลายคนยอมรับว่า น่าเป็นห่วงเรื่องขนมและอาหารว่างที่เด็กๆ มักจะซื้อหลังเลิกเรียน เพราะเท่าที่ดู บางประเภทน่าจะเป็นอันตรายหากปล่อยให้เด็ก ๆ กินบ่อย ๆ และต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ของปิ้ง ย่าง ทอด ทั้งหมูปิ้ง ไก่ปิ้ง ปลาหมึกและลูกชิ้นทั้งหลาย หนังไก่ทอด ที่แถมมาด้วยน้ำจิ้มหวานเจี๊ยบ และอันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ

 

 

เด็กจำนวนมากพอก้าวเท้าออกจากรั้วโรงเรียน สิ่งแรกที่คิดถึงและตรงไปซื้อทันที คือน้ำหวานและน้ำแข็งใส่ ซึ่งก็น่าเป็นห่วงเรื่องความสะอาดของน้ำแข็ง ที่เป็นที่ทราบดีว่า ใช้น้ำแข็งป่นที่กระบวนการผลิตไม่ค่อยถูกสุขอนามัยนัก รวมทั้งยังมีเรื่องของน้ำหวาน เยลลี่ที่ใส่ในน้ำแข็ง ที่มีสีสันจัดจ้านผิดปกติ

 

ขณะที่เด็กบางคนก็ขาดขนมกรุบกรอบ ลูกอม และน้ำอัดลมไม่ได้เลย ถึงแม้จะไม่ซื้อจากร้านค้าหน้าโรงเรียน แต่ขนมเหล่านี้มีขายตามร้านค้าทั่วไป ซื้อหาสะดวกง่ายดาย นอกจากเพื่อน ๆ จะชักชวนกันกินแล้ว ยังมีอิทธิพลจากการโฆษณาที่กระตุ้นให้เด็ก ๆ อยากซื้อ และอยากกิน อยู่ตลอดเวลา

 

การห้ามไม่ให้เด็กซื้อขนมเลย คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก นอกจากการตามใจเด็กเป็นบางครั้งคราวแล้ว การอธิบาย หรือชี้ให้เห็นอันตรายจากขนมจึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองหลายคนพยายามทำ รวมทั้งการสร้างนิสัยให้เด็กๆ กินอาหารและขนมที่มีประโยชน์ เมื่อเด็กๆ มีทัศนคติที่ดีแล้ว ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองได้ เพราะคงไม่มีผู้ปกครองคนไหนอยู่กับเด็กได้ตลอดเวลา ที่โรงเรียนห้ามไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเด็กๆ อยู่ที่บ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเลือกให้เด็ก

 

 

ข้ออ้างของพ่อค้าแม่ค้าในเรื่องต้นทุนว่า ที่ต้องใช้วัตถุดิบคุณภาพต่ำ เนื่องจากต้องขายในราคาถูก คงเป็นภาพสะท้อนกลับไปกลับมา ระหว่างปัญหาด้านเศรษฐกิจกับปัญหาสุขภาพ ว่าพ่อแม่ให้ค่าขนมน้อยลูกก็ต้องกินของถูกและไม่มีคุณภาพ แต่กับขนมกรุบกรอบปริมาณน้อยนิดแต่ราคาแสนแพงเพราะมีต้นทุนเรื่องค่าโฆษณาและอื่นๆ อีกจิปาถะ เด็กหลายคนกลับยอมจ่ายเงิน ประเด็นเรื่องอาหารที่ดี ต้องมีราคาแพง คงเป็นเหตุผลที่ดูจะขัดแย้งสำหรับการจัดสรรเงินค่าขนมของเด็กๆ

ถึงแม้จะเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่เมื่อต้องแลกกับการมีโภชนาการของเด็กในวัยที่จะต้องเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่สุขภาพดี คงไม่ใช่หน้าที่ของใครเพียงฝ่ายเดียว การตั้งคำถามว่าวันนี้เราใส่ใจเด็กๆ น้อยไปหรือไม่ อาจจะยังไม่สายเกินไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: