บ.ทีมขวางชาวบ้านอุดรฯร่วมเวที ถก'อีเอชไอเอ'เหมืองแร่โปแตช

26 พ.ค. 2555


เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.อุดรธานีว่า ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 300 คน  รวมตัวกันที่สนามทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี จะเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ของโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี  โดย บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ว่าจ้าง บริษัท ทีม คอลซัลติ้ง เอนจีเนียริ่ง จำกัด ให้ดำเนินการศึกษา และจัดเวทีที่โรงแรมบ้านเชียง ในเวลา 07.00-14.00 น.

แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ช่วงเช้า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนหลายร้อยนาย ได้กระจายกำลังเฝ้าสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ พร้อมทั้งตั้งด่านสกัดเป็นจุดๆ เริ่มตั้งแต่บริเวณสี่แยกถนนเลี่ยงเมืองอุดรธานี ไปจนถึงบริเวณสนามทุ่งศรีเมือง

 

 

ส่วนบริเวณโรงแรมบ้านเชียงซึ่งเป็นสถานที่จัดจัดประชุม เจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงเหล็กมากั้นเป็นแนวปิดประตูทางเข้าออกของโรงแรม ส่วนภายในบริเวณโรงแรมยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอส. ซึ่งทางฝ่ายปกครองจังหวัดอุดรธานี จัดเตรียมมารวมกว่า 200 นาย กระจายกันตรึงกำลังทั่วโรงแรม โดยเฉพาะประตูทางเข้าด้านหน้าที่มีกำลังตำรวจอย่างหนาแน่นพยายามกันไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ และคนภายนอกที่สนใจในเมืองเข้าไปเข้าร่วมเวที นอกจากสื่อมวลชน และชาวบ้านฝ่ายที่บริษัทเกณฑ์เข้ามาร่วมเวที ขณะเดียวกันพบว่า มีสมาชิกชมรมคนรักอุดรจำนวนหนึ่ง นำโดยนายขวัญชัย  ไพรพนา นำรถบรรทุกหกล้อติดเครื่องขยายเสียงมาดักรอที่หน้าโรงแรม เพื่อเตรียมเผชิญหน้ากับกลุ่มอนุรักษ์ฯ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นกลุ่มอนุรักษ์ฯ ประมาณ 30 คน ได้ไปยืนถือป้ายคัดค้านการจัดเวทีที่ด้านหน้าโรงแรม และแบ่งกลุ่มชาวบ้านกระจายกันออกรณรงค์ให้ข้อมูล แจกเอกสารใบปลิว ถึงความไม่ชอบธรรมและการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมเวทีอีเอชไอเอในครั้งนี้ โดยเดินไปตามบริเวณ ตลาดเทศบาลบ้านเชียง ตลาดบ้านห้วย และตลอดแนวสองฝั่งถนนโพธิ์ศรี จนถึงสถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งได้รับความสนใจจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาด และคนในเมืองอุดรฯ เป็นอย่างดี

 

 

นางมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวถึงความตั้งใจของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่จะไปเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ว่า ต้องการที่จะไปเสนอมุมมองความคิดเห็นของชาวบ้าน ที่ติดตามโครงการเหมืองแร่โปแตชมาเป็นระยะเวลากว่า 12 ปี เนื่องจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่โครงการฯ โดยตรง อยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูลผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และก็มีข้อเสนอแนะต่อโครงการฯ ด้วย แต่พอมาถึงก็ถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมาก ไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วม จึงอยากตั้งคำถามถึงกลุ่มชมรมคนรักอุดรว่า ที่ผ่านมาประกาศต่อสาธารณะว่า เรียกร้องประชาธิปไตย  แต่ในวันนี้กลับมีพฤติกรรมที่สวนทางกัน โดยมาปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อมาแสดงความคิดเห็นต่อโครงการเหมืองโปแตช

 

ด้านนายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์  ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า การจัดเวทีของบริษัทเอพีพีซี บริษัทต้องการจะสร้างภาพต่อสาธารณชนว่า มีความจริงใจในการทำอีเอชไอเอ เพื่อผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช เพราะในความเป็นจริงโครงการเหมืองแร่โปแตชไม่เป็นโครงการรุนแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ที่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้ทำอีเอชไอเอ จึงไม่จำเป็นต้องทำอีเอชไอเอ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมพิจารณา ที่ต้องทำคือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอเพียงเท่านั้น

 

 

“การจัดเวทีอีเอชไอเอของบริษัททีม เป็นการแนะนำจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. ให้ดำเนินการทำ แต่กลุ่มอนุรักษ์ฯ กลับถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น กพร. จึงสมควรที่จะออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในส่วนของราชการจังหวัดอุดรธานีนั้น ก่อนหน้านี้ 2 วัน ชาวบ้านได้เข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อความไม่ชอบธรรมในการจัดเวทีมาแล้ว แต่ผู้ว่าฯ กลับไปปรากฏตัวเป็นประธานเปิดงาน ทั้งๆ ที่ผู้ว่าฯ ควรพิจารณาว่าจะสนับสนุนเวทีลักษณะนี้หรือไม่” นายสุวิทย์กล่าว

 

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์  ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทรัพยากรแร่  กล่าวว่า สิ่งที่ต้องชัดเจนในการทำเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายของของบริษัทเอพีพีซี คือ การทำอีเอชไอเอ เป็นเจตนารมย์ของบริษัท หรือเป็นการปฎิบัติตามข้อกฎหมาย 67 วรรค 2  เนื่องจากโครงการเหมืองแร่โปแตช หลุดจากการเป็นโครงการที่เข้าข่ายความรุนแรง เพราะฉะนั้นบริษัทอิตาเลี่ยนไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอีเอชไอเอแต่ประการใด สิ่งที่ทำเพียงเพราะต้องการสร้างภาพว่า บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ประเด็นสำคัญก็คือเหตุใด กพร.จึงปล่อยให้บริษัทเดินหน้าทำอีเอชไอเอ ทั้งที่ไม่ต้องทำเรื่องนี้แต่อย่างใด

 

“เมื่อไม่เข้าโครงการความรุนแรง เหตุใดบริษัทอิตาเลี่ยนไทยจึงดึงดันเดินหน้าทำอีเอชไอเอ เพื่ออะไร หรือเพื่อเกณฑ์มวลชนให้ตีกัน ระดมมวลชนเพื่อสนับสนุนโครงการของตนเอง กพร.ต้องถามบริษัทอิตาเลี่ยนไทยให้ชัดว่า ทำตามข้อกฎหมายหรือเจตนารมย์อย่างอื่น อย่าลืมว่าที่ผ่านมากระบวนการการทำโครงการเหมืองแร่โปแตชผิดตั้งแต่ต้น มันก็ผิดไปทั้งหมดตั้งแต่ประเด็นการไต่สวนขอประทานบัตร ที่มีปัญหากันอยู่ในขณะนี้ แล้วจะไปทำประเมินอีเอชไอเอได้อย่างไร” นายเลิศศักดิ์กล่าว

 

ด้านนายชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า กพร.ทราบว่า โครงการเหมืองแร่โปแตช ไม่เข้าโครงการความรุนแรง แต่การทำอีเอชไอเอ มันจะทำให้มีข้อมูลรายละเอียดมากกว่าการทำอีไอเอตามปกติ ทางกพร.จึงแนะนำให้ทางบริษัทพิจารณาว่าจะทำอีเอชไอเอหรือไม่ ซึ่งทางบริษัททำตามคำแนะนำ ส่วนจะเป็นการผิดขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจของสผ. 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: