ไทยอ้างหนุนใช้'พลังงานทดแทน' จ่อถกพม่าจับมือผุดเขื่อนสาละวิน เอกชนจวกรัฐไม่หนุน-ติดกฎหมาย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 25 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2339 ครั้ง

 

 

ความพยายามในการหาแนวทางลดการใช้พลังงานฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ด้วยการหาพลังงานทดแทนมาใช้ นับเป็นแนวทางสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะเชื่อแน่ว่า อีกไม่นานน้ำมันจะไม่มีเหลือเพียงพอให้มนุษย์ได้ใช้อย่างสะดวกสบายอีกต่อไป

 

สำหรับประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติสูงถึง 67เปอร์เซนต์ ท่ามกลางการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง ในรอบปีที่ผ่านมาประเทศไทย มีสถิติระดับการใช้พลังงานสูงสุดถึง 7 ครั้ง ขณะที่การใช้พลังงานในการคมนาคมขนส่งที่เพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลต่อพลังงานสำรองของประเทศ ทำให้แนวคิดการหาพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้เริ่มมีมากขึ้น ล่าสุดรัฐบาลตั้งเป้าให้มีการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในประเทศอยู่ที่ 25 เปอร์เซนต์ ภายใน 10 ปี (2555-2564)

 

 

พพ.มั่นใจเดินหน้าพลังงานทดแทนได้ตามเป้า

 

 

จากข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปัจจุบันเดินหน้างานด้านพลังงานทดแทนไปแล้ว 9.5-9.6 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า นับว่าประสบความสำเร็จมาก สามารถเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจาก 72 เมกะวัตต์ เป็น 260 เมกะวัตต์ และคาดว่าปลายปีนี้จะได้ถึง 380 เมกะวัตต์ เช่นเดียวกับพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ มีความคืบหน้าเช่นกัน ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมปัจจุบันผลิตได้ 7 เมกะวัตต์ คาดว่าในปี 2556 จะสามารถผลิตได้ถึง 100 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายวางไว้ที่ 240 เมกะวัตต์

 

อย่างไรก็ตามการส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซล และเอทานอล ยังคงไม่เป็นไปตามแผน เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ยังไม่คืบหน้ามากนัก เพราะติดปัญหา พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขโดยกระทรวงการคลัง

 

ดังนั้นดูเหมือนว่า อนาคตของการพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทย จึงยังคงต้องอาศัยเวลาและการสนับสนุนส่งเสริมอย่างจริงจัง หากต้องการให้สามารถเดินไปตามเป้าหมายของรัฐบาลจริง ๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พลังงานจ่อผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเลี้ยงช้าง-พลังน้ำสาละวิน

 

 

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน กล่าวระหว่างการสัมมนา “พลังงานสีเขียว ดุลยภาพสู่ความยั่งยืน” ว่า ในส่วนของกระทรวงพลังงานมีนโยบายว่า จะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ ที่ผ่านมาพบว่า มีการศึกษาค้นคว้าและเริ่มดำเนินการด้วยภาคเอกชนในหลากหลายรูปแบบมาแล้ว อย่างไรก็ตามแนวคิดล่าสุดของรัฐบาล คือการส่งเสริมให้เกิดการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ หรือหญ้าเลี้ยงช้าง ซึ่งปลูกได้ง่ายและได้ผลดีในการนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าคือ 1,000 ไร่ ผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งแนวทางนี้ดูแบบมาจากประเทศเยอรมนี ที่สามารถดำเนินการมาแล้ว ดังนั้นกระทรวงพลังงานจะเร่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ปัจจุบันรัฐบาลกำลังจัดทำแผนรายละเอียด คาดว่าจะทำเป็นรูปธรรมได้ภายในปี 2558 ขณะเดียวกันมีการนำร่องแล้วใน จ.เชียงใหม่ และจะขยายแผนดำเนินการต่อไปที่ จ.นครราชสีมา

 

นอกจากนี้นายพงษ์ศักดิ์ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ โดยจะเดินหน้าทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดการคัดค้าน เพราะการใช้พลังน้ำจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน รวมทั้งรัฐบาลยังมีแผนในการเจรจากับพม่า เพื่อพัฒนาโครงการพลังน้ำจากแม่น้ำสาละวินอีกด้วย ขณะที่การส่งเสริมพลังงานทดแทนอื่น ๆ จะยังคงดำเนินไปตามแผน เพื่อผลักดันให้มีสัดส่วนการใช้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้คือ 20 เปอร์เซนต์ ของการใช้พลังงานทั้งหมด

 

เป็นประเด็นที่ถูกเปิดเผยออกมาล่าสุดจากกระทรวงพลังงาน ที่คงจะต้องจับตามองอีกครั้งว่า นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนครั้งนี้ จะทำได้จริงตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหรือไม่ เพราะนอกจากเสียงคัดค้านที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาคประชาชน ต่อกรณีการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ที่รัฐบาลพยายามจะผลักดันแล้ว การส่งเสริมงานด้านพลังงานทดแทน หรือ พลังงานทางเลือกที่ไม่ยั่งยืน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลายังเป็นปัจจัยหนึ่งที่หลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การพัฒนาพลังงานในกลุ่มนี้ของไทย เดินหน้าไปได้ไม่ถึงไหน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สอท.จี้รัฐชัดเจนเรื่องนโยบาย-แก้กม.เอื้อการลงทุน

 

 

 

ทางด้าน นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นด้านนโยบายสนับสนุนการจัดหาพลังงานทดแทนของรัฐบาลที่ไม่มั่นคงดังกล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายรัฐบาลมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เพราะมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเสมอ ในขณะที่การลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของภาคเอกชนจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการอย่างน้อย 1-2 ปี แต่นโยบายของรัฐ โดยเฉพาะระเบียบกฎเกณฑ์ตามกฎหมายดังกล่าว กลับเปลี่ยนไปเร็วมาก ทำให้มีผลต่อการลงทุน

 

นอกจากนี้ความไม่ชัดเจนของข้อกำหนดยังส่งผลต่อการลงทุนด้วยเช่นกัน เช่น การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA), รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ (EHIA) ในโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ที่กำหนดให้จัดทำนั้น ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กที่ทำในชุมชนเกิดขึ้นไม่ได้ จึงอยากให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ให้ชัดเจน ดูว่าระดับไหนทำได้หรือไม่อย่างไร หากจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานทดแทน เพราะเท่าที่เป็นอยู่ นโยบายของรัฐยังขัดแย้งกันเองอยู่ระหว่างการส่งเสริมและการป้องกัน

 

 

โวไทยเจ๋งใช้ลมผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 3,000 เมกะวัตต์

 

 

 

ขณะที่ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ กรรมการบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ระบุว่า ก่อนหน้านี้ในส่วนของการลงทุนด้านพลังงานลม ยังคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากนัก เพราะถูกมองว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย แต่ความจริงจากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการใช้พลังงานลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ และแรงลมก็เทียบเท่ากับยุโรป และมีศักยภาพที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งหลังจากความพยายามที่จะทำให้การลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลังงานลมเกิดขึ้นในเมืองไทยให้ได้ ในที่สุดรัฐบาลก็หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นในด้านนโยบายการลงทุน แต่ในบางเรื่องก็ยังติดข้อจำกัดในทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการใช้พื้นที่ เนื่องจากพื้นที่รับลมได้ดี และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่จะต้องอยู่ในที่สูง ไม่มีสิ่งบดบัง เพราะจะสามารถรับลมมรสุมได้เต็มที่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตามภูเขา ในป่าเขา เป็นพื้นที่ที่หากยาก และอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอนุรักษ์ต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ จึงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

             “ปัญหาที่สำคัญของบริษัทฯ ที่ลงทุนโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมนั้น ประเด็นหลักคือ การเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพแรงลม ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 หรือพื้นที่หวงห้าม ทำให้บริษัทฯ ต้องเฟ้นหาพื้นที่ที่ไม่ติดข้อจำกัดเหล่านี้ โดยปัจจุบันเลือกใช้พื้นที่ใน จ.นครราชสีมา เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 207 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. มีมูลค่าการลงทุน 13,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่ากังหันลม จำนวน 90 ต้น ขนาด 2.3 เมกะวัตต์ สูง 100 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางใบพัด 101 เมตร มูลค่า 9,000 ล้านบาท และอุปกรณ์อื่น ๆ อีก 3,000 ล้านบาท โดยกังหันลมจะมีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี ซึ่งขณะนี้ต้องบอกว่าเราเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมองว่าเรายังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีก โดยตั้งเป้าว่าเราจะผลิตไฟฟ้าได้ 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2560”

 

 

ดันรัฐขอใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์เสื่อมโทรมตั้งกังหันลม

 

 

นายนพพรกล่าวด้วยว่า ด้วยกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทำให้การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม ยังคงไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ จึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ หากจะส่งเสริมด้านพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มของพลังงานลม ที่ต้องใช้พื้นที่มาก โดยในส่วนของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ปัจจุบันใช้ที่ดินของ ส.ป.ก. ซึ่งแต่เดิมไม่ได้มีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่สำหรับกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานลม แต่ภายหลังมีการอธิบายรายละเอียด ทำความเข้าใจกับภาครัฐว่า การเข้าไปลงทุนจะช่วยให้มีการปรับปรุงถนน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพื่อที่เราจะเข้าไปบำรุงรักษาเสาแต่ละต้นได้ ซึ่งทำให้เกษตรกรก็ได้รับประโยชน์ในการมีถนนหนทางที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต ในการขนย้ายผลผลิตทางการเกษตร

 

นอกจากนั้นเรายังจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้ครอบครองที่ดิน สำหรับพื้นที่ที่ติดตั้งกังหันลม ไร่ละ 35,000 บาท/ไร่/ปี ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีเสา เราให้ 2,000 บาท/ไร่/ปี ซึ่ง ส.ป.ก. ก็เห็นด้วย และต่อมาได้ปรับปรุงระเบียบการใช้พื้นที่ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม สามารถใช้ที่ดินของ ส.ป.ก. ได้จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในส่วนของพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ที่ยังใช้ไม่ได้นั้น อยากให้ภาครัฐพิจารณาโดยเฉพาะพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมแล้ว เพราะพื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพที่จะทำให้เกิดการสร้างพลังงานได้

 

 

                “ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าภาครัฐน่าจะให้ความสนใจเรื่องนี้ ซึ่งล่าสุดกระทรวงพลังงานได้เชิญกลุ่มผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนไปประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้กฎหมายต่างๆ ชุดใหญ่เพื่อให้เกิดการแก้กฎหมาย ระเบียบต่างๆ ชุดใหญ่ ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้เกิดการส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านนี้มากขึ้น ซึ่งจะถือว่าเป็นประโยชน์กับประเทศมาก” นายนพพรกล่าว

 

 

 

ยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน ชี้ชัดเร่งแก้กฎหมายเอื้อเอกชน

 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25 เปอร์เซนต์ ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) หรือ AEDP (2012-2021) ของกระทรวงพลังงาน กำหนดไว้ 6 ประเด็นด้วยกัน คือ

 

 

 

 

1. การสงเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวาง

2. การปรับมาตรการจูงใจการลงทุนสำหรับภาคเอกชนให้เหมาะสมกับสถานการณ์

3. การแกไขกฎหมายและกฎระเบียบที่ยั้งไม่เอื้อต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน

4. การปรบปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสายส่ง สายจำหน่ายไฟรวมทั้งการพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid

5. การประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อประชาชน

6. การสงเสริมให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแบบครบวงจร

โดยในส่วนของพลังงานลม รัฐบาลตั้งเป้าให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,200 เมกะวัตต์ ในปี 2564 โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 7.28 เมกะวัตต์ โดยเน้นการพัฒนาตามกรอบการส่งเสริมพัฒนาแผน AEDP ที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมให้ชุมชุนมีส่วนร่วมในการผลิต และการใช้พลังงานทดแทนนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกังหันลมเพื่อการผลิตไฟฟ้าร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าอื่นในชุมชนห่างไกล และเกาะที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้, กังหันลมเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะกังหันลมสูบน้ำและระหัดวิดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

 

ในส่วนของการปรับมาตรการจูงใจสำหรับการลงทุนจากภาคเอกชน ให้เหมาะกับสถานการณ์นั้น จะได้มีการอำนวยความสะดวกให้เอกชน สามารถขอใช้พื้นที่และดำเนินการติดตั้งกังหันลมในพื้นที่ห่างไกลได้ ขณะเดียวกันจะผลักดันให้แก้ไข ปรับปรุง ข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติบางอย่างที่ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพลังงานลม เช่น

 

1.ระเบียบปฏิบัติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานลม 2.การขอยกเว้นพื้นที่ 1-B ที่ไม่มีสภาพป่าต้นนํ้าหลงเหลืออยู่ และยากต่อการฟื้นฟูในบางพื้นที่เพื่อสามารถให้ภาคเอกชนขอใช้พื้นที่ เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานลมได้ 3.แก้ไข้ พ.ร.บ.โรงงาน (พ.ศ.2535)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การจัดทําแผนขยายระบบสายส่ง และระบบเก็บสะสมพลังงาน เช่น ระบบสูบกลับในพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานลม เช่น บริเวณภาคอีสาน ขณะเดียวกันเร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ในการดำเนินการด้านพลังงานลมด้วย

 

สำหรับเป้าหมายของพลังน้ำ กำหนดเป้าหมายที่ 1,608 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกําลังการผลิตรวม 86.39 เมกะวัตต์ (ไม่รวมระบบสูบกลับที่มีปัจจุบันของกฟผ.คือ ลำตะคอง 1-2 500 เมกะวัตต์ โดยเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมการผลิต และการใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวาง ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้าน ให้แก่ราษฎรที่ไม่มีไฟฟ้าใช้โดยไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off Grid) ทั้งสนับสนุนการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังนํ้าระดับชุมชน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือชุมชนเจ้าของพื้นที่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโครงการ และสามารถบริหารงานและบำรุงรักษาเองได้ในอนาคต

 

ทั้งนี้จะมีการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบ ที่ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อ่อนไหว เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำ 1-B พื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เป็นต้น

 

 

 

ขอบคุณภาพจาก Google, Greenpeace

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: