‘ขสมก.’วิกฤตหนักเงินสดขาดมือ-หนี้ท่วม อ้อนครม.ไฟเขียวกู้2หมื่นล้านล้างหนี้ก.ย. จับตา‘ยิ่งลักษณ์’ดันซื้อรถเมล์เพิ่ม3พันคัน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 24 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3045 ครั้ง

นโยบายที่ก้าวหน้าส่วนใหญ่ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ภาษีประชาชนจำนวนมากลงไปบริหารจัดการ เฉพาะนโยบายรถคันแรกก็ใช้เงินภาษีถึง 30,000 ล้านบาท ในทางกลับกันถ้าหากนำเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายคืนเป็นเงินสด มาพัฒนาระบบขนส่ง ให้มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีประชาชนจำนวนมหาศาลได้ใช้ประโยชน์จากเงินภาษีร่วมกัน แต่หลักคิดของ ‘นโยบายประชานิยม’ กลับตรงกันข้าม กับหลักคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนอกจากทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อโครงการแบบ ลด-แลก-แจก-แถมแล้ว ยังมีนโยบาย ‘รถเมล์ฟรี ภาษีประชาชน’ ด้วย

 

 

จับตายิ่งลักษณ์อนุมัติรถเมล์เอ็นจีวี หลังแท้ง 2 รัฐบาล 3 นายกรัฐมนตรี

 

 

และเพื่อให้โครงการ รถเมล์ฟรี สมบูรณ์ ตามแบบฉบับรัฐบาลประชานิยม การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อกลางเดือนกันยายน 2555 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รมช.คมนาคม จึงถูกสั่งให้ “ตั้งลูก” โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี (NGV) กลับคืนมาพิจารณาอีกครั้ง

 

หลังจากโครงการนี้ “แท้ง” ไปแล้วถึง 5 รัฐบาล 4 นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อด้วยยุคนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 5 ที่จะตั้งวงพิจารณา โครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน อีกรอบ ภายในกันยายน 2555

 

คำสั่งของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ระบุว่า “ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมกลับไปทบทวนการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี (NGV) 3,183 คัน โดยให้กระทรวงคมนาคม กลับไปพิจารณาว่า มีอะไรที่ไม่จำเป็นที่สามารถตัดทอนออกไปได้บ้าง เพื่อลดต้นทุนและภาระค่าใช้จ่าย เนื่องจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ขณะนี้ยังมีหนี้สินอีกจำนวนมาก โดยให้ดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง”

 

จากนั้น 2 วัน นายชัชชาติ รัฐมนตรีสายตรงกลุ่มบ้านจันทร์ส่องหล้า ก็ภูมิใจนำเสนอว่า “เตรียมเสนอครม.จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 3,183 คัน วงเงินกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ภายใน 1-2 สัปดาห์” เพราะโครงการนี้มีอาถรรพ์ ผ่านมาแล้ว 4 นายกรัฐมนตรี ยังไม่ “ผ่าน” ดังนั้น นายชัชชาติจึงยอมรับว่า “ส่วนตัวยอมรับว่ากลัวโครงการนี้มาก แต่ก็ต้องทำให้เกิดขึ้นเพื่อคนกรุงเทพฯ จะทำให้โปร่งใสที่สุด โดยยินดีที่จะให้คนนอกเข้ามาเป็นกรรมการ หรือให้หน่วยงานตรวจสอบเข้ามาดู ส่วนการแยกสัญญาซื้อรถและซ่อมบำรุงนั้น เชื่อว่าจะทำให้ลดต้นทุนได้มากกว่า ส่วนราคารถโดยสารที่ว่าสูงนั้น เป็นการกำหนดจากราคาตามมาตรฐานคุณภาพของรถที่จะใช้งานได้ 10 ปี และเป็นแค่กรอบราคากลาง อาจจะต่ำกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการประกวดราคา ซึ่งราคารถมีหลายคุณภาพ คันละ 2 ล้านก็มี แต่จะมีปัญหาอายุการใช้งานน้อย”

 

โดยขณะนี้โครงการได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) แล้ว หลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อสั่งการระดับปฏิบัติการต่อไป

 

 

ขสมก.หนี้ท่วม 7.6 หมื่นล้าน โครงการใหม่+ดอกเบี้ยแบกภาระ 5.6 หมื่นล้าน

 

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์โครงการลงทุน ระบุว่า โครงการรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ( เอ็นจีวี ) 3,183 คัน ของขสมก. วงเงิน 13,162.20 ล้านบาท มีการแยกการจัดซื้อรถและการซ่อมบำรุง อาจทำให้ไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงได้ เพราะที่ผ่านมาขสมก.จัดซื้อรถเมล์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน และซ่อมบำรุงเอง ทำให้ ขสมก.มีหนี้สินสะสมมากถึง 76,000 ล้านบาท และทำให้งบซ่อมบำรุงจะรวมอยู่ในหมวดค่าใช้จ่ายในงบดุลของ ขสมก.แทน

 

ส่วนราคารถธรรมดาที่กำหนดคันละ 3.8 ล้านบาท และรถปรับอากาศคันละ 4.5 ล้านบาทนั้น ก็สูงเกินกว่าราคาปกติทั่วไป และการแยกการซ่อมบำรุง คาดว่าในเวลา 10 ปี ซึ่งรถเริ่มเก่า จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 14,529.37 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ย และยังไม่รวมค่าวัสดุสิ้นเปลืองอีก 10 ปี เช่น ยาง ผ้าเบรก น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก แบตเตอรี่ ค่าจ้างพนักงานและสวัสดิการ คาดว่าจะมีค่าใช้จ่าย 15,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับค่าจัดซื้อเฉพาะตัวรถ 13,162.20 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5 เปอร์เซนต์ ทำให้งบในการดำเนินโครงการนี้รวมทั้งสิ้น 56,537.35 ล้านบาท

 

 

ย้อนรอยโครงการอาถรรพ์จาก 6,000 คัน 111,690 ล้าน ยุค ทักษิณ”-สมัคร-สมชาย

 

 

ก่อนหน้านั้น ในสมัยที่ 1 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจากประเทศจีน ล็อตแรก 2,000 คัน มูลค่า 20,000 ล้านบาท และมีแผนทะยอยจัดซื้อ 6,000-8,000 คัน แต่ยังไม่ได้เดินหน้าโครงการ ก็เกิดการรัฐประหารเสียก่อน

 

ต่อมายุคสมัยที่ 2 นายสมัคร สุนทรเวช ขสมก.มีโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 6,000 คัน มูลค่าโครงการ 111,690 ล้านบาท แต่มีการท้วงติงจากภาคส่วนต่าง ๆ จึงปรับแก้โครงการเหลือเพียง 4,000 คัน มูลค่าโครงการ 66,000 ล้านบาท และยังมีปรับแก้กันไปมาอีกหลายรอบ รวมเวลากว่า 6 ปี ที่โครงการจัดหารถเมล์ใหม่ให้ขสมก.ยังไม่มีความคืบหน้า จนถึงสมัยที่ 3 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ยังอยู่กับที่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กระทั่งสมัยที่ 4  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ครอบครองกระทรวงคมนาคม โดยนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม สายตรง “นายเนวิน ชิดชอบ” มุ่งมั่นเสนอโครงการนี้ แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ และถูกตีกลับพ้นจากที่ประชุมครม.ถึง 3 ครั้ง

 

โครงการนี้ถูกปัดฝุ่นอีกรอบ ในยุค นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคเพื่อไทย จับมือกับนายชัชชาติ รัฐมนตรีช่วยสายตรงครอบครัว “ชินวัตร” นับเป็นสมัยนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ที่ต้องพิจารณาเรื่องนี้อีกรอบ

 

เริ่มต้นนำโครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (รถเมล์เอ็นจีวี) จำนวน 3,183 คัน วงเงินประมาณ 13,163 ล้านบาท ของ ขสมก.

 

จากนั้นนำเข้าพิจารณาเห็นชอบ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หรือ คณะกรรมการกลั่นกรองด้านเศรษฐกิจ (รศก.) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาเห็นชอบ คาดว่าภายในปลายปี 2555 นี้ หรือช่วงต้นปี 2556 ขสมก.จะสามารถรับรถใหม่มาใช้บริการได้

 

นอกจากนี้รัฐบาลยังเห็นชอบการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ของรถโดยสารปัจจุบัน ที่ใช้น้ำมันดีเซลมาเป็นก๊าซเอ็นจีวี 323 เครื่อง โดยจะใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาดำเนินการปรับเปลี่ยนซึ่งจะใช้เงินลงทุนเครื่องละประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ขสมก. สามารถมีรายได้จากการเดินรถเพิ่มมากขึ้น

 

 

เมื่อพิจารณาเงินลงทุนของขสมก. รัฐวิสาหกิจที่บริหารดูแลการให้บริการของรถเมล์มาตั้งแต่ปี 2519 โดย ขสมก.ประสบกับภาวะการขาดทุนมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบัน ขสมก.มีหนี้สะสมอยู่ที่เกือบ 80,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนที่เกิดจากราคาน้ำมันดีเซล ที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา และมีรายจ่ายที่เป็นค่าเงินเดือนพนักงานขสมก.ที่มีมาก ไม่เหมาะสมกับการบริหารองค์กรของขสมก.

 

สภาพรถเมล์ของขสมก. ที่ออกวิ่งให้บริการทุกวันนี้ ทั้งรถแอร์และรถร้อน มีอายุการใช้งานเกินกว่า 10 ปีแล้วทั้งนั้น ทำให้รถเสียบ่อย ให้บริการประชาชนได้ไม่เต็มที่ รัฐบาลจึงใช้ช่องทางนี้ ริเริ่มให้มีโครงการริเริ่มโครงการจัดหารถเมล์ใหม่ ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง มาให้ขสมก.ออกวิ่งให้บริการประชาชน

 

 

ถึงยุคอภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์ ปรับเหลือ 3,183 คัน 13,162 ล้านบาท

 

 

ล่าสุดขสมก.เคาะแผนการซื้อรถเมล์ใหม่ เปลี่ยนจากเช่าเป็นการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี เหลือเพียง 3,183 คัน วงเงินรวม 13,162 ล้านบาท และเป็นค่าจ้างเหมาซ่อมรถเมล์อีกประมาณ 13,858 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการทั้งหมด 27,020 ล้านบาท (จากเดิมโครงการอยู่ในระดับแสนล้าน)

 

โดยแบ่งซื้อเป็นรถเมล์ธรรมดา หรือรถร้อน 1,659 คัน ราคาคันละ 3.8 ล้านบาท รวม 6,304.20 ล้านบาท และซื้อรถปรับอากาศ 1,524 คัน ราคาคันละ 4.5 ล้านบาท รวมเป็น 6,858 ล้านบาท ทั้งนี้ขสมก.จะให้เขตการเดินรถทั้ง 8 เขต ดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อเป็นการประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์

 

แยกเป็นการจัดซื้อรถร้อนให้ เขตการเดินรถที่ 4 จัดซื้อ 424 คัน  เขตการเดินรถที่ 6 ซื้อ 374 คัน เขตการเดินรถที่ 7 ซื้อ 453 คัน เขตการเดินรถที่ 8 ซื้อ 408 คัน ขณะที่รถปรับอากาศจะจัดซื้อให้กับ เขตการเดินรถที่ 1 จัดซื้อ 408 คัน เขตการเดินรถที่ 2 ซื้อ 489 คัน เขตการเดินรถที่ 3 ซื้อ 175 คัน เขตการเดินรถที่ 5 ซื้อ 452 คัน

 

คาดว่าใช้เวลาทั้งสิ้น 18 เดือน กำหนดส่งมอบรถงวดแรกภายใน 6 เดือน งบประมาณที่ใช้จัดซื้อจะเป็นเงินกู้ โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันและจัดหาเงินกู้ให้ และขสมก.จะนำรายได้จากค่าโดยสารมาชำระหนี้คืนกระทรวงการคลังภายในเวลา 10 ปี

 

ขสมก.ให้เหตุผลว่า โครงการใหม่ล่าสุดนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในการเดินรถ ได้ประมาณปีละ 3,668 ล้านบาท ช่วยประหยัดเงินได้ 36,000 ล้านบาท ในเวลา 10 ปี ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาปีละประมาณ 297 ล้านบาท หรือประมาณ 3,000 ล้านบาทใน 10 ปี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดทุนได้มาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนจำนวนรถเมล์จาก 4,000 คัน เป็น 3,183 คัน ลักษณะของรถเมล์จากรถปรับอากาศทั้งหมด 4,000 คัน เป็นรถร้อน 1,659 คัน รถปรับอากาศ 1,524 คัน และวิธีการจัดหาจากเช่าเป็นซื้อ จะช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่า ประมาณ 37,000 ล้านบาท และรถเป็นของ ขสมก.ตั้งแต่วันมอบรถ แต่หากเป็นวิธีเช่าที่เคยเป็นข้อถกเถียงในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ จะเป็นของผู้ให้เช่าในปีที่ 10 และสามารถใช้งานรถได้ตลอดอายุการใช้งาน ไม่ต้องหาเช่าใหม่ในปีที่ 10 อีกทั้งราคาเหมาซ่อมในโครงการใหม่นี้ยังมีราคาถูกกว่าราคาซ่อมรถเมล์ ขสมก.ในปัจจุบัน ตกคันละ 714 บาท ในรถปรับอากาศ และ 421 บาท ในรถธรรมดา

 

ก่อนหน้านี้นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการขสมก. กล่าวว่า คาดว่าจะนำเข้าขออนุมัติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และจะสามารถลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประกวดราคาได้ประมาณเดือนตุลาคม 2555  ได้รถมาให้บริการประมาณกลางปีถึงปลายปี 2556 รวมระยะเวลาดำเนินการรับมอบประมาณ 18 เดือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับขสมก.จำนวนมาก จากปัจจุบันที่ขาดทุนวันละประมาณ 7-9 ล้านบาท จากต้นทุนราคาน้ำมันและบุคลากร เบื้องต้นจะประกวดราคาในส่วนของรถเมล์ก่อน หลังจากนั้นจึงจะเป็นเรื่องของการซ่อมบำรุงต่อไป

 

 

ขอครม.สางหนี้ 1.4 หมื่นล้าน ที่ต้องจ่ายภายในก.ย.นี้

 

 

หากพิจารณาวัตถุประสงค์ของแผนการดำเนินงาน ขสมก. คือ 1.มีกำไรจาการดำเนินงาน 2.หนี้สินลดลง  และมีแผนงานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 7 ข้อ คือ 1.โครงการจัดหารถโดยสารใหม่  2.โครงการปรับปรุงรถโดยสารเก่า 3.โครงการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางรถ โดยสารประจำทาง 4.โครงการพัฒนาและจัดหาอู่จอดรถ ท่าปล่อยรถ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสาร 5.โครงการครอบครัวสุขสันต์และให้เช่ารถในวันหยุดราชการ 6.โครงการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่าง รัฐวิสาหกิจ (Synergy) 7.โครงการพัฒนาและยกระดับการให้บริการรถ โดยสารประจำทาง 8.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร จัดการรถเอกชนร่วมบริการ

 

วิสัยทัศน์ทั้ง 7 ข้อของขสมก. มี 2 ประเด็น คือ “สางหนี้” และ “หารายได้” โดยมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการหนี้สิน เพื่อบริหารจัดการหนี้สินในระยะสั้น-ปานกลาง และหาแนวทางในการลดการขาดทุนจากการ โดยมีหัวใจอยู่ที่ โครงการพัฒนาคุณภาพให้บริการรถเมล์ฟรี ทว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 จนถึงปีงบประมาณ 2555 ในรอบ 36 ปีที่ผ่านมา ขสมก.อยู่ในภาวะ “ขาดทุนสะสม” มาโดยตลอด ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 กระทรวงคมนาคมบากหน้าขอให้ครม.อนุมัติให้ขสมก.กู้เงินเพื่อชำระหนี้คืนเงินต้นและดอกเบี้ย ที่ถึงกำหนดชำระในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 14,664.857 ล้านบาท โดยขอให้กระทรวงการคลัง คำประกันเงินกู้ให้ด้วย

 

ขสมก.หนี้ท่วมรายรับแค่ 5.8 พันล้าน รายจ่าย 2.7 หมื่นล้าน

 

 

คณะรัฐมนตรี ที่ต้องร่วมกันพิจารณา มีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย และตะลึงกับฐานะการเงินของขสมก. ที่อยู่ในฐานะ “เงินสดขาดมือ” งบประมาณที่ถูกกางให้คณะรัฐมนตรีรับทราบคือ สถานะการเงินตามประมาณการเงินสดรับ-จ่ายในปี 2556 จะมีประมาณการเงินสดรับ 5,857.360 ล้านบาท ประมาณการเงินสดจ่าย 27,532.811 ล้านบาท เงินสดต้นงวด 400 ล้านบาท และเงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือ 21,275.451 ล้านบาท

 

และหากขสมก.ค้างชำระหนี้น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญพนักงาน 5,649.808 ล้านบาท จะทำให้เงินสดคงเหลือปลายงวดขาดมือ 14,453.911 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ ที่จะชำระคืนเงินต้น เงินกู้และดอกเบี้ยที่ครบกำหนดต้องจ่ายภายในเดือนกันยายน 2555

 

ดังนั้นเพื่อให้ขสมก. มีสภาพคล่องทางการเงินอย่างเพียงพอ และมีเงินคงเหลือปลายงวด 210.946 ล้านบาท จะต้องกู้เงินชำระหนี้รวมทั้งสิ้น 14,664.857 ล้านบาท แต่ยังคงมียอดค้างชำระค่าใช้จ่าย น้ำมัน-ค่าเหมาซ่อม-กองทุนบำเหน็จพนักงาน รวม 5,649.808 ล้านบาท รวมวงเงินที่ขสมก.ต้องกู้เงินและค้างชำระทั้งสิ้น 20,314.665 ล้านบาท

 

ขณะที่โครงการอาถรรพ์ 5 รัฐบาล 5 นายกรัฐมนตรี จะต้องจับตากันต่อไปว่า จะสามารถฝ่าด่านพรรคร่วมรัฐบาลให้ยอมไฟเขียว “อนุมัติ” โครงการรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน ได้หรือไม่ ต้องลุ้นภายในเดือนตุลาคมนี้ ตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขีดเส้นตายไว้แล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: