เครือข่ายที่ดินหนุนแก้รธน.     หวังประชาชนเข้าถึงทรัพยากร

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ 23 ก.ค. 2555


 

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านกฎหมายกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) โดยมีชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จากจ.ตรัง พัทลุง ประจวบคีรีขันธ์ และชาวบ้านสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จากจ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมประมาณ 50 คน

นายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ กรรมการสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า เราต้องทำอะไรมากกว่าการวอนขอจากรัฐ แม้จะมีสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย 2550 รับรอง แต่กฎหมายลูกของกรม กระทรวงต่างๆ มีอำนาจเหนือกว่า เมื่อมองในมุมกลับแปลงยางของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดถูกอุทยานฯ ฟันทำลาย แต่สวนปาล์มน้ำมันที่สุราษฎร์ธานี ของบริษัทที่ปลูกในพื้นที่ป่าเช่นกันกลับไม่มีการบุกปราบ

 

                 “หากพูดถึงกรรมสิทธิ์ต้องเกิดจากการต่อสู้ สรุปแล้วปัญหาของทรัพยากร ณ วันนี้ต้องทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากร แต่เราไม่สามารถกลไกรัฐได้ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีอำนาจอย่างชอบธรรม ขณะที่โครงสร้างการปกครองประเทศไม่เป็นธรรม” นายบุญฤทธิ์กล่าว

 

นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ผู้ประสานงานสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับระบบตุลาการที่ไม่เป็นธรรมขึ้นอยู่กับการเมืองจารีตนิยม กรณีชุมชนสันติพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี ถูกกรมบังคับคดีให้รื้อถอนหมู่บ้าน เมื่อคำพิพากษาผิดพลาดโดยการเหวี่ยงแหชาวบ้านกว่า 100 คน อำนาจตุลาการไม่เคยสนใจใยดีชาวบ้าน ทั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ ตรวจสอบแล้วว่าบริษัทได้ที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่นำไปพิจารณาในการพิพากษา แต่ให้ความสำคัญกับผู้ใหญ่บ้านที่รับใช้บริษัททุนเพียงคนเดียวมาพิพากษา

 

นายสุรพลกล่าวต่อว่า คิดว่าถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะไม่เอื้อช่วยเหลือภาคประชาชนอย่างถึงรากถึงโคน ปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกไม่จบไม่สิ้น ภาคประชาชนทำได้เพียงแค่การต่อสู้เฉพาะหน้าชุมนุมประท้วงศาลากลางจังหวัด หน้าทำเนียบรัฐบาล ยันได้แค่เพียงครั้งคราวเท่านั้น ดังนั้นจึงควรสนับสนุนให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

 

นายสุรพลกล่าวว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ตนคิดว่าเราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เอื้อให้เกิดพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายคดีสิ่งแวดล้อม เอื้อให้เกิดศาลทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้ระบบการไต่สวน ผู้พิพากษาศาลต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การแต่งตั้ง ผู้พิพากษาเป็นคนธรรมดาย่อมมีอคติ ชาวบ้านสิทธิโต้แย้งถกเถียงได้ไม่ใช่เป็นอาญาสิทธิ์หาไม่เช่นนั้นแล้วอาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับนักโทษมาตรา 112 ตามพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา

 

                      “ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ ทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแบบไหน รายมาตรา หรือทั้งฉบับ คนแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องรู้ว่าภาคประชาชนเดือดร้อนอย่างไร ชาวบ้านต้องการอะไร เราจึงควรดำเนินการยันในทางพื้นที่และทางการเมือง แต่เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายสุรพลกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: