ส่องโลก เห็นไทย ปัญหา “การแย่งยึดที่ดิน”

23 พ.ค. 2555


 

หากยังจำกันได้ มีข้อมูลที่สร้างความฮือฮาจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ออกมาระบุถึง "ที่ดิน" กว่า 1 ใน 3 ของประเทศไทย หรือประมาณ 100 ล้านไร่ ถูกถือครองอำพรางโดยต่างด้าว โดยการเข้าครอบครองที่ดินหนักๆ อยู่แถวหาดบ้านเพ จ.ระยอง ที่พบเป็นของต่างชาติกว่า 90% 

 

เช่นเดียวกับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินในไทยเพื่อทำประโยชน์และสร้างกำไรทางเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 30% ส่วนจ.ภูเก็ต เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นั้น แทบไม่ต้องพูดถึง...

 

จริงๆ แล้วปัญหาการแย่งยึดที่ดินนี้ เกิดขึ้นมาเป็นเวลา 30 กว่าปี  อ.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์  นักวิชาการด้านที่ดิน ยืนยัน และบอกว่า ที่ขยายตัวมากในปัจจุบัน เนื่องจากในช่วงนี้ราคาน้ำมันแพง จนส่งผลให้ค่าครองชีพและราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้ผู้คนเริ่มกังวลในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศตะวันออกกลาง ได้มากว้านซื้อที่ดินที่มีความสมบูรณ์ทางเกษตร เพื่อการนี้

 

และพบว่า พื้นที่ที่นักลงทุนสนใจส่วนใหญ่ในอยู่ในโซนริมแม่น้ำทั้งหมด แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่สอด แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำมูล รวมถึงรอบพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติด้วย โดยมีการตระเวนซื้อทั้งสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรร และแปลงเกษตร พื้นเหล่านั้นจึงกลายเป็นพื้นที่ธุรกิจ

 

"แถบภาคกลางจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เช่น ที่จ.ลพบุรี บริเวณป่าซับลังกา มีนักลงทุนจากประเทศเกาหลี เข้ามาทำแปลงผัก ผลผลิตที่ได้จัดส่งเป็นแพ็คเกจส่งขึ้นเครื่องบินกลับประเทศ " อ.เพิ่มศักดิ์ ระบุ ด้วยเป็นเพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ นักลงทุนเจ้าหนึ่งๆ ก็จะกว้านซื้อมากถึง 2-6 พันไร่ ซึ่งเมื่อรวมหลายๆ เจ้าแล้ว ก็เป็นหมื่นๆ ไร่ 

 

พื้นที่ติดชายแดนกัมพูชา และพม่า ก็มีนักลงทุนมากว้านซื้อจำนวนมากเช่นกัน

 

"พื้นที่บริเวณติดชายแดนกัมพูชา ใน จ.สระแก้ว ที่มีนักลงุทนมากว้านซื้อเป็นหมื่นถึงแสนไร่ สำหรับการปลูกพืชพลังงาน จำพวกอ้อย มันสำปะหลัง เพื่อนำไปผลิตแก๊สโซฮอล์ ส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่น ทางภาคเหนือแม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ก็มีการเข้าลงทุนในลักษณะ contact farming หรือ เกษตรพันธะสัญญา รวมถึงภาคใต้นอกจากการลงทุนเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว ธุรกิจสวนยางพารา ก็ไม่พลาดที่จะมีนักลงทุน จากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งฮ่องกง เข้ามาลงทุนด้านการเกษตรด้วย"

 

ช่วงแรกๆ เป็นไปในลักษณะของการเช่าพื้นที่ แต่ในช่วงหลังเปลี่ยนมาเป็นลักษณะของการ "ซื้อ" โดยนอมินี อ.เพิ่มศักดิ์ ฉายภาพให้เห็น ถึงกลไกของรัฐในแนวคิดเรื่องการค้าเสรี ได้ส่งผลให้ชาวต่างชาติเข้ามาถึอหุ้นในประเทศถึง 49% และส่งผลให้บริษัทต่างชาติเข้ามาถือครองและกว้านซื้อที่ดินเพื่อผลิตสินค้าเกษตรเพื่อส่งกลับประเทศ

 

 ซึ่งหากเรามองกว้างออกไป "การแย่งยึดที่ดิน" ปัญหานี้ ใช่เกิดเฉพาะประเทศไทย เพราะแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมานานแล้ว

 

 

 

ข้อมูลจาก GRAIN องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน อีกหนึ่งองค์กรที่ได้เปิดปมการแย่งยึดที่ดินของบรรษัทข้ามชาติในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ไว้ในงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2554 ซึ่งจัดโดยแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร มูลนิธิชีววิถี (Biothai) และเครือข่าย ณ อาคารวชิรานุสรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าในประเทศลาว มีการครอบครองที่ดินเพื่อผลิตอาหารของต่างชาติถึง 41% เป็นอันดับ 2 รองจากไลบีเลีย 67% (ตามรูป ) 

 

Ms.Renee vellve ผู้ประสานงาน GRAIN ไล่เรียงให้เห็นถึงเบื้องลึกที่เกิดจากการวิกฤติอาหาร จนนำไปสู่ "การทำเกษตรในต่างแดน" กระทั่งกลายเป็นยุทธศาสตร์อาหารแบบใหม่สำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าอาหารที่สำคัญ เธอมีข้อมูลว่า กลุ่มทุนที่มีบทบาทมากที่สุดในการลงทุนที่ดินเพื่อการเกษตร ในการลงทุนที่ดินเพื่อการเกษตร คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension funds)

 

 

 

กองทุนฯ นี้ มีเงินมหาศาลมากที่สุดในโลกถึง 35 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตามตาราง) ขนาดใหญ่ถึง 3 เท่าของกองทุนประเภทอื่น 3 กองทุนรวมกัน

 

ขณะที่การแย่งยึดที่ดินเพื่อทำการเกษตร เธอพบว่า 99% เป็นการทำเกษตรขนาดใหญ่ เกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งต้องแลกกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม การฉีดพ่นสารเคมีจำนวนมากมายมหาศาล ทำลายดิน น้ำ สร้างมลพิษทางอากาศ

 

"เบื้องหลังการแย่งยึดที่ดิน (แบบใหม่) จำนวนมหาศาล นั้น ไม่ว่าจะโดยการเช่า สัมปทาน หรือการซื้อขาย นั่นคือการแย่งพื้นที่น้ำ นั่นเอง" ผู้ประสานงาน GRAIN วิเคราะห์ และชี้ว่า พวกเขา (นักลงทุนต่าง) ต่างพุ่งเป้าไปบริเวณพื้นที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เห็นได้ชัดที่ทวีปแอฟริกา  ที่ดินที่ถูกแย่งยื้อไปนั้น จะอยู่ตามลุ่มน้ำต่างๆ

 

ซาอุดิอาระเบีย ก็เป็นอีกตัวอย่างที่เธอหยิบยกขึ้นมาฉายให้เราได้เห็นภาพชัดขึ้น กับปัญหาการแย่งยึดที่ดินที่ยึดโยงกับวิกฤตและความมั่นคงด้านอาหาร

 

"ซาอุฯ ประเทศที่มีที่ดินมหาศาล แต่ไม่มีน้ำ และแม้ว่า ซาอุฯ จะร่ำรวยสามารถแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดได้ แต่นั่นก็ไม่คุ้ม เพราะมีต้นทุนแพง และนี่คือ สาเหตุหลักที่ซาอุฯ เข้าไปถือครองที่ดินของประเทศอื่น"

 

ที่น่าสนใจ "จีนและสหราชอาณาจักร" ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่เข้าไปยึดครองพื้นที่ของประเทศอื่นมากที่สุด ลำพัง จีน เราพอจะเข้าใจได้ง่าย เพราะเขามีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งนักลงทุนไปทำการเกษตรในประเทศอื่น เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร แต่สำหรับอังกฤษ นั้น พบว่า  นักลงทุนใช้เป็นฐาน ใช้สิทธิในการลดภาษี

 

เราลองมาดูภูมิศาสตร์การแย่งยึดพื้นที่ดินเพื่อการเกษตร ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกัน เผื่อว่า จะเห็นพื้นที่ดินการเกษตรเหล่านั้นชัดขึ้น  ใช้สำหรับผลิตอะไรบ้าง แล้วการอ้างความมั่นคงทางด้านอาหารไปยึดแย่งพื้นที่ดินประเทศอื่น จนกระทั่งกลายเป็นปมขัดแย้ง  สมเหตุสมผลหรือไม่

 

ลาว

-ปี 2010 รัฐบาลคูเวต วางแผนลงทุน 600 ล้านบาท สำหรับการชลประทานในพื้นที่ 2.8 หมื่นไร่ เพื่อผลิตข้าวส่งออกไปยังคูเวต

- รัฐบาลมองโกเลีย ได้รับสัมปทานพื้นที่กว่า 6 หมื่นไร่ เพื่อปลูกข้าวโพดส่งออกไปยังมองโกเลีย

-ปี 2011 บริษัทไทย RTL World Trade Co กำลังสำรวจพื้นที่กว่า 3 แสนไร่ เพื่อผลิตและส่งออกมันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และน้ำตาล โดยได้ปลูกมันสำปะหลังไปแล้วในพื้นที่ 1.8 หมื่นไร่ และบริษัทน้ำตาลขอนแก่น ยังได้รับสัมปทาน 90 ปี ในพื้นที่ 1.25 แสนไร่ เพื่อปลูกอ้อย

 

ฟิลิปปินส์

-ปี 2010 บริษัทอกริเนเจอร์ (AgriNurture) ของฟิลิปปินส์ ลงนามกับบริษัทฟาร์อีสเทอร์นอะเกริคัลเจอร์ อินเวสต์เม้น ของซาอุฯ เพื่อผลิตอาหารในพื้นที่ 3.12 แสนไร่ สำหรับตลาดในซาอุฯ

-ปี 2011 บริษัทซาอุฯ หลายบริษัทร่วมทุนกันจัดหาที่ดินกว่า 3 หมื่นไร่เพื่อปลูกข้าว ผลไม้ และอื่นๆ สำหรับตลาดซาอุฯ เช่นกัน

- ขณะที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลี (KOICA) เสาะหาพื้นที่กว่า 6 แสนไร่ เพื่อปลูกข้าว ข้าวโพด และอ้อยสำหรับตลาดเกาหลีและฟิลิปปินส์

-บริษัทซูมิโตโมของญี่ปุ่น ได้ลงทุนผลิตผลไม้สำหรับญี่ปุ่น ในพื้นที่กว่า 1.5 หมื่นไร่ของมินดาเนา เสาะหาพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อขยายกิจการการเกษตรของบริษัท

 

บราซิล

- บริษัทมิตซุยของญี่ปุ่น ครอบครองกิจการบริษัทมัลติเกรน (Multigrain) ซึ่งครอบครองพื้นที่กว่า 6.2 แสนไร่ ในบราซิลเพื่อผลิตถั่วเหลืองสำหรับญี่ปุ่น

 

อาร์เจนตินา

- บริษัทอัล-โคราเยฟ (Al-Khorayef) ของซาอุดิอาระเบีย ครอบครองที่ดิน 1.9 ล้านไร่ ในจังหวัดชาโค เพื่อผลิตอาหารส่งออกไปซาอุฯ

-บริษัท Beidahuang ของจีน ลงนามในความตกลงกับเครชุด(Cresud) บริษัทการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของอาร์เจนตินา เพื่อร่วมกันซื้อและครอบครองที่ดินในอาร์เจนตินา เพื่อเป้าหมายการผลิตถั่วเหลือง

 

อุรุกวัย

-บริษัทอาร์เจนตินาหลายบริษัท ครอบครองที่ดินกว่า 3 ล้านไร่ เพื่อปลูกถั่วเหลือง

-บริษัทนิวซีแลนด์ฟาร์มมิ่งซิสเต็ม ซึ่งเพิ่งถูกซื้อโดยบริษัทโอเล่ม ของสิงคโปร์ ถือครองที่ดิน 1.8 แสนไร่ และเช่าอีก 31 ล้านไร่ในอุรุกวัย

 

กาบอง

-บริษัทโอเล่มของสิงคโปร์ ได้รับการจัดสรรพื้นที่ 1.9 ล้านไร่ เพื่อผลิตปาล์มน้ำมัน

 

เคนยา

-ปี 2009 ลงนามความตกลงกับกาตาร์ เพื่อจัดหาพื้นที่ 250,000 ไร่ บริเวณราบลุ่มน้ำธารา เพื่อปลูกผักและผลไม้สำหรับกาตาร์ โดยแลกเปลี่ยนกับการสร้างท่าเรือบนเกาะลามู แต่สุดท้ายข้อตกลงถูกยกเลิกไปหลังเกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายในเคนยา

 

แทนซาเนีย

-รัฐบาลเกาหลีมาเอง ขอใช้พื้นที่ 6.25 แสนไร่ เพื่อปลูกพืชน้ำมัน แป้ง และองุ่น ผ่านความตกลงทวิภาคี

-บริษัทอกริซอล เอ็นเนอร์ยี ขอใช้พื้นที่กว่า 2 ล้านไร่เพื่อผลิตพืชพลังงานและพืชอาหารสัตว์

 

เอธิโอเปีย

-รัฐบาลเอธิโอเปีย ให้เช่าหรือขายพื้นที่ดิน 22 ล้านไร่แก่บริษัทต่างชาติไปแล้ว และสัญญาว่า ยังมีพื้นที่อีก 44 ล้านไร่ พร้อมดำเนินการประเทศที่เข้ามาทำความตกลงมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย ตามด้วยซาอุฯ ยุโรป และอิสราเอล

-บริษัทคารูตูริ (Karuturi) ของอินเดีย เป็นหนึ่งในผู้ครอบครองที่ดินมากที่สุดกว่า 1.9 ล้านไร่ ในจ.แกมเบล่า และอีกกว่า 6.8 หมื่นไร่ ในจ.โอเรเมีย เพื่อผลิตข้าวโพด ข้าว ปาล์มน้ำมัน และอ้อยสำหรับป้อนตลาดโลก

-ชีค อัล มูดดี (Sheikh Al Amoundi) แห่งซาอุฯ ครอบครองที่ดิน 6.2 หมื่นไร่ ในจ.อัลเวโร เมื่อปี 2008 และได้รับอีก 8.12 แสนไร่ ในจ.แกมเบล่า หลังจากนั้น ขณะที่ยังมีความต้องการพื้นที่อีกกว่า 3 ล้านไร่ โดยมีเป้าหมายในการผลิตข้าวให้ได้ 1 ล้านไร่ต่อปี และส่งออกในตลาดโลกเป็นเงิน 30,000 ล้านบาตรต่อปี

 

ปาปัวนิวกีนี

-ประเทศนี้เผชิญหน้ากับการแย่งยึดที่ดินครั้งใหญ่ โดยบริษัทต่างชาติจากมาเลเซีย จีน สิงคโปร์ เพื่อผลิตปาล์มน้ำมัน ที่ดินประมาณ 32.5 ล้านไร่ หรือ 10% ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าที่ชุมชนถือครองมาก่อน ขณะนี้อยู่ในมือต่างชาติ

 

โฉมหน้าเจ้าของที่ดินรายใหม่

 

-ฮุนได (HYUNDRI) เช่าที่ดิน 625,500 ไร่ เพื่อปลูกถั่วเหลือง ส่งกลับไปยังเกาหลี

 

-บริษัทอะกริฟาร์ม (Agrifarma controls) ก่อตั้งโดยลอร์ด ร็อค โชล์ด (Lord Rothschild ) ซื้อที่ดินกว่า 262,500 ไร่ในบราซิล

 

-ซูซาน เพย์น (Susan Payne)แห่ง Emergent Asst (UK) มีที่ดินกว่า 937,500 เฮกเตอร์ (hectare)ในแองโกลา บอทซาวานา แอฟริกาใต้ สวาซิแลนด์ โมแซมบิค และแซมเบีย

 

-เจฟฟี่ เคอร์ (Jeffrey Currie) แห่งโกล์ดแมน แซคส์ (Goldman Sachs) เรียกการแย่งยึดที่ดินว่า "เป็นสิ่งดีๆ" บริษัทของเขาเพิ่งซื้อฟาร์มสุกรขนาดใหญ่กว่า 10 แห่งมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท ในประเทศจีน

 

- โจเซ่ มินาย่า (Jose Minaya) กองทุน TIAA-CREF ของสหรัฐฯ ถือครองที่ดิน 3.75 ล้านไร่ ในออสเตรีย บราซิล โปแลนด์ โรมาเนีย และสหรัฐฯ

-ฟิลิปเป้ ไฮล์บอร์ก (Philippe Heilberg) ประธานบริหารของจาร์ค แคปปิตอล (Jarch Capital) ของสหรัฐฯ ซื้อที่เพื่อทำการเกษตรจำนวน 2,500,000 ไร่ ในซูดาน

 

- นิล คาวเดอร์ (Nerl Crowder) แห่งเคย์ตัน แคปปิตอล (Chayton Capital) ของอังกฤษลงทุนการเกษตรใน แซมเบีย บอคซาวานา และอีก 4 ประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจาก MIGA ธนาคารโลก

 

อื่นๆ อีกมากมาย เช่น

 

- เมเลส ซีนาวี (Meles Zenawi) นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย ได้ชื่อว่าเป็นนักแย่งที่ดินรายใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง

 

-ชีค อัล มูดดี (Sheikh Al Amoundi) ครอบครองที่ดินกว่า 3 ล้านไร่ ในเอธิโอเปีย

 

-บริษัทจีนขณะนี้ปลูกข้าวที่คาเมรูนแล้ว

 

-ประเทศตะวันออกกลาง รวมกันตั้งกองทุนเพื่อจัดหาที่ดินเกษตรขึ้นเป็นการเฉพาะ

 

ที่มา: ศูนย์ข่าวนโยบายสาธารณะ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: