จี้‘กรมประมง’หยุดไล่รื้อ‘โพงพาง’ จนท.อ้างทำลายมากกว่าอวนลาก แนะตั้งกก.3ฝ่ายแก้-ลดผลกระทบ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 22 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 4824 ครั้ง

จวกพ.ร.บ.ประมงโบราณ นำมาอ้างสั่งรื้อโพงพาง

 

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่อง “แก้ไขปัญหาโพงพางกีดขวางทางเดินเรือ”โดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือกรมประมง ที่ใช้พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 และประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2521 เป็นเครื่องมือในการรื้อถอนโพงพางของชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ นับแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ มีจังหวัดที่ถูกรื้อถอนโพงพางไปแล้ว 66  จังหวัด อยู่ระหว่างการดำเนินการรื้อถอน 4 จังหวัด และอยู่ระหว่างดำเนินการกำหนดแผนรื้อถอน 6  จังหวัด ซึ่งกรมประมงยืนยันว่า การรื้อถอนโพงพางที่ผ่านมาไม่มีปัญหาชาวประมงยอมให้รื้อถอนเป็นอย่างดี

 

แต่ในความเป็นจริง ปัญหาการรื้อถอนโพงพางเริ่มรุนแรงขึ้น ชาวบ้านในหลายจังหวัดลุกขึ้นมาคัดค้าน ไม่ยอมให้มีการรื้อถอน เช่น จ.สตูล ตรัง นครศรีธรรมราช  ระยอง สมุทรปราการ  เพชรบุรี และจันทบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้าน และโพงพางคือเครื่องมือในการทำมาหากิน และที่เป็นประเด็นปัญหาคือ กรมประมงใช้กฎหมายที่มีอายุ 65 ปี คือ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2521 มาบังคับใช้ โดยไม่คำนึงว่า กฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือไม่

 

 

เช่นการอ้างว่าโพงพางกีดขวางทางเดินเรือนั้น แต่ในบางเส้นทางไม่มีการเดินเรือพาณิชย์มานานแล้ว ในขณะที่การสัญจรทางน้ำที่เคยสำคัญในอดีต แทบจะไม่มี เพราะเส้นทางคมนาคมทางบกสะดวกสบายกว่า

 

และที่สำคัญคือ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ไม่ได้กล่าวถึงสิทธิของชุมชน ที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีหมวดที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งกฎหมายทุกฉบับต้องปรับแก้ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น และเริ่มจะเป็นปัญหาบานปลาย

 

 

กรมประมงอ้างโพงพางทำลายล้างมากกว่าอวนลาก

 

 

เครือข่ายประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำแม่กลอง หนึ่งในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างกำหนดแผนรื้อถอนโพงพาง ร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ประเทศไทย (Thai Water Partnership) จัดสัมมนาเรื่องสิทธิชุมชน กฎหมายและการจัดการทรัพยากรประมงพื้นบ้าน เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว

 

เอกสารของกรมประมงระบุว่า โพงพางเป็นเครื่องมือประมงที่มีการทำลายร้างสูง เป็นอันดับ 1 โดยให้เหตุผลว่า 1.โพงพางทำลายลูกพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องจากทำการประมงชายฝั่ง 2.กีดกันการอพยพของพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำในบริเวณปากแม่น้ำ 3.กีดขวางการสัญจรทางน้ำ ซึ่งผลการจับสัตว์น้ำของโพงพางประมาณ 27- 47 กิโลกรัม /ปาก ในขณะที่อวนทำลายร้างสูง เป็นอันดับ 2 จับสัตว์น้ำได้วันละ 4,000-6,000 กิโลกรัม

 

นายอภิศักดิ์  พันธเสน เครือข่ายประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำแม่กลอง อธิบายว่า โพงพางเป็นเครื่องมือที่ใช้ดักสัตว์น้ำวัยอ่อน ช่วงเวลาที่น้ำลงโดยดักสัตว์ที่ไหลมากับน้ำ กินพื้นที่ในลำคลองประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของลำคลอง ส่วนที่เหลืออีก 70 เปอร์เซ็นต์ สำหรับให้เรือวิ่งสัญจรไปมาได้ สัตว์น้ำที่จับได้ส่วนใหญ่ เป็นกุ้ง ปลาพื้นถิ่นขนาดเล็ก การที่กรมประมงบอกว่า ชาวบ้านจับปลาเศรษฐกิจได้ 50 เปอร์เซ็นต์นั้น กรมประมงควรจะอธิบายว่าใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด เครื่องมือชนิดไหน ซึ่งเครื่องมือมีทั้ง โพงพาง แห อวนลาก ซึ่งสัตว์น้ำที่จับได้จากการใช้โพงพางต่างกับที่กรมประมงให้ข้อมูล

 

ในอดีตก่อน พ.ศ.2490 โพงพางเป็นเครื่องมือทำประมงที่ถูกกฎหมาย มีการเสียค่าน้ำ เสียค่าภาษีอากร ค่าปากอวน หลังจากนั้น พ.ร.บ.กรมประมง พ.ศ.2490 กำหนดให้โพงพางเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นเครื่องมือทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรง และเมื่อปี พ.ศ.2521มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เลิกทำโพงพาง

 

 

ชะลอรื้อถอน ตั้งคณะกรรมการหามาตรการลดผลกระทบ

 

 

ด้านนายสุรจิต ชิรเวทย์ สว.สมุทรสงคราม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า หลังจาก จ.สมุทรสงคราม ติดประกาศที่จะรื้อถอนโพงพางในเขตจ.สมุทรสงคราม ชาวบ้านได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง โดยทำหนังสือโต้แย้งและสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา66 และ 67 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ ในการดูแลใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

 

ทั้งนี้ในฐานะคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ซึ่งได้ตรวจสอบเรื่องนี้ กล่าวว่า หลังจากที่มีการตรวจสอบและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง คณะกรรมาธิการฯ จึงมีข้อเสนอว่า หน่วยงานของรัฐ ควรพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของชุมชน ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายที่ออกมาหลัง พ.ร.บ.กรมประมง พ.ศ.2490 และประกาศของกระทวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2521 ที่ใช้บังคับในการรื้อถอนโพงพาง ทั้งนี้ ตามกฎหมาย พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายลูก ในขณะที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ รัฐธรรมนูญมาที่หลังแต่สิทธิสูงกว่า ดังนั้นควรจะยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญในการพิจารณาดำเนินการ

 

 

นอกจากนี้หลังจากที่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อน โดยให้มีมาตรการลดผลกระทบจากการดำเนินการตามกฎหมายนี้ ซึ่งกรมประมงมิได้ดำเนินการ

 

อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จ.สมุทรสงคราม ซึ่งคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณามติคณะรัฐมนตรี ร่วมกับกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ประกอบกันแล้ว จึงเห็นควรให้มีมาตรการในการลดผลกระทบออกมาก่อน เนื่องจากในจ.เพชรบุรี ซึ่งมีการรื้อถอนไปแล้ว เกิดปัญหาขึ้น เพราะขาดมาตรการในการลดผลกระทบ ดังนั้นจึงควรจะมีแนวทางป้องกัน รวมถึงควรมีงานศึกษาวิจัยมารองรับด้วย

 

นายสุรจิตกล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และกรมประมง ได้ข้อสรุปเบื้องต้นคือ ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายประกอบด้วย ชาวประมงพื้นบ้านโพงพาง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานวิชาการ ที่เป็นกลางยอมรับได้ เพื่อหาข้อสรุปรวมทั้งมาตรการต่าง ๆ โดยคณะกรรมาธิการฯ จะเสนอให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รับทำวิจัยเรื่องนี้

 

 

             “ที่ผ่านมากรมประมงใช้งานวิจัยของกองสรรพสามิต และใช้กับทั้งประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ประเทศไทยมีชายฝั่ง 2,000 กว่ากิโลเมตร แต่ใช้งานวิจัยชิ้นเดียวเป็นตัวแทนกับทุกพื้นที่ในประเทศคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งงานวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติระบุว่า โพงพางเป็นเครื่องมือที่มีลักษณะเฉพาะตัว เฉพาะพื้นที่สูงมาก จึงไม่อาจจะตัดเสื้อโหลใช้ทั้งประเทศได้ ตำแหน่ง ตาอวน ชนิดสัตว์ที่ได้ตามฤดูกาล ทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด” นายสุรจิตกล่าว

 

 

ชี้รัฐธรรมนูญระบุชัดต้องส่งเสริม-คุ้มครองประมงพื้นบ้าน

 

 

ส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และกำลังจะได้รับผลกระทบ จากมาตรการรื้อถอนโพงพาง เช่น เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.ฉะเชิงเทรา เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.สมุทรสงคราม เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.จันทบุรี ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการรื้อถอนโพงพางในพื้นที่ ประมาณ 2,000 ปาก และ จ.ตราด รวมไปถึงภาคใต้ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน  กล่าวว่า การร้องเรียนของเครือข่ายประมงพื้นบ้านจากหลายพื้นที่ แสดงให้เห็นว่า เรื่องการรื้อถอนเครื่องมือประมงโพงพาง ไม่ใช่เรื่องระดับพื้นที่อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องระดับประเทศ เป็นปัญหาความอยู่รอดของเครือข่ายประมงพื้นบ้าน 27 จังหวัด ซึ่งหมายถึงปากท้อง ชีวิต ความอยู่รอดของชาวประมง

 

น.พ.นิรันดร์ได้อธิบายความเชื่อมโยงสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และการจัดการประมงพื้นบ้าน ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือประมงโพงพางคือ หลักนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามที่กระทรวงคมนาคมมีมติว่า เครื่องมือประมงโพงพาง กีดขวางการเดินเรือของพาณิชย์ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล โดยยกอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 อนุมาตรา 12 ซึ่งมาตรา 84 ระบุว่า รัฐบาลต้องส่งเสริมเศรษฐกิจทุนเสรีที่เป็นธรรม ในขณะที่อนุมาตรา 12 เฉพาะเจาะจงไปที่พาณิชย์นาวี พูดภาษาชาวบ้านคือ เป็นเรื่องของธุรกิจเดินเรือและนักธุรกิจ ไม่เกี่ยวกับประมงพื้นบ้าน
 

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ มาตรา 83 ระบุว่า รัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง นั่นหมายความว่ารัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ.2540-2550 ให้ความคุ้มครองเศรษฐกิจ 2 แบบ เศรษฐกิจแบบนายทุน และเศรษฐกิจแบบประมงพื้นบ้าน หมายถึงว่ารัฐต้องช่วยส่งเสริม มิใช่ทำลายประมงพื้นบ้าน

 

 

ประการที่  2 กระบวนการในการทำงานของหน่วยงานของรัฐ ในรัฐธรรมนูญมาตรา 85 อนุมาตรา 4 กำหนดว่า ต้องให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐใช้อำนาจตามความต้องการ โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่เมื่อทำไปแล้วเกิดผลเสีย ดังนั้นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จึงเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานต่าง ๆ ของภาครัฐด้วย

 

น.พ.นิรันดร์กล่าวต่อว่า กรณีการรื้อถอนโพงพาง ตามมาตรการที่กรมประมงดำเนินการ นอกจากการปิดประกาศเพื่อแจ้งให้ทราบแล้ว  ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูล ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น หรือร่วมตัดสินใจแต่อย่างใด ทั้งนี้หลังจากการรื้อถอน กรมประมงอาจจะมีมาตรการเยียวยาด้วยการปล่อยสัตว์น้ำ  ซึ่งขั้นตอนทั้งหมด ควรจะดำเนินการก่อนมีการรื้อถอน จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเช่นขณะนี้  ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่ารัฐจะทำอะไรประชาชนควรมีสิทธิได้รู้ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ

 

ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายใดก็ตามต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง เป็นกฎหมายแม่บท  มาตรา 6 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุไว้เลยว่า กฎหมายใดก็ตามที่ขัดกับรัฐธรรมนูญใช้บังคับไม่ได้ต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง

 

 

กรมประมงยอมรับพ.ร.บ.ประมงขาดการมีส่วนร่วม

 

 

ในขณะที่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ถูกกล่าวหาว่า เป็นกฎหมายที่ล้าหลังและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้การบังคับใช้เกิดปัญหา นายประเทศ ซอรักษ์  ผู้อำนวยการกองนิติกร กรมประมง กล่าวว่า พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2490 ไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องของสิทธิชุมชนไว้ เพราะในสมัยนั้นไม่มีแนวคิดในเรื่องนี้ กรมประมงจึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่นำเสนอต่อรัฐสภา และการที่ไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน จึงเป็นปัญหาในส่วนของข้อบัญญัติกฎหมาย ว่าจะทำอย่างไรที่จะเติมรายละเอียดในเรื่องของสิทธิชุมชนเข้าไป ที่จะไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นนี้คงต้องหารือกันในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งกลุ่มประมงพื้นบ้านได้เสนอกฎหมายประมงภาคประชาชน เพื่อพิจารณาควบคู่ไปด้วยการรวบรวมรายชื่อ และมีการระบุเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน

 

 

 

             “ร่างแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าสภาฯ ซึ่งยกร่างตั้งแต่ พ.ศ. 2542 มีหมวดว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน แต่ถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตัดทิ้ง โดยให้เหตุผลว่ามีระบุอยู่แล้วในกฎหมายรัฐธรรมนูญ”

 

 

ย้ำกฎหมายประมงต้องอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

 

ทางด้านนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ สว.สมุทรสาคร กล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนเครื่องมือโพงพาง มี 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456  พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย เกี่ยวข้องกับโพงพางโดยตรง เพราะโพงพางปักอยู่กลางลำน้ำ เป็นเครื่องมือประมง ส่วนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ระบุเรื่องสิทธิของชุมชน สถานภาพของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายแม่ของกฎหมายทั้งหมด ดังนั้นอะไรก็ตามที่เป็นเงื่อนไขในกฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องมีอำนาจเหนือกฎหมายที่ออกมาก่อนหน้านั้นทั้งหมด

 

 

              “ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นสำคัญ กฎหมาย 2 ฉบับที่กล่าวอ้างไปข้างต้น คือ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย หรือ พ.ร.บ.การประมง มีประเด็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ บางส่วนอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย จึงต้องมีการปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินการ”

 

 

อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นรอเข้าพิจาณาของสภาผู้แทนราษฎรและถูกตัดหมวดที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชนทิ้งทั้งหมด ซึ่งอันนี้เป็นปัญหา หากจะพิจารณาในเนื้อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย และ พ.ร.บ.การประมง ซึ่งหากมีการตั้งคำถามว่า โพงพางเป็นเครื่องมือที่ห้ามหรือไม่ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย มาตรา 92 ระบุว่า จะห้ามเฉพาะเขตท่าเรือกรุงเทพ นอกเขตท่าเรือกรุงเทพ สามารถทำได้ถ้าได้รับอนุญาต

 

ส่วนพ.ร.บ.ประมงห้ามใช้ แต่เขียนไว้ด้วยว่า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ นั่นหมายความว่า ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตก็ทำได้ และเครื่องมือโพงพางเป็นเครื่องมือที่ได้รับอนุญาตมาก่อน จนกระทั่งมีกฎหมายออกมาและมีนโยบายที่จะลดโพงพางลง พ.ศ. 2521 กรมประมงจึงออกกฎกระทรวงประกาศห้ามมีโพงพาง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           “ถ้าถามว่าโพงพางเป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมายหรือไม่ จึงมีเงื่อนไขว่าจะให้ถูกหรือผิดก็ได้แล้วแต่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่”

 

 

สว.สมุทรสาครกล่าวต่อว่า ประเด็นคือวันนี้กรมประมงจะให้โพงพางเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หลังจากที่มีนโยบายมาตั้งแต่ พ.ศ.2503 จึงอยากจะตั้งคำถามกับกรมประมงว่า 52 ปีที่ผ่านมา กรมประมงทำอะไรอยู่ ในเมื่อกฎหมายเปิดโอกาส ในขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้อำนาจชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ จัดการทรัพยากร และปัญหาคือ กฎหมายประมงและกฎหมายการเดินเรือ เป็นกฎหมายที่เกิดก่อนกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และต้องยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร

 

 

               “รัฐธรรมนูญใหม่ให้สิทธิที่กฎหมายเดิมไม่ให้สิทธิมาก่อน วันนี้เรากันในบริบทของปี พ.ศ.2555 ไม่ใช่ พ.ศ.2490 และกฎหมายกำหนดให้เราให้สิทธิชุมชน และเราได้ให้สิทธินั้นกับชุมชนหรือไม่ กรมประมงต้องตอบคำถามนี้”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: