จากครูภาษาไทยไม่รู้ไอทีมาเป็นครูไฮเทค ‘พรรณี อินทรพิทักษ์’มีE-bookของตัวเอง ผลผลิตโครงการหนึ่งห้องเรียนหนึ่งคอมฯ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 22 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 4540 ครั้ง

ครูพรรณี เป็นหนึ่งในครูที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ และอาจดูแปลกออกไปสักนิดในสายตาคนอื่น เพราะเธอเป็นคุณครูจากกลุ่มสาระวิชาภาษาไทย ที่ใครๆ ก็คิดว่าไม่น่าจะไปกันได้กับเทคโนโลยีทันสมัย ที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในเกือบทุกขั้นตอนของชีวิตมนุษย์

 

โดยเฉพาะในระบบการเรียนการสอน เพราะแม้กระทั่งรัฐบาลไทยเองก็ยังจัดหาเครื่องแท็บเล็ตมาให้เด็ก ๆ ได้ใช้กันแบบฟรี ๆ อีกด้วย ดังนั้นเมื่อโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสในสังกัดกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในชุมชนแออัด บริเวณ ล็อก 6 ในชุมชนคลองเตย ได้รับโอกาสนี้ ครูพรรณีจึงคิดว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะเปิดโลกทรรศ์ใหม่ๆ ให้กับทั้งครูและเด็กๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่ ได้รับโอกาสทางสังคมน้อยกว่าเยาวชนในเขตอื่น ๆ

 

ในตอนแรกของการเข้าร่วมฝึกอบรม ครูพรรณีบอกว่า เธอรู้สึกกลัว เพราะเพิ่งเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ได้ไม่นาน โปรแกรมที่ใช้ส่วนใหญ่ ก็เป็นเพียงโปรแกรม Word สำหรับพิมพ์งานพื้นฐานเท่านั้น ไม่เคยได้ทดลองใช้โปรแกรมประยุค เช่น Power Point หรืออะไรที่ไฮเทคมากกว่านั้น จึงทำให้ไม่คุ้นนัก และไม่รู้ว่า คอมพิวเตอร์ที่มีใช้ไว้ในโรงเรียนจะให้ประโยชน์อะไรไปได้มากกว่านั้น ในขณะที่ทุกครั้งที่ใช้จึงมักจะมีปัญหาติดขัดอยู่เสมอ สิ่งที่ทำได้ในตอนนั้นคือการขอความช่วยเหลือจาก ครูคอมพิวเตอร์ให้ช่วยแก้ไขให้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                “ตอนที่จะไปตอนแรกครูยอมรับว่ากลัว เพราะไม่รู้ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า เท่าที่สอนมาเราก็ไม่เคยคิดว่าจะเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอน ถึงแม้ว่าคิดว่ามันน่าจะทำได้ และมีความชอบเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว ครั้งแรกที่ไปรู้สึก กลัวๆ กล้าๆ แต่พอไปถึงแล้ว ทางสถาบันก็ให้ความรู้เบื้องต้นก่อน ทำให้เริ่มกล้าขึ้น แล้วก็เริ่มที่จะอบรมว่าจะนำเครื่องมือเหล่านี้มาประยุกต์ใช้อย่างไร เริ่มทำให้มั่นใจขึ้น” ครูพรรณีเริ่มต้นย้อนอดีตถึงการเริ่มต้นในการอบรมในครั้งแรก

 

จากความกล้า ๆ กลัว ๆ ของคุณครูวัย 53 ปี ในครั้งนั้น ครูพรรณีใช้เวลาเพียงไม่นานในการทำความรู้จักกับเครื่องมือใหม่ ๆ เหล่านี้ ในที่สุดความไม่มั่นใจในช่วงแรกก็หลายไป กลับทดแทนด้วยความรู้สึกท้าทาย ที่ทำให้เธออยากค้นคว้าหาความรู้เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญครูพรรณีได้เรียนรู้ว่า คอมพิวเตอร์กับวิชาภาษาไทย ไม่ได้เป็นเรื่องที่ร่วมทางกันเไม่ได้ หากแต่มันสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

 

 

                 “สิ่งที่ช่วยได้มาก คือเรื่องของเวลา เมื่อก่อนต้องเตรียมเยอะเกี่ยวกับพวกสื่อการเรียนการสอน อย่างเช่น ต้องทำบัตรคำ ใบงาน ต่างๆ ซึ่งอาจจะเรียกว่ามันเป็นสื่อแห้ง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการผลิต และเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มันรู้สึกดึงดูดกับเด็ก เช่น ต้องตัวใหญ่ ใช้สีที่เร้าใจ แต่พอมาใช้ไอซีทีตัวนี้เข้ามาช่วยมันทุ่นระยะเวลาเราได้เยอะ อย่างเช่น คำที่เราต้องการจะให้เขาเห็น ให้มันแว๊บมาโดยใช้โปรแกรม Power Point ได้เลยเพราะมันเร็ว สามารถใส่สี ขนาดตัวหนังสือ บางทีเขาไม่ชัดเราสามารถขยาย เพราะบางทีมันไม่เสียเวลาเพราะว่าเราเตรียมไว้แล้ว ถ้าเป็นสื่อแห้งต้องกลับไปปรับเปลี่ยนในห้อง ๆ อื่นต่อไป แต่ถ้าเป็นอันนี้เราสามารถปรับเปลี่ยนได้เลย รวดเร็ว และเด็กเขาก็สนใจ” ครูพรรณีอธิบายถึงประโยชน์ที่ได้รับ จากการนำไอทีมาปรับใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตัวอย่างวิธีการนำคอมพิวเตอร์เข้าไปปรับใช้ ในการเรียนการสอนภาษาไทยของครูพรรณี ยังถูกหยิบยกมาบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพด้วย โดยเฉพาะการใช้งานที่สร้างความสุขให้ทั้งนักเรียนและครู ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนไม่น่าเบื่อหน่ายเหมือนในอดีต เช่น การนำคลิปข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาภาษาไทยใน YouTube มาเปิดให้นักเรียนดู เพื่อให้นักเรียนได้สัมผัสเรื่องของ ชนิดของดอกไม้ ในเนื้อหาเรื่อง อุทยานดอกไม้ ที่บรรจุอยู่ในแบบเรียน ทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นภาพจริง และยังทำให้เด็ก ๆ สามารถจำเนื้อหาของเพลงนี้ รวมไปถึงชนิดของดอกไม้ได้อย่างแม่นยำอีกด้วย เพราะมีรูปให้ดูประกอบ

 

 

                     “เรื่องนี้เป็นปัญหามานาน ครูเคยถูกถามมาว่ารู้ไหม เด็กจำชื่อดอกไม้อะไรได้มากที่สุด ในบทเรียนเรื่อง อุทยานดอกไม้  ครูก็คิดว่า ทำยังไงจะให้เด็กจำเพลงนี้ได้ จะร้องเราก็ร้องไม่เป็น จะอัดเทปมันก็เป็นเทปแบบโบราณ พอไปดู YouTube มีหลายเวอร์ชั่น แล้วก็มีตัวหนังสือให้อ่าน เด็กก็ได้ฝึกตัวสะกดคำชื่อดอกไม้ไปด้วย แล้วก็ได้เรียงร้อยคำสัมผัส เราก็เลือกเอามาให้เด็กดู บางทีเด็กเขาก็กลับไปหาแล้วมาบอกว่ามันมีหลายเวอร์ชั่น เขาก็สนุก นอกจากนี้ก็มีข้อมูลอื่นๆ ที่เราค้นหาจากอินเตอร์เน็ตเพื่อนำมาใช้ เช่น หนังสือพิมพ์นี่ก็ได้เยอะนะคะ เพราะว่ามาเขาจะเป็นหน้าเว็บไซด์แล้วตัดย่อแล้วมาใส่ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนธรรมดาที่ตัวเองทำก็ต้องไปหาหนังสือพิมพ์มาเก็บไว้ ถ้าหายไปแล้วก็หาไม่เจอ แต่ถ้าใช้ในเน็ตนี่เราทำย้อนหลังได้ เราก็คัดย่อตรงนั้นมาแล้วก็ให้เขามาวิเคราะห์ภาษา ระดับของภาษาอะไรพวกนี้ มันทำให้เราได้เห็นถึงความหลากหลาย จะไปหาอะไรตรงไหน ทำให้เราเปิดกว้างขึ้น”

 

 

นอกจากการค้นหาข้อมูลเพื่อจัดทำสื่อการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยให้เด็กๆ ตื่นเต้น และสนุกกับการเรียนการสอนวิชานี้แล้ว ปัจจุบันครูพรรณี ยังมีแนวคิดอยากจะลองทำ E-book ขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆ ได้ลองเป็นนักเขียนด้วยตัวเองอีกด้วยโดยเล่าถึงแนวคิดนี้ให้ฟังว่า

 

 

                 “เมื่อก่อนนี้ครูพอรู้บ้างว่า น่าจะใช้คอมพิวเตอร์มาทำสื่อได้ แต่ก็ยังไม่เห็นช่อง พอมาทางนี้เต็มตัวเราก็ต้องกระตือรือร้นขึ้น พอได้สัมผัสไปมันก็สนุก เพียงแต่ว่าเทคนิคตัวเองยังน้อย โดยเฉพาะเรื่องโปรแกรมหลายอย่าง เช่น ตอนนี้กำลังคิดว่าทำ E-book ยังพยายามว่าจะเรียนอยู่ E-book กับ E-Magazine ถ้าได้มาช่วยก็จะทำให้นักเรียนเห็นรูปแบบของการเขียนรายงาน ที่ว่าหน้านี้มันควรจะเป็นอย่างนี้ กับการสอนให้เขาทำหนังสือเล่มเล็กสักเล่มหนึ่ง คือคิดว่าจะให้เด็กๆ ลองทำตัวอย่างจาก E-book แต่ครูต้องทำก่อนไง ว่าจะสอนให้เขาเขียนในแบบไม่ต้องยาก แล้วก็กำลังคิดว่า อยากจะให้นักเรียนส่งงานทาง E-mail  ยังคิดว่าต้องพัฒนาตรงนี้อีกหน่อย แต่ก็สำรวจมาว่าต้องไปเปิดเป็นเว็บเพจอะไรแบบนี้ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ เห็นครูท่านอื่นลองทำแล้วมีประโยชน์ดี ก็เลยคิดว่าอยากจะลองตรงนี้ กำลังวางแผนอยู่ ส่วนใหญ่จะเข้าไปดูในเวปครูพันทิป หรือ ครู good View พวกนี้น่าลองดีเหมือนกัน”

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนการสอนมากขึ้น แต่สำหรับครูพรรณีก็ยังเชื่อว่า ครูยังคงเป็นบุคคลสำคัญในการสอน โดยเฉพาะการอธิบายในเนื้อหาเพื่อสร้างความเข้าใจให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้น แทนการปล่อยให้คอมพิวเตอร์เป็นครูผู้สอนแทน เพราะได้อธิบายเพิ่มเติมทำให้เนื้อหาชัดเจนขึ้น จะปล่อย 100 % ไม่ได้ แต่จะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อเครื่องมือนี้ไปใช้ให้มีประสิทธิภาพ เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างเต็มศักยภาพที่สุด

 

สำหรับประเด็นที่หลายคนกำลังสนใจเรื่องของการใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นั้น ครูพรรณี แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ โดยเล่า นักเรียนที่โรงเรียนรับรู้ข่าวนี้  มีบางคนอยากได้เช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่ก็รับรู้และเข้าใจ แต่สำหรับส่วนตัวของครูพรรณีเห็นว่า แท็บเล็ตมีประโยชน์ในการเรียนการสอนอย่างแน่นอน แต่ในบางวิชา เช่น วิชา ภาษาไทย จำเป็นต้องทักษะในการเขียนธรรมดาร่วมอยู่ด้วย การใช้แท็บเล็ตจึงไม่ตอบสนองเรื่องนี้ เพราะลายมือเด็ก มือยังไม่นิ่ง และวิชาคัดไทยมีมาตรฐาน ที่เด็กจะต้องคัดลายมือ ส่วนที่เขียนสะกดตามรอย แท็บเล็ตเป็นเพียงให้รู้ว่าการเขียนมือเป็นยังไง ไล่จากตรงจุดไหนไปจุดไหนก่อน เขียนหัวจะไปโค้งตรงไหนหยักตรงไหนได้ ให้สะกดรอยตามเหมือนหนังสือเรียนที่สมัยก่อนเป็นจุด ๆ ไข่ปลา แต่เด็ก ๆ ก็ต้องลงมือเขียนเพื่อฝึกลายมืออยู่ดี ครูพรรณีจึงคิดว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ก็ถ้ามีมันก็ทันสมัย แต่ถ้าไม่มี ครูจัดการเรียนการสอนเต็มที่ จากสิ่งที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว ให้เต็มศักยภาพน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

 

 

                  “มาถึงตรงนี้ครูได้ความรู้หลายอย่างจากไอที จากที่เคยกลัวจึงต้องขอบคุณโครงการ ถ้าไม่จุดประกายให้กับตัวคุณพรรณีเองก็ไม่กล้าว่าเราจะทำได้เหรอ เราจะไปหาอะไรมาได้เหรอ ทำตัวนี้ได้เหรอ เหมือนสอนให้เราว่ายน้ำ แล้วเราก็ว่ายไปหาอาหารว่าหาอาหารมาได้ ตรงไหนมีอาหารอุดมสมบูรณ์ อยู่ที่ว่าเราจะนำกลับมา ภาษาไทยที่ว่าเก่า ๆ ก็ไม่สามารถมีเทคนิคหรือ ICT เข้าไปร่วม และพอไปได้พบปะในกลุ่มที่ไปจัด workshop มาด้วย เราก็ได้ความคิดไอเดียแลกเปลี่ยนกัน ไอ้ความรู้สึกกล้าๆกลัวๆ อึดอัดก็หายไป ตอนนี้เป็นความรู้สึกที่แบบดีใจนะที่เราได้เจอผ่านขั้นตอนตรงนี้ว่าเราก็ทำได้ เราก็สามารถดึงความรู้จากแหล่งต่างๆโดยมาใช้ ICT ตัวนี้ช่วย” ครูพรรณีกล่าวในตอนท้าย

 

จากคุณครูภาษาไทย แว่นตาหนาเตอะ ที่ดูอย่างไรก็ไม่น่าจะเข้าไปนั่งเรียนด้วย ปัจจุบันครูพรรณี กลับกลายเป็นคุณครูคนใหม่ที่ใครๆ ก็อยากเรียนด้วย เพราะครูมักจะมีเทคนิคใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกับลูกศิษย์อยู่เสมอ ที่สำคัญตอนนี้ นักเรียนหลายคนกำลังตั้งหน้าตั้งตารอที่จะทดลองทำโปรเจคใหม่ที่ครูพรรณีคิดขึ้นมา

 

เพื่อที่จะบอกใครๆ ได้ว่า ถึงแม้จะไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือ แท็บเล็ตใช้ส่วนตัวเหมือนลูกคนคนมีตังค์อื่นๆ แต่พวกเขาก็จะมี E-book ที่เขียนขึ้นมาด้วยตัวเองในไม่ช้า และมันก็น่าจะดูเท่ห์กว่ากันอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: