แฉเส้นทางค้ากาม‘ชายแดนถึงกลางเมือง’ 'เหนือ-อีสาน'ไปชุมพรก่อนลงชายแดนใต้ รัฐรู้ข้อมูลดีแต่แก้ไม่ได้-เชื่อคอร์รัปชั่นอื้อ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 21 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 4182 ครั้ง

 

เมื่อธุรกิจการค้ามนุษย์ยังสร้างรายได้มหาศาลให้กับขบวนการธุรกิจผิดกฎหมายนี้  จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เจ้าหน้าที่จะสามารถเข้าถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง หรือปราบปรามได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น เพราะนอกจากลักษณะขององค์กรเถื่อนที่ค่อนข้างลึกลับ มีความเข้มแข็งของกระบวนการแล้ว ความพยายามในการลักลอบนำเข้าเหยื่อให้ซับซ้อนมากกว่าเดิม ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ปัญหา ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งได้รับผลประโยชน์จากขบวนการนี้ด้วย ยิ่งทำให้การป้องกันและปราบปรามขบวนการนรกนี้เป็นไปได้ยากขึ้น

 

 

เปิดเส้นทางชายแดนสู่แหล่งค้ากามในเมืองไทย

 

 

จากรายงานขององค์กรเอกชนต่อต้านการค้ามนุษย์หลายฉบับ สรุปถึงเส้นทางการนำเข้าแรงงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ โดยหลักๆ แล้วพบว่า เป็นข้อมูลที่ตรงกัน เช่น ในประเด็นของเส้นทางการค้ามนุษย์เพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีเด็กและหญิงต่างชาติ มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก ระบุไว้ในรายงานสรุปสถานการณ์ ปัญหาการค้ามนุษย์ประจำปี 2554 ว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีการใช้เส้นทางรวม 3 เส้นทางด้วยกัน คือ

 

เส้นทางที่ 1 ชายแดนท่าขี้เหล็ก-อ.แม่สาย จ.เชียงราย เส้นทางนี้ผู้เหยื่อ จะเดินทางมาจากเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า เข้ามาทาง จ.ท่าขี้เหล็ก แต่บางส่วนมาทำงานรับจ้างทั่วไปหรือมาอาศัยกับญาติอยู่ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อยู่ก่อนแล้ว จากนั้นถูกเพื่อนหรือคนรัก หรือนายหน้าชักชวน หรือล่อลวงให้มาค้าประเวณีที่ จ.เชียงใหม่ เหยื่อเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง และมีนายหน้าขับรถไปรับ

 

เส้นทางที่ 2  ชายแดน จ.เมียวดี – อ.แม่สอด จ.ตาก เหยื่อจะเดินทางมากจากเมืองพะอาง ย่างกุ้ง เมียวดี โดยเข้ามาทางฝั่ง จ.เมียวดี นั่งเรือข้ามมายัง อ.แม่สอด บางส่วนถูกหลอกลวงว่า ให้มาทำงานรับจ้างเสิร์ฟอาหารและมีบางส่วนที่ตั้งใจมาค้าประเวณี โดยเข้ามาทำงานที่สถานค้าประเวณีใน อ.แม่สอด มีผู้เสียหายบางส่วน ทั้งเด็ก ผู้หญิงและผู้ชาย ถูกนายหน้าชักชวนและเสนอว่า สามารถพาไปทำงานได้โดยพาออกจากค่ายพักพิงชั่วคราว เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวของนายหน้า กรณีเป็นผู้ชายจะพาไปทำงานในโรงงานคัดแยกอาหารทะเล ส่วนผู้หญิงพาไปค้าประเวณีที่ จ.สมุทรสาคร

 

เส้นทางที่ 3 ชายแดนแขวงเวียงจันทน์-จ.หนองคาย เหยื่อซึ่งเป็นชาวลาว เดินทางเข้ามายังประเทศไทย โดยถูกพาไปค้าประเวณีที่ จ.แพร่ ตามช่องทางต่อไปนี้

 

-             เมืองมื้น แขวงเวียงจันทน์-สถานีขนส่งเวียงจันทน์-ด่านตรวจคนเข้าเมืองลาว-นั่งรถทัวร์ข้ามไปด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย-นั่งรถยนต์ส่วนตัวของนายหน้า มุ่งตรงไปยังสถานค้าประเวณี

 

-             เมืองมื้น แขวงเวียงจันทน์-ท่าเรือบ้านวัง ประเทศลาว- นั่งเรือโดยสารข้ามมา อ.ปากชม จ.เลย-นั่งรถไปยังสถานีขนส่ง จ.เลย-นั่งรถยนต์ส่วนตัวของนายหน้ามุ่งตรงไปยังสถานค้าประเวณี

 

-             เมืองเวียงคำ แขวงหลวงพระบาง-แขวงเวียงจันทน์-ขึ้นรถโดยสารประจำทางไปยังด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.หนองคาย-สถานีขนส่ง จ.อุดรธานี-นั่งรถทัวร์ไปยังสถานค้าประเวณี

 

 

สาวจากฝั่งลาวถูกส่งไปภาคกลางก่อนลงใต้

 

 

นอกจากพื้นที่ที่เชื่อว่าเป็นเส้นทางการนำผู้หญิง หรือแรงงานข้ามชาติเข้าสู่การค้าประเวณี ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานแล้ว ยังมีเหยื่ออีกจำนวนมาก ที่ถูกส่งไปยังหลายพื้นที่ในภาคกลาง รวมไปถึงภาคใต้ก่อนที่จะส่งไปต่างประเทศด้วย ซึ่งในส่วนของมูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก ได้ให้ข้อมูลไว้ อาทิ

 

เหยื่อชาวลาวเดินทางมาจากแขวงเวียงจันทน์ เข้าเมืองโดยผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย มีนายหน้าชาวลาวชักชวนไปทำงานเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มที่ประเทศไทย พร้อมทั้งจัดการเรื่องการเดินทาง และหนังสือเดินทางปลอม จากนั้นส่งไปค้าประเวณียังร้านคาราโอเกะที่ จ.ชุมพร ผู้เสียหายบางส่วนเดินทางมาจากเมืองปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ ทำหนังสือเดินทางที่เมืองปากเซ จากนั้นนายหน้าพาข้ามผ่านด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี และต่อรถยนต์ส่วนตัวไปยังร้านคาราโอเกะเพื่อค้าประเวณี ที่ จ.ฉะเชิงเทราก่อน จากนั้นส่งต่อมายัง จ.ชุมพร

เหยื่อบางคนทำงานขายของที่แนวชายแดนไทย-ลาว มาก่อน จากนั้นนายหน้าและข่มขู่ว่า หากเหยื่อไม่ยอมทำงานจะส่งไปขายที่ร้านอื่นและได้เรียกเงิน (ค่าไถ่) จากญาติของเหยื่อด้วย ภายหลังจากการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ได้ซักถามข้อเท็จจริง ทำให้ทราบว่า มีขบวนการนำกลุ่มเด็กและหญิงชาวไทใหญ่ มาพักที่โรงแรมใน จ.ท่าขี้เหล็ก ก่อน จากนั้นนายหน้าได้ไปรับตัวเด็กและผู้หญิง พามุ่งตรงไปยังสถานค้าประเวณีใน จ.นครปฐม เดินทางโดยรถตู้ส่วนบุคคล เหยื่อให้ข้อมูลว่า ระหว่างการเดินทางคนขับรถถูกตรวจ และสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่แต่หลังจากนั้น มีการเจรจาผ่านทางโทรศัพท์และเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวทุกคนให้เดินทางต่อไป

 

 

ธุรกิจบันเทิงชายแดนใต้ผุดราวดอกเห็ดรับนักเที่ยวเพื่อนบ้าน

 

 

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกจุดหมาย ของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้าประเวณีข้ามชาติของหญิงสาวจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก มีข้อมูลปรากฏจากงานเขียนของ นุกูล ชิ้นฟัก จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จ.สงขลา เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ระบุว่า ปัจจุบันในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา พบการขยายตัวของโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ประเภท โรงแรม อพาร์ทเมนต์ และสถานบันเทิง จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานบันเทิงประเภทคาราโอเกะ มากกว่า 120 แห่ง ผับขนาดใหญ่มากกว่า 8 แห่ง และโรงแรมทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ มากกว่า 20 แห่ง

 

                 “ในช่วงระยะเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมานี้ พบว่า ความเจริญเติบโตในพื้นที่เขตแดน บ้านด่านนอกไทย-จังโหลน อ.สะเดา จ.สงขลา มีการขยายตัวโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโรงแรม, อพาร์ทเมนท์ และสถานบันเทิง จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานบันเทิงประเภทคาราโอเกะ จะเป็นอาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ มีผู้ประกอบการมากกว่า 120 แห่ง มีผับขนาดใหญ่ มากกว่า 8 แห่ง มีโรงแรมทั้งขนาดเล็กขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มากกว่า 20 แห่ง เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากพบว่ามีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวมาเลเซีย ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากที่สุดกว่า 70 % ซึ่งสถานบันเทิงเริงรมย์บริเวณชายแดน จะเริ่มเปิดดำเนินการ ตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น. นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวกันคึกคักที่สุด ในช่วงเวลาประมาณ 17.00-22.00 น.  การให้บริการของสถานบันเทิงประเภทคาราโอเกะ เป็นที่นิยมอย่างมากของนักท่องเที่ยว และยังพบว่าพนักงานในสถานบันเทิงเหล่านี้ ส่วนมากเป็นต่างด้าว เช่น ชาวจีน, พม่า, ลาว, กัมพูชา และแถบภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ลีซอ, ไทยใหญ่ เป็นต้น มีทั้งมาทำงานถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย”

 

แม้ข้อเขียนของนุกูลชิ้นนี้ จะมุ่งให้ความสำคัญกับการวางผังเมือง รองรับการขยายตัวทางธุรกิจของพื้นที่ แต่สิ่งที่ข้อเขียนชิ้นนี้กำลังบอกกับสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การลดปัญหาอันเกิดจากสาเหตุของการเพิ่มอย่างรุนแรงของขบวนการค้ามนุษย์ อันเนื่องมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจชายแดนใต้ ที่พบว่าเป็นจุดหมายสำคัญของปลายทางการค้ามนุษย์ ซึ่งถูกส่งมาจากพื้นที่ตอนบนของประเทศรวมทั้งการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนั่นเอง

 

 

แฉเงินกำไรในธุรกิจนรกปีละกว่า 5 แสนล้าน

 

 

นอกจากนี้หากสืบค้นย้อนกลับไป ปัญหาการค้าประเวณี เคยได้รับความสนใจจากหน่วยงานด้านกฎหมาย ถึงขั้นศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง และงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลผลงานดีเด่นของกระทรวงยุติธรรม ในปี 2549 มาแล้ว โดยใน รายงานการศึกษาขบวนการค้ามนุษย์ เรื่องรูปแบบและวิธีการกระทำความผิด ที่มีลักษณะเป็นคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ศึกษากรณีค้าหญิงและเด็ก-คดีพิเศษ จัดทำโดยสำนักกิจการต่างประเทศ และคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึง ประเด็นปัญหา สาเหตุ และขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยรายงานระบุว่า

 

           “เส้นทางสำคัญของเหยื่อที่ถูกส่งเข้าสู่กระบวนการค้าประเวณีนั้น ผู้ถูกค้าส่วนใหญ่จะถูกส่งไปทำงานในร้านคาราโอเกะ ซึ่งถือเป็นธุรกิจทางเพศขั้นต่ำสุดของไทย โดยวิธีการที่มักถูกนำมาใช้ เพื่อให้เหยื่อเข้าสู่การขายบริการคือ การจ้างพนักงานหญิงและเด็กหญิงทำงาน ในอัตราค่าจ้างที่ต่ำมากเดือนประมาณ 1,000-3,000 บาท เพื่อบีบให้หญิงและเด็กเข้าสู่ธุรกิจค้าประเวณี ไม่ว่าจะโดยถูกบังคับหรือสมัครใจ เพื่อหารายได้เสริม ซึ่งธุรกิจการค้าประเวณี นับเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมูลค่ามหาศาลถึงปีละ 500,000 ล้านบาท”

 

 

หญิง-เด็กเพื่อนบ้านทะลักแทนที่หญิงไทยที่ไปประเทศอื่น

 

 

รายงานการวิจัยฉบับนี้ยังทำการศึกษาต่อถึงขั้นตอนต่างๆ ของ การค้ามนุษย์ด้วยว่า โดยปกติแล้วการดำเนินการประกอบด้วย 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ การคัดเลือก/จัดการ (recruitment) การขนส่ง (transportation) และการใช้ประโยชน์ (exploitation) พบว่า ปัจจุบันการค้ามนุษย์ในไทยมีความซับซ้อน และมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยจากรายงานการศึกษาของ Terre des Hommes ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเด็ก ระบุว่า ผู้เกี่ยวข้องในการค้ามนุษย์ของไทย ประกอบด้วย ผู้นำหมู่บ้าน ครู พระ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจ เจ้าของสถานบริการทางเพศ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง คนขับแท็กซี่ คนจัดทัวร์ และองค์กรอาชญากรรม ฯลฯ โดยเป็นการรวมตัวกันหลวมๆ แบบไม่เป็นทางการ ยกเว้นการจัดหาหญิงและเด็กทำงานตามบ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเป็นการทำงานในรูปขององค์กรอาชญากรรม

 

 ในรายงานดีเอสไอฉบับนี้ ยังระบุถึงจำนวนเด็กและหญิงจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาเพื่อการค้าประเวณี พบว่า มีจำนวนสูงถึงปีละ 250,000 คน ด้วยเหตุผลของเศรษฐกิจประเทศไทย ที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เด็กและหญิงจากประเทศเพื่อนบ้าน ถูกนำเข้ามาทั้งรูปแบบสมัครใจและถูกหลอกบังคับ เข้ามาทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกันหญิงไทยที่ทำงานให้บริการในประเทศไทย กลับมีจำนวนลดลง แต่เป็นการเปลี่ยนอาชีพ และสถานที่ไปทำงานต่างประเทศแทน และเมื่อจำนวนหญิงให้ที่ทำงานด้านนี้ลดลง การนำเข้าเด็กและหญิงจากประเทศเพื่อนบ้านจึงเพิ่มจำนวนขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

 

 

ย้อนหลังเกือบ 10 ปี สถานการณ์เหมือนเดิม

 

 

สำหรับเส้นทางหลักในการค้าหญิงและเด็กจากพม่า ลาว กัมพูชา และจีน เข้าไทย ซึ่งถูกรายงานไว้ในงานวิจัยที่ได้รับรางวัลดีเด่นของ กระทรวงยุติธรรมฉบับนี้ ระบุว่า มี 4 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 1 คือ จังหวัดที่ติดต่อกับพม่า ได้แก่ เชียงราย ระนอง และแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ 2 คือ จังหวัดที่ติดต่อกับกัมพูชา คือ ตราด และสระแก้ว เส้นทางที่ 3 คือ จังหวัดที่ติดต่อกับลาว ได้แก่ มุกดาหาร และหนองคาย และเส้นทางที่ 4 คือ จังหวัดที่ติดต่อกับมาเลเซีย ได้แก่ ยะลา และนราธิวาส

 

         “นอกจากการค้ามนุษย์ที่เป็นผู้หญิงและเด็ก เข้าไปสู่ขบวนการค้าประเวณีแล้ว การค้าผู้ชายชาวพม่า กัมพูชา จีน และลาว เข้ามายังประเทศไทย เพื่อบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ประมง ปศุสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง นอกจากนั้น ยังมีการค้าผู้หญิงจากประเทศต่างๆ เข้ามาค้าประเวณีในไทย ได้แก่ หญิงจากรัสเซีย สาธารณรัฐเช็ก โรมาเนีย เอธิโอเปีย เคนยา โปแลนด์ เซเนกัล เซอร์เบีย และมอนเตเนโกร สโลวาเกีย ยูเครน แทนซาเนีย ยูกันดา อุซเบกิสถาน แซมเบีย มัลดีฟส์ ศรีลังกา อินเดีย เนปาล และปากีสถาน รวมทั้งมีการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านของการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะจากจีน ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ และรัสเซีย ไปยังประเทศญี่ปุ่น และจากจีนผ่านไทยไปไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และประเทศเขตยุโรปตะวันตก” รายงานฉบับดังกล่าวระบุ

 

 

ขั้นตอนซับซ้อนเจ้าหน้าที่ตามไม่ทัน

 

 

สิ่งที่น่าสนใจสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งระบุรายงานดีเอสไอว่า เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความรุนแรงของปัญหาโดยตรงคือ ความพยายามในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำงาน จากเดิมที่แต่ละเครือข่ายต่างคนต่างทำ พัฒนามาเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อน มีการจัดการที่ดี และให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ศุภณัฐ อุทัยศรี ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็กศรี ให้ข้อมูลกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า แม้ว่าจะมีความพยายามในการติดตามจับกุม ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และองค์กรเอกชน ด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ตลอดมา แต่ความซับซ้อนของวิธีการและรูปแบบ ที่ถูกนำมาใช้ในการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายเหยื่อ เปลี่ยนแปลงและลึกลับมากขึ้นกว่าเดิมตามยุคสมัย โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ประกอบกับความล่าช้าของขั้นตอนการทำงานของภาครัฐ ที่ยังไม่มีการบูรณาการประสานงานกันอย่างดี ทำให้การช่วยเหลือไม่เป็นไปตามแผน และเกิดความยุ่งยาก จนบางครั้งไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อและจับกุมผู้กระทำผิดได้ทันท่วงที แม้ว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจน และหนักแน่นก็ตาม

 

 

คอร์รัปชั่นยังเป็นอุปสรรคสำคัญ

 

 

                       “จากการทำงานในพื้นที่ มักได้รับความร่วมมืออย่างดีมาก จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อปัญหานี้ เมื่อได้รับการประสานงาน เพื่อขอความร่วมมือในการเข้าร่วมแก้ปัญหา จึงมักได้รับความช่วยเหลืออย่างดี แต่ยอมรับว่ายังคงมีเจ้าหน้าที่บางคนยังมีทัศนคติไม่ดี และไม่ความเข้าใจที่ชัดเจน ต่อการแก้ปัญหานี้ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการทำงาน  เช่น ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทางกฎหมาย เช่น ในสายของตำรวจนั้น ก็ต้องยอมรับว่าในทุกวงการมีทั้งคนดีและไม่ดี ปัญหาคอรัปชั่นที่มีทุกวงการ ซึ่งที่ผ่านมาเราพบว่าการทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางพื้นที่ และบางคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานบริการทำให้เกิดอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา และกระทบต่อการทำงานของเรา แต่สำหรับการทำงานกับหน่วยงานตำรวจที่ดี เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (ปคม.) ซึ่งดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษนั้น เราได้รับความร่วมมืออย่างดี แต่ยอมรับว่าในบางกองที่ยังไม่ได้รับความร่วมมือ” ศุภณัฐระบุ

 

 

รู้ 6 กลุ่มหลัก แต่จับไม่ได้

 

 

ส่วนหน่วยงานภาครัฐที่มองเห็นปัญหานี้ และพยายามศึกษารายละเอียด เพื่อเกิดการปฏิบัติจริงได้มากที่สุด ได้ถ่ายทอดออกมาจากงานวิจัยของดีเอสไอ ฉบับเดิม โดยมีการระบุถึงผู้เกี่ยวข้องไว้ว่า จากการสืบสวนสวนพบว่า ผู้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ในลักษณะของการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วยคน 6 กลุ่มหลัก คือ

 

1.นายหน้า ส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ มีหน้าที่ติดต่อ ชักชวน ใช้กลอุบายล่อลวง และนำพาเหยื่อมาส่งต่อให้ผู้ค้า

 

2.ผู้ค้า ส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล มีหน้าที่ให้ที่พักพิงแก่เหยื่อที่นายหน้านำมาส่ง รวมทั้งติดต่อกับประเทศปลายทาง และดำเนินการต่างๆ เช่น ปลอมแปลงเอกสาร หนังสือเดินทาง และอำนวยความสะดวกในการออกนอกประเทศ

 

3.ผู้นำพา มีหน้าที่รับเหยื่อจากผู้ค้า เพื่อพาออกนอกประเทศในลักษณะต่างๆ เช่น ไปท่องเที่ยว หรือจดทะเบียนสมรสด้วย

 

4.ผู้รับ คือ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปลายทางในต่างประเทศ มีหน้าที่รับเหยื่อไปยังสถานบริการทางเพศ และทำหน้าที่เป็นเอเย่นต์ติดต่อให้ลูกค้ามาใช้บริการ

 

5.ผู้ควบคุมดูแล มีหน้าที่บังคับให้เหยื่อยอมให้บริการทางเพศ หากเหยื่อขัดขืนจะถูกทำร้ายร่างกายทุกรูปแบบ

 

6.ลูกค้า คือ ผู้มาซื้อบริการทางเพศ

 

รายงานดีเอสไอยังวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของปัญหาการค้ามนุษย์ และสถานการณ์โลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ด้วยว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการค้าเพื่อธุรกิจทางเพศ การค้าเพื่อบังคับใช้แรงงาน หรือการค้าเพื่อแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากที่สุด โดยประมาณการว่า ในแต่ละปีมีชาย หญิง และเด็ก 4 ล้านคน จากประเทศทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ สร้างผลกำไรปีละ 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

 

กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่มีการจัดโครงสร้างภายในองค์กรที่มีลำดับชั้นการปกครอง และมีการควบคุมดูแลภายในอย่างเข้มงวด รวมทั้งมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด องค์กรอาชญากรรมกลุ่มนี้ ไม่เพียงจะดำเนินงานค้ามนุษย์ ยังเกี่ยวข้องกับการค้าสินค้าผิดกฎหมายต่างๆ เช่น ยาเสพติดและอาวุธปืน รวมทั้งการขนคนและการลักพาตัวผู้นำในองค์กรมีลักษณะเป็นผู้นำเดี่ยว (สายการบังคับบัญชาขึ้นตรงกับบุคคลเดียว) เป็นองค์กรที่มีเอกลักษณ์เด่นชัดและมีสังคมของกลุ่มตนโดยส่วนใหญ่ดำเนินกิจกรรมภายใต้การใช้ความรุนแรง

 

ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ค้ามนุษย์เพียงอย่างเดียว โดยถือเป็นกิจกรรมหลักของกลุ่ม ลักษณะขององค์กรอาชญากรรมกลุ่มนี้จะมีสมาชิกจำนวนจำกัด สมาชิกในกลุ่มจะมีความผูกพันรวมตัวกันแน่นหนา และผูกสัมพันธ์แบบหลวมๆ กับองค์กรที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนี้ไม่มีเอกลักษณ์ของกลุ่มที่เด่นชัดเหมือนกลุ่มที่ 1 แต่ความเหมือนกันของทั้งสองกลุ่ม คือ มีการกำหนดและมอบหมายงานให้สมาชิกอย่างชัดเจน เช่น ฝ่ายการจัดหา/คัดเลือก ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายคุ้มครอง และฝ่ายการตลาด ทั้งสองกลุ่มต่างดำเนินงานข้ามชาติ และมีความสัมพันธ์ ความร่วมมือที่ดียิ่งกับองค์กรอาชญากรรมกลุ่มอื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน กล่าวคือ ค้าผู้หญิงเพื่อธุรกิจทางเพศโดยใช้ความรุนแรงกับผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ และบางครั้งมีการค้าหญิงและเด็กเพื่อบังคับใช้แรงงาน

 

อย่างไรก็ตามแม้รายงานการวิจัยฉบับนี้จะมีการเผยแพร่ออกมาหลายปีและ และรายงานงานวิจัยฉบับนี้ก็ยังได้รับการยกย่องถึงขั้นได้รับรางวัลดีเด่น จากกระทรวงยุติธรรม แต่เหตุใด รัฐบาลไทยจึงไม่สามารถแก้ไขให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยดีขึ้นได้ ซ้ำยังกลับพบว่า แนวโน้มปัญหากำลังเลวร้ายลงอย่างน่าเป็นห่วง ถึงขั้นที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตัดสินใจจัดสถานะของประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 2 watch List ติดต่อกันถึง 2 ปีซ้อนอยู่ในขณะนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: