‘เจาะลึกพนันบอล 6’ สะท้อนชีวิตหนุ่มโรงงาน จากนักเล่นขยับมาเดินโพย มองเป็นทางลัดเพิ่มรายได้ อ้างใครก็เล่นในชุมชนเปิดแทงโจ๋งครึ่ม

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 21 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 10040 ครั้ง

 

ไม่รู้จักฟุตบอล-เข้าสู่วังวนพนันบอล

 

กรรมการหรือคนงานโรงงานนับเป็นคนอีกกลุ่ม ที่ก้าวเข้าสู่วงจรการพนันบอลอย่างแพร่หลาย อาจเพราะต้องการหาความตื่นเต้นตามอัตภาพ ต้องการเสี่ยงดวงเพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋า ต้องการเข้าสังคม มีเพื่อน มีเรื่องสนทนา หรือทุกอย่างรวมกัน ก็สุดจะคาดเดา

ก้อง หนุ่มเมืองมะขามหวาน เพชรบูรณ์ วัย 32 ปี เดินทางจากบ้านเกิดมาทำงานตามแรงผลักของเศรษฐกิจ เหมือนอีกหลายล้านคน ที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน การทำงานในโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์เล็กๆ ใน จ.สมุทรปราการ แลกค่าแรงเดือนละไม่ถึงหมื่นบาท ค่าอยู่ ค่ากิน ค่านมลูกก็แทบไม่พอ แค่คิดว่าพอลูกโตขึ้นจะต้องหาเงินส่งเสียให้เล่าเรียนหนังสือก็ปวดหัวแล้ว แผนชีวิตในอนาคตจึงเป็นเรื่องหรูหราเกินตัว

 

“ตอนนี้ไม่ได้วางแผนอะไรมากมาย ต้องเก็บเงินไว้ส่งลูกเรียนหนังสือ มีอะไรทำได้ก็ทำ แต่คนโรงงานไม่มีอะไรมาก ถ้าไม่มีรายได้อย่างนี้ก็เอาไปกินเหล้าหมด เงินที่เราได้มาก็เป็นค่าเบียร์บ้าง เท่ากับว่าเราไม่ได้ควักเงินก้อนใหญ่ มันเหมือนเป็นรายได้พิเศษ ไม่ได้คิดว่าทำแล้วจะรวย”

 

การหารายได้พิเศษเล็กๆ น้อยๆ จึงเป็นทางเลือกที่ปฏิเสธยาก หนุ่มบ้านนอกคนหนึ่งที่ไม่เคยสนใจกีฬาฟุตบอล นอกจากเห็นเพื่อนบ้านวิ่งไล่เตะลูกกลมๆ เพื่อความสนุกสนานกับเดิมพันด้วยขนมแล้ว มากกว่านั้นคือสิ่งที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ ไม่เคยรู้จักหงษ์หรือผี ราชันย์ชุดขาวคือใคร หรือปืนใหญ่เกี่ยวอะไรกับฟุตบอล เพิ่ง 5 ปีก่อนนี้เองที่ก้องรู้ว่า มันคือช่องทางสร้างรายได้สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ

 

เรียนรู้จนเข้าสู่นักเล่นเต็มตัว

 

โรงงานที่ก้องทำงานอยู่มีการเล่นพนันฟุตบอลหรือไม่ ตอบโดยไม่ต้องอ้อมค้อมคือ มี แต่เพราะไม่ได้สนิทสนมกับกลุ่มที่เล่น วงโคจรของก้องจึงมีระยะห่างและไม่มีแรงดึงดูดเพียงพอจะลากพาตัวเองไปหมุนรอบลูกฟุตบอล ทำงานเสร็จก็กลับบ้าน

 

“การพนันที่ผมเล่นตอนนั้นคือหวย เพราะภรรยาที่ทำงานในโรงงานเดียวกันเป็นคนชอบหวย และยังเป็นคนเดินโพยหวยด้วย เพื่อหารายได้พิเศษ”

 

หลังจากเริ่มคลุกคลีสนิทสนม คนแปลกหน้าในโรงงาน เปลี่ยนสถานะเป็นเพื่อน ระยะห่างถูกบีบเข้าใกล้ คำชักจูงและรายได้จากการพนันบอลทำให้ก้องสนใจ เริ่มศึกษาวิธีการเล่นว่าเป็นอย่างไร สำหรับมือใหม่การแทงพนันบอลซึ่งมีอัตราต่อรองหลายราคาสร้างความสับสนไม่น้อย ก้องเล่าว่า ครั้งแรกใช้วิธี ‘กามั่ว’ ตามที่เพื่อนแนะนำ เป็นการแทงบอลชุดกับคนเดินโพยในโรงงานเดียวกัน ด้วยจำนวนเงินเพียง 50 บาท ปรากฏว่าเขาทายถูก

 

เมื่อได้เงิน การพนันบอลจากที่เคยเป็นเรื่องยากกลับกลายเป็นเรื่องสนุก ได้บ้าง เสียบ้าง เป็นเรื่องปกติ ก้องบอกว่า เคยเสียสูงสุดน่าจะตกราวๆ 2,000-3,000 บาท ไม่ถลำไปกว่านี้ เพราะด้วยกติกา รูปแบบ และวิธีการแทง ถือเป็นส่วนหนึ่งที่คอยกระตุกเตือนนักพนันว่า อย่าแทงหนักมือเกินไป ข้อแรกคือทางโต๊ะบอลกำหนดอัตราแทงต่ำสุดไว้ที่ 50 บาท และสูงสุดไม่เกิน 500 บาท เพราะเป็นบอลชุด ข้อสอง-รับแทงเป็นเงินสด ไม่แทงปากเปล่าหรือเครดิต ข้อสาม-คนโรงงานก็ใช่ว่าจะมีเงินถุงเงินถังแทงหนักๆ ได้ และสุดท้ายคือคนเล่นก็เป็นคนในโรงงานเดียวกัน รู้จักหน้าค่าตา จะเบี้ยว จะหนี ก็ลำบาก

 

กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

 

“การเล่นพนันบอลของคนในโรงงานไม่ได้เล่นจนหมดเนื้อหมดตัว แต่เล่นเพื่อสนุก ถึงบอลจะมีเกือบทุกวัน แต่บางคนก็ไม่ได้เล่นทุกวัน เล่นมากๆ ก็ในช่วงสุดสัปดาห์เพราะบอลมันมีเยอะและเลือกเล่นได้เยอะ ส่วนใหญ่จะเล่นกันไม่มาก เฉลี่ยแล้วเล่นกันอยู่ที่ประมาณ 200-300 บาทต่อสัปดาห์เท่านั้น”

 

ก้องบอกว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นใครเล่นแล้วติด ต่างเล่นเพียงเพื่อหวังรายได้เล็กน้อย หากวันไหนไม่มีคู่บอลใหญ่ๆ ดีๆ น่าสนใจ ก็ไม่เล่น ก้องจึงไม่คิดว่าการเล่นพนันบอลชุด จะสร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองมากนัก เขาจึงไม่เคยหวาดกลัวแม้แต่น้อยว่ากลายเป็นหนี้เป็นสินล้นพ้นตัวเช่นในข่าว

 

“บอลชุดมันเป็นการเล่นของคนที่มีรายได้ไม่มากนัก ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง ถ้าเสียก็แค่เดือนละไม่เท่าไหร่ หากเดือนไหนมาลองคำนวณดูแล้วใช้ไปเยอะก็สามารถหยุดได้ และการเล่นบอลชุดเป็นการเล่นแบบวางเงินสด จึงไม่ทำให้เล่นเกินตัว”

 

แสดงว่าการเล่นบอลชุดถือเป็นข้อดี เป็นคำถามที่ก้องไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้ยอมรับ แต่บ่ายเบี่ยงไปว่า การเล่นการพนันทุกชนิดล้วนไม่ดีทั้งสิ้น

 

ขยับตัวเองเป็นคนเดินโพย

 

หลังจากเป็นนักเล่นธรรมดามาได้ 2 ปีที่ เพื่อนในโรงงานที่เป็นคนเดินโพย ชักชวนก้องให้เป็นคนเดินโพยด้วย ก้องใช้เวลาคิดไม่นานก่อนจะตอบรับ

 

“เพราะอยากจะไปเดินอยู่แล้ว มันมีรายได้ เมียผมก็เดินโพยหวยอยู่แล้ว แต่ตัวเองไม่ชอบเล่นหวย คิดว่ามาทางนี้น่าจะดีกว่า ก็ตอบรับเลย เราก็เล่นอยู่แล้ว ไม่ยาก”

 

เมื่อก้องตอบตกลง เพื่อนของก้องจึงพาตัวเขาไปพบกับเจ้ามือโต๊ะบอล ซึ่งอันที่จริงก็รู้จักหน้าตากันมาก่อนแล้วในฐานะลูกค้าประจำ แค่ไปแสดงตัวให้รู้จักอย่างเป็นทางการว่าเป็นใคร มาจากไหน เล่นบอลผ่านใคร เพราะธุรกิจประเภทนี้ความไว้เนื้อเชื่อใจถือเป็นสิ่งสำคัญ ก้องจึงกลายเป็นคนเดินโพยอย่างเป็นทางการ ได้รับค่าเหนื่อยจากการเดินโพย 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่แทง ซึ่งก้องถือว่าเป็นรายได้ที่พอใจ

 

ไม่กลัวเพราะเจ้าของโต๊ะเป็นตำรวจ

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การตัดสินใจเป็นคนเดินโพยของก้องง่ายขึ้นมากก็คือ เจ้าของโต๊ะเป็นอดีตนายตำรวจ หลังเกษียณก็หันมาทำธุรกิจส่วนตัวด้วยการเปิดโต๊ะบอล และด้วยความที่เป็นอดีตตำรวจทำให้สามารถรู้ทิศทางลมและช่องทางต่างๆ เป็นอย่างดี สามารถขยายเครือข่ายให้มีคนเดินโพยได้กว้างขวาง แถมยังให้ความมั่นใจกับคนเดินโพยได้ว่า ไม่ต้องกลัวถูกตำรวจจับ เพราะหากเกิดปัญหาอะไร สามารถเคลียร์ให้ได้ หรือหากมีข่าวว่าจะมีการปราบปรามการพนันหรืออยู่ในช่วงเวลาที่อาจเสี่ยงต่อการถูกกวาดล้าง เจ้าของโต๊ะรายนี้ก็มักได้ข่าวก่อนจากเพื่อนในวงการตำรวจเสมอ และจะถูกกระจายต่อมายังเครือข่ายคนเดินโพย ให้เพลาๆ การรับแทงลง หรือบางครั้งอาจจำเป็นต้องหยุดไปชั่วขณะเพื่อความปลอดภัย

 

“เขาเป็นตำรวจ มันทำให้เราสบายใจ เพราะเขามีสาย มีข้อมูล เขาก็จะบอก ถ้าเกิดปัญหาเขาก็เคลียร์ให้ คนก็เลยไม่กลัว อย่างโต๊ะบอลหรือบ่อนที่อยู่ใกล้ๆ กัน เขาก็ต้องมีสาย ต้องจ่ายตำรวจเหมือนกัน เพราะไม่เคยเห็นว่าจะถูกจับ ตอนที่มีข่าวก็ยังเปิดเล่นกันอยู่ แสดงว่าเขาจะต้องรู้ว่า ตำรวจจะมาเมื่อไหร่ ทำให้คนเล่นมั่นใจได้”

 

เมื่อเป็นคนเดินโพย บางคราว ก้องต้องทำหน้าที่เป็นคนทวงเงิน ซึ่งวงเงินไม่ได้มากมายอะไร เฉลี่ย 200-300 บาท มีผัดผ่อนบ้างวันสองวัน นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าเป็นพวกแทงหนักๆ ก้องจะไม่รับ เขาบอกว่า มันน่ากลัว

 

เปิดเล่นกันเอิกเกริกถึง 3 โต๊ะ

 

ก้องยังบอกด้วยว่า โต๊ะบอลในละแวกบ้านของเขามีอยู่ 3 โต๊ะที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย หนึ่งคือโต๊ะของอดีตนายตำรวจที่ก้องเป็นคนเดินโพยให้ สอง-เป็นโต๊ะบอลที่เปิดเป็นบ่อนด้วย ทั้งสองแห่งอยู่ห่างกันไม่เกินระยะ 100 เมตร ส่วนอีกโต๊ะหนึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งก้องไม่รู้จักมากนัก เขาตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาทั้ง 3 โต๊ะไม่เคยมีเรื่องวิวาทบาดหมางหรือขัดผลประโยชน์กัน ต่างโต๊ะต่างทำธุรกิจอยู่ในขอบเขตของตัวเอง ไม่ส่งข้ามเขตกันหากไม่รู้จัก

 

“การได้ค่าเดินโพยโดยหักเปอร์เซ็นต์จากยอดเงิน มันไม่ถึงกับกระตุ้นนะ แต่ก็ทำให้เราอยากให้คนมาเล่นเยอะๆ เหมือนกัน เราจะได้เยอะๆ ด้วย แต่เราก็ไม่ไปเชียร์หรือหาคนเล่นเพิ่มเอง คนที่เขาอยากเล่นเขาจะติดต่อมาเอง ให้เพื่อนพามา ถ้าเราไปกระตุ้นเราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มันเสี่ยง น่ากลัวมากกกว่า เพราะจริงๆ แล้วเราก็มีเงินเดือน มีรายได้จากเดินโพยหวย ก็เลยไม่คิดจะเสี่ยงอะไร”

 

รายได้จากการเดินโพยของก้องที่เคยได้มากสุดตกที่ 500 บาทต่อสัปดาห์ หากคำนวณเป็นเดือนก็ประมาณ 2,000 บาท แต่ไม่ได้หมายความว่าเงิน 2,000 บาท จะนำไปใช้จ่ายในครอบครัวเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก้องนำรายได้ตรงนี้ส่วนหนึ่งไปต่อเงินด้วยการแทงบอล ก้องให้เหตุผลว่าเป็นการเสี่ยงแบบไม่ต้องควักกระเป๋าเอง ซึ่งหากโชคชะตาเข้าข้างก็ได้กลับคืนเป็นกอบเป็นกำ แต่ส่วนใหญ่โชคชะตามักเล่นตลกร้ายกับเขามากกว่า ถ้าเดือนไหนคำนวณแล้วพบว่าเล่นเสียเป็นส่วนใหญ่ ก้องก็จะหยุด

 

ขอเดินโพยจนกว่าโต๊ะบอลจะเลิกเอง

 

“เวลาผมเสีย ไม่เคยรู้สึกว่าต้องแทงหนักขึ้นเพื่อถอนทุน แต่จะรู้สึกเสียดาย ถ้าเสียไปเยอะแล้วก็จะหยุด ไม่อย่างนั้นจะไม่มีเงินใช้ ตอนหลังเดินโพยอย่างเดียว ได้เงินแน่ๆ ไม่เสี่ยง จะเล่นก็แค่บางคู่สนุกๆ แมทช์ใหญ่ๆ เท่านั้น ยิ่งหลังๆ ไม่ค่อยได้เล่นก็เลยไม่รู้สึกโลภ ที่จะรู้สึกโลภก็คืออยากให้คนมาแทงเยอะๆ เราจะได้เปอร์เซ็นต์เยอะๆ มากกว่า”

 

แต่ก้องก็ยอมรับว่า ใช่ว่าทุกๆ คนจะสามารถยับยั้งชั่งใจได้ แต่เขายังคงยืนยันว่า สำหรับคนโรงงานอย่างพวกเขา ไม่มีเงินมากมายให้แทงบอลหนักอยู่แล้ว เขาจึงไม่เคยเห็นชีวิตคนโรงงานเดียวกันต้องซวนเซเพราะบอลเลยสักคน และเมื่อคิดดูจริงๆ คนในโรงงานร้อยกว่าคน ที่เล่นพนันบอลจริงๆ ไม่เกิน 20 คน

 

“คนที่เล่นในโรงงานเล็กๆ แบบนี้ผมไม่เคยเห็นว่าเขาจะเสียพนันบอลจนมีปัญหา แต่ถ้าจะมีปัญหาน่าจะเป็นเรื่องพนันอย่างอื่นมากกว่า แต่เราไม่รู้ว่าเขาไปทำอะไรมา เขาไม่ได้มาเล่าให้ฟัง ส่วนใหญ่จะคุยกันเรื่องบอลเล็กๆ น้อยเท่านั้น บางคนมาแทงบ่อยๆ เสียบ่อยๆ เขาท้อ เลิกแทงไปเอง คิดว่ามันไม่เหมือนกับการแทงบอลเดี่ยว คนเล่นสนุกๆ เท่านั้น ก็เหมือนหวย เล่นสนุกๆ เงินเสียไป มันมองไม่เห็นว่าทำให้เดือดร้อนเท่าไหร่ กินเหล้ายังเสียเยอะกว่า”

 

สลดคนส่วนใหญ่เห็นเป็นเรื่องปกติ

 

ส่วนผลกระทบเชิงสังคม ก้องบอกว่าน่าจะเป็นเรื่องของสังคมมากกว่า เพราะทุกคนแถวบ้านเช่าของเขารู้จักการเล่นพนันบอลกันหมด เด็กเยาวชนระดับมัธยมต้นถึงมหาวิทยาลัยก็เข้ามาเล่น และเป็นคนเดินโพยด้วยเหมือนกัน กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำอย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้า ก็เล่น ซึ่งก้องมองโลกในแง่ดีว่าเขาจะมีลูกค้ามากขึ้น แน่นอนว่าคนเหล่านั้นคงต้องเสียเงินไปโดยใช่เหตุ แต่ก้องยังมองในแง่บวกว่าคนกลุ่มนี้จะได้คลายเครียด และทำให้มีเรื่องพูดคุยกันมากขึ้นโดยมีเรื่องบอลเป็นประเด็นในการสนทนา ถามว่า ถ้าอย่างนั้นทำให้พนันบอลกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายจะดีหรือไม่ เพราะไหนๆ ก็ห้ามไม่ได้อยู่แล้ว ในฐานะคนวงใน ก้องตอบว่า

 

“ไม่รู้สิ จะถูกหรือไม่ถูกกฎหมาย คนก็เล่นได้อยู่แล้ว ตำรวจก็เล่น แต่ถ้าถูกกฎหมายอาจจะดีที่คนไม่ถูกตำรวจจับ แต่ไม่ถูกอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ผมคิดว่ามันไม่แตกต่างกัน”

 

ถามก้องว่าคิดจะเลิกหรือไม่ ก้องตอบชัดถ้อยชัดคำว่า ไม่เลิก เขาคงเดินโพยต่อไปจนกว่าเจ้าของโต๊ะจะเลิกไปเอง ส่วนการเล่นพนัน เขาไม่มีคำตอบ เนื่องจากเขาไม่ได้ติด จึงไม่มีความคิดว่าจะต้องเล่นหรือต้องเลิก ครั้นจะเปิดโต๊ะเอง ยิ่งเป็นเรื่องนอกเหนือความคิด เขาไม่มีกำลังพอจะดูแลหรือบริหารจัดการได้ ที่สำคัญ ก้องไม่มีเส้นสายมากพอ การเป็นคนเดินโพยหารายได้พิเศษก็ถือว่าเหมาะแล้ว

 

“ผมมีลูกเล็กมาก 3 ขวบ อยู่บ้านนอก จริงๆ ถ้าโตขึ้นก็ไม่อยากให้ลูกเล่นหรอก โดยเฉพาะติดแบบพวกที่เล่นเยอะๆ เหมือนที่เป็นข่าว แต่คิดว่าลูกคงไม่เล่น เพราะเราไม่ได้ร่ำรวย จะเล่นได้เยอะอะไรขนาดนั้น แต่ตอนนี้ลูกยังเล็กก็ไม่ได้คิดอะไร” เป็นความกังวลเล็กๆ ของคนเป็นพ่อ

 

ในมุมของกฎหมายหรือศีลธรรม ย่อมไม่มีพื้นที่สีขาวให้กับการพนันบอล แต่ในสายตาของคนหาเช้ากินค่ำที่ชีวิตส่วนใหญ่ถูกผลักจากแรงกดดันด้านเศรษฐกิจ การพนันบอลกลายเป็นช่องทางหารายได้เสริม เป็นสถาบันในมุมมืดที่ทำหน้าที่กระจายรายได้ แม้ผลกระทบจากปริมาณเงินก้อนเดิมที่หมุนวนอยู่ในระบบเศรษฐกิจจะก่อปัญหาเงินเฟ้อ ยังไม่นับรวมผลกระทบด้านสังคมอีกมาก ที่ตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ก็ตาม

 

“เมื่อก่อนผมไม่รู้จักใคร เพราะไปทำงานกลับมาบ้านก็นอน กินเหล้า แต่ตอนนี้ผมรู้จักคนเยอะขึ้น มีสังคมเยอะขึ้น ไปเจอกันก็จะมีเรื่องบอลมาคุยกันทำให้รู้สึกว่าเป็นคนในชุมชนนี้ เพราะคนโรงงานส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่นกันไม่รู้จักกันเท่าไหร่ มาอยู่ก็จะเหงา แต่พอได้รู้จักกันเพราะบอลก็ทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีปัญหาอะไรก็อาจจะช่วยกันได้ ยกเว้นเรื่องเงินครับ”

 

ชี้ถ้ารัฐไม่เร่งแก้ถึงวันวิกฤตหนักแน่

 

ภาพชีวิตของก้องที่เล่ามา หากมองด้านศีลธรรมหรืออบายมุขเพียงอย่างเดียวก็ดูจะคับแคบเกินไป แต่หากมองด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ที่ทำให้คนๆหนึ่ง จากคนธรรมดาหันหน้าเข้าสู่วงการพนันบอล โดยเชื่อมั่นว่าสร้างรายได้ที่งดงาม และเลี้ยงดูอีกหลายชีวิตได้ นั่นแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบทางสังคมด้านอื่น ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐาน หรือสร้างความเชื่อมั่นให้กับอนาคตของผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งได้ ทางเลือกของคนเป็นผู้นำครอบครัว คนเป็นพ่อ จึงมีไม่มาก ที่จะคิดสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นเองในทางลัด

 

ฉะนั้นการป้องกันและปราบปรามพนันบอล อาจเป็นเรื่องที่รัฐทำได้อย่างต่อเนื่อง แต่ด้านหนึ่งรัฐก็ควรมองถึงบริบทของต้นเหตุแห่งปัญหานี้ด้วย เพื่อไม่ให้วงการพนันบอลขยับขยายออกไปมากกว่านี้ ซึ่งหากทุกคนมุ่งหน้าเข้าสู่ทางลัดนี้ และเชื่อด้วยตัวเองว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ความหายนะก็จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: