รัฐต้านบุหรี่เข้ม-แก้กฎหมายใหม่ใช้ปีหน้า ห้ามขาย4สถานที่-เพิ่มค่าปรับในที่ห้ามสูบ ป้อง51ล้านคนที่ไม่สูบ-สกัดโจ๋เพิ่มจำนวน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 21 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1899 ครั้ง

น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข  พร้อมด้วยดร.น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  น.พ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย  ศ.น.พ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และศ.พ.ญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังเปิดประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 11 เรื่อง “การแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ” จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้ เพื่อการควบคุมการยาสูบ หรือ ศจย.

 

น.พ.สุรวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนกฎหมายเดิม 2 ฉบับ ซึ่งใช้มานาน 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2535 คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 26 มาตรา และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ 15 มาตรา โดยผนวกให้เป็นฉบับเดียวและปรับปรุงบทบัญญัติให้มีความทันสมัย ทันสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น กลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่  ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ๆ ที่ออกสู่ท้องตลาด เพื่อปกป้องสุขภาพคนไทยที่ไม่สูบบุหรี่ 51 ล้านคน ให้ปลอดภัยจากการสูดควันบุหรี่หรือบุหรี่มือสอง ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เนื่องจากบุหรี่เป็น 1 ใน 4 สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยป่วยและเสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง เสียค่ารักษาแพงและไม่หายขาด อาทิ โรคถุงลมปอดโป่งพอง มะเร็ง โรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนไทยซึ่งผลการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ระดับโลกรอบล่าสุดในปี 2554 พบว่า มีแนวโน้มสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และอายุที่เริ่มสูบเร็วขึ้นเป็น 17.4 ปี จากในปี 2552 ที่เริ่มสูบเมื่ออายุ 18.5 ปี

 

 

ตามร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่นี้ มีทั้งหมด 9 หมวด 80 มาตรา ให้ความหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบหรือพืชนิโคเทียนานทาแบกคุม (Nicotianatabcum) รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ บริโภคโดยวิธีสูบ ดูด อม เคี้ยว กิน เป่าหรือพ่นเข้าไปในปากหรือจมูก ทา หรือโดยวิธีอื่นเพื่อให้ได้ผลเช่นเดียวกัน และจะห้ามการขายหลายรูปแบบ ได้แก่ 1.เพิ่มอายุขึ้นต่ำที่จะซื้อบุหรี่จากเดิมอายุ 18 ปี เป็น 20 ปี ซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มเยาวชนเพิ่มจากเดิมได้อีกกว่า 2 ล้านคน และห้ามคนอายุต่ำกว่า 18 ปีขายบุหรี่

 

 

2.ห้ามการขายที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย เช่น ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ ขายทางอินเตอร์เน็ต การเร่ข่าย การลดแลกแจกแถม การส่งเสริมการขาย 3.ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบบุหรี่ซิกาแรตต่ำกว่าซองละยี่สิบมวน ห้ามแบ่งขายเป็นมวน และ 4.ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานที่ต้องห้าม 100 เปอร์เซนต์ 4 แห่ง ได้แก่ สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 5.ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าในทุกสื่อ รวมทั้งห้ามเผยแพร่กิจกรรมซีเอสอาร์ เป็นต้น รวมทั้งได้เพิ่มบทลงโทษรุนแรงขึ้น เช่น หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่เพิ่มค่าปรับจากเดิม 2,000 บาท เป็น 5,000 บาท หากฝ่าฝืนเผยแพร่กิจกรรม ซีเอสอาร์บุหรี่ มีโทษสถานหนักจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับเพิ่มรายวัน ๆ ละไม่เกิน 50,000 บาท หากยังมีการฝ่าฝืนต่อเนื่อง

 

ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ โดยเสร็จสิ้นไปแล้ว 2 ภาค คือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง วันที่ 14 กันยายน ที่จ.นนทบุรี พร้อมทั้งได้แจ้งเวียนหน่วยงานราชการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สอบถาม ความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ www.tobaccohearing.com เฟซบุ๊คhttp://apps.facebook.com/tobaccohearing และอีเมล์ tobaccohearing@gmail.com ส่วนใหญ่ทุกฝ่ายเห็นด้วย โดยจะปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้สมบูรณ์แบบที่สุด และนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับชาติ หรือ คบยช. และครม.พิจารณาต่อไป คาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ สามารถประกาศใช้ในปีหน้า ถือว่าเป็นกฎหมายควบคุมยาสูบชั้นนำระดับโลก

 

 

ดร.น.พ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทุกวันนี้บริษัทบุหรี่จะทำทุกวิถีทางในการแข่งขันการค้ายาสูบ เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของบริษัท และพยายามทุกวิถีทางที่จะคัดค้าน หน่วงเหนี่ยวมาตรการควบคุมยาสูบที่รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขจะทยอยผลักดันออกมา ตามพันธกรณีที่รัฐบาลไทยมีต่อองค์การอนามัยโลก ภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบ เช่น การเปิดเผยส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ที่ไทยยังทำไม่สำเร็จ การแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อน ซึ่งมีบริษัทบุหรี่ข้ามชาติสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง การแก้ปัญหาการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม การห้ามสูบบุหรี่ในสถานบันเทิง ผับ บาร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเรื่องที่บริษัทบุหรี่ไม่ต้องการให้ประเทศใดๆ รวมทั้งไทยประสบความสำเร็จ

 

ดังนั้นนโยบายการป้องกันการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ จะต้องห้ามส่วนราชการทุกหน่วยรับการอุปถัมภ์จากธุรกิจยาสูบ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกระเบียบกำหนดให้บริษัทบุหรี่ ต้องจัดส่งรายงานประจำปีให้คณะกรรมการควบคุมยาสูบ และออกระเบียบการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทบุหรี่ให้โปร่งใส มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา

 

ด้าน น.พ.หทัย  ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่าบริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้พยายามบั่นทอนมาตรการควบคุมยาสูบของไทยโดยตลอดมา ขอยกตัวอย่างที่ชัดเจน  เช่น  1.เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นำกลุ่มบริษัทบุหรี่และสุราเข้าพบ รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 ผู้แทนบริษัทฟิลลิปมอร์ริสร้องว่า สธ.ปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน โดยห้ามตั้งแสดงบุหรี่แต่ไม่ห้ามแสดงซิการ์ เรื่องนี้ได้พิจารณาว่า เอกอัครราชทูตทำผิดกฎของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ห้ามมิให้ทูตสนับสนุนบริษัทยาสูบอเมริกันในประเทศต่างๆ ผมจึงได้แจ้งไปยังมิตรสหายที่สหรัฐฯ ซึ่งได้ดำเนินการร้องขอให้วุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนอเมริกัน ร่วมลงนามถึง รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ให้พิจารณาความผิดของทูต เป็นผลให้ทูตผู้นั้น ต้องถูกย้ายออกจากประเทศไทยไป 

 

 

2.สภาหอการค้าไทย แต่งตั้งนายจรณชัย ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริษัทสัมพันธ์ บริษัท ฟิลลิปมอร์ริส เป็นประธานคณะอนุกรรมการภาษีสรรพสามิต นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการบริหารภาษีของประเทศ เพราะการเพิ่มภาษีและราคาเป็นยาขนานเอกของการควบคุมยาสูบ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2555 “ภาคีปกป้องไทยพ้นภัยบุหรี่” ได้มีหนังสือถึงประธานหอการค้าแจ้งถึงภัยต่อการควบคุมยาสูบของประเทศ และขอมิให้นายจรณชัย ดำรงตำแหน่งที่สำคัญมากนี้

 

ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบที่เป็นปัญหาที่สุดในขณะนี้คือ การเคลื่อนไหวของสมาคมผู้บ่ม ผู้เพราะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบไทย ที่ออกมาคัดค้านการที่รัฐบาลไทยจะร่วมเห็นชอบกับมาตรา 9 และ 10 ที่เกี่ยวกับการเปิดเผยส่วนประกอบการผลิตบุหรี่ของกฎหมายควบคุมยาสูบโลก จนถึงการคัดค้านการขึ้นภาษียาสูบของกระทรวงการคลังเมื่อเร็ว ๆ นี้  โดยสมาคมดังกล่าวเพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมผู้ปลูกยาสูบนานาชาติ  ซึ่งสนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ และเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ในขณะเดียวกันโรงงานยาสูบไทยก็ สร้างภาพด้วยการทำซีเอสอาร์โดยอาศัยชาวไร่ยาสูบบังหน้า ในการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และฉายสปอร์ตในโรงภาพยนตร์ ซึ่งการทำซีเอสอาร์ และการประชาสัมพันธ์การทำซีเอสอาร์ของบริษัทบุหรี่ เป้าหมายหลักคือ การยับยั้งมาตรการควบคุมยาสูบ และคงไว้ซึ่งค่านิยมการสูบบุหรี่ กฎหมายควบคุมยาสูบฉบับใหม่ จึงควรห้ามการทำซีเอสอาร์โดยบริษัทบุหรี่  และห้ามการประชาสัมพันธ์การทำซีเอสอาร์ในทุกสื่อรวมถึงในโรงภาพยนตร์

 

 

ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้  1) ให้รัฐบาลและรัฐสภาร่วมกันเร่งผลักดันกระบวนการลงคะแนนเสียงรับรองพระราชบัญญัติควบคุมยาสูบฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่ออุดช่องโหว่ต่างๆมากมายที่มีอยู่ในกฎหมายเดิม  2) ให้รัฐบาลและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งดำเนินการให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่และยาช่วยเลิกบุหรี่มาตรฐานได้อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือให้เยาวชน และผู้ที่ติดบุหรี่จนไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง สามารถหลุดพ้นจากวงจรการเสพติดนี้ได้โดยเร็วที่สุด  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาวะของเยาวชนไทย และลดโอกาสการเกิดผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองต่อเยาวชนไทยไปพร้อมกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: