โครงการด้านพลังงานภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

สันติ โชคชัยชำนาญกิจ 21 ส.ค. 2555


 

อีกเพียง 2 ปีเศษประเทศอาเซียนก็จะเริ่มต้นสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC (ASEAN Economic Community)ในวันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในภูมิภาคจากการเปิดเสรีการค้าธุรกิจภาคบริการการลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือได้อย่างเสรีในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ชาติเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวกันและเป็นฐานการผลิตร่วมที่มีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้ากับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

 

 

ภายใต้การคาดหมายว่าAECจะนำมาซึ่งการขยายตัวอย่างมากของอุตสาหกรรมธุรกิจ การลงทุน และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้นซึ่งหมายถึงความต้องการพลังงานและไฟฟ้าที่จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากกลุ่มประเทศอาเซียนได้มีการวางแผนด้านพลังงานร่วมกันภายใต้ชื่อ ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation (APAEC)มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 จนกระทั่งแผนล่าสุดคือฉบับปีพ.ศ.2553-2558 ซึ่งประเทศไทยเป็นประธานในการจัดทำ

 

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีทรัพยากรพลังงานมากและมีความหลากหลายกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติพลังน้ำและถ่านหิน โดยทางตอนเหนือคือพม่าลาวเวียดนามถือเป็นแหล่งที่มีศักยภาพสูงมากในเรื่องพลังน้ำโดยแต่ละประเทศมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำมากกว่า2 หมื่นเมกะวัตต์ ในขณะที่ทางตอนใต้คือมาเลเซียและอินโดนีเซียก็อุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันโดยอินโดนีเซียยังเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อีกด้วย

 

แหล่งพลังงานในกลุ่มประเทศอาเซียน

 

น้ำมัน

(ล้านบาเรล)

ก๊าซธรรมชาติ

(ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต)

ถ่านหิน

(ล้านตัน)

พลังน้ำ

(เมกะวัตต์)

อินโดนีเซีย

3,750

112.5

5,529

245,091

มาเลเซีย

5,357

82.4

4

26,256

บรูไน

1,200

12.4

-

-

เวียดนาม

4,700

7.7

150

34,247

ไทย

453

12.0

1,239

2,055

พม่า

50

20.8

2

39,726

ฟิลิปปินส์

138

3.3

316

5,365

ลาว

-

-

503

26,598

กัมพูชา

-

-

-

10,046

สิงคโปร์

-

-

-

-

 

ที่มา :เว็บไซต์กฟผ. http://www2.egat.co.th/apg/index.php?option=com_content&view=article&id=101&Itemid=483

หมายเหตุ : น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และ ถ่านหินเป็นปริมาณสำรองพิสูจน์แล้ว (Proved Reserves: P1)

 

สำหรับประเทศไทยเรามีทรัพยากรพลังงานในระดับปานกลางแต่มีอัตราการบริโภคพลังงานที่สูงเป็นอันดับ2 รองจากประเทศอินโดนีเซียอีกทั้งไทยยังเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์(ในอาเซียนมีเพียงไทยและสิงคโปร์ที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติ) แต่ทว่าสิงคโปร์เป็นการนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ ดังนั้นไทยเราจึงอยู่ในฐานะประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาตินำเข้ามากที่สุดในอาเซียน

 

APAEC เป็นแผนงานสำหรับความมั่นคงพลังงานโดยการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานพลังงานในภูมิภาคเข้าด้วยกัน รวมทั้งการสร้างนโยบายเพื่อเปิดตลาดพลังงานให้สามารถซื้อขายพลังงานระหว่างประเทศได้อย่างคล่องตัวโดยโครงการสำคัญที่กำลังดำเนินการคือ

 

1. โครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN  PowerGrid : APG) เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศโดยปัจจุบันมีโครงการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 16 โครงการก่อสร้างเสร็จแล้ว 3 โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการโดยคาดว่าจะเชื่อมโยงได้ครบทุกประเทศในปี ค.ศ.2020 (รายละเอียดดังแผนภาพ)

 

2. โครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน( Trans-ASEAN Gas Pipeline : TAGP) เพื่อส่งเสริมการค้าก๊าซธรรมชาติอย่างเสรีระหว่างประเทศสมาชิกปัจจุบันมีโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติ 8 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติความยาวรวม 2,300 กม. และมีแผนก่อสร้างเพิ่มอีก7 โครงการโดยใช้แหล่งก๊าซนาทูน่าของอินโดนีเซียเป็นแหล่งหลัก

 

                              

โครงการเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการพลังงานตามมาอย่างมากมาย โดยอ้างถึงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาค จากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อกันและสามารถซื้อขายพลังงานข้ามประเทศได้อย่าง สะดวกง่ายดายนอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือในด้านอื่นๆอีก5 โครงการได้แก่

 

1.       แผนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

2.       แผนการใช้พลังงานทดแทนในภูมิภาค

3.       การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน

4.       การวางนโยบายและแผนพลังงานภูมิภาค

5.       แผนความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์

 

โครงการเหล่านี้มีการอ้างถึงเป้าหมายอันสวยหรูว่าจะทำให้ประเทศในอาเซียนลดการใช้พลังงานในภูมิภาคลงได้ 8% และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนได้ถึง 15% ของกำลังผลิตทั้งหมดในภูมิภาครวมทั้งจะเป็นการผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนในทวีปเอเชียอีกด้วยอย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้เป้าหมายที่กล่าวมายังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นจริงได้อย่างไร

 

ที่น่าสังเกตคือเราจะเห็นได้ว่าความร่วมมือทั้ง 7 โครงการของอาเซียนเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทุกรูปแบบทั้งก๊าซธรรมชาติพลังน้ำ(เขื่อน) ถ่านหินนิวเคลียร์รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนโดยมีโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าและท่อส่งก๊าซที่เชื่อมถึงกันหมดคำถามก็คือทั้งหมดนี้มีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างความมั่นคงพลังงานในภูมิภาคหรือการ “เปิดตลาดพลังงาน” มากกว่ากัน

 

            เนื่องจากประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางภูมิภาคและต้องการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานระหว่างประเทศ (โดยประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการคิดค่าบริการทั้งการส่งกระแสไฟฟ้าและค่าผ่านท่อของก๊าซธรรมชาติ) โครงการสายส่งไฟฟ้าอาเซียนและท่อส่งก๊าซอาเซียนจึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยคาดหวังให้เกิดขึ้นมากกว่าประเทศอื่นใด แต่เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นจริงๆแล้วก็ยังเป็นคำถามเนื่องจากทางตอนเหนือทั้งพม่าลาวเวียดนามต่างก็มีแหล่งพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศอยู่มหาศาลทำให้มีความจำเป็นค่อนข้างน้อยที่จะนำเข้าจากต่างประเทศในขณะที่ทางตอนใต้มาเลเซียและอินโดนีเซียต่างก็มีก๊าซธรรมชาติอยู่มากมายทั้งยังมีศักยภาพพลังน้ำอีกจำนวนมากจะมีก็แต่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมากในขณะที่ทรัพยากรภายในประเทศมีอยู่น้อยดังนั้นการซื้อไฟฟ้าผ่านสายส่งไฟฟ้าอาเซียนก็คงจะมีไทยเป็นลูกค้าหลัก

 

            อย่างไรก็ตามสายส่งไฟฟ้าอาเซียนอาจไม่ได้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยเสมอไปยกตัวอย่างเช่นปัจจุบันไทยซื้อไฟฟ้าจากลาวโดยไม่มีการแข่งขันแต่ถ้าหากมาเลเซียหรือประเทศอื่นๆต้องการซื้อไฟฟ้าจากลาวหรือพม่าโดยให้ราคาสูงกว่าไทยการแข่งขันก็จะเกิดขึ้นและสุดท้ายไทยก็อาจต้องซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศในราคาที่แพงขึ้นเป็นต้น

 

            ความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียนจะเกิดผลตามมาอย่างไร ณ ขณะนี้ก็ยังเป็นภาพที่ไม่แจ่มชัดนักแต่กระนั้นสิ่งที่คาดการณ์ได้อย่างหนึ่งก็คือประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นๆซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือไทยจะเป็นผู้ส่งออก “มลพิษ” ข้ามพรหมแดนจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับไทย  ซึ่งขณะนี้มีหลายโครงการที่กำลังริเริ่มเช่นโครงการเขื่อนไซยะบุรีและโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสาในประเทศลาวเป็นต้น

 

            การเกิดขึ้นของสายส่งไฟฟ้าอาเซียนอาจนำมาซึ่งสิ่งที่เราไม่เคยคิดฝันมาก่อนเช่นการซื้อไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ข้ามประเทศ การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในพม่าหรือกัมพูชาเพื่อขายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประเทศอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ในอนาคตทั้งนี้รวมไปถึงพลังงานอย่างถ่านหินหรือชีวมวลด้วย

 

            เมื่อเร็วๆนี้ปรากฎข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งเกี่ยวกับการร้องเรียนของชาวบ้านในอินโดนีเซียที่ได้รับผลกระทบจากการ เข้าไปลงทุนทำสวนปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซลของบริษัทในเครือปตท.ของไทยซึ่งมีเป้าหมายที่จะปลูกปาล์มในอินโดนีเซียถึง 1 ล้านไร่นี่คือปัญหาที่เริ่มปรากฎให้เห็นจากแนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางพลังงานทดแทนของทวีปเอเชีย

 

            การ “เปิดตลาดพลังงาน” อาเซียนภายใต้ข้ออ้างในการส่งเสริมความมั่นคงพลังงานในภูมิภาคสิ่งที่จะติดตามมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากก็คือ การเปิดประตูสู่การส่งออกมลพิษและการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนในหมู่ประเทศสมาชิก อาเซียนนั่นเอง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: