‘ปลอดประสพ’โอ๋รง.ญี่ปุ่นลงทุนต่อในไทย อ้างไปที่ไหนก็เจอน้ำท่วม-ฟุ้งป้องกันได้แน่ มาแปลก'ทำตึกขวางน้ำ-ผุดป่าดิบทั่วปท.'

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 20 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1537 ครั้ง

 

จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ เมื่อปี 2554 สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยจำนวนมาก รวมถึงความเสียหายกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทำให้ล่าสุดองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น  (ไจก้า) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ. ) จัดสัมมนา “การบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย” เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีก โดยมีนักวิชาการด้านการจัดการน้ำ จากทั้งไทยและญี่ปุ่น ร่วมเสนอแผนและความคิดเห็นต่างๆ พร้อมกับเชิญตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น มาร่วมรับฟัง ขณะเดียวกัน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางมาร่วมงานด้วย พร้อมกับบรรยายพิเศษด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘ปลอด’กล่อมนักลงทุนญี่ปุ่นให้ลงทุนต่อในไทย

 

 

นายปลอดประสพกล่าวภายหลังการเปิดงานว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องการขยายเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ผ่านมามีนักลงทุนจากนานาประเทศ เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการให้เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามพบว่า ประเทศที่มาลงทุนมากที่สุด คือนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ตั้งฐานการผลิตอยู่ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในจ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีอุตสาหกรรมของชาวญี่ปุ่นอยู่จำนวนมาก และประเทศไทยเองในฐานะของเจ้าบ้าน ก็จำเป็นจะต้องให้ความมั่นใจกับนักลงทุน ว่าจะสามารถลงทุนและดำเนินธุรกิจในประเทศได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับยันยันด้วยว่า จะไม่ยอมให้เกิดความเสียหายให้กับนักลงทุน และเศรษฐกิจของไทยอีก

 

 

ระบุหนีไปประเทศไหนก็เจอน้ำท่วม-ฟุ้งไทยป้องกันดีที่สุด

 

 

นายปลอดประสพกล่าวว่า หลังการฟื้นฟูประเทศขึ้นจากความเสียหายหลังเกิดเหตุน้ำท่วม รัฐบาลเชื่อว่า ต่อจากนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตขึ้นอีก 7-10 %  ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้ จะเป็นการยืนยันได้ว่าไทยมีความแข็งแข็งแกร่งขนาดไหน และคนไทยเป็นนักสู้มากเพียงใด สิ่งเหล่านี้เองที่เชื่อมั่นว่า จะเป็นเครื่องยืนยันในการสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่จะไม่ย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น หรือพื้นที่อื่นๆ เพราะเชื่อมั่นในแผนการป้องกันน้ำท่วมที่แข็งแกร่งของไทย ซึ่งถ้านักลงทุนต้องการมาลงทุนในประเทศในแถบเอเชียตะออกเฉียงใต้ ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่ดีที่สุด และมีความพร้อมมากที่สุด เพราะหากจะหนีไปเพราะกลัวน้ำท่วม เห็นว่าประเทศในแถบนี้ล้วนแต่ต้องพบกับเหตุการณ์น้ำท่วมทุกประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่ม ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมต่างๆ ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นเรื่องของฝน แต่อยู่ที่ว่าประเทศใดจะมีความสามารถในการดูแล ป้องกันปัญหาได้ดีกว่ากัน

 

และในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลเองเชื่อมั่นว่า สามารถทำได้แน่ ตอนนี้มีการทุ่มงบประมาณไปถึง 35,000,000 ล้านบาท มากกว่าการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิถึง 3 เท่า ในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม พร้อมกับตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) ขึ้นมา น่าจะเป็นการพิสูจน์ถึงการตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ปัญหาตอนนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                         “เพียงแค่การลงทุนเพื่อแก้ปัญหา หรือเยียวยาคงไม่พอ แต่ตอนนี้เราต้องก้าวไปข้างหน้าด้วย เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้คนไทยกลัวน้ำไปเลย ดังนั้นต้องทำให้คนไทยเห็นว่าน้ำเป็นมิตร เพราะอย่างไรก็ต้องอยู่กับน้ำอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อน้ำมาเราจะต้องคุมได้ และสามารถเอาน้ำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง คนไทยต้องชอบน้ำฝน ต้องชอบน้ำในเขื่อน ต้องหาวิธีอยู่กับน้ำให้ได้ ไม่ว่าใครให้ความรู้ คำแนะนำอะไร รัฐบาลจะนำมาพิจารณา ซึ่งเหล่านี้เป็นวิธีที่รัฐบาลคิด” นายปลอดประสพกล่าว

 

 

ยังโบ้ยรัฐบาลมาร์คทำน้ำท่วม แต่เปลี่ยนจาก NASA เป็น NOAA

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการบรรยายในครั้งนี้ นายปลอดประสพยังกล่าวถึงสาเหตุของการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา โดยอ้างถึง องค์กร NOAA หรือ National Oceanic and Atmospheric Administration ซึ่งเป็นองค์กรด้านการบริหารมหาสมุทรของสหรัฐอเมริกา โดยกล่าวว่า องค์กรนี้ออกมาให้ข่าวว่า สาเหตุของน้ำท่วมในปี 2554 เกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่แล้ว โดยรัฐบาลปัจจุบันได้เข้ามารับช่วงบริหารในเดือนสิงหาคม 2554 โดยตอนที่เข้ามานั้นพบว่า น้ำในเขื่อนมีระดับเก็บกักถึง 90 % ของความจุเขื่อน ขณะที่น้ำใต้เขื่อน คูคลองต่างๆ และป่าต้นน้ำเอง ก็ไม่มีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้อีกเพราะอยู่ในลักษณะของการอิ่มตัวเต็มที่ เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหาร ปรากฏว่ามีฝนตกลงมาอีก ทำให้น้ำเหนือเขื่อนมีปริมาณมากกว่า 30 %  และน้ำในปริมาณน้ำไม่สามารถเก็บไว้ได้เลย ต้องปล่อยให้ไหลออกไปทั้งหมด และจากขณะนั้นความจุน้ำในเขื่อนสิริกิติ์มีระดับเก็บกักถึง 105 %  มีความจำเป็นที่จะต้องปล่อยออก เพราะหากเก็บไว้ก็จะเป็นอันตราย รวมเป็นน้ำที่ปล่อยออกมาในปริมาณมาก ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2555

 

 

ระบุน้ำท่วมปี 54 หนักที่สุดในรอบพันปี ยอมรับแก้ไม่ได้แค่บรรเทา

 

 

นอกจากนี้หากพิจารณาน้ำใต้เขื่อนพบว่า มีปริมาณมากกว่าปกติอยู่ที่ 300 % พื้นที่รับน้ำเดิมที่เป็นทุ่งในภาคกลางก็เต็มไปด้วยน้ำทั้งหมด การคำนวณการเดินทางของน้ำ มีการบริหารผิดพลาดไปประมาณ 1 เดือน เป็นเพราะความไม่รู้ ทำให้ปัญหาน้ำท่วมเกิดหนักขึ้นโดยเฉพาะจ.พระนครอยุธยา ซึ่งเป็นที่ลุ่ม หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จะพบว่า พื้นที่นี้จะมีน้ำท่วมหนักอยู่แล้ว และสิ่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ของการสู้รบกับศัตรูในอดีต เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าตีเมืองอยุธยาของข้าศึก ทำให้ต้องถอยทัพกลับไป ประวัติศาสตร์ยังเขียนไว้ด้วยว่า เมื่อน้ำท่วมจะมีเนินที่น้ำท่วมไม่ถึง ข้าศึกต้องรออยู่บริเวณนั้นทั้งกองทัพจนทนไม่ได้และยกทัพกลับไป แต่ปรากฏว่าเมื่อมาถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 กลับปรากฏว่าเนินแห่งนั้นมีควายอาศัยอยู่ได้เพียง 3 ตัวเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นน้ำท่วมที่สูงกว่าในอดีต จึงนับได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่ร้อยปี แต่เป็นในรอบ 1,000 ปีที่เดียวหากเทียบย้อนไปในสมัยอยุธยา ดังนั้นจึงต้องยอมรับว่าน้ำท่วมมากจริง ๆ แก้ไขยาก ทำได้ในขณะนั้นคือเพียงการบรรเทาเท่านั้น

 

 

สร้างเขื่อน-ยกถนน มั่นใจน้ำไม่ท่วมแน่

 

 

                      “นั่นคือสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร แต่ตอนนี้รู้แล้ว ฉะนั้นปีนี้รัฐบาลจึงเตรียมการรับสถานการณ์น้ำไว้อย่างเต็มที่ โดยตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคมเป็นต้นไป จะมีการพร่องน้ำ 3 จุด คือ พร่องน้ำที่เขื่อน โดยเฉพาะที่เขื่อนภูมิพล กับเขื่อนสิริกิติ์ ที่ขณะนี้คุมปริมาณน้ำให้อยู่ที่ 45 % เพื่อให้เขื่อนมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำที่ท่วมประเทศไทยเมื่อปลายปี 2554  รวมทั้งได้เตรียมพื้นที่แก้มลิงไว้ 2.1 ล้านไร่ เป็นแก้มลิงในพื้นที่ชลประทาน 1.3 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทานอีก 8 แสนไร่ และจะมีการพร่องน้ำในทุกลำน้ำของประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำใต้เขื่อน ที่จะสามารถตัดน้ำ ไม่ให้เข้าสู่หัวเมืองสำคัญได้ในระดับหนึ่ง” นายปลอดประสพระบุ

 

 

 

นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า ในแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ยังเตรียมการเรื่องของการสร้างแนวป้องกันน้ำ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนในพื้นที่สำคัญในเมืองหลัก เช่น จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี  แม้เชื่อว่าจะมีการต่อต้านจากเอ็นจีโอ และประชาชน รัฐบาลก็ต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นเรื่องของระบบการป้องกัน แต่หากไม่ต้องการให้เกิดน้ำท่วมอีก รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องทำ ซึ่งขณะนี้ได้สร้างเขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมแล้ว การดำเนินการมีความคืบหน้าไปมาก สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีการยกแนวถนนขึ้นมาเป็นเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำ โดยใช้ถนนบริเวณรอบๆ กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 500 กิโลเมตร ในการดำเนินการทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่เคยมีการทำเขื่อนป้องกันน้ำไว้ก่อน เมื่อน้ำมาก็เข้าถึงทันที ในขณะเดียวกันก็จะมีการใช้ถนนในรอบกรุงเทพฯประมาณ 500 กิโลเมตร ยกขึ้นเป็นแนวเขื่อนเพื่อกั้นน้ำ

 

 

อ้างเขื่อนที่มีอยู่กันน้ำท่วมไม่ได้ต้องสร้างเพิ่มอีก

 

 

ทั้งนี้ในประเด็นของการสร้างเขื่อน รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังแสดงความคิดเห็นด้วยว่า จากข้อมูลในการสร้างเขื่อนของประเทศไทย ไม่เคยพบเลยว่า มีการสร้างเขื่อนเพื่อจุดประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่เขื่อนที่กรมชลประทานสร้างขึ้นทั้งหมด ล้วนเป็นเขื่อนที่ใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเกษตรกรรมทั้งสิ้น ทำให้มีแต่ระบบการส่งน้ำ แต่ไม่ได้มีระบบสำหรับการระบายน้ำ เมื่อมีน้ำจำนวนมากจึงไม่สามารถระบายน้ำได้ เพราะใช้เส้นทางส่งน้ำเป็นเส้นทางระบายน้ำ ดังนั้นจึงจะต้องมีการเพิ่มเขื่อนเพื่อการป้องกันน้ำท่วมขึ้นอย่างแน่นอนในทุกพื้นที่ แม้จะมีการต่อต้านของเอ็นจีโอ หรือประชาชน ก็ต้องทำความเข้าใจ

 

นอกจากนี้ยังจะต้องรื้อประตูน้ำ ที่สร้างขึ้นมาในอดีตนี้ทั้งหมด เพราะระบบประตูระบายน้ำแบบประตูบานเดียวไม่สามารถป้องกันน้ำปริมาณมากและแรงได้ ทำให้ประตูน้ำพังเสียหายหลายแห่งเมื่อน้ำมา จึงต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ขณะเดียวกัน จะต้องมีการทำฟลัดเวย์ (Flood way) ด้านตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพเพื่อแบ่งน้ำไปลง อ่าวไทย แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง โดยจะมีการเชื่อมคู คลองธรรมชาติทุกสายให้ต่อกันหมด ให้สามารถควบคุมน้ำระบายน้ำได้



 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มาแปลกจะแก้ผังเมือง สร้างตึกขวางทางน้ำ

 

 

นอกจากนี้ นายปลอดประสพยังบรรยายต่อถึงแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยกล่าวว่า นอกจากสร้างเขื่อนในพื้นที่สำคัญต่าง ๆ ของการป้องกันน้ำแล้ว เรื่องของผังเมืองยังเป็นประเด็นสำคัญ ที่จะต้องนำมาใช้ในการพิจารณาด้วยเช่นกัน เพราะเห็นว่าจะสามารถนำมาใช้ในการต่อสู้ป้องกันน้ำได้ โดยเฉพาะการออกแบบผังเมืองให้สอดคล้องกับการป้องกันน้ำท่วม นอกเหนือจากการพิจารณาเพียงการออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่และระบบต่างๆ ของประเทศเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างตึกอาคาร ขวางทางน้ำไว้ หรือสร้างเป็นกำแพง ที่สามารถกั้นน้ำไว้ได้ โดยเฉพาะในเมืองสำคัญๆ ที่เป็นทางผ่านของน้ำ เช่น อ.เมืองนครสวรรค์ อุทัยธานี หรือพระนครศรีอยุธยา ที่จะต้องเร่งทำเขื่อนล้อมรอบป้องกันเอาไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับการลงทุน ซึ่งจะต้องกลับมาพิจารณาว่า จะทำอย่างไรได้บ้าง ในการออกแบบผังเมืองในอนาคต ขณะนี้ได้คณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อวางยุทธศาสตร์วางผังเมืองใหม่ ป้องกันน้ำให้ได้ เพราะปัจจุบันปัญหาที่พบมากคือ หลังจากน้ำท่วมแล้ว ประชาชนกลัวน้ำจึงพยายามที่จะสร้างบ้านหนีน้ำ มีการถมดินยกสูงกันตามใจ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในอนาคตได้ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำในอนาคต ก็คือการออกกฎหมายห้ามถมดินยกพื้นโดยไม่รับอนุญาต ใครต้องการจะถมที่ดินให้สูงขึ้นจะต้องมาขออนุญาตตามกฎหมาย ที่จะมีการกำหนดเรื่องความสูงของแต่ละพื้นที่เพื่อไม่ให้มีผลกับเรื่องน้ำท่วม

 

 

เนรมิตป่าทั่วประเทศให้เป็นป่าดิบเหมือนกันทั้งหมด

 

 

สำหรับประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในการกล่าวบรรยายของนายปลอดประสพครั้งนี้ ยังกล่าวถึงนโยบายเรื่องป่าต้นน้ำ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาปัญหาหนึ่งที่ทำให้ปริมาณน้ำที่เกิดจากน้ำฝน ที่ตกลงมามีมากเกินความสามารถในการรับน้ำของดิน มีสาเหตุจากป่าต้นน้ำไม่สามารถดูดซับน้ำไว้ได้ เพราะป่าในเมืองไทยที่ถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ส่วนใหญ่เป็น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ฯลฯ ที่มีรากตื้นไม่ดูดซับน้ำเหมือนกับกลุ่มป่าดิบ ดังนั้นตอนนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 10,000 ล้านบาท ในการปลูกป่าใหม่ โดยจะเปลี่ยนจากป่าที่ไม่ดูดซับน้ำเป็นป่าซับน้ำ คือป่าดิบทั้งหมด ใช้เวลา 25 ปีก็จะเห็นผล และจะเริ่มต้นในการเปลี่ยนป่าใหม่ครั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมนี้ เป็นการนำชนิดต้นไม้ป่าดิบ ไปปลูกแทนป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ซึ่งหากทำสำเร็จ จะสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 35,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

 

 

 “เราสังเกตได้ ถ้าหากฝนตกลงมาแล้วน้ำในลำธารมีปริมาณมาก แสดงว่าป่าไม่ซับน้ำแล้ว ถ้าเป็นป่าที่ดีจะต้องดูดซับน้ำให้ไว้ได้ ทำให้ไม่มีน้ำเหลือไหลลงมาในลำธาร ดังนั้นเราจะต้องเปลี่ยนป่าในประเทศไทยให้เป็นป่าดิบ เพื่อจะสามารถดูดซับน้ำไว้ได้ ผมเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ เคยไปดูต้นกล้าของกรมป่าไม้ เขาปลูกกล้าพวกขนุน อะไรพวกนี้ ผมถามว่าทำไมต้องปลูกต้นไม้แบบนี้ เขาบอกว่าเอาไว้แจก แต่มันไม่มีประโยชน์ในการช่วยดูดซับน้ำในป่าต้นน้ำ ต่อจากนี้ไปจะเปลี่ยนทั้งหมด” นายปลอดประสพกล่าว

 

รมว.วิทยาศาสตร์ฯกล่าวว่า ระบบที่รัฐบาลสร้างมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เราดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีทั้งการใช้ธรรมชาติ และสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจ และแสดงถึงความจริงใจในการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล ขณะที่คนไทยก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น” นายปลอดประสพกล่าว

 

 

ไจก้าติงระบบพยากรณ์อากาศไทยไร้ประสิทธิภาพ

 

ด้านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น  หรือ ไจก้า โดยศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยและความเสียหายจากน้ำ หรือไอชาร์ม เปิดเผยผลการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย โดยผลการศึกษาเห็นว่า แนวทางสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาน้ำปริมาณมากในพื้นที่คือ การระบายน้ำผ่านแก้มลิง และการทำทางระบายน้ำ มากกว่าการทำพนังกั้นน้ำหรือเขื่อนริมตลิ่ง เพราะการสร้างเขื่อนหรือกำแพง จะทำให้บางจุดมีน้ำท่วมสูง และจะส่งผลในระยะยาวกับชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งการทำฟลัดเวย์ การทำแก้มลิงดังกล่าว เสนอว่ารัฐบาลไทยควรมองไปที่จุดสำคัญ 3 จุดใหญ่ ได้แก่ พื้นที่ จ.ชัยนาท ซึ่งจะรับน้ำได้ที่ 2 เมตร พื้นที่ จ.อยุธยารับน้ำได้ 1.10 เมตร ในขณะที่ พื้นที่บางไทร รับน้ำได้ 1.30 เมตร โดยใช้วิธีแบ่งน้ำจากตอนบนที่จ.นครสวรรค์ ออกเป็น 2 ทาง คือ แม่น้ำชัยนาท-ป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน ซึ่งจะสามารถทดแทนการกระจุกตัวที่เจ้าพระยาได้ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ความเร็วกระแสน้ำประมาณ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

 

 

อย่างไรก็ตามไจก้าระบุว่า ขณะนี้ปัญหาสำคัญของประเทศไทยอยู่ที่การพยากรณ์อากาศในระยะเดือน ที่ยังไม่ละเอียดแม่นยำ ซึ่งในส่วนของไจก้าที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ยาก ข้อมูลทั้งหมดจังจำเป็นที่จะต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมชลประทาน นำข้อมูลมาทำแบบทดลองตัวอย่าง เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจน ทั้งนี้เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลไทยที่มีการจัดศูนย์บริหารจัดการน้ำ  ที่รวบรวมองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องไว้รวมกัน จะช่วยให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศญี่ปุ่นใช้บริหารจัดการน้ำประสบความสำเร็จมาแล้ว 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: