กทม.แจงเปิดพิพิธภัณฑ์เด็กล่าช้า สัญญามัด-หนุนเงินบริหารไม่ได้ ระบุเคยให้40ล้านจนถูกสตง.สอบ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 20 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1778 ครั้ง

 

พิพิธภัณฑ์เด็กแห่งที่ 1 ตั้งอยู่ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ใกล้กับตลาดนัดซันเดย์ ประกาศปิดปรับปรุงมาตั้งแต่ 9 มกราคม 2553 โดยเบื้องต้นกำหนดว่าจะเปิดให้ทันวันเด็กปี 2554 แต่ไม่สามารถเปิดได้ทันตามกำหนด มีการติดประกาศกำหนดเปิดใหม่อีกครั้ง เลื่อนเป็นมิถุนายน 2555 อย่างไรก็ตาม จวนจะสิ้นปี 2555 แล้ว แม้แต่การปรับปรุงที่ว่าก็ยังไม่เกิดขึ้น

 

จากการตรวจสอบของศูนย์ข่าว TCIJ พบว่า เกิดจากการติดกรอบ ระบบบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ทำให้การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กไม่คืบหน้า ตั้งแต่การขาดความเข้าใจด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ความล่าช้าของระบบ ที่จนป่านนี้ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะใช้รูปแบบการบริหารแบบไหน แม้ว่าจะมีความพยายามผลักดันจากเจ้าหน้าที่ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม.

 

รวมถึงเรื่องราคากลาง ซึ่งส่วนนี้แม้จะมีความคืบหน้าและอยู่ในขั้นตอนหาผู้ประมูล แต่แหล่งข่าวที่เป็นผู้รู้ในด้านการออกแบบและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์อธิบายว่าอาจทำให้ชุดนิทรรศการและแหล่งเรียนรู้คุณภาพลดลง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พิพิธภัณฑ์เด็กโฉมใหม่ Learning for Young Creative Mind

 

 

การปิดปรับปรุงและพัฒนาชุดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งที่ 1 ครั้งนี้อยู่ภายใต้แนวคิด Learning for Young Creative Mind ซึ่งประกอบด้วยการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) เน้นการตั้งคำถาม การแสดงตัวอย่างที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ การบูรณาการเชื่อมโยงความรู้หลายสาขาเข้าด้วยกัน (Multi-Disciplinary) การให้ความรู้แบบไม่สำเร็จรูป เพื่อให้เด็กคิดต่อหรือทำต่อ โดยมีที่ว่างให้เด็กเติมเต็ม มีการแข่งขันและการร่วมมือกันทำ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนรู้และทำกิจกรรมได้นำเสนอผลงาน ได้ต่อยอดความคิด

 

ชุดนิทรรศการที่จะได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมในครั้งนี้ เช่น Creative Science ห้องทดลองวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์ Inventor’s Club กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์สู่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ บริษัท แปลน โมทิฟ จำกัด ในกลุ่มบริษัทรักลูก เป็นผู้ออกแบบแนวความคิดและแปลงแนวความคิดให้เป็นชุดนิทรรศการ

 

ศิริพร ผลชีวิน ผู้อำนวยการจัดการ รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์ บริษัทแม่ของบริษัท แปลน โมทิฟ อธิบายขั้นตอนการทำงานว่า เมื่อทางบริษัทได้โจทย์มาสิ่งที่ต้องพิจารณาอันดับแรกคือผู้ส่งสารคือใคร สารหรือข้อมูลที่ต้องการส่งคืออะไร และใครคือผู้รับสาร เมื่อทั้ง 3 คำถามนี้ชัดเจนจึงนำมาออกแบบเรื่องราว (Story) และวิธีการเล่าเรื่องที่จะสามารถสื่อกับกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด

 

 

               “เราทำการศึกษาเรื่อง Young Creative เป็นอันดับแรก แล้วก็ต้องศึกษาตัวพิพิธภัณฑ์เด็กเอง กทม. ให้โจทย์ลักษณะรีโนเวท ไม่ใช่การรื้อสร้างใหม่ อาคารเป็นอาคารเดิมกับตัวนิทรรศการ งบประมาณมีไม่มาก หลายตัวยังใช้ได้ แต่อาจจะต้องทำหน้าตากับเรื่องราวใหม่เพิ่มเติม เราจึงศึกษาที่ตัวกายภาพของอาคารก่อน ตรวจดูว่าสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร นิทรรศการเดิมตัวไหนใช้ได้ ใช้ไม่ได้ จากนั้นจึงศึกษาเรื่องของเด็ก วิธีการเรียนรู้ของเด็ก เรียนรู้แบบไหน แล้วมาดูว่าอะไรจะกระตุ้นความสนใจการเรียนรู้ของเด็ก และกระบวนการเรียนรู้ของเด็กควรจะเป็นแบบไหน และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กควรจะเป็นอย่างไร” ศิริพรอธิบาย

 

 

งานชิ้นนี้ศิริพรกล่าวว่า ใช้เวลาทำงานประมาณ 12-18 เดือน โดยเริ่มทยอยส่งงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 แล้วเสร็จประมาณต้นปี 2554

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กทม.แจงล่าช้าเพราะมีการขอคืนพื้นที่ จนต้องปรับแบบใหม่

 

 

แต่แม้ว่าแบบดังกล่าวจะแล้วเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2554 การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กกลับยังไม่มีการดำเนินการ มานิต เตชอภิโชค ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. ชี้แจงว่า

 

 

               “เหตุที่ล่าช้าเพราะเรื่องของงบประมาณ เรื่องทีโออาร์ ของเดิมอาจจะมีจุดอ่อนหลายข้อ ถูกตำหนิติติงว่าไม่เปิดกว้าง อีกเรื่องคือทีโออาร์เดิม เนื้องานเดิมครอบคลุมพื้นที่ของมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ แต่เนื่องจากทางมูลนิธิฯ ขอพื้นที่คืนประมาณ 470 ตารางวา ทำให้ต้องตัดส่วนนี้ทิ้ง เพราะของเดิมมันรวมอยู่ด้วยจึงต้องทำทีโออาร์ใหม่”

 

 

เดิมทีการออกแบบแนวความคิดพิพิธภัณฑ์เด็ก และการถอดแบบเป็นสิ่งปลูกสร้างและนิทรรศการ เป็นการออกแบบภายใต้เงื่อนไขพื้นที่แต่เดิมของพิพิธภัณฑ์เด็ก และมีการจัดทำข้อกำหนดและขอบเขตการจ้างหรือทีโออาร์ (Terms of Reference: TOR) เรียบร้อยแล้ว แต่ภายหลังเมื่อมูลนิธิสวนสมเด็จฯ ขอพื้นที่ 470 ตารางวาคืน ทำให้ต้องมีการปรับแบบและทำทีโออาร์ใหม่ จึงเป็นเหตุให้การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กล่าช้า

 

 

            “และที่ยังไม่ได้ผู้รับเหมา เพราะเมื่อทีโออาร์เปิดกว้างมาก ทำให้มีจุดที่ผู้สนใจท้วงติงมาว่า อาจจะไม่ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ อาจจะทำให้ไม่ได้ตามคอนเซ็ปต์ แต่ปัญหาก็คือ หากยึดคอนเซ็ปต์ที่ออกมาเป๊ะ ๆ ก็จะเหมือนการล็อกสเปค ทางฝ่ายกฎหมายจึงท้วงมา อีกทั้ง สตง. (สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน) ก็เคยตั้งกรรมการสอบพิพิธภัณฑ์เด็กไว้ ยังสอบอยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยมีความสุขที่จะขับเคลื่อน กลัว หวาดระแวง ทำให้งานนี้ขับเคลื่อนได้ช้า” มานิตกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของกองวัฒนธรรมมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงช่วงก่อนหน้ามีการปรับกฎระเบียบของทางราชการ ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้แก่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างมาก แหล่งข่าวในกทม.กล่าว

 

 

สัญญามัด ทำให้กทม.อุดหนุนเงินพิพิธภัณฑ์เด็กไม่ได้

 

 

ส่วนประเด็นเงินอุดหนุนที่ระบุว่า กทม. ไม่เคยให้เงินอุดหนุนในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์เด็กเลยนั้น แหล่งข่าวในกทม.ชี้แจงว่า เป็นเรื่องจริงที่ทางกทม. ไม่เคยให้เงินสนับสนุนรายปี สำหรับการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์เด็กเลย ทั้งนี้เป็นเพราะสัญญาการโอนสิทธิดูแลให้แก่มูลนิธิพิพิธภัณฑ์เด็กตั้งแต่ต้น ระบุให้มูลนิธิฯ เป็นผู้จัดการเองทั้งหมด แล้วทางมูลนิธิฯ ได้มอบสิทธิให้แก่บริษัทรักลูกเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ส่งมอบให้แก่ กทม.

 

 

              “ช่วงปี 2552 ผู้บริหาร กทม. ชุดใหม่เข้ามา (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ารับตำแหน่ง 11 มกราคม 2552) ได้ไปเยี่ยมชมการทำงานของพิพิธภัณฑ์เด็ก ซึ่งทางนั้นคงร้องเรียนเรื่องรายจ่ายของพิพิธภัณฑ์เด็กมา ทางผู้บริหาร กทม. เห็นว่าจะเป็นผลงานจึงอนุมัติงบประมาณ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายให้ 40 ล้านบาท ในเดือนกันยายน 2552 แต่ปรากฏว่าติดข้อสัญญาที่ทางกทม.ทำกับทางมูลนิธิฯ ไว้ เงิน 40 ล้านจึงไม่สามารถนำไปใช้ได้”

 

 

เผยกทม.เคยให้ 40 ล้าน แต่ใช้ไม่ได้จนถูกสตง.สอบ

 

 

พอถึงช่วงปลายปี 2552 ต่อต้นปี 2553 จากการที่ไม่สามารถหารายได้เพียงพอ จึงเป็นเหตุให้มูลนิธิฯ ไม่สามารถบริหารพิพิธภัณฑ์เด็กต่อไปได้ และต้องโอนสิทธิคืนให้กับกทม. ในวันที่ 10 มกราคม 2553 เมื่อสิทธิในพิพิธภัณฑ์เด็กกลับมาอยู่ในมือกทม.แล้ว กทม.จึงนำเงิน 40 ล้านบาทข้างต้น มาศึกษาสำหรับการปรับปรุง (Renovate) พิพิธภัณฑ์เด็กทั้งสองแห่ง คือที่จตุจักรและทุ่งครุ งบประมาณส่วนหนึ่ง นำไปใช้จัดกิจกรรม จ้างพนักงานทำความสะอาด และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย สำหรับทำความสะอาดและดูแลสถานที่

 

โดยในส่วนของการออกแบบ เพื่อปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กทั้งสองแห่ง ในส่วนของพิพิธภัณฑ์เด็กที่จตุจักร กทม. ได้ว่าจ้างบริษัท แปลน โมทิฟ ดังที่กล่าวไปแล้ว ส่วนพิพิธภัณฑ์เด็กที่ทุ่งครุ กทม. จ้างสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ออกแบบแนวความคิด และให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ถอดแบบออกมาเป็นชุดนิทรรศการ

 

เหตุการณ์นี้เองที่เป็นเหตุให้ สตง.เข้ามาตรวจสอบการใช้เงิน 40 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวใน กทม. กล่าวว่า ทางกทม.ได้ชี้แจงรายละเอียดและการตรวจสอบสิ้นสุดลงแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เผยพื้นที่ขอคืน ไม่กระทบการปรับปรุง ไม่ควรเป็นเหตุให้ล่าช้า

 

 

ประเด็นความล่าช้าอันเนื่องมาจากการที่ทางมูลนิธิสวนสมเด็จฯ ขอพื้นที่คืน แหล่งข่าวคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า การขอพื้นที่คืนไม่ได้กระทบต่อการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กมากนัก เนื่องจากงานส่วนใหญ่อยู่ในอาคารและบริเวณรอบ ๆ ซึ่งอยู่ในเขตรั้วของพิพิธภัณฑ์เด็ก

 

 

             “ข้างหลังพิพิธภัณฑ์เด็ก รอยต่อระหว่างด้านหลังกับที่จอดรถ มีพื้นที่หนึ่งเป็นเต็นท์อยู่เดิม เป็นที่กินข้าว ตรงนั้นในแผนต้องรื้อด้วย แล้วสร้างเป็นอาคารโรงอาหาร ย้ายร้านอาหารไปอยู่ในนี้ทั้งหมด ปรับภูมิทัศน์ให้มีพื้นที่พักคอยของผู้ปกครอง เพราะที่ผ่านมาไม่มี ซึ่งที่ตรงนี้เป็นที่ของมูลนิธิสวนสมเด็จฯ แต่มูลนิธิสวนสมเด็จฯ ขอคืน แต่ตัวอาคารนี้ค่อนข้างแยกออกไป สามารถรีโนเวทตัวพิพิธภัณฑ์ไปก่อนได้ เพราะส่วนนี้ไม่มีปัญหากับการปรับปรุงภายใน เป็นแค่โรงอาหาร ไม่สร้างก็ได้ แม้ว่าจะไม่ได้ที่ก็ไม่ต้องออกแบบใหม่ เพียงแต่ส่วนนี้จะไม่ได้สร้าง ซึ่งทางกทม.ก็ไม่ได้ส่งแบบกลับมาให้เราดูใหม่ ว่าจะสร้างโรงอาหารเข้าไปข้างในเลยได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้ เพราะพื้นที่พิพิธภัณฑ์เด็กมันเต็มแล้ว”

 

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จากเหตุผลข้างต้น จึงไม่คิดว่าการเรียกคืนพื้นที่จะเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็ก แต่ในเชิงการบริหารจัดการของทาง กทม. อาจจำเป็นต้องมีพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับเด็กและผู้ปกครอง จึงอาจทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ จึงทำให้เกิดปัญหา

 

 

งบถูกตัดมากกระทบคุณภาพชุดนิทรรศการ

 

 

เดิมทีงบประมาณการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กถูกกำหนดที่ 120 ล้านบาท แต่ถูกตัดลดครั้งแรกเหลือ 90 ล้านบาท ซึ่งการตัดลดครั้งแรกนี้ตัวโรงอาหารยังคงอยู่ ภายหลังเมื่อต้องตัดพื้นที่ส่วนโรงอาหารออกไป งบประมาณจาก 90 ล้านบาทจึงถูกตัดลงอีกครั้งเหลือเพียง 70 ล้านบาท งบประมาณที่หายไปถือว่ามีผลต่อการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็กอย่างมาก

 

 

              “เวลาที่คนออกแบบออกแบบ มันมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือตัวสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องติดตั้งให้เรียบร้อย อีกส่วนคือตัวกิจกรรม ซึ่งจะเกิดฐานกิจกรรมเมื่อเริ่มดำเนินงาน หลายกิจกรรมคนออกแบบเขาคิดไว้เพื่อให้การบริหารในปีแรก ๆ ไม่มีปัญหา เพราะการทำพื้นที่การเรียนรู้ในลักษณะลงมือปฏิบัติ จะต้องมีกิจกรรม เช่น การสร้างห้องครัวไทยให้เด็กเป็นครีเอทีฟคิทเช่น ฉะนั้น ต้องให้เด็กทำกับข้าว ก็จะมีสิ่งปลูกสร้าง เช่น ติดกราฟฟิก วิดีโอที่พูดถึงอาหาร แต่ในทางปฏิบัติต้องมีกิจกรรมที่เด็กได้ทดลองปรุงอาหาร หรือนำวัตถุดิบมาครีเอท แต่ถ้าไม่จัดกิจกรรมเลย มันก็จะไม่แอ็คทีฟ ซึ่งงบที่ตัดออกไปอาจทำให้กิจกรรมส่วนนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้”

 

 

 

งบประมาณก้อนแรก 120 ล้านบาทสำหรับพื้นที่ที่ต้องปรับปรุง 3 ส่วนคือตัวอาคาร ภูมิทัศน์โดยรอบ และชุดนิทรรศการ โดยงบประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์จัดไว้สำหรับส่วนที่ 3 แต่ในรายละเอียดเมื่อกทม.ตัดงบแล้ว พบว่า ส่วนของชุดนิทรรศการถูกตัดออกมากที่สุด ซึ่งแหล่งข่าวสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะบางกิจกรรมอยู่ในวิสัยที่กทม.จะตั้งงบประมาณเพิ่มเติมภายหลังได้หากงบประมาณแรกมีปัญหา ซึ่งคงกระทบต่อตัวนิทรรศการบ้าง

 

ในทางปฏิบัติเวลาดำเนินการก่อสร้าง อาจต้องมีการลงรายละเอียด เพราะการออกแบบนิทรรศการไม่ว่าที่ไหนจะไม่สมบูรณ์ในทีเดียว แต่มักจะมีการปรับอีกเล็กน้อยระหว่างการก่อสร้าง เพราะฉะนั้นงบประมาณจะถูกตีเผื่อไว้เล็กน้อย แต่พอไปเทียบราคากลาง ชุดนิทรรศการจะกระทบมากที่สุด

 

 

พิพิธภัณฑ์ไม่เก็บรายละเอียด เด็กอาจไม่ปลอดภัย

 

 

                “พวกที่รับเหมาก่อสร้างเขาจะดูออกว่า ถ้าทำฝ้าเพดานก็ต้องเท่านี้แหละ แต่เขาไม่ได้สนใจว่าฝ้าเพดานมันมีรายละเอียด ไม่ทำรายละเอียดก็ได้ มันก็แค่สวยน้อยลงหน่อย ก็ต้องไปปรับแบบ เวลาคนออกแบบคิดก็มองว่า มันต้องเป็นพื้นที่ที่รื่นรมย์ ฝ้าเพดานอาจมีการเล่นระดับนิดหน่อย ถ้าไม่เอามันก็เป็นฝ้าเพดานธรรมดา ต้องไปดูงบประมาณในท้ายที่สุดอีกที” แหล่งข่าวยกตัวอย่าง

 

ทว่ารายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มองว่าไม่สำคัญ สำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้แล้วกลับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการออกแบบแหล่งเรียนรู้นั้นถูกคิดมาทั้งหมดในลักษณะที่เรียกว่า แพ็กเกจ รายละเอียดแต่ละส่วนจึงมีความสำคัญต่อภาพรวมของการเรียนรู้ทั้งหมด ประเด็นสำคัญก็คือยิ่งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก ยิ่งต้องมีรายละเอียดที่สอดคล้องกับความเป็นเด็กโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย

 

 

                “อย่างเรื่องเก้าอี้ ถ้าคุณคิดว่าเก้าอี้ที่ผู้ใหญ่นั่งเด็กก็นั่งได้เหมือนกัน ไม่จริง เพราะเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก เด็กก็คือเด็ก มันต้องเฉพาะสำหรับเด็ก เก้าอี้ตัวนี้เด็กนั่งอาจจะหกคะเมน ไม่พอดี นั่งแล้วไม่สบาย เรียนรู้ไม่ได้ดี เพราะมันไม่เหมือนกัน ตรงนี้จึงเป็นจุดสำคัญ มันบอกความตั้งใจตั้งแต่ตรงนี้แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ยิ่งล่าช้างานที่ออกแบบไว้อาจล้าสมัย

 

 

ความล่าช้าในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เด็ก ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง ไปถึงความล้าสมัยของชุดนิทรรศการ

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ออกแบบชุดนิทรรศการการเรียนรู้ จำเป็นต้องคิดคำนวณว่า ตัวงานจะเสร็จสิ้นเมื่อใด เพื่อให้ชุดนิทรรศการหรือกิจกรรมสอดคล้องกับช่วงเวลาหรือยุคสมัย ยิ่งเป็นนิทรรศการที่มีประเด็นหลักเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ รายละเอียดตั้งแต่ตัวสิ่งปลูกสร้าง การตกแต่งภายในถือเป็นองค์ประกอบโดยรวมที่มีผลในแง่บรรยากาศ

 

แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นนี้ แน่นอนว่าจะทำให้ชุดนิทรรศการหรือกิจกรรมบางตัวล้าสมัย แม้ว่าในส่วนที่เป็นฐานความรู้จะไม่ล้าสมัย เพราะเป็นธรรมชาติของการเรียนรู้ตามขั้นตอนของเด็กก็ตาม

 

นอกจากนี้ ความล่าช้ายังอาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตในอนาคต ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์เด็กในระยะยาวและก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อเด็กๆ ที่เข้ามาใช้บริการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: