ญาติเหยื่อมัสยิดกรือเซะประท้วง รับไม่ได้เกณฑ์เยียวยา4ล้าน

ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนภาคใต้ (DSJ) 20 มิ.ย. 2555


 

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่หน้ามัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและชาวมุสลิม ที่บริเวณมัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ประมาณ 60 คน มาชุมนุมกันที่ลานด้านหน้ามัสยิด เพื่อประท้วงความไม่เป็นธรรมในการตั้งหลักเกณฑ์การเยียวยาในกรณีนี้

นางแสนะ บูงอตันหยง ญาติผู้เสียชีวิต แถลงว่า ญาติของผู้ที่สูญเสียไม่สามารถรับมติของคณะกรรมการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบสืบสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งลงมติให้เงินเยียวยากรณีมัสยิดกรือเซะรายละ 4 ล้านบาท โดยอ้างว่ามีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ จึงได้ตัดจำนวนที่เหลือ 3.5 ล้านบาทออกไป

 

                     “เวลาผ่านมา 8 ปี มีหน่วยไหนมาถามบ้างไหม แผลที่จะหายแล้วยังมาสะกิดอีก ถามว่าถ้าเป็นญาติของคณะจะมีความรู้สึกอย่างไร คำพูดที่ว่าได้ 4 ล้านก็พอแล้ว คำพูดคำนี้ยังติดใจของบรรดาญาติผู้เสียชีวิตจนวันตาย ก็ยังไม่ลืมคำนี้” นางแสนะกล่าว

 

ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2555 ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 กรณีมัสยิดกรือเซะ เป็นรายละ 4 ล้านบาท โดยจะให้สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ 3 คน และชาวบ้านมุสลิมอีก 32 คน ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนกรณีสะบ้าย้อย มีมติจ่ายเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท ให้กับชาวบ้านมุสลิม 19 คนที่เสียชีวิต ในกรณีอื่นๆ ที่มีการปะทะในวันเดียวกันยังไม่มีมติออกมา

 

                    “ผลจากการพิสูจน์สถานที่เกิดเหตุ ไม่พบอาวุธสงครามที่ประสงค์แก่ชีวิตของเจ้าหน้าที่ พบแต่มีด ดาบ และหนังสติ๊กเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าภาครัฐไม่ได้ยึดถือมาตรฐานสากล ในการควบคุมตัวผู้ที่อยู่ในมัสยิดกรือเซะ” นางแสนะอธิบาย

 

ตัวแทนญาติผู้สูญเสียยังได้ระบุว่าการกระทำครั้งนี้สิ่งที่รัฐทำกับกลุ่มเยาวชนคือใช้อาวุธสงครามมีทั้งปืนเอ็ม 79 ระเบิดมือ แก๊สน้ำตา ปืนเอ็ม 16 รวมทั้งถล่มด้วยปืนอาก้าและเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีหลักฐานที่เป็นร่องรอยที่ผนังมัสยิด และบุคคลที่อยู่ภายในมัสยิดทั้งหมดเสียชีวิต ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าบุคคลที่อยู่ภายในมัสยิดมีทั้งเยาวชนและคนชราซึ่งไม่สามารถต่อสู้ได้

 

                   “ถามว่าบุคคลเหล่านี้ได้รับความเป็นหรือไม่ หรือได้รับการพิพากษาหรือไม่ ซึ่งเห็นได้จากหน่วยงานภาครัฐใช้วิธีวิสามัญฆาตกรรม โดยใช้อาวุธสงครามกระหน่ำอย่างหนัก ถล่มเพื่อหวังแก่ชีวิตโดยไม่คำนึงถึง (สิทธิ) มนุษยชน ซึ่งในมัสยิดหรือสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ไม่ว่าศาสนาใด ถือเป็นเขตอภัยทาน ไม่สามารถทำให้สูญเสียแก่ชีวิตได้ ซึ่งทำให้กระทบจิตใจของคนในศาสนาเดียวกันเป็นอย่างมาก” นางแสนะกล่าว

 

หลังจากญาติสูญเสียแถลงเสร็จก็ได้เดินทางไปยัง ศอ.บต. เพื่อยื่นเรื่องให้ทบทวนหลักเกณฑ์การเยียวยาสำหรับกรณีมัสยิดกรือเซะใหม่

 

นางคอลีเยาะ หะหลี ญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะเปิดเผยว่าจากการเข้าพบนายฐานิส ศรียะพันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อยื่นข้อเสนอให้มีการทบทวนการการเยียวยาสำหรับกรณีนี้ นายฐานิสได้กล่าวว่ากับญาติผู้สูญเสียว่าทาง ศอ.บต. จะตั้งคณะกรรมการพิเศษอีกชุดหนึ่งเพื่อให้มีการพิจารณาใหม่

 

นายฐานิสได้ระบุว่าคณะกรรมการพิเศษชุดนี้จะประกอบด้วยกรรมการ 5 คน เป็นตัวแทนจาก ศอ.บต. 2 คนและเป็นตัวแทนของผู้สูญเสียจากกรณีมัสยิดกรือเซะ 3 คน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: