แฉ‘ขาใหญ่’สั่งกั๊กน้ำทำนา-เหตุอยุธยาจม 'นิคมฯโรจนะ'เมินรัฐ-ลุยรับมือน้ำท่วมเอง เผยชาวบ้านยอมลำบากดีกว่าไม่มีงานทำ

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 19 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4047 ครั้ง

 

จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในจ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และแม่น้ำน้อย ทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังมีน้ำปริมาณมหาศาลที่ไหลผ่านทุ่ง เข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรม บ้านเรือนผู้คน และเขตอุตสาหกรรม สร้างความสูญเสียให้กับจ.พระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก

 

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมอบรมนักศึกษานิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 8 ขึ้น โดยใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นกรณีศึกษา พร้อมทั้งเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “ต้นเหตุน้ำท่วมอยุธยา : มิติผลกระทบที่ภาครัฐไม่ควรมองข้าม” ซึ่งมีผู้ร่วมเวที 4 คนคือ พล.ร.อ.ปรีชา เตชรัตน์ กรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา นายสมศักดิ์ สันธินาค ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จ.พระนครศรีอยุธยา นายยิ่งยศ พันธุ์เอี่ยม รักษาการ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ปภ.พระนครศรีอยุธยา และนายภากรณ์ วังศิลาบัตร ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรม จ.อยุธยา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กรรมการลุ่มน้ำชี้มีแต่คนทำงานแต่ไม่มีกฎหมายรองรับ

 

 

พล.ร.อ.ปรีชา เตชรัตน์ กรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ตนเป็นกรรมการลุ่มน้ำเข้าพระยา ในตัวแทนภาคประชาชน และมีตำแหน่งเป็นรองประธานคนที่ 1 ส่วนประธานคือ นายจำลอง โพธิ์สุข ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท คณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรามีมานานแล้ว ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีกรรมการลุ่มน้ำแห่งชาติเป็นตัวแม่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แบ่งออกเป็น 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ องค์ประกอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำจะประกอบไปด้วยทางราชการ ภาคประชาชน และผู้ใช้น้ำสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะลุ่มน้ำจ้าพระยา เป็นลุ่มน้ำใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ทั้งหมด 11 จังหวัด ตั้งแต่นครสวรรค์ยันสมุทรปราการ 9 จังหวัด และสาขาคือ ลพบุรี และสระบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมดเป็นกรรมการ

 

นอกจากนั้นก็จะมีผู้ที่เกี่ยวข้อง กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรน้ำ ผู้ใช้น้ำทางด้านอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรรมการเข้าไปเพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ แต่แป็นที่น่าเสียหายว่า คณะกรรมการตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 แต่กฎหมายใช้น้ำไม่ออก ถ้ามีกฎหมาย เราจะเป็นคณะกรรมการบริหารและจัดการน้ำ ให้ทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อไม่มีกฎหมายน้ำ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็เรียกว่าชักเข้าชักออก พอจะผ่านวาระต่างๆ ก็ชะงัก ซึ่งถ้ากฎหมายน้ำนี้ออกมา ผู้เสียประโยชน์คือนายทุน คือผู้นำน้ำไปทำการค้า แต่ทางด้านเกษตรกรรมจะไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเราพยายามผลักดันแต่ไม่สำเร็จ ขณะนี้หมายความว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำ ขณะนี้ก็เหมือนเสือกระดาษ รับฟัง การเตือน การแจ้งเตือนว่าจะมีน้ำท่วมเราทำกันมาตลอด แต่ไม่ได้บริหารจัดการน้ำอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอำนาจการบริหารต่างๆ ไม่ได้มอบให้อย่างสมบูรณ์ เพราะไม่มีกฎหมายให้เรา ไม่มีกฎหมายรองรับเรา

 

 

อุตสาหกรรมโอดสร้างรายได้หลักแต่กระทบหนักที่สุด

 

 

นายภากรณ์ วังศิลาบัตร ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรม จ.อยุธยา กล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา ตนเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มองเห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงขณะนั้นค่อนข้างชัดเจน คือบอกแล้วว่า ภาคอุตสาหกรรมในจ.พระนครศรีอยุธยา เรามีจีดีพีของรายได้ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์มาจากภาคอุตสาหกรรม นั่นคือนับจากรายได้ถือว่ามหาศาล รายได้หลักคือรายได้ส่งออกของประเทศไทย อันดับหนึ่งคือภาคอิเลคทรอนิกส์ อยุธยาเป็นเมืองอิเลคทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รองลงคือการส่งออกอันดับสองคือ รถยนต์ เรามีโรงงานผลิตรถยนต์ตั้งอยู่ ฉะนั้นกลุ่มส่งออกในจ.พระนครศรีอยุธยา มีโรงงาน 2,200 โรง ซึ่งเป็นสายเลือดใหญ่ของภาคอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับการส่งออก เนื่องจากประเทศเราอาศัยการส่งออก 70 เปอร์เซนต์ ฉะนั้นเวลานี้เรื่องของเศรษฐกิจหรือภัยพิบัติที่กระทบกับเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมในจ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะจะทำให้คนประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน กระทั่งพนักงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ ที่ขึ้นอยู่กับสำนักงานประกันสังคมถึงกว่า 400,000 คน แต่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม 260,000 คน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฉะนั้นในภาคอุตสาหกรรมเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น เราต้องส่งสัญญาณให้ภาครัฐรับรู้ก่อนว่า ถ้ามีผลมากระทบกับภาคเอกชนในพื้นที่ จะส่งผลให้อะไรเกิดขึ้น เราเป็นตัวสะท้อนอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาแล้วว่า เราจะมีคนตกงานเป็นแสน ถ้าไม่มีอะไรมาช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่งตอนน้ำท่วมที่ผ่านมา เราดูข้อมูลปี 2538 ที่ว่าท่วมหนักที่สุด น้ำมันก็ไม่ข้ามแนวคันดินที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะทำเอาไว้ ตอนนั้นเขาทำไว้ 5 เมตรกว่าๆ เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มันไม่ข้าม แต่ในปี 2554 มันมาเกินกว่ากำหนดทั้งนั้นเลย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำมองภาพออกเลยว่า น้ำขณะนี้ถ้ามีการจัดการที่ดีจะช่วยอะไรได้ ซึ่งเราเป็นเอกชนที่จะสะท้อนให้ภาครัฐเห็นว่า ทำยังไงที่จะทำให้เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนต่อไปได้

 

 

สาเหตุน้ำท่วมปี 2554 ยังไม่กระจ่างระลอกใหม่กำลังมา

 

 

หากมองทั้งสองส่วนที่กล่าวมาแล้วคือ ส่วนของคณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีหน้าที่บริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยา ที่ติดปัญหาในเรื่องกฎหายรองรับการทำงาน ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมองถึงผลกระทบอันใหญ่หลวง ที่คาดไม่ถึง ทั้งที่เป็นพื้นที่สร้างรายได้หลักในการส่งออกของประเทศ อย่างไรก็ตามทั้งสองส่วนมองถึงสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมาในมิติที่แตกต่างกัน

 

 

 

พล.ร.อ.ปรีชากล่าวว่า ในเรื่องน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ถ้าเราถามถึงสาเหตุที่แท้จริง ต้องบอกว่า เรามีคณะวุฒิสมาชิก ตนเป็นที่ปรึกษา ปรากฎว่าผู้ที่เราต้องการให้มาตอบข้อมูลก็บ่ายเบี่ยงจนบัดนี้ ไม่มาชี้แจง ทำให้เราไม่รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมน้ำท่วม แต่รู้เพียงผลกระทบ เมื่อเราเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมา ก็ตอบว่า เพราะฝนตกเยอะ หลังจากที่เราได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลพบว่า สาเหตุที่น้ำท่วมสืบเนื่องมานานแล้ว ในภาพเดิม ๆ ที่เรายังแก้ไม่ได้คือ 1.การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งพบว่า ฝนตกในประเทศไทย เกณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่  800,000 ล้านลบม. ซึ่งมีตัวแปรไม่มาก ถ้าเราแบ่งฝนเป็น 4 ส่วน น้ำส่วนมากจะมาจากฝนทั้งสิ้น ฝนมี 800,000 ล้านลบ.ม. กรมชลประทานเคยทำแผนมาถึงปี 2552 สามารถดูแลได้ 1 ส่วนเท่านั้นเอง คือเพียง 200,000 ล้านลบ.ม. ส่วนน้ำอีก 3 ส่วนถูกผลักลงไปใต้ดินหรือส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้จัดการ คือประมาณ 600,000 ล้านลบ.ม.

 

เมื่อชลประทานดูแลได้เพียง 1 ส่วน ออกไปทะเลไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือจะไปไหน ก็ต้องท่วม ถามว่าอยุธยาเป็นไง เดิมสมัยที่เราอยู่กันน้ำท่วมไม่ใช่วิกฤต มันเป็นโอกาส สมัยผมเป็นเด็ก เมื่อเดือน 12 เราจะเข้าไปในทุ่ง พายเรือเข้าไปเอาข้าวไป แล้วไปตกปลา หักสายบัว กินกันในทุ่งนาเลย เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เพราะอยุธยาน้ำท่วมตลอดทุกพื้นที่ในฤดูน้ำหลาก แต่ปัจจุบันมีการทำนาปรังเกิดขึ้น อยุธยาเดิมมีประมาณ 400,000 ไร่ เดี๋ยวนี้ทำนาปรัง 800,000 ไร่ ภาคกลางใช้น้ำในการทำนาปรัง 1,100 ลบม.ต่อไร่ต่อครั้ง ส่วนภาคอีสานทำนาปรัง ใช้น้ำ 1,600 ลบ.ม.ต่อไร่ต่อครั้ง น้ำเดิมที่เคยมาและเคยท่วมก็เฉลี่ยกันไป ไม่เคยวิบากกรรมขนาดนี้ แต่เนื่องจากขณะนี้ประกันราคาข้าว ตันละ 15,000 บาท จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการทำนาปรังเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะที่เมื่อปี 2554 น้ำมาก่อนเวลาอันควรประมาณ 45 วัน

 

เริ่มต้นคณะกรรมการลุ่มน้ำเตือนกรมชลประทานถามว่า ทำไมให้ข้อมูลอย่างนี้ ซึ่งเราทราบข้อมูลมาจากเว็บไซต์ที่มีระบบโทรมาตรติดตั้งไว้ เพื่อบอกระดับน้ำในทุกลุ่มน้ำ ซึ่งชลประทานมีหน้าที่ 2 อย่างคือ 1.จ่ายน้ำเพื่อการเกษตร 2.ป้องกันน้ำท่วม ที่ผ่านมาเขาประสบความสำเร็จในการจ่ายน้ำ แต่ล้มเหลวในเรื่องป้องกันน้ำท่วม และเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการปล่อยน้ำตามประตูระบายน้ำต่างๆ เช่น ผอ.ประตูน้ำแห่งหนึ่งบ่นทุกครั้งที่ไปร่วมเวทีต่างๆ ว่า “อยากจะยิงตัวตายวันละหลายครั้ง เพราะเดี๋ยวคนโน้นสั่งเปิด เดี๋ยวคนนี้สั่งปิด”

 

 

 

แฉเขื่อนเก็บน้ำให้นาปรัง-เจอพายุถล่มจนต้องปล่อยทิ้ง

 

 

ซึ่งเมื่อเราเข้าไปดูข้อมูลของกรมชลประทานจะพบว่า มีการบิดเบือนข้อมูล มีความจริงเพียง 30 เปอร์เซนต์ ส่วนข้อมูลอีก 70 เปอร์เซ็นต์ ถูกดัดแปลงขึ้นมาทั้งสิ้น เพื่อให้ดูว่ามีการจ่ายน้ำอย่างสมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาเราพบว่า ขณะที่อยุธยาน้ำท่วมแล้วท่วมอีก แต่จังหวัดในภาคตะวันตกกลับยังมีการทำนาครั้งที่ 3 อยู่เลย ซึ่งถ้าเรากลับไปสู่ยุคเดิม ถ้าเรายอมให้น้ำท่วมประมาณเดือนส.ค.-ต.ค. นา 1 ไร่ มี 1,600 ตารางเมตร ให้ท่วมสัก 2 ตารางเมตร จะไม่กระเทือนกับอะไรเลย เมื่อน้ำเข้าไปแล้วจะได้ประมาณ 3,200 คิว ซึ่งจะเฉลี่ยน้ำกันไป แต่ขณะนี้ที่มันท่วมเนื่องจากว่า นากำลังทำนาปรังอยู่ให้น้ำเข้าท่วมไม่ได้ ฉะนั้นพื้นที่ที่น้ำมันจะไปอยู่ก็เข้าไม่ได้ พอบอกว่าไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็กั้นกันไปกั้นกันมา บางทีก็มีชาวบ้านไปเจาะบ้าง หรือหน่วยงานของรัฐเองก็มี เพื่อถ่วงน้ำไม่ให้ลงไปกรุงเทพฯ เพื่อรักษากรุงเทพฯไว้ที่ 2.5 เมตร

 

            “ต้นเหตุจริงๆ ของการเกิดอุทกภัยคราวที่แล้ว คือมีการกักน้ำไว้ในเขื่อนหลายๆ เขื่อนในภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนนเรศวร เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา ซึ่งกักเก็บเอาไว้เกินพิกัด ซึ่งช่วงนั้นอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน  2 รัฐบาล คือ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตรงจุดนั้นคือปัญหา ต้องเข้าใจว่า เขื่อนขนาดใหญ่อยู่ในการดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งได้เตือนแล้วว่าอย่าเก็บน้ำเกินขนาด แต่เนื่องจากว่านาปรังมันต้องใช้ เพราะอยากจะทำนา 3 ครั้ง ไปส่งตามที่ได้รับปากไว้กับต่างประเทศ จึงเกิดความโลภขึ้นมา อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง พอกักน้ำเกินพิกัดเกิดอะไรขึ้น โชคไม่ช่วยพายุ 4-5 ลูกถล่มเข้ามา ทีนี้กลัวเขื่อนแตกก็ระดมปล่อยออกมาพร้อมๆ กัน นานั้นก็ไม่ยอมให้เข้านานี้ก็ไม่ยอมให้เข้าเพราะกำลังจะเกี่ยวข้าว ข้าวกำลังออกรวง ก็เลยรีดไหนมาตามลำน้ำ ขณะที่ริมลำน้ำเหล่านั้นถูกบุกรุกไปแล้วด้วย เลยทะลักเข้ามาเต็มไปหมด” พล.ร.อ.ปรีชากล่าว

 

สิ่งที่พล.ร.อ.ปรีชาระบุทำให้มองเห็นภาพรวมของสาเหตุ ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2554 แม้อาจจะมองเป็นปัญหาเดิม ๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าในภาคเหนือ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ กรมป่าไม้มีการสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำพบว่า ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อปลูกพืชทางการเกษตรนับแสนไร่ เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนัก น้ำก็ไหลลงในแม่น้ำอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมี “ขาใหญ่” ที่สั่งกรมชลประทานให้เก็บน้ำไว้ เพื่อให้จังหวัดหนึ่งในภาคกลางด้านตะวันตก ทำนาปรังได้ 3 ครั้ง ทำให้พื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติในภาคกลางลดลง ทำให้พื้นที่อื่นเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก แต่พื้นที่ดังกล่าวกลับไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังปลูกข้าวนาปรังได้ถึง 3 ครั้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาคประชาชนวางแผน 3 ขั้นตอนรับมือน้ำท่วม

 

 

ด้านนายสมศักดิ์ สันธินาค ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปีที่แล้วอยุธยาไม่ได้เรียกว่าน้ำท่วม แต่ต้องเรียกว่าจมน้ำ เพราะปกติน้ำ ก็ท่วมน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 1 เมตร โดยเฉลี่ย แต่ท่วมในพื้นที่ทางการเกษตรเท่านั้น ไม่ได้ท่วมในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเข้าไปสำรวจพบว่าบางพื้นที่ระดับน้ำสูงถึง 4-5 เมตร ซึ่งสิ่งที่เราได้กำหนดว่าเราต้องเตรียมตัวมี 3 รูปแบบคือ ก่อนน้ำท่วม เรามีการประชุมปรึกษาหารือว่า ถ้าน้ำท่วมทำอย่างไรบ้าง เช่น จัดเตรียมศูนย์อพยพ เรื่องสถานที่จะใช้ที่ไหนเช่น วัด โรงเรียน บ้าน เรื่องอาหาร ยานพาหนะ เรือ อันนี้คือการเตรียมความพร้อม ในขณะที่เมื่อท่วมแล้วสิ่งจำเป็นที่จะตามมาคือ เรื่องสุขา อาหาร การคมนาคมที่เราต้องใช้ สถานที่การพยาบาล โรงพยาบาลเคลื่อนที่

 

อีกส่วนหนึ่งคือการเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะขับเรือหรือขับรถเข้าไป ทางผ่านถ้าพบชาวบ้านโบกมือเราก็ไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร ต้องการอาหาร เจ็บป่วย หรือเกิดไฟช๊อต ฯลฯ เราอาจจะติดธงเป็นสัญลักษณ์ เช่น ธงสีเขียวต้องการอาหาร เพราะที่ผ่านมารถหรือเรือที่เข้าไปช่วยเขามีปลายทางที่จะเอาอาหารไปส่ง แต่ระหว่างทางที่คนโบกไม้โบกมือขึ้นมา เขาไม่รู้ว่าเจ็บป่วยหรืออะไร เขาก็ผ่านไป แต่ถ้ารู้สัญลักษณ์ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาไปได้ระดับหนึ่ง

 

ต่อมาหลังน้ำท่วมคือการฟื้นฟู การซ่อมบ้าน การรับเงินช่วยเหลือ ค่าบรรเทา นอกจากนี้สิ่งหนึ่งเป็นข้อสังเกตหลังน้ำท่วมคือ น้ำท่วมปกติ กับท่วมฉับพลัน ซึ่งการให้เงินช่วยเหลือ หากเป็นการท่วมปกติรายละ 5,000 บาท บางที่ท่วมฉับพลัน คือน้ำทะลักเข้ามาในครึ่งชั่วโมงจมหมดเลย เก็บข้าวของไม่ทัน ซึ่งการท่วมฉับพลันจะต้องมีค่าเสียหายเพิ่มขึ้น เช่น ตู้เย็น เป็นต้น ซึ่งกรณีที่มีการประท้วงเรียกร้องค่าชดเชย ต้องถามด้วยว่าเข้าข่ายกรณีใด ไม่ใช่คนกลุ่มหนึ่งได้ 20,000 บาท เพราะเขาท่วมฉับพลับหนีน้ำไม่ทัน แต่พออีกกลุ่มเห็นก็อยากได้บ้าง ก็ไปขอหน่วยงานท้องถิ่น พอเขาไม่ทำให้ก็ปิดถนนเดี๋ยวจังหวัดโน้นจังหวัดนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาคอุตฯ จี้รัฐแจ้งข้อมูลน้ำให้ชัดเจน

 

 

นายภากรณ์ วังศิลาบัตร ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรม จ.อยุธยา กล่าวว่า จะบอกข้อมูลเพิ่มเติมว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฝั่งตะวันตกและตะวันออกแตกต่างกัน ฝั่งตะวันตกมีน้ำหลากอยู่แล้ว ต้องมองว่าเป็นการท่วมที่เป็นปกติมีการรับน้ำอยู่แล้ว และอย่างที่บอกว่าจะทำนา 2 รอบนี่ก็เห็นด้วย เพราะหลังการเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน หลังจากนั้นก็ปล่อยน้ำเข้าทุ่งเลย ซึ่งจ.พระนครศรีอยุธยา มีการวางแผนทำนา 2 รอบอยู่แล้ว ตั้งแต่ผักไห่ บางบาล เสนา บางไทร บางปะอิน เป็นที่รับน้ำอยู่แล้ว แต่คราวที่แล้วฝั่งตะวันออกซึ่งปกติน้ำไม่เคยท่วม แต่คราวที่แล้วท่วมหมดทั้ง 16 อำเภอ ยกเว้นภาชีที่ท่วมอยู่ 3 ตำบล นับว่ารอดไป ฉะนั้นจะมองเห็นว่า น้ำท่วมครั้งที่แล้วมันข้ามทุ่งมา เพราะไม่มีที่ที่มันควรจะไป

 

ตอนนี้รัฐบาลต้องมองว่าที่จัดเก็บน้ำตั้งแต่ทางเหนือตอนบน ตอนล่าง ภาคกลางตอนบน การจัดสรร การลอกคลอง การระบายอย่างไร และสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการส่งสัญญาณไปให้ภาครัฐขณะนี้คือ ต้องมองภาพให้เห็นชัดว่า ถ้าน้ำมามีการจัดเก็บเท่าไหร่ มีการปล่อยน้ำเท่าไหร่ เมื่อน้ำมาแล้วจะปล่อยให้ท่วมจากตลิ่งสูงเท่าไหร่ เพื่อให้ประชาชน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เตรียมตัวได้ถูก ในภาคอุตสาหกรรมคงจะเห็นแล้วว่า นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ สร้างกำแพง 6.05 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ตอนนี้เสร็จไปประมาณ 50 เปอร์เซนต์แล้ว รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ยกเว้นนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ยังมีปัญหาภายในที่ยังไม่จบ จะเห็นว่าในการป้องกันในภาคอุตสาหกรรมขณะนี้มีการทำวิจัยมองไปอีก 50 ปี ว่า ปริมาณน้ำขนาดนี้ เขื่อนที่ทำอยู่ตอนนี้จะสามารถรองรับได้ขนาดไหน เขาบอกว่ารองรับได้ถ้าน้ำมาในปริมาณขนาดนี้ กับความสูงของเขื่อนขนาดนี้ ยกเว้นพวกที่อยู่นอกนิคมฯ ต้องรับชะตากรรมไป ซึ่งหน่วยงานของรัฐก็ต้องดำเนินการ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระบุน้ำท่วมไม่ว่าขอให้ระบบขนส่งยังใช้การได้

 

 

อย่างไรก็ตามนายภากรณ์มองว่า ปัญหาใหญ่ในเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา นอกจากโรงงานทั้งหมดได้รับความเสียหายแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งในจังหวัดและในประเทศกระบกระเทือนเป็นอย่างมากคือระบบขนส่ง ซึ่งนายภากรณ์ระบุว่า หากในปีนี้จะมีน้ำท่วมอีก ไม่ว่าน้ำจะท่วมที่ไหนอย่างไร ระบบโลจิสติกส์จะต้องไม่เสียหาย เพราะที่ผ่านมาในปี 2554 บทเรียนเราเห็นชัดเจนแล้วว่า ระบบเครือข่ายการขนส่งเสียหายหมดเลย อาหารการกินยุ่งยาก และเท่าที่สัมผัสมาเกิดการสูญเสียมากมาย โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ทั่วประเทศบอกว่าสูญเสียกว่า 4 แสนล้านบาท แต่เฉพาะจ.พระนครศรีอยุธยา จังหวัดเดียวสูญเสีย 2 แสนกว่าล้านบาท และขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมยังกลับมาผลิตเพียง 60 เปอร์เซนต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นในปีนี้ น้ำจะมาอย่างไรก็แล้วแต่ก็ควรจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ไม่ให้น้ำท่วมถนน เพราะพระนครศรีอยุธยาเป็นเส้นเลือดใหญ่ ในภาคอุตสาหกรรม แต่ถ้าภาคอุตสาหกรรมมีกำลังเดินเครื่องจักรได้ ขนส่งได้ มันจะเป็นพี่เลี้ยงส่วนหนึ่งที่เป็นพลังมหาศาล แต่ที่ผ่านมามันตายหมู่หมดเลย ไม่รู้จะช่วยใคร

 

 

ยันสร้างเขื่อนกั้นนิคมฯไม่กระทบชาวบ้าน

 

 

เมื่อถามว่า เมื่อนิคมอุตสาหกรรมโรจนะก่อสร้างเขื่อนสูงถึง 6 เมตร จะเกิดผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียงอย่างไร นายภากรณ์กล่าวว่า อยุธยามีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 500,000 ไร่ แต่ตอนนี้อุตสาหกรรมใช้ไปแค่ 50,000 กว่าไร่ ซึ่งมีการประเมินมาแล้วว่า เมื่อทำเขื่อนสูง 6 เมตร พื้นที่รอบข้าง ถ้ามีการไหลของน้ำข้ามมา น้ำจะสูงกว่าปกติที่มันไหลประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ถ้ามีการจัดการระบายที่ดี มันก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นที่ผ่านมา ที่มีการบอกว่าชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนกั้นนิคมอุตสาหกรรมนั้น ไม่จริง เพราะว่า จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านรอบข้างอาศัยอยู่กับอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจที่มันยังไม่ฟื้น จำพวกหอพัก ร้านค้า หรือธุรกิจต่อเนื่อง

 

                  “ชาวบ้านอยากให้อุตสาหกรรมกลับมาเร็วๆ เหมือนในอดีต ซึ่งก่อนหน้านี้โดยปกติจ.พระนครศรีอยุธยา รถจะติดในช่วงเช้าเย็น เพราะมีรถบัสวิ่งประมาณ 2,000 คัน แต่ขณะนี้ลดลงไปกว่าครึ่ง จึงบอกได้เลยว่า ขณะนี้ปัญหาน้ำท่วมชาวบ้านรอบนิคมอุตสาหกรรม ไม่เป็นอุปสรรค”

 

 

ส่วนเรื่องที่พักของคนงาน โรงงานทุกแห่งต้องสำรองไว้ว่าหอพักในโรงงาน หรือบริเวณไหนที่สามารถเช่าหอพักได้ จะมีรถรับส่งไปกลับได้ตลอดเวลา เช่น ถ้าบ้านอยู่ริมตลิ่งก็จะมีค่าชดเชย และให้ค่าครองชีพส่วนหนึ่ง เพื่อให้มาทำงานได้สะดวกเพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมหยุดชะงัก อย่างที่บอกคือซับพลายเชนต้องเดิน ระบบขนส่งต้องเดิน ถ้าเดินได้ตามนี้ภาคอุตสาหกรรมก็จะสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหากอุตสาหกรรมหยุดชะงักก็จะกระทบมาถึงภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ด้วย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการเตรียมการทุกอย่างแล้ว ในภาคอุตสาหกรรมมีการประเมินความเสี่ยงหรือไม่ว่าจะยังเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบอีกกี่เปอร์เซนต์ นายภากรณ์กล่าวว่า คงต้องดูข้อมูลของภาครัฐว่าจริงหรือไม่ เช่นปริมาณน้ำเท่านั้นเท่านี้มันจริงหรือไม่ เราห่วงตรงนี้ ห่วงว่าน้ำมาตามจริงที่บอกหรือไม่ ห่วงแต่ข้อมูลของภาครัฐ เพราะการเตรียมการของภาคอุตสาหกรรมเราทำดีแล้ว แต่ยังห่วงภาครัฐว่าวิธีการจัดการของคุณ และข้อมูลของคุณมันตรงหรือเปล่า

 

 

นิคมฯโรจนะไม่เชื่อมั่นรัฐบาลบริหารจัดการน้ำ

 

 

นอกจากนี้เมื่อสอบถามไปยัง นายวิเชียร สงวนทรัพยากร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับน้ำท่วม ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในช่วงปลายปี 2555 นี้ นายวิเชียรได้ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมโรจนะได้ก่อสร้างแนวคันกั้นน้ำสูงประมาณ 6 เมตร รอบพื้นที่นิคมฯ ประมาณ 77 กิโลเมตร แล้วเสร็จไป 75 % ยังเหลือเพียงบางส่วน ที่ยังไม่ได้ตอกแผ่นคอนกรีตหรือชิสพาย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่หลายโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะได้สร้างกำแพงล้อมรอบโรงงานอีกชั้นหนึ่ง โดยมีความสูงเท่ากับค้นกั้นน้ำรอบนิคมฯ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โดยเฉพาะโรงงานของนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นกว่า 10 แห่ง ที่มีฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า ยังไม่มั่นใจการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไทย

 

 

                 “เราเชื่อว่าคันกันน้ำที่สร้างขึ้นสามารถกั้นน้ำท่วมได้แน่นอน เพราะเราสร้างสูงกว่าที่คิดไว้ 50-60 เซนติเมตร แต่ยังไม่กล้าตอบชัด ๆ เพราะต้องมองในภาพรวมด้วยว่า การบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นอย่างไร รัฐบาลบริหารจัดการได้ดีหรือไม่ด้วย หากที่ผ่านมามีการบริหารจัดการน้ำดีพอน้ำจะไม่ท่วมมากขนาดนี้  ปีนี้ก็ยังต้องดูในภาพรวม” นายวิเชียรกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้รัฐบาลควรบอกว่าทำไปถึงไหน ไม่ใช่มาถามว่านิคมฯเตรียมตัวอย่างไร

 

 

นายวิเชียรกล่าวว่า นอกจากคันกั้นน้ำล้อมรอบเพื่อรับมือกับน้ำท่วมแล้ว เรามีแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาตรวจสอบสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และตรวจสอบสภาพน้ำในเขื่อนเป็นอย่างไร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไปจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ส่งรายงานระดับน้ำแต่ละพื้นที่ให้ทราบพบว่า ระดับน้ำในปีนี้ยังน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ข้อมูลส่วนนี้ นิคมฯได้แจ้งให้ชาวบ้านรอบบริเวณทราบด้วย เพราะถ้าเรามีข้อมูลเอง ก็จะสามารถประเมินสถานการณ์และป้องกันน้ำท่วมได้ นอกจากนี้ยังเตรียมปั๊มน้ำขนาดใหญ่ประมาณ 20 ตัว หากมีน้ำรั่วเข้ามาในเขตนิคมฯ ก็สามารถสูบออกได้ทันที โดยสามารถสูบน้ำออกได้ประมาณชั่วโมงละ 300,000 ลูกบาศก์เมตร

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับแผนการรับมือน้ำท่วมของรัฐบาล นายวิเชียรกล่าวว่า รัฐบาลใช้งบประมาณ 300,000 ล้านบาท คิดว่าน่าจะดี แต่การปฏิบัติจะทำได้แค่ไหน เพราะแผนการจัดการน้ำของรัฐบาลต้องใช้เวลาดำเนินงาน 5-7 ปี แล้วแผนเร่งด่วนคือ การกั้นคันกั้นน้ำริมแม่น้ำสายสำคัญ เช่นแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่มีใครออกมาพูดว่า วันนี้เสร็จไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว หรือยังไปไม่ถึงไหน แต่รัฐบาลก็ไม่เคยออกมาบอก แต่มักมาถามว่าการนิคมฯ เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมอย่างไร ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลเป็นทัพหน้า เป็นแผนหนึ่ง ส่วนแผนสองเป็นของการภาคอุตสาหกรรม และแผนสามเป็นของโรงงานว่าจะป้องกันตัวเองอย่างไร แต่ถ้าแผนหนึ่งทำสำเร็จ แผนอื่น ๆ ไม่ต้องทำก็ได้ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่แผนหนึ่งของรัฐบาลจะเสร็จ

 

                 “ถ้าถามวันนี้ยังมีความกังวลไหม หากเป็นการรับมือน้ำท่วม นิคมฯ โรจนะไม่มีความกังวล เพราะเรามั่นใจว่า คันกั้นน้ำสูงพอรับมือน้ำท่วม แต่กลัวการบริหารจัดการน้ำหน่วยงานของรัฐจะผิดพลาดมากกว่า ซึ่งจากการสอบถามโรงงานในนิคมฯ โรจนะกว่า 60 % ไม่เชื่อมั่นกับบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยเฉพาะโรงงานของญี่ปุ่น” นายวิเชียรกล่าว

 

 

 

ยันชาวบ้านยอมให้น้ำท่วมดีกว่าไม่มีงานทำ

 

 

ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน จากการสร้างเขื่อนกั้นน้ำรอบนิคมฯ โรจนะ นายวิเชียรกล่าวว่า ขณะนี้นิคมฯโรจนะ ได้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของชุมชน และความคิดเห็นของชุมชนโดยรอบนิคมฯ ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว เพื่อพิจารณาร่วมกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ส่งไปก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากกังวลว่า จะส่งผลกระทบให้พื้นที่ชุมชนรอบพื้นที่นิคมฯ ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้น แต่เราไม่สามารถรอได้ เพราะนิคมฯ มีบทเรียนมาแล้ว ความเสียหายหลายแสนล้าน จึงต้องเตรียมความพร้อม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับในลงทุนและโรงงานต่าง ๆ ในนิคมฯโรจนะ

 

 

                   “เชื่อว่ามีผลกระทบแน่นอน แต่ถามว่าชาวบ้านรับได้ไหม คนรอบข้างรับได้ไหม ซึ่งก่อนที่มีการก่อสร้างคันกั้นน้ำ ได้ถามความเห็นกับชาวบ้าน เขาก็ยินยอมให้สร้าง เพราะเขาห่วงเรื่องปากท้องมากกว่า ขณะเดียวกันเราทำอีไอเอ ไปให้สผ. ก็มีการท้วงติงว่า จะทำให้ประชาชนรอบโรงงานเดือดร้อน แต่เมื่อไปถามความเห็นของชาวบ้านรอบนิคมฯ ไม่มีใครคัดค้าน เพราะญาติพี่น้องเขาทำงานที่นี่ เขาห่วงว่าจะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้มากกว่า และถ้านิคมฯไม่ทำคันกั้นน้ำ น้ำก็ท่วมบ้านเขาอยู่แล้วจะเพิ่มอีก 4-5 เซนติเมตร ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะน้ำท่วมอยู่แล้ว แต่ถ้าน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเป็นเมตรก็ว่าไปอย่าง” นายวิเชียรกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แนะรัฐเร่งทำแผนแก้ปัญหาขยะ-ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

 

นายวิเชียรกล่าวอีกว่า สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่เรื่องน้ำท่วมชุมชนสูงขึ้น แต่นิคมฯโรจนะ กังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาในช่วงน้ำท่วม จากประสบการณ์ปีที่ผ่านมาในพื้นที่ไม่มีที่ทิ้งขยะ แม้ว่าเราจะมีรถขนส่งแต่ก็ไม่มีที่แห้ง สำหรับนำขยะทั้งในนิคมฯ โรจนะ และขยะจากชุมชนไปทิ้งได้ ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ขณะที่ปัญหาสารเคมี คราบน้ำมันที่ปนเปื้อนไปกับน้ำ ยอมรับมาต้องมีแน่นอน เพราะเกิดจากความไม่ได้เตรียมรับมือและน้ำมาเร็วมาก ดังนั้นปีนี้เราจะแจ้งให้ทุกโรงงานในนิคมฯ โรจนะ ทราบล่วงหน้า และให้จัดการเก็บสารเคมี หรืออุปกรณ์ที่อันตรายออกจากพื้นที่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน

 

                       “แผนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมยามวิกฤต เราได้เตรียมพร้อมอยู่แล้ว แต่ที่เป็นห่วงไม่ใช่เรื่องการปนเปื้อนสารเคมี แต่เป็นเรื่องของขยะและกากอุตสาหกรรม เมื่อระบบการขนส่งภายนอกไม่สามารถใช้การได้ ถามว่าใครจะเป็นคนกำจัดให้เรา แม้ว่าเราจะมีรถขนส่งไปได้ แต่เราไม่สามารถหาที่ทิ้งได้ จึงเสนอว่า รัฐบาลควรมีแผนในการจัดการปัญหาขยะเหล่านี้ เพราะขนาดขยะที่เกิดขึ้นในภาวะปกติ ยังมีปริมาณมาก เมื่อน้ำท่วมพื้นที่ทิ้งขยะจะทำอย่างไร ขณะที่มีขยะที่เกิดในจากน้ำท่วมอีก จะทำอย่างไร หากเกิดปัญหาขึ้น รัฐบาลก็ต้องหาพื้นที่เฉพาะ หรือพื้นที่ที่คิดว่าน้ำไม่ท่วม ให้เป็นที่ทิ้งขยะ และต้องมีการบริหารจัดการดีๆ” นายวิเชียรกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนการจัดการขยะในนิคมฯ โรจนะ ได้ว่าจ้างบริษัท ซี.เอ็น.เอส.ที จำกัด ซึ่งขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้ดูแลขยะต่างๆ ในนิคมฯ โรจนะ โดยมีที่ทิ้งขยะอยู่ที่จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นขยะทั่วไป ส่วนขยะจากอุตสาหกรรม หรือกากอุตสาหกรรม เป็นหน้าที่ของแต่ละโรงงาน ต้องเป็นผู้จัดการเอง ซึ่งบริษัทที่รับกำจัดกากอุตสาหกรรม ก็ต้องมีใบอนุญาตประกอบการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องด้วย

 

นั่นคือสิ่งที่ภาคส่วนต่างๆ ในจ.พระนครศรีอยุธยา เตรียมรับมือกับน้ำระลอกใหม่ ที่คาดว่าจะท่วมอีกในช่วงหลายปีนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นลดน้อยลง แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรม มีความกังวลมากที่สุดคือ ความจริงจังของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา การวางแผนป้องกัน รวมถึงการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลกว่า 300,000 ล้านบาท จะเป็นจริงและคุ้มค่าแค่ไหน 

 

ขอบคุณภาพจาก ไทยรัฐ มติชน กรุงเทพธุรกิจ แนวหน้า Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: