จี้ผู้ว่าฯหนองบัวลำภู เปิดเวทีแจงโครงการพัฒนาลำน้ำพะเนียง

ณัฐวุฒิ กรมภักดี ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) 19 มี.ค. 2555


 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 มี.ค. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ประมาณ 80 คน  นำโดย นายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อยื่นหนังสือแก่ นายระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.หนองบัวลำภู ขอให้เปิดเวทีชี้แจงข้อมูลโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ทั้งในส่วนของการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกครั้งที่ผ่านมาและโครงการที่จะมีการขุดลอกลำน้ำพะเนียงขึ้นใหม่ตลอดทั้งสายน้ำ

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21-22 ก.พ.2555 ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรขึ้นที่จ.อุดรธานี ซึ่งจังหวัดหนองบัวลำภู โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำเสนอโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงเข้าในการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่และผู้มีสิทธิที่ดินตามลำน้ำพะเนียงไม่ทราบข้อมูลและการทำเข้าใจใดๆ ต่อโครงการที่นำเสนอสู่ครม.สัญจร พร้อมกันนี้ปัญหาผลกระทบจากการขุดลอกในครั้งที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานใดๆ

 

กลุ่มอนุรักษ์ลำพะเนียงได้แสดงความห่วงใยต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่รับทราบข้อมูล และเกรงจะเกิดผลกระทบดังเช่นการขุดลอกครั้งที่ผ่านมา เช่น การสูญเสียที่ดินที่นา การพังทลายของหน้าดินริมตลิ่ง ฝายและสะพานที่เคยใช้ประโยชน์สูญเสียไปพร้อมการขุดลอก ระบบนิเวศตามธรรมชาติสูญหายลดลง จึงต้องการให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบในพื้นที่ เปิดเวทีชี้แจงข้อมูลโครงการพัฒนาลำน้ำพะเนียงและการแก้ไขปัญหาผลกระทบในครั้งที่ผ่านด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นชาวบ้านได้ส่งตัวแทนขึ้นไปยังอาคารสำนักงานจังหวัด ชั้น 4 เพื่อทำความเข้าใจต่อประเด็นที่จะยื่นในวันนี้ โดยมีเลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตัวแทนมาเจรจา ซึ่งทางชาวบ้านต้องการให้ทางจังหวัดเปิดห้องประชุม เพื่อให้ทางกลุ่มชาวบ้านที่มีประมาณ 80 คน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนรับฟังและเป็นสักขีพยานในการยื่นหนังสือครั้งนี้ด้วย

ด้านเลขานุการผู้ว่าฯ ได้แจ้งกับตัวแทนชาวบ้านว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดติดราชการในพื้นที่ จึงขอให้เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดและฝ่ายยุทธศาสตร์จังหวัดเข้าร่วมชี้แจงแทน ทางชาวบ้านจึงยอมตกลง และทยอยเข้าห้องประชุมที่ทางจังหวัดจัดให้ แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายจริง กลับมีเพียงฝ่ายยุทธศาสตร์จังหวัดเข้าร่วมชี้แจง

ด้านชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ลำพะเนียง ระบุว่า การรวมตัวกันยื่นหนังสือในวันนี้ อาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 57 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนอนุญาตดำเนินโครงการที่จะมีผลกระทบฯ และมาตรา 67 สิทธิบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

มีข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ คือ 1.ขอให้เปิดเวทีชี้แจงข้อมูลการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูลำพะเนียงที่เกิดผลกระทบจากการขุดลอกครั้งที่ผ่านมา และ 2.ขอให้เปิดเวทีชี้แจงข้อมูลโครงการการพัฒนาและการจัดการน้ำในลุ่มน้ำลำพะเนียง โดยจะยื่นเรื่องให้ผู้ว่าฯ ไว้เพื่อนัดหมายวันและเวลาในการเปิดเวทีชี้แจงดังกล่าว หากไม่มีความคืบหน้าก็จะเดินทางมาทวงถามที่ศาลากลางจังหวัดอีกครั้ง

 

“ชาวบ้านต้องการให้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนซักถาม เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยรับรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบนลำน้ำพะเนียงเลย ตอนนี้ชาวบ้านต้องการมีส่วนร่วมในทรัพยากรของตนเอง ที่ใช้ประโยชน์และพึ่งพิงในวิถีชีวิตอยู่ทุกวัน พร้อมทั้งต้องการให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบแก้ไขปัญหาจากการพัฒนาลำน้ำพะเนียงครั้งที่ผ่านมาด้วย” นายวิเชียรกล่าว

 

ด้าน นายสุรศักดิ์ วงศาโรจน์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดหนองบัวลำภู และเป็นฝ่ายยุทธศาสตร์นโยบายจังหวัดหนองบัวลำภู ตัวแทนรับหนังสือ ชี้แจงต่อชาวบ้านว่า ในการประชุมครม.สัญจรที่จ.อุดรธานี นั้น ทาง จ.หนองบัวลำภูได้นำเสนอโครงการต่างๆ ทั้งจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นงบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท ในส่วนของโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาลำน้ำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ของบไปประมาณ 1,800 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เมื่อตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือเรียบร้อยแล้ว นายนายสุรศักดิ์รับปากว่าจะส่งเรื่องต่อให้ผู้ว่าฯ ทันที เพื่อให้เปิดเวทีขึ้นและจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน เข้าร่วมชี้แจงในเวทีดังกล่าวด้วย

 

“งบประมาณ 1,800 ล้านบาทในการพัฒนาลำน้ำพะเนียง จะเป็นการขอเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบของ จ .หนองบัวลำภู มีทั้งส่วนของการสร้างประตูระบายน้ำ 13 ประตู งบประมาณ 1,300 ล้านบาท และการขุดสระขุดบ่อน้ำในไร่นา และการขุดลอกลำพะเนียงด้วย หนังสือที่ยื่นมานี้จะส่งต่อให้ผู้ว่าเพื่อให้เกิดการเปิดเวทีอย่างเร็วที่สุด” นายสุรศักดิ์กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: