อินเดีย: มีอะไรมากกว่าที่แสวงบุญ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 19 มี.ค. 2555


                อินเดียเพิ่งจัดประชุม Delhi Dialogue ครั้งที่ 4 เสร็จสิ้นไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยมุ่งหวังจะหาหนทางที่จะกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียนให้ใกล้ชิดมากขึ้น แต่การเสวนาครั้งนี้ ซึ่งก็เหมือนกับอีก 3 ครั้งก่อนที่ผ่านมาคือ มีรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดียผลัดกันขึ้นแสดงสุนทรพจน์เสร็จแล้วก็กลับบ้าน ปล่อยให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ และผู้สนใจทั่วไปนั่งคุยกันต่อด้วยหัวข้อที่ตัวเองสนใจตามความถนัดของใครของมัน เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับ เพื่อที่จะได้มาพบกันอีกครั้งในปีถัดไป

 

                การประชุมนี้สะท้อนความเป็นจริงอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือรู้จักมักจี่กันมานาน คุยกันอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้ามากไปกว่านี้เท่าใดนัก อินเดียเป็นประเทศคู่เจรจาของกลุ่มอาเซียนมานานพอควรแล้วเช่นกัน มีการประชุมระดับสุดยอดระหว่างกันด้วยและในปีนี้ก็จะครบรอบ 10 ปีแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายก็ยังไม่แตกดอกออกผลเท่าใดนัก

 

                อินเดียมีนโยบายมองตะวันออก (look east) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 มาบัดนี้ก็ขึ้นทศวรรษที่ 3 แล้ว แต่ก็ได้แต่มองกันอยู่อย่างนั้น บรรดาเจ้าหน้าที่ทางการทูตและปัญญาชนในอินเดียเฝ้าแต่ถามว่า ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายดูเหมือนไม่ค่อยมีพลวัตรสักเท่าใดเลย

 

                พลวัตร ที่ว่านี้ก็มองโดยเปรียบเทียบกับจีนเป็นสำคัญ เพราะจีนมีแนวนโยบายมุ่งลงใต้เปิดประตูหลังบ้านสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะเวลาใกล้เคียงกับนโยบายมองตะวันออกของอินเดีย แต่ปัจจุบันคนในภูมิภาคนี้มองเห็นการปรากฎตัวของจีนมากกว่าอินเดียหลายเท่าทวีคูณ ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ถนนลงมาจากจีนผ่านลาว เดี๋ยวนี้เสร็จเรียบร้อยจนบางส่วนเริ่มจะพังไปแล้ว  การเดินเรือในแม่น้ำโขงจากยูนนานลงมาถึงเชียงรายเริ่มหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ นักลงทุนจีน สินค้าจีนปรากฎให้เห็นเกลื่อนตาในหลายประเทศแถบนี้ จีนกับเวียดนามเคยเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมานานเดียวนี้ก็ติดต่อไปมาหาสู่กับอย่างมาก แม้ว่าจะมีข้อขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะสแปรตลี่บ้างแต่โดยภาพรวมก็ยังเห็นว่าความสัมพันธ์นั้นก่อดอกผลมาก นี่ไม่นับว่า จีนมีบทบาทอย่างมากในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

 

                แต่กรณีของอินเดีย เรากลับไม่ค่อยเห็นการปรากฎตัวของอะไรที่เรียกว่าอินเดียสักเท่าใดนักในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งๆที่อินเดียมีความก้าวหน้ามากในหลายๆด้านไม่แพ้จีนในระยะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่ ทั้งเทคโนโลยี่สารสนเทศและอื่นๆของอินเดียเกิดขึ้นมานานพอควรแล้ว อินเดียสร้างบังกาลอให้เป็นเมืองแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนได้ชื่อว่าเป็น ซิลิคอนวาเลย์แห่งอินเดียมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 บริษัทเทคโนโลยี่ระดับสูงสำคัญๆของอินเดียหลายแห่งติดอันดับโลกพวกเขาทำธุรกิจกับสหรัฐและยุโรปค่อนข้างมาก แต่ไม่ค่อยมากฎตัวให้เห็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สักเท่าใด เราเพิ่งจะเห็นรถยนต์ TATA ของอินเดียวิ่งในกรุงเทพฯเมื่อไม่นานมานี้เองทั้งๆที่บริษัทนี้ตั้งมานานแล้ว บริษัท Biocon เพิ่งจะตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตอินซูลินสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มาเลเซียเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ทั้งๆที่บริษัทนี้เปิดธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพในต่างประเทศมานับ 10 ปีแล้วก็ตาม

 

                ไม่ต้องอื่นไกล คนไทยรู้ว่าอินเดียก้าวหน้าทางด้านคอมพิวเตอร์มานานแล้ว บริษัททางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของอินเดียอย่าง Inforsys ทำงานร่วมกับบริษัทดังๆของโลกในสาขานี้มากว่า 10 ปีแล้ว แต่เวลารัฐบาลไทยคิดจะซื้อแทปเลทแจกเด็กนักเรียนยังคิดจะซื้อของจากจีนแทนที่จะไปมองหาของในอินเดีย ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เพิ่งไปเยือนอินเดียและได้รับฐานะให้เป็นแขกคนสำคัญในงานวัน Republic Day เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี่เอง รัฐมนตรีต่างประเทศสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุลก็ไปอินเดียถึง 3 ครั้งในรอบ 3 เดือน แต่ไม่เคยคิดจะซื้อสินค้าไฮเทคจากอินเดียมาแจกเด็ก

 

                ถามว่าเทคโนโลยีอินเดียไม่ก้าวหน้าพอหรือคุณภาพไม่ดีพอหรือ คำตอบคงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะอินเดียมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเทียบเท่าสหรัฐหรือยุโรปหลายด้านแล้ว ตัวอย่างง่ายๆ วิสาหกิจทางด้านอวกาศของอินเดียก้าวหน้ามากถึงขั้นส่งจันทรายาน ซึ่งเป็นยานอวกาศแบบไม่มีมนุษย์ไปลงดวงจันทร์เมื่อปี 2008 และค้นพบว่าบนดวงจันทร์มีน้ำอยู่ด้วย ดูเหมือนไม่มีใครในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตื่นเต้นไปกับอินเดียเลย เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่จีนส่งนักบินอวกาศออกไปนอกโลกเป็นครั้งแรก ในขณะที่นักบินอวกาศอินเดียนั้นทำงานกับสถานีอวกาศของรัสเซียมานานแล้วและเดี๋ยวนี้ก็ยังทำอยู่

 

                คุณภาพสินค้าไฮเทคอินเดียนั้นดีแน่นอน เพราะไม่เช่นนั้น ทั้งโบอิ้ง และ แอร์บัส คงไม่จ้างวิสาหกิจการบินอินเดียผลิตชิ้นส่วนให้แน่นอน เหลือเชื่อว่าโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ในบังกาลอนั้น ถ้าไม่บอกเราคงนึกว่าเป็นโรงกลึงแถวปากน้ำ หรือไม่ก็โรงทอผ้าชานกรุงพนมเปญ เพราะดูจากภายนอกมันซ่อมซ่อมาก และข้างในก็ไม่ได้ดูทันสมัยไฮเทคอะไรเลย แถมมีรูปปั้นเทวรูปในศาสนาฮินดูตั้งไว้หน้าแท่นบูชาใกล้ๆ กับแท่นผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินเจทอีกต่างหาก แต่เชื่อเถอะว่าพวกเขาแทบจะส่งชิ้นส่วนให้กับโรงงานแอร์บัสในฝรั่งเศสไม่ทัน นี่ไม่นับของโบอิ้งที่ก็เร่งออร์เดอทุกวันทุกคืนเหมือนกัน

 

                แผนกอากาศยานของ Hindustan Aeronautic Limited (HAL) สามารถผลิตเฮลิคอปเตอร์ได้ส่งออกไปหลายประเทศ ดูเหมือนบางหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของไทยก็กำลังสนใจให้บริษัทนี้เข้าไปทดลองเสนองานดูอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าจะได้รับการคัดเลือก เพราะไทยมีแนวโน้มจะใช้ของแบบนี้จากประเทศในตะวันตกมากกว่า

 

                อะไรเป็นสาเหตุทำให้อินเดียในยุคปัจจุบันห่างเหินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งๆ ที่อารยธรรมอินเดียนั้นแผ่มาถึง และแทรกซึมอยู่ในศานาและวัฒนธรรมของผู้คนแถบนี้มาหลายศตวรรษแล้ว คนไทย คนลาว คนกัมพูชา ยกมือไหว้กันจนคิดว่านี่เป็นวัฒนธรรมของตัวเองไปแล้ว ทั้งๆที่มันมาจากอินเดีย ชื่อคนไทยจำนวนไม่น้อยเป็นภาษาสันสกฤตเหมือนชื่อคนอินเดียจำนวนมากเช่นกัน บรรดาปัญญาชนและชนชั้นนำของอินเดียอธิบายว่า ที่ผ่านมาอินเดียมองไปทางด้านตะวันตกมากกว่า และ ทำหลายอย่างโดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการภายในประเทศมากกว่าจะสนใจโลกภายนอกโดยเฉพาะทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ได้อยู่ไกลกันมากเลยชั่วแค่อยู่อีกด้านหนึ่งของมหาสมุทรอินเดียเท่านั้นเอง

 

                ตัวอย่างการสร้างถนนจากอินเดีย ผ่านพม่า เข้าสู่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยนั้นพูดกันมานานพอควรแล้วแต่ไม่เห็นเป็นจริงเสียที มนเตก อาลูวาเลีย รองประธานคณะกรรมการวางแผนของอินเดียอธิบายให้นักข่าวที่เดินทางไปเยือนอินเดียเมื่อเดือนที่แล้วว่า มีเหตุผลสองสามประการที่ทำให้โครงการเชื่อมโยงอินเดียเข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเส้นทางคมนาคมทางบกล่าช้า

 

                ประการแรก อินเดียทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากไปกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกในส่วนภายในประเทศทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างมาก พื้นที่บริเวณนั้นเป็นส่วนที่เรียกว่า คอไก่ (chicken neck) คือส่วนที่อยู่ด้านเหนือบังคลาเทศ แถวรัฐอัสสัมและนากาแลนด์ พื้นที่นั้นในทางกายภาพก็เข้าถึงยากอยู่แล้ว ไม่นับว่ามีปัญหาทางด้านความมั่นคงอีกต่างหาก ถนนหนทางแถบนั้นก็เลยไม่พัฒนาเท่าที่มันควรจะเป็น เอาเข้าจริงถนนในอินเดียต่อให้ไม่มีปัญหาแบบนั้น ก็ไม่ได้ดีเด่อะไร นั่งรถยนต์จากนิวเดลลีไปดูทัจมาฮาลที่อัคราระยะทางแค่ 200 กว่ากิโลเมตรใช้เวลาตั้ง 5 ชั่วโมง

 

                ประการที่สอง หนทางที่ดีที่สุดสำหรับการเชื่อมอินเดียเข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือตัดผ่านบังคลาเทศและพม่า รัฐบาลอินเดียอาจจะต้องเจรจากับบังคลาเทศเพื่อทำถนนผ่านประเทศนั้น แต่ก็เกิดปัญหาอีกว่าใครจะลงทุน ถ้าจะให้เอกชนลงทุนแล้วเก็บค่าผ่านทาง คนในเอเชียใต้ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการใช้ถนนแบบต้องจ่ายค่าผ่านทางก็อาจจะไม่ยอมใช้เส้นทางนี้ ผลของมันคือเกิดความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมาอีก

 

                ประการที่สาม การเชื่อมโยงอินเดียเข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเส้นทางเรือเดินทะเลนั้นน่าจะทำได้สะดวกและต้นทุนต่ำกว่า อย่างน้อยที่สุดเวลานี้มีเรือวิ่งไปมาระหว่างเซนนายกับสิงคโปร์อยู่ไม่ได้ขาดอยู่แล้ว ฝั่งตะวันตกของไทยไม่มีท่าเรือน้ำลึก ในอนาคตหากบริษัทไทยสามารถพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่ทวายในพม่าได้สำเร็จ มันก็ฟังดูมีเหตุผลที่จะเชื่อมการขนส่งข้ามมหาสมุทรไปอินเดีย

 

                อีกประการหนึ่งซึ่ง อาลูวาเลีย ไม่ได้พูด แต่น่าจะมีอิทธิพลอยู่มาก คือ สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าในระยะหลายปีที่ผ่านมาไม่สงบเรียบร้อยพอจะพัฒนาอะไรได้ เอาแค่จะทำถนนจากย่างกุ้งมาเมียวดีเพื่อเชื่อมเข้ากับแม่สอดนี่ก็ยังยากเพราะการต่อสู้ระหว่างกองทัพกับชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงก็ยังไม่จบสิ้นเสียที ตอนนี้พม่ากำลังดำเนินการปฎิรูปการเมืองและการปรองดองแห่งชาติ อาจจะเป็นโอกาสอันดีให้เริ่มต้นในพัฒนาเส้นทางคมนาคมได้

 

                มาถึงวันนี้สถานการณ์และปัจจัยต่างๆพร้อมที่จะทำให้การเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ฝั่งอินเดียนั้นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากมีอัตราการเติบโตในระดับ 8-9 เปอร์เซ็นต์ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นแรงส่งสำคัญ วิสาหกิจอินเดียนั้นออกนอกประเทศมานานแล้ว เพียงแต่ระยะที่ผ่านมามุ่งไปทางตะวันตกมากกว่า คราวนี้หากหันมาทางตะวันออกตามนโยบายรัฐบาลก็จะทำให้การติดต่อกับภูมิภาคนี้เป็นไปได้มากขึ้น

 

                สิ่งที่รัฐบาลอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนอาจจะต้องทำงานบ้างคือ การสร้างสถาบันหรือกลไกระหว่างประเทศเพื่อกระตุ้น ส่งเสริม และ ผลักดันการเชื่อมโยงนั้นให้เกิดผลประโยชน์กับประชาชนทั่วไปจริงๆ ถ้าจะรอให้ทุกอย่างเกิดขึ้นและเป็นไปเองก็จะอาจจะเป็นไปได้ยาก

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: