กก.สิทธิฯ จวกกฟผ.ให้ข้อมูลมั่ว ห้ามผุดโรงไฟฟ้าใน‘แรมซาร์ไซต์’

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ 18 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2370 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง อ.เมือง จ.ตรัง น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะอนุกรรมการฯ จัดประชุมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ขนาด 800 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอาทิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลในอ.กันตัง นายอำเภอกันตัง ปลัดจังหวัดตรัง พลังงานจังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ของ กฟผ. ตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทรัพยากรและธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง โดยมีชาวบ้านอำเภอกันตัง และอำเภออื่นๆ ในจังหวัดตรัง องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ร่วมรับฟังประมาณ 200 คน

 

นายชวการ โชคดำลีลา วิศวกร 9 กฟผ.หัวหน้าศูนย์พลังงานไฟฟ้าจังหวัดตรัง ชี้แจงว่า โครงการไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้ถ่านหินซับบิทูมินัส ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพและความเป็นไปได้ของพื้นที่ และให้ข้อมูลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้น หลังจากนี้จะเปิดให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน จากนั้นให้ประชาชนเสนอพื้นที่พร้อมกับร่วมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใช้ระยะเวลา 12 เดือน

 

การดำเนินการเสนอพื้นที่เพื่อจัดซื้อที่ดิน ไปพร้อมๆ กับศึกษา EHIA ใช้ระยะเวลา 6-12 เดือน จากนั้นดำเนินขั้นตอนขออนุมัติโครงการ 1 ปี และดำเนินการก่อสร้าง 5 ปี โดยได้คัดเลือก 3 พื้นที่ ในอำเภอกันตัง คือต.บางสัก ต.นาเกลือ และต.วังวน เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดทะเลในการขนถ่านถ่านหินจากอินโดนีเซีย

 

นายมนภัทร วังศานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง ชี้แจงว่า จังหวัดตรังมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) คือ พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง - ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง มีพื้นที่ประมาณ 515,745 ไร่ มีพะยูนฝูงใหญ่ 150 ตัว ปลาโลมา เต่า หญ้าทะเล และยังเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวดึงรายได้เข้าสู่จังหวัด

 

นางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชี้แจงว่า หากพื้นที่มีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 3 แห่ง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) คงจะเข้าไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ต้องพิจารณาในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่แรมซาร์ไซต์

 

ด้านนายสมชาติ ศรีปรัชญากุล  ผู้ช่วยผู้อำนวยการก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า หากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ กฟผ.จะไม่ดำเนินการสร้าง ตอนนี้ยังไม่ได้เลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง กฟผ.จะจัดซื้อที่ดินสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อรัฐบาลอนุมัติเท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดวังวน ตำบลกันตัง กล่าวว่า แม้กฟผ.ยังไม่ซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่มีนายหน้ากำลังวิ่งเต้นเจรจา ขอซื้อต่อรอราคาที่ดินกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่ อีกทั้งพื้นที่ทั้ง 3 แห่ง อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ

 

“กฟผ.เข้ามาเคลื่อนตั้งแต่ปลายปี 2553 จนเรามารู้เมื่อกลางปี 2554 โดยมุ่งเป้าหมายเข้าหาผู้นำ มีการล่ารายชื่อ บอกว่าถ้าสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว จะได้ใช้ไฟฟ้าฟรี ชาวบ้านก็นึกว่าเป็นแค่สถานีพักไฟ เพิ่งมาทราบเอาตอนหลังว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นายวุฒิชัยกล่าว

 

น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา กล่าวว่า บทบาทของ กฟผ.กับหลักการธรรมาภิบาล ไม่ให้มีส่วนร่วมและการนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน กฟผ.ไม่ได้นำเสนอข้อมูลอย่างที่เราต้องการโดยพูดแต่ข้อดี ไม่พูดเรื่องผลกระทบ ขณะที่มองเอ็นจีโอว่าเอาแต่ค้าน ความจริงเรามีหน้าที่หาข้อมูลให้ชาวบ้านเรียนรู้ในภาพรวม ไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง แต่ให้ข้อมูลกับชาวบ้านถึงแผนพัฒนาภาคใต้ในภาพรวมด้วย

 

ด้านน.พ.นิรันดร์สรุปว่า กฟผ.มีปัญหาในการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่ให้ข้อมูลแต่ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ แต่ไม่ให้ข้อมูลชาวบ้าน แสดงว่าบริหารจัดการไม่ถูกต้อง ข้อมูลที่สะท้อนออกมาต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อมีปัญหาแล้วจะแก้ไขยังไง

 

“การมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นไม่ใช่นำคนที่เห็นด้วยร่วมเวที โครงการของหน่วยงานอื่นบางพื้นที่ให้คนเซ็นต์ชื่อแล้วอ้างว่าเห็นด้วย นายอำเภอ นายก อบต.ก็สามารถมีส่วนร่วมได้โดยจัดเวทีเป็นกลางเพื่อให้ความรู้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ถ้าขืนเดินหน้าทำ EHIA ทั้งที่ยังมีความขัดแย้ง จะเป็นระเบิดลูกใหญ่ของชุมชน” น.พ.นิรันดร์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: