ไทยเสี่ยงติดแบล็กลิสต์แก้ค้ามนุษย์เหลว ถูกจับตามาแล้ว2ปี-สหรัฐฯแฉข้อมูลเพียบ ระบุเป็นช่องทางค้ากาม-แรงงาน-ขอทาน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 18 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3491 ครั้ง

 

การค้ามนุษย์เป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกซ่อนกลบอยู่ในสังคมไทยและภูมิภาคเอเชียมายาวนาน ด้วยเพราะความแตกต่างทางเศรษฐกิจ สังคม เชื้อชาติ การศึกษา ความเท่าเทียม ฯลฯ ทำให้ผู้คนพยายามดิ้นรนเพื่อพบกับวิถีชีวิตที่ดีกว่า แต่นั่นคือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการค้ามนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการหลอกลวงเพื่อใช้แรงงาน การค้าประเวณี การลักพาตัว ขอทาน ฯลฯ ซึ่งจะพบว่าในแต่ละปีมีการจับกุมแก๊งค้าประเวณีจำนวนมาก แก๊งขอทานจากประเทศเพื่อนบ้าน การถูกส่งกลับของแรงงานเถื่อนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ ศูนย์ข่าว TCIJ จึงค้นคว้าข้อมูลมานำเสนอเพื่อให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว แต่ช่วยกันป้องกันเพื่อไม่ให้ขยายวงกว้างมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการดึงปัญหาเข้ามาสู่สังคมไทยมากยิ่งขึ้น

 

ชี้แรงงานประมง-ขอทาน-ค้าประเวณี-คนใช้ ยังรุนแรง

 

องค์กรเอกชนต่อต้านด้านการค้ามนุษย์ยื่นหนังสือ รมว.พม.เรียกร้อง 3 มาตรการเข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมายด้านการค้ามนุษย์ หลังพบสถานการณ์รุนแรงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะการค้าประเวณี บังคับขอทานและการเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว ขณะรายงานของมูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก ชี้ ปัญหาค้าประเวณีเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านรุนแรงหลายรูปแบบ จี้รัฐแก้ปัญหาก่อน ถูกกสหรัฐฯ ขึ้นแบล็กลิสต์ประเทศล้มเหลวในการแก้ปัญหาถาวร หลังถูกจับตาแล้ว 2 ปีซ้อน

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติ ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ขึ้นในประเทศไทย และกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ แต่แม้จะมีการประกาศใช้กฎหมายมาเป็นเวลา 4 ปีเต็ม ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศกลับยังไม่ได้ลดจำนวนลงตามเจตนารมณ์ของการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้  ในทางตรงกันข้ามกลับมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

 

 

จี้รัฐบาลจริงจังแก้ปัญหา “ค้ามนุษย์”

 

 

ระหว่างงาน “วันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2555” ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ องค์กรเอกชน อาทิ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน มูลนิธิพิทักษ์สตรี มูลนิธิกระจกเงา ยื่นหนังสือต่อนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยื่นข้อเสนอแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ต่อรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1.ให้พิจารณากฎเกณฑ์หรือระเบียบการปฏิบัติงานผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน และเพิ่มมาตรการให้ภาคประชาสังคมเข้ามาตรวจสอบการดำเนินคดีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส 2.เพิ่มมาตรการกระตุ้นจิตสำนึก ศีลธรรม จริยธรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการค้ามนุษย์ หากพบคนใดละเมิดต้องลงโทษอย่างเด็ดขาด 3.ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับชาติ ขอให้นายกรัฐมนตรีมีกลไกติดตามและรายงานความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงสถิติสะท้อนสถานการณ์จริง และความโปร่งใสให้ประชาชนทราบ

 

เป็นประเด็นเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเชิงนโยบายให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว หลังจากกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ประกาศจัดระดับประเทศไทยให้อยู่ระดับ Tier 2 watch list หรือ ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ในความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยยังคงต้องเพิ่มมาตรการในการดูแลปัญหาการค้ามนุษย์ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และรัฐบาลควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

 

 

ชี้ไทยเสี่ยงถูกขึ้นแบล็คลิสต์ “ประเทศแก้ปัญหาค้ามนุษย์ล้มเหลว”

 

 

การประเมินเรื่องความพยายามในการต่อต้านการค้าของมนุษย์ของไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 2.5 จากทั้งหมด 4 ระดับ มาเป็นเวลาต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2553-2554 อาจส่งผลการคว่ำบาตรการซื้อสินค้าของไทย โดยเฉพาะปลาแช่แข็ง ซึ่งผู้บริโภคสหรัฐฯ มองว่า เป็นสินค้าที่มาจากแรงงานทาส  เนื่องจากในอาเซียน ไทยนับเป็นประเทศในระดับต้นๆ ที่ส่งออกปลาแช่แข็งไปยังสหรัฐฯ

 

ซึ่งในวันที่ 19 มิถุนายน 2555 นี้ จะมีการประกาศระดับใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ โดยระเบียบใหม่จะไม่มีการประกาศให้ประเทศใดถูกจัดอยู่ในระดับเดิมเกิน 2 ปีซ้อน นั่นหมายถึง หากผลการประกาศระดับใหม่ครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการยกระดับให้อยู่ในระดับ 2 หมายถึง ผลสำเร็จที่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ดีขึ้น แต่หากผลออกมาอยู่ในระดับ 3 ประเทศไทยก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ของประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำ อันเกิดมาจากการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ล้มเหลวนั่นเอง ซึ่งมีข่าวออกมาอย่างหนาหูว่า ไทยอาจจะถูกจัดอยู่ในประเทศระดับ 3 เนื่องจากข้อมูลที่พบว่า ยังมีการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ที่เป็นชาวพม่า ร้อยละ 80 กัมพูชา ร้อยละ 10 และ ลาว ร้อยละ 10

 

ชี้ไทยอาจถูกปรับลดอันดับอัตโนมัติ

 

 

จากรายงานเรื่อง “สถานการณ์การค้ามนุษย์ โดยกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯ (Trafficking in Persons Report-TIP Report) ประจำปี 2555 ซึ่งจะเผยแพร่ในช่วงเดือนมิถุนายน 2555” จัดทำโดย กรมอเมริกา และแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ได้สรุปข้อมูลไว้อย่างเข้าใจง่าย โดยระบุว่า  รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ (TIP Report) เป็นรายงานประจำปีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำขึ้นตามกฎหมายสหรัฐฯ –Trafficking Victims Protection Act of 2000(TVPA)  เพื่อเสนอรัฐสภาสหรัฐ เกี่ยวกับสถานการณ์ค้ามนุษย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยจัดระดับคือ

 

-          Tier 1  ประเทศที่ดำเนินการโดยสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ตามกฎหมาย TVPA

-          Tier 2  ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตาม TVPA แต่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการปรับปรุงแก้ไข

-          Tier 2 Watch List คล้ายกับ Tier 2  แต่มีเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนมากหรือเพิ่มขึ้นมากหรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าได้ใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นในการต่อต้านการค้ามนุษย์

-          Tier 3  ประเด็นที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตาม TVPA และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสหรัฐฯ อาจพิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือที่มิใช่ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้า (non-humanitarian and non-trade-related foreign assistance)

 

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศระบุต่อว่า Tip Report ประจำปี 2555 ที่มีกำหนดจะเผยแพร่ในเดือนมิถุนายน 2555 มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงอาจถูกประเมินปรับลดระดับลงเป็น Tier 3 ซึ่งจะส่งผลให้ที่ถูกระงับความช่วยเหลือดังระบุในข้อ 1 ได้เนื่องจากไทยถูกประเมินให้อยู่ในระดับ Tier 2 Watch List มาแล้ว 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งตามกฎหมาย TVPA ที่ปรับปรุงเมื่อ ค.ศ.2008 กำหนดให้ประเทศที่ถูกจัดระดับใน Tier 2 Watch List ติดต่อกันสองปี ปีถัดไปจะถูกปรับลดระดับลงเป็น Tier 3 โดยอัตโนมัติ

 

 

เว้นแต่ (1) จะแสดงหลักฐานได้ว่า ในรอบปีที่ผ่านมามีพัฒนาการที่สำคัญ ที่สมควรได้รับการปรับระดับขึ้นจาก Tier 2 Watch List ให้เป็น Tier 2 หรือ Tier 1 หรือ (2) มีคุณสมบัติที่เหมาะสม สำหรับการได้รับยกเว้นจากการถูกปรับลดระดับโดยอัตโนมัติ (automatic downgrade waiver จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยประเทศดังกล่าวจะต้องสามารถแสดงแผนงาน หรือความมุ่งมั่นที่จะใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งการประเมินดังกล่าวจะมีการประกาศในวันที่ 19 มิถุนายน 2555 นี้

 

 

ทั้งนี้ ในรายงานการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ประจำปี 2554 ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ  ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย ไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวหาว่า ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี  ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่อยู่ห่างไกล เช่น อุสเบกิสถาน และฟิจิ อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วยเหตุผลต่างๆ รวมทั้งปัญหาความยากจน  แรงงานชาวพม่า ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในไทย เข้ามาหารายได้ในไทยและหลบหนีการปราบปรามของทหาร เหยื่อค้ามนุษย์ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกบังคับหรือล่อลวงมาเพื่อบังคับใช้แรงงาน หรือแสวงหาประโยชน์ในธุรกิจทางเพศ มีการประมาณการว่าจำนวนประชากรในกลุ่มนี้น่าจะมีไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นคน เหยื่อค้ามนุษย์ในไทยมักพบในอุตสาหกรรมประมง โรงงานแปรรูปอาหารทะเล โรงงานผลิตเสื้อผ้าราคาถูก และงานรับใช้ตามบ้าน

 

 

ไทยส่งกลับเขมร-ลาวปีละนับหมื่นคน

 

 

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฉบับนี้ยัง อ้างถึงผลงานวิจัยโดยองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติที่มีการเผยแพร่ในปี 2554 ที่ชี้ว่า ประชากรที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในประเทศมีจำนวนมาก มีการประมาณการตัวเลขว่า ร้อยละ 23 ของชาวกัมพูชาที่ถูกทางการไทย ส่งตัวกลับประเทศที่ปอยเปต ซึ่งโครงการความร่วมมือสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (UNIAP) ประมาณการตัวเลขว่า มีจำนวนชาวกัมพูชากว่า 23,000 คน ที่ถูกทางการไทยส่งตัวกลับประเทศในแต่ละปี ในขณะที่ ทางการลาวก็ได้รายงานในปีเดียวกันว่า มีชาวลาวหลายพันคนถูกทางการไทยส่งตัวกลับ และในจำนวนนี้มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ชาวลาวรวมอยู่ด้วย 50-100 คน

 

จากการประเมินความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานในกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวพม่าในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลที่ จ.สมุทรสาคร พบว่าร้อยละ 57 ของคนงานกลุ่มนี้ผ่านประสบการณ์ที่เป็นสภาพของการถูกบังคับใช้แรงงาน รายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ที่นำออกเผยแพร่ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 ระบุ ว่าสภาพการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการเป็นแรงงานขัดหนี้ พบอยู่ทั่วไปในกลุ่มแรงงานกัมพูชาและพม่า ซึ่งถูกบังคับหรือล่อลวงให้มาทำงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย

 

 

ลูกเรือพม่าแฉไต้ก๋งฆ่าคนงานที่ป่วยและอ่อนแอ

 

 

               “ชายชาวพม่า กัมพูชา และไทยถูกค้าแรงงาน ตามเรือประมงของไทยที่แล่นทั่วน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ และคนเหล่านี้อาจต้องอยู่บนเรือกลางทะเลนานหลายปี โดยไม่ได้รับค่าแรง ถูกบังคับให้ทำงานวันละ 18-20 ชั่วโมงเป็นเวลาเจ็ดวันต่อสัปดาห์ ถูกข่มขู่ และถูกทุบตี ผลการสำรวจของ UNAIP ก่อนหน้านี้ยังพบว่า ในจำนวนคนต่างด้าวที่ถูกค้าแรงงานบนเรือประมงไทย ที่ได้รับการสำรวจ 49 คน มี 29 คน (ร้อยละ 58) ที่เคยเห็นเพื่อนคนงานถูกฆ่าโดยไต้ก๋งเรือ เมื่อไต้ก๋งเห็นว่าอ่อนแอหรือป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ โดยทั่วๆ ไปแรงงานบนเรือประมงไม่ได้ทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกับนายจ้าง”

 

จากรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังชี้ให้เห็นถึงขบวนการผิดกฎหมายที่เป็นต้นตอของการค้ามนุษย์ และยังอ้างไปถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนในการกระทำผิดด้วย โดยระบุว่า ได้รับรายงานจากผู้สังเกตการณ์ ซึ่งระบุว่า โดยทั่วๆ ไปแล้ว นักค้ามนุษย์ (รวมทั้งนายหน้าหาแรงงาน) ซึ่งนำคนต่างด้าวเข้ามาในไทย มักทำงานคนเดียวหรือทำงานแบบกลุ่ม ที่ไม่ได้จัดตั้งเป็นทางการ

ในขณะที่นักค้ามนุษย์ที่หลอกคนไทยไปค้าในต่างประเทศ จะทำงานเป็นกลุ่มที่จัดตั้งเป็นทางการมากกว่า และผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับข้อมูลในเรื่องนี้ ยังรายงานด้วยว่า นายหน้าจัดหาแรงงานบางคน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกหรือเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ มีทั้งนายหน้าที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ ที่ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย โดยร่วมมือกับนายจ้าง และบางครั้งก็ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย

 

ทั้งนี้แรงงานต่างด้าว ชนกลุ่มน้อย และบุคคลไร้สัญชาติในไทย มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากกว่าคนไทย โดยคนกลุ่มนี้ถูกนายจ้างยึดเอกสารเดินทาง บัตรจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว และใบอนุญาตทำงานไว้ โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากขึ้น เนื่องจากฐานะทางการเงิน ระดับการศึกษา อุปสรรคด้านภาษา และการขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิของตนเองภายใต้กฎหมายไทย

 

 

ไทยกลายเป็นช่องทางค้าประเวณีของแถบนี้

 

 

                       “ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงชาวเขา เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์มากที่สุดคือ การไร้สัญชาติ เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านบางคนถูกบังคับให้ขายดอกไม้ ขอทาน หรือทำงานรับใช้ตามบ้านในเขตตัวเมือง ในช่วงปีที่จัดทำรายงาน พบหญิงชาวเวียดนามที่ถูกจำกัดบริเวณ และถูกบังคับให้ทำหน้าที่อุ้มบุญเด็กในครรภ์ หลังจากถูกหลอกพาเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ คนไทยที่ถูกหลอกไปค้าในต่างประเทศ และได้รับความช่วยเหลือกลับประเทศในช่วงปีที่จัดทำรายงานส่วนใหญ่ จะถูกนำไปค้าที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ศรีลังกา บาห์เรน และจีน และบางส่วนก็ถูกนำไปค้าที่รัสเซีย แอฟริกาใต้ เยเมน เวียดนาม สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์” รายงานระบุ

 

สำหรับในประเด็นของการค้ามนุษย์ของกลุ่มคนไทย รายงานของกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า มีคนไทยบางส่วนที่ถูกนำไปค้าในออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี อินโดนีเซีย อิสราเอล ญี่ปุ่น คูเวต ลิเบีย มาเลเซีย กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย  แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และติมอร์-เลสเต แรงงานชายไทยบางราย ที่เดินทางไปทำงานที่ใช้ทักษะต่ำตามสัญญาชั่วคราว และทำงานในภาคเกษตรในต่างประเทศ ต้องเผชิญกับการถูกบังคับใช้แรงงาน และมีสภาพเป็นแรงงานขัดหนี้

 

 

เหยื่อค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีโดยทั่วไปเป็นผู้หญิงและเด็กหญิง การท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศยังคงเป็นปัญหาในประเทศไทย และเป็นที่คาดการณ์ว่า เพราะความต้องการในลักษณะนี้ จึงเป็นพลังผลักดันให้มีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจค้าประเวณี และทำให้ไทยเป็นประเทศทางผ่าน สำหรับเหยื่อค้ามนุษย์ จากเกาหลีเหนือ จีน เวียดนาม ปากีสถาน และพม่า ซึ่งจะถูกนำผู้หญิงและเด็กไปค้าในประเทศที่สาม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย ยุโรปตะวันตก เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกณฑ์เด็กวัยรุ่นมาร่วมปฏิบัติการก่อการร้าย

 

 

พม.ยอมรับไทยเป็นเส้นทางค้ามนุษย์จริงแต่กำลังเร่งแก้ไข

 

 

แม้ว่าข้อมูลที่อยู่ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะให้รายละเอียดที่น่าหดหู่และรุนแรง จนดูเหมือนว่าไม่น่าเป็นไปได้ แต่ในคนทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างไม่ปฏิเสธกับรายงานนี้ และยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังคงมีปัญหาการค้ามนุษย์ที่น่าเป็นห่วง

 

นางญาณี เลิศไกร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง กลางทาง จุดพัก และปลายทางของการค้ามนุษย์จริง โดยมีพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน เป็นพื้นที่ต้นทางที่ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ในการหลอกหรือนำพาแรงงานทั้งชายและหญิงเข้ามา ก่อนที่จะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่มีทั้งการค้าแรงงานในประเทศไทย หรือส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ  ซึ่งหากเป็นแรงงานที่เป็นหญิง มีจำนวนไม่น้อยที่จะถูกส่งเข้าเครือข่ายการค้าบริการทางเพศ ขณะที่แรงงานชายจะถูกนำส่งเรือประมงที่ลอยลำอยู่กลางทะเลเป็นเวลาหลายปี จึงจะมีโอกาสกลับเข้าฝั่ง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ ในส่วนของราชการ โดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ได้พยายามประสานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้การช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์แล้ว ยังมีจุดประสงค์ เพื่อจะปรับระดับความน่าเชื่อถือของไทย จากการจับตามองของสหรัฐฯ อีกด้วย

 

 

สั่งกระทรวงการต่างประเทศส่งรายงานแก้หน้าประเทศไทย

 

 

อย่างไรก็ตามหลังรายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยดูจะย่ำแย่ลงอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจส่งผลต่อการจัดสถานะของประเทศไทยใน TIP Report ประจำปี 2555 นี้ ซึ่งจะส่งผลทางการค้า และการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุม ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพหลักในการให้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกา และกำหนดกรอบการทำงานเพื่อแก้ปัญหาสถานะของประเทศไทยตามรายงาน TIP Report ประจำปี 2554

 

 

ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ โดย กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ได้จัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555, วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 และ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อหารือและขอรับข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินการของไทย ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2554 เพื่อให้ข้อมูลแก่ฝ่ายสหรัฐฯ ให้รับทราบและใช้ประกอบการจัดทำรายงาน TIP Report ประจำปี 2555 พร้อมกับ จัดทำเอกสาร 2 ฉบับ ส่งให้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  โดยอาศัยข้อมูลจากที่ประชุมและจากที่หน่วยงานส่งให้เพิ่มเติมเป็นรายงาน 2 ฉบับคือ

 

 

-          Thailand’s Efforts in the prevention and Suppression of Human Trafficking in 2011 (accompanied by a separate document on Thailand’s Efforts in Fishery Industry) for the U.S Department of State’s pre4paration of Trafficking in Persons (TIP) Report of 2012

-          Thailand’s Efforts in the prevention and Suppression of Human Trafficking in Fishery Industry (in supplement of the document Thailand’s Efforts in the Prevention and Suppression of Human Trafficking in 2011) for the U.S Department of State’s preparation of Trafficking in Persons (TIP) Report of 2012

 

ชี้เพิ่มแผนเข้มคัดแยกเหยื่อ-ฟันจนท.คอร์รัปชั่น

 

นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมฯยังเห็นชอบให้มีการจัดทำ “ร่างแผนปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย” ระบุประเด็นที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ ซึ่งจะสามารถปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จได้ในช่วงเวลา 1-2 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงคำเสนอแนะของฝ่ายสหรัฐฯ ที่ระบุไว้ใน TIP Report ประจำปี 2554 ซึ่งประเด็นที่ระบุในแผนปฏิบัติการคือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 2.การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดี รวมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจแรงงาน 4.การดำเนินการบังคับใช้มาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ป้องกันแลปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551

 

5.การเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองแรงงานประมง 6.การดำเนินการในระยะยาวเพื่อการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวอย่างยั่งยืน และ 7.การตรากฎหมายภายในรองรับเพื่อสามารถให้สัตยาบันและปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (United Nations Transnational Organized Crime: UNTOC)

 

 

รัฐบาลประกาศ 6 เจตนารมณ์แก้ปัญหา

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในสถานะของประเทศไทยด้านการค้ามนุษย์ไปแล้ว แต่จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ พ.ศ.2554 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่า เกิดคดีค้ามนุษย์จำนวน 83 คดี มีรูปแบบจากการแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีสูงสุด 67 คดี เป็นการบังคับขายบริการทางเพศจากสถานบริการต่างๆ เช่น คาราโอเกะ ร้านอาหาร สถานอาบอบนวด และแฝงมากับการท่องเที่ยว รองลงมาเป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ 13 คดี และการนำคนมาขอทาน 3 คดี

 

 

ในการจัดงาน “วันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2555” นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พม. จึงประกาศเจตนารมณ์ ในการมุ่งมั่นป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล โดยระบุว่า จะเร่งดำเนินการตามมาตรการ 6 ข้อ คือ 1.รวมพลังป้องกันประชาชนและกลุ่มเสี่ยง มิให้ตกเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ 2.เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบ และจัดการกับนายหน้าจัดหางานที่ผิดกฎหมาย 3.จับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอย่างรวดเร็ว เด็ดขาด ถึงที่สุด 4.เพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยก และคุ้มครองผู้เสียหายอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ด้วยความสมัครใจหรือไม่ 5.จัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 6.ประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง เพื่อจัดการและขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้ลดน้อยลง ท่ามกลางการจับตามองและตั้งข้อสงสัยต่อการเอาจริงเอาจังของรัฐบาลต่อนโยบายและมาตรการนี้ ว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ได้หรือไม่

 

 

จี้รัฐยกระดับปัญหาก่อนถูกแบล็กลิสต์

 

 

นายศุภณัฐ อุทัยศรี ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากปัญหาค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ประสบปัญหาการค้ามนุษย์รุนแรงพื้นที่หนึ่ง แสดงความเห็นต่อการทำงานในเชิงนโยบาย ด้านการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลว่า การบริหารงานในระดับนโยบาย อาจเป็นเพียงการเขียนเป็นตัวหนังสือในเรื่องของหลักการ และแผนที่ควรจะเป็นเท่านั้น แต่เมื่อมาถึงในระดับการปฏิบัติการแล้ว กลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในทุกช่วงเวลาขบวนการผิดกฎหมายเหล่านี้ต่างก็พัฒนาเปลี่ยนแปลงเพื่อหลบหนีกฎหมายตลอดเวลา ทำให้นโยบายที่เขียนไว้อาจจะตามไม่ทัน และหากรัฐบาลยังไม่หันมามองเรื่องนี้ และยกระดับปัญหาให้เป็นวาระสำคัญ ก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขหรือแม้แต่ลดจำนวนการกระทำผิดให้น้อยลงได้

 

                        “ปัจจุบันปัญหาดูเหมือนจะน้อยแต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้น้อยลง และยังดูจะยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รายงานข้อเท็จจริง และจัดอันดับไทยให้เป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องของปัญหาการค้ามนุษย์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องจริงทุกอย่าง และปีนี้เราก็คงจะต้องลุ้นว่า เราจะตกอยู่ในประเทศที่ติดแบล็กลิสต์เรื่องนี้หรือไม่ เพราะจากการทำงานพบว่า แม้เราจะมีการออกกฎหมายเรื่องการค้ามนุษย์ออกมา แต่ในทางของการปฏิบัติเรากลับขาดความรวดเร็ว การเชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิ์ภาพ ดังนั้นรัฐบาลควรจะให้ความสำคัญเรื่องนี้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง รวมทั้งควรจะมีการประชุม ร่วมมือ หรือปรึกษาหารือในการทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างหน่วยงานในภาครัฐ และองค์กรเอกชนที่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งมุ่งเรื่องของการปฏิบัติมากกว่า เพื่อมาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขเป็นการเชื่อมโยงบทบาทหน้าที่ให้ได้ประสิทธิภาพ เพราะหากยังดำเนินการไปเช่นนี้ปัญหาการค้ามนุษย์จะไม่มีทางลดน้อยลงแน่” นายศุภณัฐกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: