จับตา2รอยเลื่อนใต้-หวั่น'แผ่นดินไหว'ซ้ำ เตือนกรุงฯดินอ่อนตัว-อาคารสูงระวังถล่ม เร่งวิจัยคานเสริมสลายพลัง-ลดความเสี่ยง

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 18 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2716 ครั้ง

 

ชี้แผ่นดินไหวภูเก็ต-‘รอยเลื่อนมะรุย’ขยับ

 

หลังการเกิดแผ่นดินไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ขนาด 4.3 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดแถลงข่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรธรณี พบชัดเจนว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในขนาด 4.3 ริกเตอร์ เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.7 ริกเตอร์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย ไม่ใช่แผ่นดินไหวตามกันหรืออาฟเตอร์ช็อก จากการเกิดแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซีย แต่เป็นการเกิดขึ้นเอง ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.7 ริกเตอร์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ไม่สามารถส่งผลกระทบทำให้บ้านเรือนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต สั่นไหวจนรู้สึกทั้งจังหวัดได้

อย่างไรก็ตามการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่อ.ถลาง ครั้งนี้ นับว่าเป็นการเกิดแผ่นดินไหวบนพื้นดิน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย และยังเกิดแผ่นดินไหวตามมา หรืออาฟเตอร์ช็อก อีก 5 ครั้ง ขนาด 2.1-2.7 ริกเตอร์ ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนกว่า 30 หลังคาเรือน

 

“สาเหตุของแผ่นดินไหวดังกล่าวจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนคลองมะรุย ซึ่งเป็นแนวรอบต่อของพื้นที่ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามแนวนอน ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของประเทศไทย ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวในลักษณะนี้ผลกระทบจึงไม่มากนัก”

 

 

ต้องเช็คข้อมูลให้ชัดก่อนประกาศ-หวั่นสร้างความแตกตื่น

 

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว กรมทรัพยากรธรณี ได้พยายามตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะไม่ต้องการให้ข้อมูลผิดพลาด เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ ละเอียดอ่อน ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องอาศัยความรอบคอบในการตรวจเช็คข้อมูลจึงจะประกาศให้ประชาชนทราบได้ โดยยืนยันว่าไม่ได้มีการปกปิดข้อมูล ทั้งนี้ไม่อยากให้ประชาชนตื่นเต้นตกใจเกินไปนัก และอยากให้มีการศึกษาข้อมูลเรื่องการหนีภัยอย่างละเอียด เนื่องจากพบว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 8.6 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา มีประชาชนหนีจากอาคารสูงลงทางลิฟท์ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เนื่องจากไฟฟ้าอาจจะถูกตัดทำให้ลิฟต์ไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นจึงต้องมีการออกประกาศเพิ่มเติม ให้อาคารสูงมีบันไดหนีไฟ และให้ใช้ในกรณีที่เกิดไฟไหม้และแผ่นดินไหวด้วย

 

“ในส่วนของอาคารสูงและเขื่อนเราไม่หนักใจ เพราะมั่นใจในการออกแบบทางวิศวกรรมที่รองรับกรณีการเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะเขื่อนส่วนใหญ่ของกรมชลประทาน ที่ตั้งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนอยู่แล้วและมีการวางระบบเตือนภัยอย่างเข้มข้น แต่สิ่งที่เป็นห่วงคืออาคารบ้านเรือนของประชาชนทั่วไปที่สูงเพียง 1-2 ชั้น ที่อาจจะไม่ได้มีการออกแบบมาเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีที่เกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต ที่มีบ้านเรือนเสียหาย เสา กำแพงแตกร้าวไปกว่า 30 หลัง ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกันต่อไป”

 

จับตา 2 รอยเลื่อนใหญ่-ระบุอาจขยับตัวแต่ไม่รุนแรง

 

ด้านนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า  กรมทรัพยากรธรณีต้องเฝ้าระวังกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุยความยาว 150 ก.ม.  และกลุ่มรอยเลื่อนระนองความยาว 270 ก.ม. ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา เป็นพิเศษ   เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มรอยเลื่อน ถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีการขยับตัวชัดเจน หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.6 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ทั้งสองรอยเลื่อนยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง (Active) โดยแผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะเกิดจากรอยเลื่อนหลักแล้ว จึงส่งผลไปรอยเลื่อนแขนง แต่เมื่อรอยเลื่อนแขนงขยับตัวแล้ว ก็อาจจะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวบนตัวรอยเลื่อนหลักได้เช่นกัน

 

“จากการที่กรมทรัพยากรธรณีนำตะกอนดินของทั้ง 2 รอยเลื่อนไปตรวจสอบ พบว่ามีการยกตัวของชั้นดินชัดเจน และเมื่อ 3,600 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ ซึ่งมากที่สุดมาแล้ว  และจากวันนี้เป็นต้นไป แผ่นดินไหวที่เกิดจาก 2  รอยเลื่อนดังกล่าวนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่ขนาดจะไม่รุนแรง และเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 5-6 ริกเตอร์เท่านั้น  เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก เหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  และญี่ปุ่น จึงไม่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ แต่รอยเลื่อนในประเทศไทยเป็นรอยแตกของแผ่นเปลือกโลก จึงก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางเท่านั้น” นายเลิศสินกล่าว

 

เผยทั่วประเทศมี 14 รอยเลื่อนที่ยังมีพลัง

 

นายเลิศสินกล่าวต่อว่า เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรธรณีได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มรอยเลื่อนทั่วประเทศไทย พบว่าขณะนี้รอยเลื่อนทั้งหมดในประเทศไทย มีรอยเลื่อนที่ยังมีพลังทั้งหมด 14 รอยเลื่อน จากเดิม 13 รอยเลื่อน กระจายอยู่ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุย ส่วนรอยเลื่อนเดิม คือรอยเลื่อนท่าแขก จ.หนองคาย นครพนม ต่อเนื่องไปถึงประเทศลาว กรมทรัพยากรธรณีได้ตัดออกจากบัญชีรอยเลื่อนที่มีพลัง เพราะไม่มีการขยับตัวมา 30 ปีแล้ว อีกทั้งไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบในประเทศลาวได้

อย่างไรก็ตามได้เพิ่ม 2 รอยเลื่อนใหม่ที่มีพลังขึ้นมา คือ รอยเลื่อนแม่อิง จ.เชียงราย และ พะเยา  และรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ แต่ขณะนี้รอยเลื่อนระนองและคลองมะรุย ถือเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังมากที่สุด

 

แผ่นดินไหวอินโดฯกระทบถึงเมืองกาญจน์

 

ทั้งนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ 2 ครั้งล่าสุดที่ประเทศอินโดนีเซีย จะส่งผลกระทบไปถึงรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เท่านั้น โดยอาจจะทำให้เกิดหลุมยุบในบริเวณแนวรอยเลื่อนเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่มีสภาพเป็นหินปูน และแผ่นดินไหวส่งผลต่อระบบน้ำใต้ดิน แต่ไม่ใช่ตัวเร่งให้เกิดแผ่นดินไหว ส่วนรอยเลื่อนอื่นที่เหลือไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

 

“ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเสี่ยงแผ่นดินไหว แต่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวของประเทศไทยก็ยังปลอดภัยที่สุด กว่าการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ที่อยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ดังนั้นประเทศไทยคงต้องเฝ้าระวังตามกลุ่มรอยเลื่อนต่างๆเหล่านี้” นายเลิศสินกล่าว

นักวิจัยห่วงกรุงเทพฯเสี่ยงรับผลกระทบจากกาญจน์

 

ทางด้าน ผศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านผลกระทบจากแรงลมและแผ่นดินไหว ของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) หนึ่งในคณะทำงานโครงการพัฒนาและปรับปรุงจัดทำประมวลข้อบังคับอาคารสำหรับประเทศไทย ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จัดทำขึ้น เพื่อจัดทำมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2552 เพื่อให้สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมีความปลอดภัย เปิดเผยว่า พื้นที่กรุงเทพฯ นับเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งวางตัวตามแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ในจ.กาญจนบุรี ซึ่งจุดที่ใกล้กรุงเทพมหานครที่สุดห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 150-200 กิโลเมตร ประกอบกับสภาพพื้นที่กรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นแอ่ง มีพื้นดินด้านล่างอ่อนเป็นเลน ลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ สามารถขยายความรุนแรงของการสั่นสะเทือนได้คล้ายกับกรุงเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งเคยเกิดความเสียหายรุนแรงจากแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางห่างออกไปมากกว่า 300 กิโลเมตร เมื่อปี ค.ศ.1985

 

“หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นทำให้เกิดสึนามิ ใกล้ประเทศไทยเองก็เกิดแผ่นดินไหวบริเวณชายแดนไทย-พม่า ประมาณ 7 ริกเตอร์ ซึ่งครั้งนั้นห่างจากกรุงเทพฯ ราว 780 กิโลเมตร แต่อาคารบริเวณสีลมและหลายแห่งในกรุงเทพฯ กลับสั่นจนหลายคนตกใจ สิ่งที่น่าสนใจคือ กรุงเทพฯมีค่าความเร่งที่ตรวจวัดได้มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ที่มีระยะห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวพอๆ กัน หลายเท่าตัว ที่มีสาเหตุเช่นนี้ เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ มีพื้นดินที่อ่อน สามารถขยายแรงสั่นสะเทือนให้มากขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะมีอาคารบางกลุ่มได้รับผลกระทบมาก” ดร.สุทัศน์กล่าว

 

คาดแรงสั่นอาจทำตึก 8-16 และ 30-40 ชั้นกระทบรุนแรง

 

ดร.สุทัศน์อธิบายเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วทุกๆ โครงสร้าง จะมีการสั่นที่ความถี่ค่าๆ หนึ่งตามธรรมชาติ หรือในทางวิศวกรรมเรียกว่า “คาบการสั่นพื้นฐาน” เช่นเดียวกับอาคารแต่ละหลัง จะมีค่าคาบเวลาการสั่นที่ไม่เท่ากัน ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว เมื่อแรงสั่นสะเทือนเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และถูกขยายแรงขึ้นจากดินที่ค่อนข้างอ่อนตัวมากใต้พื้น ซึ่งหากแรงสะเทือนนั้นกระเพื่อมไป โดยมีความถี่ในการสั่นพ้องเข้ากับค่าการสั่นของอาคารใด อาคารนั้นก็จะได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งจากข้อมูลพื้นดินของกรุงเทพฯ พบว่า อาคารที่สูงขนาด 8-16 ชั้น น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรง ในขณะที่อาคารที่สูงกว่านี้ขึ้นไป จะได้รับผลกระทบเบาลง และจะไปเกิดการสั่นพ้องอีกครั้ง ในอาคารที่มีความสูง 30-40 ชั้น ซึ่งก็จะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน

ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก ค่าความถี่ในการสั่นหรือคาบการสั่นของอาคาร จะขึ้นอยู่กับความสูง และขนาดของอาคาร ซึ่งในทางวิศวกรรมสามารถคำนวณหาค่าเวลาการสั่นของอาคารได้ จากการศึกษาอาคารรูปแบบต่างๆ ในทางสถิติพบว่า อาคารที่สูงอยู่ในช่วงดังกล่าวทั้งสองช่วง มักจะมีการความถี่ในการสั่น ที่จะตรงกับการสั่นสะเทือน ที่จะเกิดในกรุงเทพฯ

 

เร่งวิจัยเสริมฐานอาคารสูง-ลดสูญเสีย

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ศึกษาค้นคว้าและวิจัย ร่วมกับหลายองค์กร ศึกษาความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมจากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อนำมาพัฒนากับสภาพปัญหาของประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับอาคารสูง เมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยงานวิจัยล่าสุด ได้แก่ งานวิจัยชุด “การเสริมกำลังโดยรวมให้กับอาคาร”

 

“เนื่องจากแผ่นดินไหวมีความเสี่ยงในระดับที่ไม่อาจมองข้ามได้ ดังนั้นอาคารต่างๆ ควรต้องมีการออกแบบรับแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะชั้นเดียวหรือหลายชั้นก็ตาม ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของพื้นที่ ซึ่งกฎหมายระบุว่า ที่มีมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าด้วยเรื่องการออกแบบอาคารให้สามารถรับแผ่นดินไหว อาคารต่างๆ มีการสร้างโดยคำนึงถึงข้อนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งการออกแบบและการก่อสร้างที่ถูกต้อง การคุมงานและวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีอาคารจำนวนมากที่สร้างก่อนหน้านี้โดยไม่ได้ออกแบบให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว มจธ.จึงคิดศึกษาวิจัยเรื่องการเสริมกำลังของอาคารให้ สามารถสลายแรงสั่นสะเทือนได้”

 

ระบุใช้เหล็กค้ำยันต้านแผ่นดินไหวดีที่สุด

 

ดร.สุทัศน์กล่าวต่อว่า สำหรับงานวิจัยดังกล่าว อยู่ในงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว) ที่ชื่อว่า “การประเมินระดับความต้านทานแผ่นดินไหวของอาคารในประเทศไทยและการปรับปรุงอาคารให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวในระดับที่เหมาะสม” จากงานวิจัยดังกล่าวพบว่าการเสริมกำลังให้อาคารมี 2 ประเภท คือเสริมกำลังเฉพาะที่ และเสริมกำลังโดยรวม ในส่วนที่มจธ.รับผิดชอบในการศึกษา คือการเสริมกำลังโดยรวม หลักๆจะต้องเพิ่มความแข็งแรงให้กับอาคารทั้งหมด ซึ่งวิธีที่เราคิดค้นคือ การค้ำยันด้วยเหล็กที่เรียกว่า Buckling-Restrained Brace: BRB เป็นการค้ำยันด้วยเหล็กที่มี 2 ชั้น ชั้นในเป็นแกนเหล็กที่ออกแบบไว้สลายพลังงานจากการสั่นสะเทือน ส่วนด้านนอกเป็นปลอกเหล็กทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้แกนเหล็กด้านในโก่งตัวและเสียรูปไปจากการโยกตัว

การทดสอบพบว่า BRB มีความสามารถสลายพลังงานที่ดี สามารถรองรับการเสียรูปได้สูง ผลการทดสอบการเสริมกำลังโครงอาคารคอนกรีตด้วย BRB ที่พัฒนาขึ้นพบว่า สามารถเพิ่มความสามารถในการสลายพลังงานได้มากกว่า 10 เท่า การเสริมกำลังรูปแบบนี้ จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการออกแบบ และปรับปรุงโครงสร้างคอนกรีต เพื่อต้านทานแรงแผ่นดินไหว

อาคารสูงชั้นล่างเปิดโล่งเสี่ยงถล่มง่าย

 

ดร.สุทัศน์กล่าวด้วยว่า รูปร่างรูปทรงของอาคารที่ไม่ค่อยเหมาะกับการต้านทานแผ่นดินไหว มักเป็นอาคารที่มีชั้นล่างเปิดโล่งไว้เป็นที่จอดรถ หรือทำกิจกรรมต่างๆ จะมีความอ่อนไหวกว่าอาคารแบบอื่น หรืออาคารที่มีลักษณะตอม่อสั้น และอาคารที่มีรูปร่างประหลาดๆ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวอาจเกิดการบิดตัว ซึ่งปัจจุบันวิศวกรสามารถวิเคราะห์โครงสร้าง เพื่อเสริมกำลังอาคารได้ ซึ่งขั้นตอนในการเสริมกำลัง จะเริ่มจากการนำแบบอาคารมาประเมินหาจุดอ่อน จากนั้นก็

ทำการวิเคราะห์ว่าจุดอ่อนนั้นๆ จะสามารถเสริมกำลังด้วยวิธีการใด อาจจะเสริมเฉพาะที่หรือเสริมทั้งหมด และเมื่อเลือกวิธีแล้วก็จะนำไปทำในแบบจำลองก่อน เพื่อวิเคราะห์ก่อนจะไปถึงขั้นตอนในการเสริมจริง ซึ่งคาดว่าต้นทุนในการเสริมกำลังอยู่ระหว่าง 5-10 เปอร์เซ็นต์ ของค่าก่อสร้างอาคารทั้งหมด และไม่ใช่ว่าทุกอาคารจะเสริมได้ทันที ในการเสริมกำลังจะต้องได้รับการคำนวณที่ถูกต้องจากวิศวกรก่อน

นอกจากนั้นอาคารแต่ละแห่งมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน และบางอาคารอาจมีความสำคัญมากสำหรับภารกิจกู้ภัยหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่น โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง ศูนย์สื่อสาร ฯลฯ หรือธุรกิจบางประเภท อาจไม่สามารถหยุดการผลิต เพื่อซ่อมแซมอาคารได้หลังจากเกิดแผ่นดินไหว เมื่อหยุดการผลิตจะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ดังนั้นอาคารทุกอาคารจะต้องมีเป้าหมาย วิธีการ และระดับในการเสริมกำลังรองรับแผ่นดินไหวที่แตกต่างกัน

 

“อาคารสูงในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอาคารที่สร้างใหม่ ไม่น่าจะพังทลายแบบราบเป็นหน้ากลองหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดแรงที่คาดการณ์ไว้ ยกเว้นอาคารที่มีข้อบกพร่องจริงๆ เท่านั้น แต่อาจจะมีความเสียหายเกิดขึ้น อาคารสูงในกรุงเทพฯนั้นถูกออกแบบให้ต้องต้านทานแรงลมและรับน้ำหนักบรรทุกต่างๆ ตัวอาคารจึงถูกออกแบบให้มีความแข็งแรงระดับหนึ่ง และอาคารสูงมักมีการก่อสร้างที่มีการคุมงานที่ระมัดระวังเป็นพิเศษอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ผมกลับเป็นห่วงอาคารสูงปานกลาง และอาคารอย่างอาคารเรียน และโรงพยาบาล ที่มีความเก่าด้วยตัวของอาคารเอง หรือหอพักที่สร้างโดยไม่ได้มาตรฐาน เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม” ดร.สุทัศน์กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: