'สหวิริยา'ดันกนอ.ตั้งนิคมเหล็กบางสะพาน อ้างอบต.ไฟเขียวทั้งที่ไม่เคยฟังความเห็น หวั่นใช้กฎหมายบีบแปลง'ที่ดินสาธารณะ'

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 18 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2978 ครั้ง

 

‘บางสะพาน’ ที่ดินปริศนา เจ้าของที่แท้จริงคือใคร

 

 

กรณีพิพาทเรื่องที่ดินในตำบลแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีคู่ขัดแย้งหลักคือ กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง-กลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด กับเครือสหวิริยาที่ต้องการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำในพื้นที่ต.แม่รำพึง เป็นความขัดแย้งที่สืบเนื่องมากว่า 7 ปี ที่ดินที่เป็นข้อพิพาทประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักๆ คือที่ดิน 18 แปลง ในบริเวณป่าพรุแม่รำพึง ที่ชาวบ้านเรียกว่าที่หัวนก เนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ ซึ่งชาวบ้านยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ของเครือสหวิริยา ที่ชาวบ้านเชื่อว่าได้มาโดยมิชอบ ซึ่งศาลปกครองพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

กลุ่มที่ 2 คือ ที่ดินบริเวณหนองเต่า-หนองนกกระเรียน เนื้อที่ 314 ไร่ ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เคยแยกฟ้องบริษัทเอกชนในฐานบุกรุกที่สาธารณะ 2 แปลง โดยฝ่ายบริษัทเอกชนแพ้ 1 คดี จากนั้นจึงตกลงขอเช่าที่ดิน และยอมความซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตอบตกลง และให้เช่าตารางวาละ 14 บาทต่อปี

 

ส่วนที่ดินกลุ่มที่ 3 ชาวบ้านเรียกว่าที่ดิน 52 แปลง อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับกรมป่าไม้ เคยตั้งคณะกรรมการสอบการบุกรุกที่ดินแปลงนี้ ของบริษัทเอกชน และส่งเรื่องให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปี 2549 ป.ป.ช. ชี้มูลมายังกรมที่ดินให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของเอกชน เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2553 กรมที่ดินจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน 48 แปลง และแก้ไขรูปแผนที่ 4 แปลง ของบริษัท สหวิริยา สตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

 

 

สังเกตได้ว่า ชาวบ้านซึ่งมีสรรพกำลังน้อยกว่า อาศัยช่องทางทางกฎหมายเป็นอาวุธต่อสู้และตรวจสอบ เครือสหวิริยา ยังไม่นับการเรียกร้อง คัดค้าน ยื่นหนังสือ เสนอข้อมูลแก่สังคมผ่านสื่อ และการหาพันธมิตร ทั้งจากนักวิชาการ เอ็นจีโอ ศิลปิน รวมถึงการถักทอเครือข่ายระหว่างภาคประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศเข้าด้วยกัน เป็นเหตุให้แผนการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำของเครือสหวิริยาต้องล่าช้าออกไป

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายฉบับหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในยุคที่ประเทศไทย เน้นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ได้มอบอำนาจหน่วยงานรัฐเพื่อประกาศเขตพื้นที่อุตสาหกรรม และเพื่อการนี้ กฎหมายยังให้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกด้วย นั่นคือ พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 ซึ่งหน่วยงานที่ใช้อำนาจนี้ก็คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

 

สหวิริยา-การนิคมฯจับมือดันตั้งนิคมฯเหล็ก

 

 

ราวกลางเดือนมีนาคม 2555 ชาวบ้านในพื้นที่ทราบว่า มีการประชุมหารือของหน่วยงานรัฐหลายหน่วยที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในอ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก ในพื้นที่อ.บางสะพาน ชาวบ้านจึงร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้สอบถามไปยัง กนอ.

กนอ.ชี้แจงข้อเท็จจริงไปยังน.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กสม. ลงวันที่ 19 มีนาคม 2555 ว่า ทางบริษัท เครือสหวิริยา จำกัด และบริษัท ประจวบพัฒนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้แจ้งความประสงค์ ขอร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน ในพื้นที่อ.บางสะพาน พื้นที่ประมาณ 6,404 ไร่ โดยนำพื้นที่ที่มีการประกอบอุตสาหกรรมของบริษัทแล้วบางส่วน มาจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อประกอบอุตสาหกรรมเหล็กระดับต้นน้ำและกลางน้ำ ได้แก่ การผลิตเหล็กรีดร้อน การผลิตเหล็กรีดเย็น และแผ่นเหล็กเคลือบสังกะสี รวมทั้งการผลิตเหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย

 

กนอ.จึงนำเสนอคณะกรรมการกนอ. ให้ความเห็นชอบในคราวประชุมครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2550 แต่เนื่องจากพื้นที่จัดตั้งมีการประกอบอุตสาหกรรมบางส่วนแล้ว กนอ.จึงเห็นควรให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ของนิคมอุตสาหกรรมฯ ให้แล้วเสร็จก่อน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศเขตเป็นนิคมอุตสาหกรรม และ กนอ.ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตก่อสร้างและดำเนินการใดๆ ในพื้นที่โครงการ

 

หนังสือของ กนอ. ยังตอบอีกว่า กระบวนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมีระเบียบและกฎเกณฑ์ชัดเจนว่า ผู้ที่สนใจจะตั้งนิคมอุตสาหกรรม จะต้องยื่นเอกสารการยินยอมของหน่วยงานท้องถิ่น ที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ รับทราบและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริเวณนั้นๆ ซึ่งในส่วนของการขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพานของเครือสหวิริยาได้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว โดยการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง สมัยวิสามัญที่ 4 ประจำปี 2549 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 และมีมติเห็นชอบการนำพื้นที่ของบริษัทในเครือสหวิริยาทั้งหมด จัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม

 

และขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำอีไอเอและปรับปรุงอีไอเอ ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชาวบ้านงงไม่เคยรับฟังความคิดเห็น แต่กำลังทำอีไอเอ

 

 

‘การประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง สมัยวิสามัญที่ 4 ประจำปี 2549 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 และมีมติเห็นชอบการนำพื้นที่ของบริษัทในเครือสหวิริยาทั้งหมด จัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม’ คือส่วนหนึ่งของคำชี้แจงของ กนอ.

 

น่าแปลกที่ว่า 18 พฤษภาคม 2555 มีหนังสือจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง (อบต.แม่รำพึง) ลงนามโดยน.ส.วนิดา จิระกุล นายก อบต.แม่รำพึง ส่งถึงผู้ว่าการ กนอ. ระบุว่า

 

‘ในการให้ความเห็นชอบให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 นั้น ทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อนมีความเห็น’

 

และยังระบุด้วยว่า กรณีที่ดิน 52 แปลง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งอาจมีที่ดินบางส่วน ที่บริษัทฯนำมาขอจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม อาจจะขัดหรือกระทบต่อหลักเกณฑ์การจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมได้ ทางอบต.แม่รำพึง จึงขอให้ทำการตรวจสอบที่ดินให้ชัดเจน และรอให้ศาลปกครองมีคำสั่งถึงที่สุดเสียก่อน

 

ประเด็นการตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน ทางเครือสหวิริยายืนยันว่า มีการทำสัญญาความร่วมกับกนอ.จริง และภายหลังจากที่ชาวบ้านติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ ทางกนอ.จึงปฏิเสธว่า ยังไม่มีการทำอีไอเอแต่อย่างใด ส่วนหนังสือที่แจ้งแก่ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เป็นการแจ้งผิดพลาด

 

กนอ. จึงทำหนังสืออีกฉบับเพื่อแก้ไขการชี้แจงข้อเท็จจริงส่งกลับไปอีกรอบ มีเนื้อหาว่า

 

‘เพื่อให้ข้อมูลสอดคล้องกับสถานภาพปัจจุบันของโครงการฯ กนอ.จึงขอแก้ไขข้อเท็จจริงโครงการนิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน จาก “อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำรายงาน EIA และปรับรายงาน EIA ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณาการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เป็น “อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนรายละเอียดโครงการ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก ที่มีมาตรฐานระดับสากลและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”’

 

เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาที่ทางเครือสหวิริยากล่าวว่า มีการจัดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง สมัยวิสามัญที่ 4 ประจำปี 2549 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 จนกระทั่งกนอ.ให้ความเห็นชอบในวันที่ 25 มกราคม 2550 กับเมื่อชาวบ้านได้รับรู้ว่า มีการหารือในการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพานในเดือนมีนาคม 2555 พบว่า มีช่องว่างเวลาห่างกันถึง 5 ปี เป็น 5 ปีที่คนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน ก่อให้เกิดข้อกังขาต่อความโปร่งใส และกระบวนการการมีส่วนร่วมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กนอ.ห้ามสหวิริยาใช้คำ ‘นิคมอุตสาหกรรม’ ถ้ายังไม่ได้ประกาศ

 

 

จากการตรวจสอบยังพบด้วยว่า ในเอกสาร Fact Sheet ที่เผยแพร่โดยบริษัท ประจวบพัฒนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ใช้คำว่า ‘นิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน’ ซึ่งตาม พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 บัญญัติว่าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะต้องให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน และห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ชื่อที่มีอักษรไทยประกอบหรืออักษรต่างประเทศที่แปลและอ่านได้ว่า นิคมอุตสาหกรรม

 

เป็นเหตุให้กนอ.ต้องส่งหนังสือถึง นายวิทย์ วิริยะประไพกิจ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน บริษัท ประจวบพัฒนาฯ ให้ระงับการใช้ชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน” เนื้อหาในหนังสือระบุว่า กนอ. ยังไม่ได้ดำเนินการจัดตั้งและประกาศให้เขตพื้นที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมาย ดังนั้นจึงยังไม่สามารถใช้ชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน” และกล่าวอ้างถึงขอบเขตพื้นที่โครงการตามสัญญาร่วมดำเนินงานโดยใช้ชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน” ได้ สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางบริษัทสามารถใช้ชื่อได้เพียงว่า “โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม” เท่านั้น

 

 

ชาวบ้านหวั่นกนอ.ใช้อำนาจเปลี่ยนที่สาธารณะเป็นโรงงาน

 

 

ข้อวิตกกังวลของชาวบ้านกรณีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม อยู่ตรงที่อำนาจในมือของการนิคมอุตสาหกรรมฯ นั่นเอง หากดูจากกฎหมายการนิคมฯ ในหมวด 2 ส่วนที่ว่าด้วยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม มาตรา 36/1 บัญญัติไว้ว่า

                      

การจัดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงนิคมอุตสาหกรรม และมีสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในเขตดังกล่าว ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ โดยระบุแปลงและจำนวนเนื้อที่ดินโดยประมาณ ที่ กนอ. ประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น และเมื่อได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในเขตดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กนอ. เมื่อได้ดำเนินการครบถ้วนตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

 

(1) ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในกรณีที่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความยินยอมและ กนอ. ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่กระทรวงการคลัง ตามราคาที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดแล้ว หรือในกรณีที่พลเมืองยังใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่ หรือยังไม่เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความยินยอมตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย และ กนอ.ได้จัดที่ดินแปลงอื่นให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทน ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกานั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าวโดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน

 

(2) ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการ เมื่อกระทรวงการคลังได้ให้ความยินยอมและ กนอ. ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังตามราคาที่กระทรวงการคลังกำหนดแล้ว ให้พระราชกฤษฎีกานั้นมีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดินดังกล่าวโดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพหรือโอนตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ

 

(3) ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดินเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความยินยอมและ กนอ. ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังตามราคาที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดแล้ว

 

 

ส่วนในมาตรา 38 บัญญัติว่า เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม ให้ กนอ. มีอำนาจดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการเวนคืนตามวรรคหนึ่งให้ตกเป็นของ กนอ. และให้ กนอ. มีอำนาจดำเนินการโอนไปยังผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ประกอบพาณิชยกรรม หรือผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบพาณิชยกรรม แล้วแต่กรณีได้

 

เห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจกนอ. สามารถนำที่ดินสาธารณะที่ประชาชนเลิกใช้แล้ว หรือยังใช้อยู่ หรือแม้แต่ที่ดินสาธารณะที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการ แปลงสภาพเป็นที่ดินของ กนอ. ได้ เพียงแค่หน่วยงานรัฐเซ็นยินยอม ส่วนที่ระบุถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น ก็คงต้องประเมินเอาเองจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่ามีการดำเนินการอย่างโปร่งใสหรือไม่ เพราะกรณีนิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน ซึ่งทางเครือสหวิริยาอ้างว่า อบต.แม่รำพึง มีมติเห็นชอบให้นำพื้นที่ของบริษัทในเครือสหวิริยาทั้งหมด จัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม และ กนอ. ก็เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2550 นั้น ทาง อบต.แม่รำพึง ก็ได้ทำหนังสือปฏิเสธว่า ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มาก่อน

 

เมื่อพิจารณาจากการจับไม้จับมือกันของเครือสหวิริยากับกนอ. ชาวบ้านบางสะพานจึงหวั่นเกรงว่า กรณีพิพาทที่ดินทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ว่าผลคำพิพากษาจะออกมาในทางเป็นคุณต่อบริษัทเอกชนว่า ที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง หรือเป็นโทษว่าที่ดินเหล่านี้เป็นที่สาธารณะก็ตาม แต่ด้วยอำนาจตามกฎหมายที่กนอ.ถืออยู่ในมือ ก็ย่อมสามารถแปลงพื้นที่สาธารณะ ให้กลายเป็นที่ดินของการนิคมอุตสาหกรรมได้ในที่สุด

 

จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด เคยกล่าวไว้ว่า สำหรับการต่อสู้ของชาวบ้าน การที่ยังไม่แพ้ถือว่าเป็นชัยชนะ งานนี้ต้องรอดูว่า คนบางสะพานจะรับมือยื้อยุดพลังอำนาจของ กนอ. ต่อไปอย่างไร

 

ซึ่งหากมองทั้งสองด้านทั้งชาวบ้านและเครือสหวิริยา แม้ว่าการเจรจาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ จะไม่เคยเกิดขึ้นจริงจัง แต่ชาวบ้านบางสะพาน ก็ไม่ได้ปิดประตูแบบไร้ทางออกให้กับอุตสาหกรรมแห่งนี้ แต่ชาวบ้านกลับเปิดทางเพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กของเครือสหวิริยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังคงดำเนินต่อไปได้ เพียงแต่ไม่ต้องการขยายให้มากไปกว่าเดิม ด้วยชาวบ้านเห็นว่า เพียงเท่านี้กับมลพิษที่เกิดขึ้น ก็เพียงพอที่ธรรมชาติรับสภาพได้ แต่หากมากไปกว่านี้ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดขึ้นเป็นทบทวี และนั่นหมายถึงชุมชนก็จะได้รับผลกระทบด้วย แม้ว่าหลายครั้งที่บริษัทพยายามสัญญาว่าจะไม่เกิดขึ้น ขณะที่ตัวอย่างของผลกระทบในพื้นที่อื่นก็มีให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: