‘ธีรภัทร ประยูรสิทธิ์’เดินหน้าแก้ ปัญหาสัตว์ป่าเมืองไทยใหญ่กว่าที่คิด

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 18 ธ.ค. 2555


 

ข่าวเสือ ออกมาตะปบทำร้ายชาวบ้าน เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ข่าวช้างป่าออกจากมาทำลายพืชผลการเกษตรของชาวบ้านในหลายพื้นที่ ทำร้ายประชาชนในละแวกใกล้เคียงเสียชีวิต หรือแม้กระทั่งการออกอาละวาดของฝูงลิงป่า เข้ารื้อค้น ขโมยข้าวของ และทำร้ายประชาชนจนต้องอพยพย้ายบ้านหนี ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด กำลังกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทั้งสองฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

คนกับสัตว์กำลังแย่งพื้นที่ป่า

 

 

แม้จะพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา ล้วนมาจากการแย่งใช้พื้นที่ระหว่างคนกับสัตว์มีมากขึ้นจากการขยายพื้นที่ทำการเกษตรเข้าไปในพื้นที่ป่ามากขึ้น อันเนื่องมาจากการครอบครองที่ดิน เพื่อการท่องเที่ยว การขยายพื้นที่เขตเมือง รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่เป็นไปตามสภาพการณ์ปัจจุบัน แต่การแก้ปัญหากลับยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ปัญหาคนกับสัตว์จึงยังคงดำเนินต่อไป

 

อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่ปัญหาความขัดแย้ง จากการแย่งพื้นที่ระหว่างคนกับสัตว์ป่าในประเทศไทยเท่านั้น หากค้นลึกไปในเรื่องของสัตว์ป่าจริง ๆ แล้ว กลับยังพบว่ามีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ และน่าเป็นห่วง ที่กำลังถูกมองข้ามไป กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบงานด้านสัตว์ป่าโดยตรงต้องรับหน้าที่แก้ปัญหานี้

 

ธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของสัตว์ป่า และปัญหาในการดูแลสัตว์ป่าของไทยในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะยังหาทางออกไม่ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สัตว์ป่าถูกรุกรานและถูกล่ามากขึ้น

 

 

นายธีรภัทรกล่าวว่า ปัญหาของสัตว์ป่าในประเทศไทย เราพบว่ายังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่ถูกล่าอยู่ในทุกพื้นที่ป่า เพื่อนำไปขายให้กับกลุ่มที่ยังนิยมบริโภคสัตว์ป่า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศอย่างที่เรารู้กัน แต่ปัญหาสำคัญที่กำลังเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อสังคมมากขึ้นก็คือ การแย่งพื้นที่ป่าระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งพบว่าที่ผ่านมามีสัตว์ป่าออกมาทำร้ายชาวบ้านที่มีบ้านเรือน หรือพื้นที่เกษตรกรรม ที่อยู่ติดกับพื้นที่ป่า เช่น ช้างออกมาทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิตที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย จ.ฉะเชิงเทรา หรือเสือออกมาตะปบคนจนถูกยิงตาย ซึ่งเราอาจจะเห็นเป็นภาพของสัตว์ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการการขยายตัวชุมชน ที่เข้าไปใกล้พื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งของสัตว์ป่ามากขึ้น การขยายพื้นที่เกษตรกรรม มีการเข้าไปทำไร่ใกล้ชิดป่า ซึ่งเคยเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ เมื่อสัตว์ไม่มีแหล่งอาหาร มันก็จะออกมาจนกลายเป็นปัญหา

 

 

สัตว์ขนาดเล็กกำลังหนีเข้ามาในเมือง

 

 

นอกจากจากสัตว์ใหญ่ที่อยู่ในป่าแล้ว ยังพบว่า มีกลุ่มของสัตว์อื่น ๆ เช่น ลิง ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ออกมารบกวนผู้คนที่มีอยู่บ้านใกล้แหล่งอาศัย จนสร้างความเดือดร้อนรำคาญ บางแห่งถึงกับต้องย้ายบ้านหนี ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับแจ้งให้ไปแก้ไขปัญหาทุกวัน และที่น่าสนใจและน่าเป็นห่วงอีกก็คือ การออกมาของสัตว์ในกลุ่มตะกวด เหี้ย หรืองู ทั้งงูเหลือม งูหลาม ที่มีมากในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ และปริมณฑลนี่เอง กลุ่มงูพวกนี้จะออกมากินไก่ กินแมว ของชาวบ้าน เราได้รับแจ้งทุกวัน เดือนละไม่ต่ำกว่า 30-40 ตัว และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นมากด้วย

 

นายธีรภัทรกล่าวต่อถึงสาเหตุที่สัตว์ร้ายขนาดเล็กกำลังบุกรุกเข้ามาในเมืองมากขึ้น เพราะขณะนี้ระบบการควบคุมทางธรรมชาติหมดไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การควบคุมด้วยระบบห่วงโซ่อาหารถูกทำลาย

 

 

             “เมื่อก่อนในป่า งูเหลือม งูหลามพวกนี้จะมีกลุ่มนาก หรือเสือขนาดใหญ่คอยกิน เพื่อควบคุมประชากรกันเอง แต่ตอนนี้สัตว์ป่าที่จะคอยควบคุมมันก็ลดจำนวนลงด้วย ดังนั้นจึงเป็นปกติ ที่เมื่อไม่มีการควบคุม สัตว์เหล่านี้ก็เพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าถูกทำลาย ไม่มีพื้นที่ให้พวกมันได้อยู่อาศัยหากิน มันจึงออกจากป่ามามากขึ้น กลายเป็นมาสร้างปัญหาให้กับคน นอกจากนี้การที่เราใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงมากขึ้น ก็เป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งเกษตรกรอาจจะคิดว่าการใช้สารเคมีฆ่าวัชพืช หรือใช้ฆ่าแมลงที่ไม่ต้องการ แต่ต้องยอมรับว่า มันยังส่งผลทำให้สัตว์อื่น ๆ ถูกฆ่าตามไปด้วย ทำให้ระบบการควบคุมของธรรมชาติระหว่างสัตว์กับสัตว์หายไป สัตว์ในป่ามีปัญหา อาหารหายไป ก็ส่งผลต่อมายังคง สัตว์ป่าออกมานอกป่ามากขึ้น”

 

 

และแม้สิ่งเหล่านี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ จะเคยออกมาเตือนเกษตรกรและผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ป่าแล้วหลายครั้ง ในการประชุมหรือสัมมนาด้านสัตว์ป่าว่าจะต้องระวัง อย่าเข้าไปในป่าหรือทำอะไรที่ส่งผลกระทบ แต่มักจะถูกเอ็นจีโอ หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชน ออกมาติงว่า หากจะต้องเลือก เราก็ต้องเลือกคนก่อน ให้คนมีที่ทำกินก่อน แต่ลืมคิดไปว่าสัตว์ป่าก็ต้องการที่ทำกินเช่นกัน เช่น การทำเกษตรใกล้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่มีเสือมีช้าง เมื่อสัตว์เหล่านี้ไม่มีอาหาร เพราะสัตว์หลายชนิดที่เคยเป็นเหยื่อหมดไป มันก็ต้องออกมาจากป่า กลายเป็นปัญหาที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน

 

ทุกวันนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องดูแลสัตว์ป่าทั้งหมด ทุกวันนี้ก็ได้รับแจ้งทุกวัน ปัญหาที่เยอะมากที่สุด คือเรื่องการที่สัตว์ป่าออกมารบกวนชุมชน ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่แม้จะไม่มีทุกวัน แต่ก็มีเป็นระยะ ๆ ช้างจะมากที่สุดที่ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน และกลายเป็นความขัดแย้งกัน นอกจากนี้มีพวกลิง ที่จะพบใน จ.เพชรบุรี ลพบุรี เรามีทีมจะต้องออกไปแก้ไข ไปจับทุกวัน และยังจะต้องไปจับพวกเหี้ย ตะกวด และงู ที่มีกันมาก เจ้าหน้าที่จะต้องไปติดตามแก้ไข จับมาสัตว์เหล่านี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ค่าอาหารของกลางปีละ 800 ล้านแต่ก็ไม่พอ

 

 

นายธีรภัทรกล่าวต่อว่า สัตว์ที่จับมา ถ้าเป็นพวกงูก็จะเอาไปเลี้ยงไปเก็บไว้ที่ศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าในแต่ละพื้นที่  แล้วก็จะต้องนำไปปล่อยไว้ในป่าลึกๆ ต่อไป อย่างกลุ่มของพวกลิงตอนนี้มีกว่า 500 ตัว ที่จะต้องเอาไปปล่อยเพราะเลี้ยงไม่ไหว ซึ่งสัตว์ที่สามารถปล่อยเข้าป่าไปได้ก็จะปล่อย แต่ก็มีหลายชนิดที่ปล่อยกลับไปไม่ได้จะต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิตของมัน เช่น เสือ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ปล่อยกลับไปมันก็หากินไม่ได้ หรือสัตว์ที่ผู้เลี้ยงเคยมาแจ้งขอเลี้ยงไว้เมื่อครั้งที่กรมอุทยานฯ มีการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ.2546 ตอนนั้นมีคนมาแจ้งขอเลี้ยงสัตว์ป่าไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดไม่อยากเลี้ยงขึ้นมา ก็ขอให้กรมอุทยานฯ ไปรับมา เราก็ต้องมาเลี้ยงไว้ ปล่อยเข้าป่าไม่ได้เพราะมันหากินไม่เป็น

 

 

             “ตอนนี้มีหมีประมาณ 100 ตัว เสือชนิดต่างๆ ประมาณ 80 ตัว แล้วยังมี  ตะกวด เหี้ย เกือบ 1,000 ตัว งู 500-600 ตัว ทั้ง งูเห่า งูจงอาง นอกจากนี้เรายังมีสัตว์ของกลางอื่น ๆ ที่ต้องเลี้ยงไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด อย่างกลุ่มเต่าต่างประเทศนี่ เราเลี้ยงอยู่จำนวนมากที่ศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าบางพระ มีชีวิตบ้าง ตายบ้างไปตามอายุขัย”

 

 

สำหรับงบประมาณในการเลี้ยงดูสัตว์ของกลาง นายธีรภัทรเล่าว่า ในแต่ละปีกรมอุทยานฯ จะได้งบประมาณดูแลสัตว์ป่าทั้งหมดประมาณ 700-800 ล้านบาท  ซึ่งจะถูกนำมาจัดสรร ส่วนใหญ่ใช้ในการบริหารจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งจะเป็นเรื่องของค่าจ้างเจ้าหน้าที่ ค่าบริหารจัดการ ค่าอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ แต่ล่าสุดเราได้ค่าอาหารสัตว์ป่าของกลางมาเพิ่มอีก 10 ล้านบาท แต่ก็ไม่พอ เพราะเรามีสัตว์ป่าของกลางจำนวนมาก และสัตว์บางชนิดต้องใช้อาหารพิเศษ ที่มีราคาแพง อย่างเสือ ที่ใช้ค่าอาหารแพงมาก โดยเฉพาะลูกเสือ เพราะต้องให้นมที่เป็นลักษณะพิเศษ กระป๋องหนึ่งตกราว 1,000 บาท กินได้เพียง 4 มื้อ ดังนั้นค่าอาหารเสือจะอยู่ตกตัวและ 8,000 บาทต่อวัน

 

 

เสือใหญ่กินจุ ต้องหาอาหารให้สัตว์ทุกรูปแบบ

 

 

กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีเสือขนาดใหญ่ 80 ตัว ลูกเสือ 15 ตัว สำหรับเสือใหญ่นั้น ต้องให้เนื้อสัตว์ อาหารเสริม เฉลี่ย 1 ตัว มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 8,800 บาท รวมเดือนละประมาณ 836,000 บาท ส่วนลูกเสือให้กินนมแพะ ราคากล่องละ 1,000 บาท 1 กล่องกินได้ประมาณ 4 ครั้ง หมี มีค่าอาหารตัวละ 1,200 บาท ต่อเดือน รวมค่าอาหารหมี เดือนละ 120,000 บาท ลิงค่าอาหารตัวละ 600 บาท ต่อเดือน รวมค่าอาหารลิงเดือนละ 300,000 บาท นกมีค่าอาหารตัวละ 90 บาท ต่อเดือน รวมค่าอาหารนกตกเดือนละประมาณ รวมค่าอาหารนกเดือนละ ประมาณ 450,000 บาท ส่วนตัวลิ่นหรือนิ่ม ไม่มีอาหารให้กินที่ชัดเจน จะบดเศษอาหาร หรือให้กินไข่มดแดง ซึ่งราคาแพงมาก เวลานี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล กำลังพัฒนาอาหารสำหรับตัวนิ่ม หรือลิ่นอยู่ ทั้งนี้ บางส่วนที่แข็งแรงก็ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปบ้าง

 

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมค่าอาหารเสริมและการดูแลสุขภาพอย่างอ่อน ทั้งนี้ เสือ หมี ลิง ชะนี และค่าง จะต้องขูดหินปูนและอุดฟัน ให้ปีละ 1 ครั้ง โดยสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเครื่องมือ ค่ายาสลบ เฉลี่ยตัวละ 1,000-2,000 บาท ส่วนสัตว์อื่น ๆ เช่น เหี้ย ตะกวด งู เจ้าหน้าที่เลี้ยงไว้ในบ่อเลี้ยง เวลานี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซมบ่อให้เหมาะสม เพราะปีที่ผ่านมา งูกับเหี้ย ตายไปจำนวนมาก เพราะกัดกัดเอง เนื่องจากอยู่ในบ่อที่แคบ โดยสัตว์พวกนี้ เจ้าหน้าที่ให้ กินปลา กบ หนู ซึ่งซื้อมาจากตลาดสดบ้าง หรือมีคนเอามาขายให้บ้าง

 

นอกจากนี้ก็ต้องซ่อมกรงลิง ค่างและชะนี ทุกปี เพราะสัตว์พวกนี้ค่อนข้างฉลาดและชอบแกะกรง ทำให้กรงเสียหาย ต้องซ่อมกันเป็นประจำดังนั้นงบประมาณที่ได้มาจึงไม่พอ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะต้องจัดสรร เงินเจียดจากส่วนอื่น ๆ มาใช้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องคงนโยบายเดิมคือให้ เจ้าหน้าที่หาอาหารจากการปลูกผัก หรือใช้อาหารอื่นทดแทน เพราะไม่มีทางพออยู่แล้ว เนื่องจากสัตว์ป่าของกลางที่มาจากการจับกุมมีสถิติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่งบประมาณจะจัดสรรจากจำนวนสัตว์เดิม ๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อาศัยผู้ใจบุญบริจาคงบฯเพิ่ม

 

 

ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วงบประมาณต่าง ๆ อาจไม่เพียงพอต่อการดูแลสัตว์ป่าของกลาง แต่หากเงินงบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอ นายธีรภัทรระบุว่า ยังมีเงินจากกองทุนพ่อแม่อุปถัมภ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นโครงการของกรมอุทยานฯ ที่จัดทำขึ้น เพื่อให้คนได้บริจาค แต่เงินก็จะมาเป็นระยะ ๆ เป็นช่วง ๆ หากมีการพูดถึงในสังคม มีข่าวเกิดขึ้นก็จะมีเงินเข้ามา แต่ถ้าเป็นโดยทั่วไปเงินจะนิ่ง ๆ อยู่ อย่างไรก็ตามจะมีกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีฐานะจะบริจาคให้กับกองทุนมาทุกเดือน ๆ ละเป็นหมื่น ๆ บาท เพื่อทำบุญโดยไม่ได้หวังอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยสัตว์ป่าพวกนี้ได้ เราอยากจะประชาสัมพันธ์ สำหรับผู้ที่ต้องการทำบุญกับสัตว์ป่า เพราะจากสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้น สัตว์กับมนุษย์ต้องอยู่ด้วยกัน เมื่อมีความขัดแย้งเราก็จำเป็นต้องแก้ไข ก็จะมีเงินกองทุนเหล่านี้ไปช่วย

 

 

ทั้งที่คุมเข้มแต่ยังมีการลักลอบค้าเพียบ

 

 

ส่วนสถานการณ์การจับกุมคดีสัตว์ป่าในปัจจุบัน มีการจับกุมได้อยู่ที่ราว 500-600 คดี และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2555 จับกุมผู้กระทำผิดลักลอบค้าสัตว์ป่าได้ 702 คน มีสัตว์ของกลาง 14,690 ตัว รวมกับที่มีอยู่แล้วเดิมอีกนับหมื่นตัวเช่นกัน ที่มีมากที่สุดคือ นก ประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะนกสวยงาม หายาก เช่น นกยูง ไก่ฟ้า นกปรอทชนิดต่าง ๆ รวมประมาณ 15,000 ตัว เต่า 659 ตัว  ตัวลิ่น 478 ตัว งู คือ งูเห่าและงูจงอาง อีก 2,638 ตัว ตัวเหี้ย และตัวตะกวด 1,000 ตัว ลิง ค่าง และชะนี 500 ตัว หมีหมา หมีควย 100 ตัว และเสือโคร่งอีก 95 ตัว ซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมาเรามีการจับกุมผู้กระทำผิดได้มากขึ้น สัตว์ป่าของกลางที่มีทั้งสัตว์ป่าไทย สัตว์ป่าต่างประเทศก็มีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะล่าสุด มีองค์กรต่างประเทศที่ทำเรื่องของการค้าขายสัตว์ป่า ไปสรุปว่า ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีการซื้อขายสัตว์ป่าและเป็นประเทศปลายทางที่ต้องจับตา และจัดลำดับว่า เราอยู่ในลำดับต้น ๆ เช่นเดียวกับจีน โดยเอาประเด็นจำนวนการจับกุมไปใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะการที่เราจับได้มาก เพราะเรามีระบบและมีประสิทธิภาพในการควบคุม ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะต้องทำความเข้าใจกับต่างชาติเรื่องนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไทยภาพลักษณ์เสียเพราะถูกประณามว่าเป็นตลาดใหญ่

 

 

                 “จริง ๆ เรามีการวิวัฒนาการการจัดการสัตว์ป่ามากขึ้น มีการทำยุทธศาสตร์สัตว์ป่าแห่งชาติ มีการวางแผนนโยบาย และรูปแบบหลากหลายมากขึ้น  มีการจัดทำศูนย์จัดการสัตว์ป่า ในทุกพื้นที่อนุรักษ์ จัดหน่วยเฉพาะกิจที่จะปราบปรามด้านการล่าสัตว์ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันก็จัดหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าเช่น สัตว์ป่าพลัดหลงมารบกวนคน มีสัตวแพทย์ดูแล มีการเฝ้าระวังตรวจหาโรคอุบัติใหม่ที่มีสัตว์ป่าเป็นพาหะ นอกจากนี้มีการดำเนินการเรื่องของการตรวจสอบสอบกลุ่มสัตว์ป่าที่เคยแจ้งในการครอบครองไว้ รวมไปถึงสัตว์ป่าในสวนสัตว์สาธารณะ ซึ่งถือว่าครอบคลุม ก่อนหน้านี้เท่าที่ทราบกันว่าเรามีการนิรโทษกรรมกลุ่มสัตว์ป่าที่ครอบครองอย่างผิดกฎหมายในปี 2546  ต่อมาตอนนี้ครบ 10 ปี เราจะสำรวจ หลังจากที่เคยมีการแจ้งตอนนั้นมีจำนวนแสนกว่าราย มีสัตว์หนึ่งล้านตัว 80 เปอร์เซนต์ เป็นนก ซึ่งจะต้องไปสำรวจว่าตอนนี้สัตว์เหล่านั้นอยู่อย่างไร รวมถึงเสือจะแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในสวนสัตว์สาธารณะ จำนวน 1,000 ตัว และส่วนที่สองอยู่กับรายย่อย มี 38 ราย จำนวน 200 กว่าตัว ตอนนี้น่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากเพื่อติดตาม เสือมี 38 ราย  200 ตัว เราต้องตาม ปัจจุบันอาจจะเพิ่มมาแล้ว นอกจากนี้ก็มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานนานาชาติเพื่อดูแลเรื่องนี้” รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: