นักกิจกรรมวอนมนุษย์    ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

คิม ไชยสุขประเสริฐ 17 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1581 ครั้ง

 

วันที่ 14 ธ.ค.เสวนา “ขบวนการเกษตรอินทรีย์แห่งเอเชียมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริงหรือ?” กิจกรรมช่วงบ่าย ในงานปาฐกถามหาตมะคานธีอนุสรณ์ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 1 (2555) ในหัวข้อ ‘ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน : สารจากอินเดีย’ โดย ดร.วันทนา ศิวะ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ก่อตั้งนวธัญญา จัดโดย ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ร้องมนุษย์เคารพสิทธิทรัพยากร-ระบบนิเวศน์ รักษาโลกเป็นบ้านที่มั่นคง

 

ปาโบล ซาลอง (Pablo Solon) ผู้อำนวยการบริหาร Focus on the Global South และอดีตหัวหน้าคณะเจรจาข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจสีเขียว ประเทศโบลิเวีย กล่าวในการเสวนา ‘ขบวนการเกษตรอินทรีย์แห่งเอเชียมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริงหรือ?’ ถึงประเด็นสิทธิว่า ไม่ใช่แต่เพียงสิทธิของมนุษย์ แต่สิทธิของสัตว์และสิทธิของทรัพยากร ไม่ว่าสิทธิของเมล็ดพันธ์ สิทธิของป่า รวมทั้งสิทธิ์ของระบบนิเวศน์ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง หากมนุษย์ไม่เคารพวัฏจักรที่มีชีวิตของโลก ก็ไม่มีวันที่โลกจะเป็นบ้านที่ยังยืนอีกต่อไป

 

ระบอบทุนนิยมในปัจจุบันมีพื้นฐานที่คำนึงถึงผลกำไรเป็นที่ตั้ง และมองธรรมชาติเป็นเพียงต้นทุนทรัพยากรที่จะทำเงินให้ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องท้าทายตรรกะนี้ และหนุนให้เกิดการเคารพสิทธิของทรัพยากร ยกตัวอย่างในเอกวาดอร์ที่มีการสนับสนุนสิทธิของแม่ธรณี ทั้งนี้ การที่ทรัพยากรประสบวิกฤติก็จะส่งผลกระทบกับชีวิตผู้คนด้วย

 

ปาโบลกล่าวอีกว่า เราควรคิดให้ลึกซึ้งในเรื่องน้ำมันกับภาวะโลกร้อน เพราะจากที่การเจรจาข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการเสนอข้อมูลว่าหากต้องการรักษาโลกไม่ให้ร้อนขึ้นไปกว่า 2 องศาเซลเซียสซึงจะทำให้เกิดวิกฤติ ต้องป้องกันด้วยการลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) อาทิ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน ฯลฯ โดยให้เก็บ 2 ใน 3 ของเชื้อเพลิงนี้ไว้ในดิน แต่การเจรจาหาข้อสรุปที่ผ่านมาเกิดความยุ่งยาก เนื่องจากการขัดขวางของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

 

นอกจากนี้การที่เขาได้เข้าเป็นตัวแทนร่วมการเจรจาข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ได้พบว่า การต่อสู้ของประเทศกำลังพัฒนาในเรื่อง ‘สิทธิการพัฒนา’ นั้นเป็นการสู้เพื่อตอบสนองต่อระบอบทุนนิยม ซึ่งตรงนี้ควรต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิด

 

 

“เราต้องการระบอบแบบใหม่ที่ต่างออกไป ที่ทำให้คนอยู่ดีกินดีและสมดุลกับธรรมชาติ” ปาโบลกล่าว

 

 

 

เอ็นจีโอพลังงานตั้งคำถาม โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าในอาเซียนใครได้ประโยชน์

 

 

ด้านวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENET) กล่าวในเรื่องพลังงาน โดยยกตัวอย่างโครงการพัฒนาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรอย่างกรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งสร้างมากว่า 25 ปี แต่การแก้ปัญหายังไม่จบสิ้น อีกทั้งปริมาณกระไฟฟ้าที่ได้จากโครงการก็ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อครั้งเริ่มต้นโครงการ

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการเปรียบเทียบที่ว่าห้างสรรพสินค้าขนาดในกรุงเทพฯ เพียง 3 ห้างคือ สยามพารากอน มาบุญครอง และเซ็นทรัลเวิลด์ ใช้ไฟฟ้าทั้งปี 279 ล้านหน่วย รวมกันแล้วมากกว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์ 3 เขื่อนรวมกัน 266 ล้านหน่วยต่อปี (ตัวเลขปี พ.ศ.2549)

 

ขณะที่โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมแล้ว 53,000 เมกะวัตต์ ส่วนเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างผลิตไฟฟ้าได้รวมกว่า 30,000 เมกะวัตต์ แต่โครงการเหล่านี้จะกระทบกับการจับปลา 2-3 ล้านตันต่อปี ที่ทำรายได้ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญให้คนลุ่มน้ำโขง ตรงนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าการดำเนินโครงการเหล่านี้ใครได้ประโยชน์ อีกทั้งยังมีคำถามว่าโครงการพัฒนาพลังงานของอาเซียนนั้นเพื่อคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จริงหรือไม่ และสำหรับประชาชนแล้วพลังงานอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการจริง ๆ

 

วิฑูรย์ยกตัวอย่างการที่ประเทศลาวมุ่งเป้าก้าวไปสู่การเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียนแล้วดำเนินโครงการเขื่อนหลายแห่งบนลำน้ำโขง ขณะที่ประชาชนอาจไม่ได้ประโยชน์ แต่กลับจะต้องได้รับผลกระทบทั้งที่ดินทำกิน ป่าไม้ ทรัพยากร และวิถีชีวิต โดยกรณีเขื่อนไซยะบุรีไฟฟ้าที่ผลิตได้ถึงร้อยละ 95 จะส่งมาขายยังประเทศไทย

 

สำหรับประเทศไทย วิฑูรย์กล่าวว่า การที่เราต้องพยายามหาพลังงานไฟฟ้ามาจากที่ต่าง ๆ เนื่องมากจากการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่อ้างอิงกับ GDP (อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) ทำให้ตัวเลขความต้องการไฟฟ้าสูงเกินจริง โดยขณะนี้เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 32,000 เมกะวัตต์ แต่หากทำตามการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าจะต้องมีถึง 50,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเมื่อปี พ.ศ.2554 อยู่ที่ 23,900 เมกะวัตต์

 

ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขงกล่าวว่า หากมีการปรับการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง คิดว่าในช่วง 10-15 ปี ไทยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็อยู่ได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงคือการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ดี การใช้เทคโนโลยีประยัดพลังงาน รวมทั้งใช้โรงไฟฟ้าต่างๆ ที่มีอยู่แล้วอย่างคุ้มค่า ตรงนี้จะเป็นทางเลือกสู่ความยังยืนทางพลังงานในอนาคตได้

 

 

ชี้ ‘เกษตรอินทรีย์’ สร้างความยังยืนได้ แต่ไม่ใช่ใน ‘สังคมประชานิยม’

 

 

ด้านเดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญกล่าวว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 - 2544) เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนเนื่องจากประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำ โดยแผนดังกล่าวระบุถึงเกษตรกรรมยั่งยืน 5 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.เกษตรอินทรีย์ 2.เกษตรธรรมชาติ 3.วนเกษตร 4.เกษตรผสมผสาน 5.เกษตรทฤษฎีใหม่ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็ยังต้องมีการผลักดันของภาคประชาชนเพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติ

 

ต่อมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อปี 2547 มีการกำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ มีเป้าหมายให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ ใน 4 ปี และการนำเข้าปุ๋ยเคมีลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ ใน 5 ปี จนปี 2551 พื้นที่เกษตรอินทรีย์ยังไม่ถึง 1 แสนไร่ ขณะที่การนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ นี่คือการพัฒนาที่ไม่ยังยืน แม้จะเป็นวาระแห่งชาติ

 

ด้านรัฐบาลปัจจุบันดำเนินนโยบายจำนำข้าว ส่งผลให้ไทยหลุดจากอันดับ 1 ของโลกในการขายข้าว ที่ครองมากว่า 30 ปี ไปอยู่ที่อันดับ 3 ขณะที่รัฐรับซื้อข้าวในราคา 15,000 บาทต่อตัน โดยราคาตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อตัน ส่วนต่างที่ขาดทุนนี้คือ ภาษีของประชาชนและเงินที่มาจากการกู้ยืม ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่ผ่านมาขาดทุนกว่า 140,000 ล้านบาท แต่เงินจำนวนนี้ถึงเกษตรกรจริงไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเกษตรอินทรีย์แม้จะนำสู่ความยั่งยืนจริง แต่การตั้งราคาข้าวหอมมะลิ 20,000 บาทต่อตัน ทำให้เกษตรอินทรีย์ที่ขายกันอยู่ที่ 1,700 บาทต่อตัน อยู่ไม่ได้ ไม่มีใครอยากทำ

 

เดชากล่าวตั้งคำถามต่อนโยบายจำนำข้าวด้วยว่า หากมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ให้เงินถึงมือประชาชน รัฐบาลจะยินดีดำเนินการหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวเขาเห็นว่านโยบายประกันราคาสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แย่น้อยกว่า เพราะเงินถึงมือชาวนาและไม่รบกวนกลไกตลาด อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นโยบายจำนำข้าวช่วยเหลือชาวนารวย ส่วนชาวนาที่มีผลผลิตไม่พอขายไม่ได้รับความช่วยเหลือ อีกทั้งกรณีของการทุจริต

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ชาวนาทุกคนชอบ ชาวนาไม่เห็นว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ และจากกรณีม็อบชาวนาประท้วงอาจารย์นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านโครงการจำนำข้าว เห็นได้ว่าชาวนาลุกออกมาปกป้องคนออกนโยบายทั้งที่ได้รับแค่เศษเหลือ ๆ การที่รัฐบาลใช้นโยบายให้อย่างนี้แล้วได้รับการเลือกตั้ง ก็จะทำนโยบายแบบนี้ต่อไปโดยกู้เงินมาใช้ซึ่งจะส่งผลสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ

 

 

                  “การพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ที่ประชาชน แต่หากยังเลือกรัฐบาลแบบนี้ก็เป็นไปได้ยาก” เดชากล่าว และว่าหากนักการเมืองยังคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ขณะที่ประชาชนก็ไม่เห็นประโยชน์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เลือกคนดี ไม่ร่วมผลักดันโครงการที่ดี ความยั่งยืนก็เป็นได้แค่ความฝัน” เดชากล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: