ไบโอเทคเปิด'เอนไซม์อาหารสัตว์' เสริมสัตว์แข็งแรงลดซื้อจากตปท. หวังคนไทยกิน'เนื้อสัตว์'ปลอดภัย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 17 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1801 ครั้ง

 

เอนไซม์อาหารสัตว์

 

 

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน  ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า งานวิจัยเอนไซม์อาหารสัตว์เป็นการวิจัยเกี่ยวกับเอนไซม์สำหรับเสริมเข้าไปในอาหารสัตว์เพื่อให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี คือ เมื่อสัตว์ได้รับเอนไซม์เข้าไปจะช่วยย่อยอาหารได้ดีขึ้น

 

เนื่องจากสัตว์จะขาดเอนไซม์ในบางกลุ่มที่จำเป็นในการย่อยคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่แป้ง อย่างเปลือกพืช กากเมล็ดธัญพืชที่เหลือจากการแปรรูป ที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ต่างๆ  เช่น กาก รำ ฯลฯ  อาหารจำพวกนี้สัตว์จะไม่สามารถย่อยได้ ดังนั้นถ้าเราให้อาหารเหล่านี้โดยไม่เสริมเอนไซม์ สัตว์จะดูดซึมอาหารไม่ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพไม่แข็งแรงและผลผลิตที่ได้ก็จะต่ำ”

 

 

ฝีมือนักวิจัยไทย ทดแทนการนำเข้า

 

 

งานวิจัย A-zyme เอนไซม์อาหารสัตว์ จึงได้พัฒนากระบวนการผลิตเอนไซม์ในสภาวะที่เหมาะสม และเลือกใช้จุลินทรีย์ที่ดีเพื่อนำมาผสมอาหารสัตว์ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดต่างๆ เป็นการเสริมสร้างให้เกิดการใช้เทคโนโลยีการหมักในระดับอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และทดแทนการนำเข้าเอนไซม์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสัตว์จากต่างประเทศ

 

ดร.วรรณพ กล่าวอีกว่าโจทย์งานวิจัยนี้เกิดจากภาคเอกชนที่เลี้ยงสุกรซึ่งจำเป็นต้องมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เอนไซม์ราคาแพง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย

 

 

                “ผลิตภัณฑ์เอนไซม์แต่ละชนิดมีความจำเพาะและความคงทนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาและชนิดของจุลินทรีย์ที่ใช้ในการผลิต อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ทำให้ได้ผลและความคุ้มค่าในการนำมาใช้แตกต่างกัน อาทิ ผลิตภัณฑ์เอนไซม์ที่พัฒนาในต่างประเทศ โดยใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไม่ใช้ในประเทศไทย ก็จะมีความจำเพาะน้อยกว่าเมื่อนำเอนไซม์เหล่านี้เข้ามาใช้ในประเทศ อีกทั้งยังทำให้เราจะต้องสูญเสียดุลการค้าเพื่อนำเข้าในราคาแพง

 

 

นอกจากนี้เอนไซม์ที่ผลิตจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะผลิตจากจุลินทรีย์ที่คัดแยกได้จากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้อาจไม่ทนต่อสภาพแวดล้อมในประเทศไทยที่อากาศร้อน ส่งผลต่อเอนไซม์เสื่อมสภาพ มีประสิทธิภาพลดลง เมื่อนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นาคารจุลินทรีย์ แหล่งจุลินทรีย์ชั้นดีของประเทศ

 

 

งานวิจัยดังกล่าวจึงมีความเพียรพยายามในการหาจุลินทรีย์ที่เหมาะสมเพื่อนำมาผลิตเอนไซม์และเป็นจุลินทรีย์ที่มาจาก ธนาคารจุลินทรีย์ หรือ Microbe Bank ของไบโอเทค ซึ่งเป็นแหล่งที่มีจุลินทรีย์ให้บริการมากกว่า 20,000 ตัวอย่างและมีเก็บรักษาจุลินทรีย์ตามมาตรฐานคุณภาพสากล (ISO 9001) คือ เก็บรักษาในสภาพเยือกแข็งในถังไนโตรเจนเหลว หรือในหลอดแห้งสุญญากาศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์จะกำหนดขั้นตอน วิธีการจัดเก็บ เพื่อให้ได้จุลินทรีย์ที่ถูกต้อง มีชีวิตรอด และปราศจากการปนเปื้อน

 

ธนาคารจุลินทรีย์ของไบโอเทคยังพร้อมให้บริการด้วยคุณภาพ ปริมาณ ความหลากหลายของจุลินทรีย์ และการบริหารจัดการที่ดีมีมาตรฐานเทียบเท่ากับธนาคารจุลินทรีย์ระดับโลก เช่น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น

 

นอกจากนี้ไบโอเทคยังได้ศึกษา และนำจุลินทรีย์ที่หลากหลายสายพันธุ์นี้ ไปใช้ประโยชน์ทั้งทางการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร และสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถลดการพึ่งพาสารเคมี ลดการนำเข้ายาปฏิชีวนะ และผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ พัฒนาและปรับปรุงสินค้าเกษตรทำให้สามารถสร้างมูลค่าและแข่งขันในตลาดโลกได้

 

 

สรรหาจุลินทรีย์เหมาะสม

 

 

ดร.วรรณพกล่าวอีกว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ยังเกิดจากความตั้งใจของทีมนักวิจัยจากไบโอเทค สวทช.และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาจุลินทรีย์ที่มีความเหมาะสมในการใช้ผลิตเอนไซม์ โดยมีการคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพสูง วิจัยและพัฒนาจนได้เป็นผลิตภัณฑ์เอนไซม์อาหารสัตว์

 

ทีมวิจัยพิจารณาแล้วไม่น่าจะเกินความสามารถของคนไทย โดยสิ่งที่ต้องทำคือคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความสามารถสูงในสภาวะที่ต้องการ เหมาะสมกับสภาวะในตัวสัตว์ และปลอดภัย ทีมวิจัยได้นำเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสมาจากธนาคารจุลินทรีย์ที่เก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ (Biotec Culture Collection) ของไบโอเทคโดยได้คัดเลือกจุลินทรีย์กว่า 100 สายพันธุ์ และได้สายพันธุ์ซึ่งตรงตามเกณฑ์เพื่อผลิต เอนไซม์เพนโตซาเนส ที่ทำงานได้ดีในลำไส้ของสัตว์ ไม่สร้างสารพิษและย่อยอาหารสัตว์ได้ ซึ่งโดยธรรมชาติเชื้อราชนิดนี้ก็จะอาศัยอยู่ในดินทรายอยู่แล้วด้วย

 

 

 

จุดเด่นเอนไซม์อาหารสัตว์

 

 

ดร.วรรณพกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อได้วิจัยและพัฒนาเอนไซม์เพนโตซาเนสขึ้นมาเป็นเอนไซม์ที่ใช้เสริมในอาหารเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยย่อย ทำให้สัตว์ได้สารอาหาร อาทิ แร่ธาตุและโปรตีนจากการย่อยของเอนไซม์ เป็นต้น อีกทั้งเอนไซม์เพนโตซาเนสยังเป็นเอนไซม์หลักสำหรับเลี้ยงสัตว์บก ซึ่งในอดีตต้องนำเข้า 100% ทั้งนี้หากเกษตรกรไทยจะหันมาใช้เอนไซม์คุณภาพที่เหนือกว่าเอนไซม์นำเข้าและองค์ประกอบของเอนไซม์ที่ดีกว่าย่อมทำให้ได้ผลผลิตที่ได้มีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย

 

นอกจากนี้ยังทีมวิจัยยังได้มีการนำไปทดลองใช้จริงในสุกรพบว่า ทำให้สุกรมีน้ำหนักมากขึ้น อัตราแลกเนื้อต่ำลง คือ ใช้อาหารน้อยลงแต่ได้น้ำหนักมากขึ้น ย่อยและดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น

 

 

ต่อยอดสู่การนำไปใช้จริง

 

 

การต่อยอดงานวิจัยดังกล่าวยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ บริษัท เอเชีย สตาร์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด เพื่อนำผลงานดังกล่าวไปพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์

 

ดร.วรรณพกล่าวว่า บริษัทได้เข้ามาดูงานและได้นำไปทดลองต่อในฟาร์มทั้งนี้ก็มองความเป็นไปได้ในการผลิตเอนไซม์ในปริมาณมาก ขยายขนาดการผลิตได้ง่ายและมีเทคโนโลยีรองรับ เอกชนจึงมีความมั่นใจในการนำผลงานวิจัยดังกล่าวไปต่อยอด

 

นอกจากนี้การนำเข้าเอนไซม์เป็นยังปัญหาหลักของประเทศ โดยประเทศไทยต้องนำเข้าเอนไซม์เป็นมูลค่านับพันล้านบาท อีกทั้งในปศุสัตว์ยังมีปัญหาเรื่องสัตว์ไม่ย่อย "สารเอ็นเอสพี" (NSP : Non-starch polysaccharides) ทำให้สัตว์กินอาหารแล้วไม่ย่อย สัตว์ขี้เหลว และดูดซึมอาหารไม่ได้ การพัฒนาผลงานวิจัยดังกล่าวจึงช่วยลดปัญหาสุขภาพเหล่านี้ของสัตว์ได้อีกด้วย

 

ดร.วรรณพกล่าวอีกว่า หลังจากบริษัทได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็สามารถผลิตเอนไซม์อาหารสัตว์และนำไปจำหน่ายทั่วประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมสุกร และยังมีการพัฒนาสูตรเอนไซม์ต่อเนื่องหลายสูตร ขยายการจำหน่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น

 

การต่อยอดงานวิจัยนี้จึงเป็นตัวอย่างของความสำเร็จจากห้องปฏิบัติการสู่การใช้จริง และเป็นตัวอย่างว่าความหลากหลายของเชื้อจุลินทรีย์ที่นักวิจัยเก็บไว้นั้นสามารถนำไปใช้เกิดประโยชน์ต่อวงการปศุสัตว์ไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: