เจาะวอร์รูมกุนซือ‘ยิ่งลักษณ์’ถกแก้น้ำท่วม ‘พิมพ์เขียวเวิลด์แบงก์'แนะ15ข้อลดเสี่ยง จับตา‘พายุจร-ฝีมือนายกฯ'เอาอยู่-ไม่อยู่

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 17 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1544 ครั้ง

 

ชาวบ้านผวา-รัฐบาลละล้าละลัง ‘ในหลวง-พระราชินี’พระราชทานความช่วยเหลือ

 

 

วาระที่มรสุมถล่มภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และน้ำท่วมทั่วทุ่งพระนครศรีอยุธยา ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2555

 

ทำให้ประชาชนชาวปลายน้ำ ริมน้ำ ริมเขื่อนและที่ลุ่ม ตกอยู่ในอาการขวัญผวา

 

แม้กระทั่งรัฐบาลก็ยังตกอยู่ในอาการตระหนก เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกชาวบ้านย่านท่าอิฐ อ.เมือง จ.นนทบุรี บุกประชิดตัวตั้งแต่ช่วงเปิดสัปดาห์ (10 กันยายน) เรียกร้องสิทธิในการชดเชยค่าเสียหายกรณีน้ำท่วมช่วง ตุลาคม-ธันวาคม 2554

 

จากนั้น นายกรัฐมนตรีเรียกประชุม กรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เป็นวาระ “ด่วน” ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์น้ำเหนือ

 

24  ชั่วโมงถัดมา นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ. ตั้งโต๊ะขอโทษ ประชาชนชาวสุโขทัย ที่ทำให้น้ำท่วม พร้อมกล่าวหาฝ่ายวิจารณ์น้ำว่า “ตอนน้ำยังไม่เยอะ เมื่อน้ำเยอะก็อาจจะระบายไปตามช่องทางอื่น ช่วยผมบริหารน้ำ อย่าช่วยปั้นน้ำ”

 

 

ในขณะที่ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี เดือดร้อนแล้วกว่า 4,000 ครอบครัว หรือกว่า 12,000 คน มีความเสียหายทั้งหมดคาดเป็นเงินถึง 1,000 ล้านบาท

 

หลังน้ำท่วมไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีข่าวจากสำนักพระราชวัง ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดหน่วยสงเคราะห์เคลื่อนที่ออกไปช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในท้องที่ จ.สุโขทัย หลังจากพื้นที่ในจ.สุโขทัย เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อ.เมืองสุโขทัย เทศบาลตำบลสุโขทัยธานี ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลกระทบให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน
 
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบให้นายประสงค์ พิทูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิฯ พร้อมกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ประจำจ.สุโขทัย เดินทางไปมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ จำนวน 1,500 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าสิ่งของพระราชทานทั้งสิ้น 760,849.55 บาท

 

สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย พระราชทานความช่วยเหลือ ประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ 6 อำเภอ ของจ.พระนครศรีอยุธยา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นผู้แทนพระองค์ นำชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทยพระราชทาน พร้อมน้ำดื่ม จำนวน 2,000 ชุด ไปมอบให้แก่ราษฎรที่เดือดร้อนจากอุทกภัย

 

ขณะที่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล วันน้ำท่วมภาคเหนือครึ่งภาค รับฟังตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นและคาดการณ์ทำนายผลว่า “เป็นห่วงบางพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมาก และมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งได้พยายามติดตามและดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คาดว่าไม่เกิน 10 วันจะแล้วเสร็จ

 

คู่ขนานกับกองทัพ และปฏิบัติการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ได้สั่งการให้ทหารลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน  แบบทหารมืออาชีพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

น้ำท่วม-ไม่ท่วม 2555 ลุ้น ‘พายุจร’ กับศักยภาพ ‘ยิ่งลักษณ์’

 

 

ข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานตัวเลข ให้ระดับนโยบายนำไปวิเคราะห์ ระบุว่าปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่เกิดอุทกภัยปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2554) ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณมากถึง 5,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและท่วมเป็นวงกว้างมาตั้งแต่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาจนกระทั่งถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล จนกลายเป็นมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศ

 

แต่ ณ วันที่ 10-17 กันยายน 2555 ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังมีความสามารถที่จะรองรับน้ำไหลผ่านได้อีก 202 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ช่วงกรุงเทพและปริมณฑล แม่น้ำเจ้าพระยามีความสามารถรองรับน้ำไหลผ่านได้อีก 1,912 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

ดังนั้น แหล่งข่าวระดับสูงในทำเนียบรัฐบาล จึงวิเคราะห์ฟันธง-พื้นที่เสี่ยง ที่จะเกิดน้ำท่วมจากปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่ง คือพื้นที่ช่วงท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาถึงจ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่จ.ชัยนาท-สิงห์บุรี-ลพบุรี-อ่างทอง

 

ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีพื้นที่รับน้ำนองฝั่งตะวันออก-ตะวันตก ของทุ่งเจ้าพระยารองรับอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่จะตกจากพายุจรที่จะเข้ามาในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมเป็นสำคัญ

 

เงื่อนไข-ความเป็นไปได้ที่น้ำจะท่วม หรือไม่ท่วม จึงขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และความพร้อมในการบริหารจัดการตามแผนเร่งด่วนในการบริหารจัดการน้ำที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2555 ตามนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

 

 

โครงการยักษ์แก้น้ำท่วม 3.5 แสนล้าน จ่ายซ่อม-สร้างแค่ 1.05 พันล้าน

 

 

คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กำหนดให้เอกชน 398 ราย ที่สนใจนำเสนอกรอบความคิด (Conceptual Plan) ในการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ยื่นเอกสารตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) จะประกาศผลการผ่านเกณฑ์รอบแรก 24 กันยายน 2555 และกว่าจะประกาศผลว่าผู้รับเหมายักษ์ใหญ่รายได้จะได้ร่วมงานกับรัฐบาล การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบแบบครบวงจรก็ปาเข้าไปเกือบครึ่งปีหน้า คือวันที่ 25 เมษายน 2556

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยมีกรอบในการพิจารณา Conceptual Plan ระบบบริหารจัดการน้ำว่า จะลงลึกในรายละเอียดประเด็นสำคัญแต่ละด้านจากทั้งหมด 8 แผนงาน หรือ 8 โครงการหลัก ประกอบด้วย 1.แผนการฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ 2.แผนบริหารจัดการเขื่อนกักเก็บน้ำ และการบริหารจัดการน้ำ 3.แผนฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิม 4.แผนการพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย 5.แผนการเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ 6.การกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 7.การปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ และ 8.การสร้างความเข้าใจ การยอมรับและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทกภัยของทุกภาคส่วน

 

ขณะที่ตัวเลขกรมบัญชีกลาง ระบุว่า การเบิกจ่ายงบกลางในการเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ (120,000 ล้านบาท) ณ วันที่ 7 กันยายน 2555 มีการเบิกจ่าย 91,000 ล้านบาท จากวงเงินที่จัดสรรทั้งหมด 119,000 ล้านบาท และก่อหนี้ผูกพัน 18,000 ล้านบาท

 

ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบป้องกันน้ำ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 35,000 ล้านบาทนั้น   สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานตัวเลข ล่าสุดมีการเบิกเงินกู้แล้วเพียง 1,055 ล้านบาทเท่านั้น จากที่มีการอนุมัติจัดสรรก้อนแรกกว่า 20,000 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายของ 4 หน่วยงานประกอบด้วย กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท, กรมโยธาธิการ และกรมชลประทาน ส่วนใหญ่เป็นการเบิกไปใช้สำหรับการซ่อมแซมพนังกั้นน้ำ ซ่อมแซมประตูระบายน้ำเป็นหลัก

 

 

เจาะห้องประชุม 12 กุนซือนายกฯ อภิปรายพิมพ์เขียวแก้ท่วมจากเวิลด์แบงก์

 

 

ก่อนหน้านั้น 7 วัน บรรดาซูเปอร์กุนซือนายกรัฐมนตรี 12 คน ได้รับรายงานที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ซึ่งเป็นเลขานุการของทีมที่ปรึกษาด้านการลงทุนของประเทศ นำเสนอ “สมุดปกขาว” ของธนาคารโลก เรื่อง “เมืองและอุทกภัย : คู่มือเพื่อการบริหารจัดการอุกทกภัยในเขตเมืองแบบบูรณาการ สำหรับศตวรรษที่ 21

 

แต่กรรมการส่วนใหญ่ ไม่ได้มีวาระการอภิปราย หรือนำไปลงมือวางแผน วางโครงการอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรมมากนัก มีเพียง “ความเห็น” กว้าง ๆ ที่ผู้เข้าร่วมประชุมอภิปราย แบบทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ประเด็นที่ว่า “แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยแบบบูรณาการน้ำ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศ”

 

นอกจากนี้กรรมการระดับกุนซือนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา และจัดการลงทุนโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน ยังอภิปรายเพิ่มเติมว่า การออกแบบระบบการป้องกันน้ำท่วมต่าง ๆ จะต้องรอความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ขณะที่กรรมการอีกรายให้ความเห็นว่า เมืองในอนาคตต้องการมีการออกแบบ และเตรียมการป้องกันน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า ทั้งในการใช้มาตรการทางวิศวกรรมที่ใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้างผสมผสานอย่างสมดุล

 

 

สุดท้ายก่อนสรุป “รับทราบ” รายงานของธนาคารโลก มีการอภิปรายถึงประเด็นครอบจักรวาล ที่ทุกคณะกรรมการต้องเห็นไปในทิศทางเดียวกันทุกคณะ คือเรื่อง “การมีส่วนร่วม” ที่ประชาชนต้องมีความเข้าใจเรื่องชุมชนตัวเอง และมีส่วนร่วมในการคิด-วางแผน แก้ปัญหา

 

 

บทเรียนและตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

 

 

ก่อนหน้านั้น ผู้บริหารธนาคารโลก วิเคราะห์ปัญหาน้ำท่วมในเมืองไทยกับเศรษฐกิจไว้ว่า จากการสำรวจของธนาคารโลกใน 26 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยปี 2554 (ระหว่างวันที่ 7-25 พฤศจิกายน) พบว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายประมาณ 1.357 ล้านล้านบาท เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนถึงราวๆ 94 เปอร์เซนต์ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 1.275 ล้านล้านบาท

 

ส่วนความเสียหายของภาครัฐคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6 เปอร์เซนต์ (ราว 81,400 ล้านบาท) ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ของไทยลดลงจากที่ธนาคารโลกเคยประมาณการไว้จาก 3.6 เปอร์เซนต์ มาอยู่ที่ 2.4 เปอร์เซนต์  อย่างไรก็ตามเนื่องจากไทยจำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อการบูรณะฟื้นฟูหลังน้ำท่วมจึงเชื่อว่าโครงการฟื้นฟูเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้จีดีพีของไทยในปี 2555 นี้ ขยายตัวมากขึ้น จากเดิมที่เคยคาดไว้ 3.7 เปอร์เซนต์ น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 4 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 5.6 เปอร์เซนต์ ในปี 2556

 

 

รัฐบาล “รับทราบ” วิกฤตน้ำท่วมเอเชีย

 

 

สมุดปกขาว ที่ฝ่ายเลขานุการ “ชง” เข้าสู่ที่ประชุมกุนซือนายกรัฐมนตรี อ้างถึงมีคณะผู้ร่วมจัดทำ ระดับ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ของธนาคารโลก ประจำประเทศไทย

 

ข้อมูลที่นำเสนอก่อนฤดูน้ำหลาก ประกอบด้วย การเชื่อมโยงสถิติ ตั้งแต่ปี 2553 มีประชาชน 178 ล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมทั้งเอเชียใต้มีความเปราะบางต่อน้ำท่วมเป็นพิเศษ ประชากรโลกกว่าร้อยละ 90 ที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม อาศัยอยู่ในเอเชีย

 

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนครั้งที่เกิดน้ำท่วมในเอเชียสูงถึงร้อยละ 40 ของจำนวนครั้งที่เกิดน้ำท่วมทั่วโลก โดยอุทกภัยในเขตเมืองก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น อีกทั้งยังบริหารจัดการยากขึ้น เพราะประเทศที่มีรายได้ปานกลางและมีรายได้ต่ำในภูมิภาค กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมเมือง โดยมีประชากรและทรัพย์สินกระจุกตัวหนาแน่นบริเวณใจกลางเมือง ซึ่งการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้จำเป็นต้องผนวกการจัดการความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมเข้าไว้ในการวางผังเมือง และการบริหารเมืองด้วย

 

วิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือวิธีการแบบบูรณาการ ซึ่งเอามาตรการเชิงโครงสร้าง และมาตรการอื่นเข้าไว้ด้วยกัน เช่น การสร้างช่องทางระบายน้ำและฟลัดเวย์ การจัดพื้นที่สีเขียวในเมือง การวางแผนการใช้ที่ดิน และสร้างระบบเตือนภัยน้ำท่วม ซึ่งการศึกษาพบว่า การลงทุนในระบบเตือนภัยทุกๆ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ จะช่วยลดความสูญเสียได้ 4-8 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

 

 

ข้อเสนอ 15 ประเด็นที่ถูกฟัง แต่ไม่ได้ยิน

 

 

ธนาคารโลก เสนอแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัย 15 ประเด็น ประกอบด้วย

 

1.การจัดการความเสี่ยงมีทั้งใช้สิ่งก่อสร้าง และไม่ต้องใช้สิ่งก่อสร้าง ผสมผสานกัน แต่ในปัจจุบันภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องและดำเนินไปในอัตราเร่ง ปริมาณและสถานการณ์น้ำท่วมต่างไปจากอดีต การรับมือจึงต้องเน้นแนวทางลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางวิศวกรรมไปสู่การแก้ไขด้วยวิธีการไม่ใช่สิ่งก่อสร้างมากขึ้น

 

2.ความท้ายคือการแก้ปัญหาด้วยการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง แต่ต้องการการมีส่วนร่วม การยอมรับในภาคีและสถาบันที่เกี่ยวข้อง การสร้างความตระหนักรู้ให้ชาวบ้าน ให้มั่นใจต่อแนวทางการแก้ไขโดยไม่ต้องเน้นสิ่งก่อสร้างมากนัก

 

3.การออกแบบการบริหารความเสี่ยงจากน้ำท่วม ต้องครอบคลุมการปฏิรูปเมือง ที่มีการปรับตัวรับมือภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผันผวน และไม่ขัดต่อสภาพเศรษฐกิจ

 

4.ไม่มีพิมพ์เขียวที่แน่นอนในการแก้ปัญหาอุทกภัย แต่ต้องเข้าใจสาเหตุอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการบริหารความเสี่ยงต้องครอบคลุมทรัพย์สินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบและเสียหาย เพื่อหามาตรการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ

 

5.การจัดการน้ำท่วม ต้องปรับตัวรองรับความไม่แน่นอนของภูมิอากาศทุกมิติ

 

6.เมืองที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วต้องบูรณาการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยธรรมาภิบาล เช่น การนำประเด็นการใช้ประโยชน์จากที่ดิน การสร้างที่อยู่อาศัย การวางโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการประชาชทุกด้าน ต้องอยู่ในแผนพัฒนาประเทศ

 

7.ใช้โครงการแผนงาน ทั้งแบบที่ต้องลงทุนก่อสร้างโครงการ และแบบไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ผนวกเข้าด้วยการ เพื่อรับมือน้ำท่วมอย่างเท่าทันและรวดเร็ว

 

8.โครงสร้างทางวิศวกรรมขนาดใหญ่อาจไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมเบ็ดเสร็จ แต่ต้องพิจารณาถึงความจำเป็น เหมาะสมของการใช้วิศวกรรมชนาดใหญ่และต้องมีความโปร่งใส่

 

9.การกำจัดความเสี่ยงจากน้ำท่วมให้หมดไปโดยสิ้นเชิง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้องเลือกใช้แนวทางที่เกิดผลกระทบน้อย และไม่เสียหายต่อโครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

10.สร้างพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง เพื่อเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ

 

11.การใช้จ่ายงบประมาณ ต้องตัดสินใจจากภาคีชุมชนเมือง และสามารถฟื้นฟูประเด็นเชิงสังคมและนิเวศได้ด้วย

 

12.ผู้รับผิดชอบโครงการต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ การตัดสินใจทุกระดับต้องเน้นการมีส่วนร่วมและการเป็นเจ้าของโครงการ จึงเกิดพลังร่วมที่ดี ลดความเสี่ยงในการจัดการน้ำท่วมเมืองได้

 

 

 

 

13.ต้องใช้พลังที่แน่วแน่จาก “ผู้นำ”  และความรับผิดชอบที่ต่อเนื่องและมั่นคงในระดับประเทศและระดับพื้นที่อย่างจริงจัง

 

14.สร้างความตระหนักเรื่องภัยน้ำท่วม ภัยธรรมชาติต่อเนื่อง เพื่อความไม่ประมาทต่อเหตุการณ์ทางธรรมชาติ

 

15.ต้องมีแผนการฟื้นฟู ให้บ้านเมืองพ้นจากเหตุการณ์อุทกภัยอย่างรวดเร็ว ทั้งแผนการเงิน-สินเชื่อ-การพัฒนาคน-การสร้างชุมชนใหม่ที่มีคุณสมบัติในการรับมืออุกทกภัยในอนาคตที่ดี

 

 

กทม.-รัฐบาล ต่างคนต่างยืน –ไร้จุดร่วม คนละทิศทางกับข้อเสนอเวิลด์แบงก์

 

 

แม้หัวใจของสมุดปกขาว คู่มือแก้นำท่วมของธนาคารโลก คือ การมีส่วนร่วม-การร่วมมือ-ความเป็นเอกภาพและความโปร่งใส แต่รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง ของเมืองไทย ยังขับเคลื่อนไปคนละทิศคนละทาง

 

ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น องค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) ทั้งสุโขทัย นครสวรรค์ ต่างร้องขอให้รัฐบาลกลางลงพื้นที่บัญชาการ ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังคัดค้านแนวทางที่รัฐบาลกลางสั่งการ ทั้งเรื่องการระบายน้ำ การเปิดพื้นที่รับน้ำ

 

ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย ที่บริหารรัฐบาล กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่บริหารรัฐบาลท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ยังคงเพิ่มดีกรี แลกหมัด ตัวละครระดับ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.ของเพื่อไทย กับนายชวนนท์ โกมารสุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ตอบโต้เรื่องประเด็นน้ำท่วมโยงกับเรื่องการเมือง ด้วยดีกรีที่ไหลแรงยิ่งกว่าน้ำเหนือที่หลากมาจากแม่น้ำยม

 

ตราบใดที่ฝ่ายบริหารรัฐบาลกลาง ยังไม่เร่งมือปฏิบัติการแก้น้ำท่วมอย่างเป็นระบบ โดยใช้บทเรียนจากปีที่ผ่านมา และยังขัดแย้งกับรัฐบาลท้องถิ่น ทุกจังหวะที่มีการขับเคลื่อนแก้ปัญหา ปัญหาน้ำท่วม ยังคงสั่นคลอนประชาชน ให้ขวัญผวา จนกว่าฤดูน้ำหลาก จะผ่านพ้นวิกฤติ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: