คนบางสะพานคอตก'ศาลปกครอง'ยกฟ้อง คดี‘สหวิริยา’รุกป่าพรุ-ชี้ได้เอกสารถูกต้องชาวบ้านหวั่นที่สาธารณะถูกไถย่อยยับแน่

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 16 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2519 ครั้ง

ชาวบ้านบางสะพานฟ้องศาลขอที่ดินสาธารณะคืน

 

 

ความขัดแย้งในพื้นที่ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด-แม่รำพึงกับบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก ส่วนฝ่ายแรกคัดค้านเพราะเกรงผลกระทบที่จะเกิดแก่สิ่งแวดล้อม ชุมชน และวิถีชีวิต คือความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2548 เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบนโยบายอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น

 

ใจกลางความขัดแย้งจุดหนึ่งคือ พื้นที่ป่าพรุในต.แม่รำพึง ซึ่งทางชาวบ้านระบุว่า การได้มาซึ่งที่ดินของเครือสหวิริยา จำนวน 18 แปลง เนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ บริเวณป่าพรุแห่งนี้ เป็นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยชาวบ้านอ้างว่า พื้นที่ป่าพรุที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “ที่หัวนก” เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านในต.แม่รำพึงใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การทำไต้ หาฟืน หรือหาอาหาร ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปี 2551 สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน และชาวบ้านตำบลแม่รำพึงรวม  41 ราย ร่วมกันยื่นฟ้องหน่วยงานราชการต่าง ๆ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมป่าไม้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิทั้ง 18 แปลงนี้

 

ศาลปกครองได้นัดอ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านจากต.แม่รำพึงประมาณ 50 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษาและส่วนหนึ่งได้รวมกลุ่มถือป้ายรณรงค์บริเวณหน้าศาลปกครอง เรียกร้องให้รัฐนำผืนป่ากลับคืนจากบริษัทเอกชน

 

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาที่ออกมา สรุปอย่างรวบรัด คดีนี้ชาวบ้านตำบลแม่รำพึงเป็นฝ่ายแพ้คดี เมื่อศาลปกครองพิพากษายกฟ้อง

 

 

ศาลเชื่อเอกสาร-จนท.ท้องถิ่นยัน พิพากษายกฟ้อง

 

 

คดีดังกล่าว ศาลปกครองเห็นว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ข้อคือ หนึ่ง-การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์พิพาทจำนวน 18 แปลง เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และสอง-หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ในการดำเนินการเพื่อดูแลรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่พิพาทหรือไม่

 

ประเด็นแรก ศาลปกครองตรวจสอบการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ และการรับรองของผู้ปกครองท้องที่ พบว่าที่ดินทั้ง 18 แปลง มี 1 แปลงเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนไปแล้วเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 ส่วนที่ดินอีก 17 แปลงที่เหลือเป็นที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิอย่างถูกต้อง จึงมิใช่ที่สาธารณะประโยชน์ดังที่ชาวบ้านอ้าง

 

 

 

ส่วนการที่ชาวบ้านอ้างระวางรูปถ่ายทางอากาศ (แผนที่ทหาร) เพื่อพยายามแสดงให้เห็นว่า ไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท หรือแม้บางแปลงอาจมีร่องรอยการทำประโยชน์ ก็เป็นเพียงเนื้อที่เล็กน้อยนั้น ศาลอ้างว่ากฎหมายมิได้มีหลักเกณฑ์ ให้ต้องตรวจสอบ หรือรับฟังสภาพที่ดินจากระวางรูปถ่ายทางอากาศ เพียงแต่ให้สอบสวนสิทธิการทำประโยชน์ ว่ามีการทำประโยชน์ในที่ดินจริงหรือไม่ อย่างไร โดยให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงรับรองแนวเขตที่ดินซึ่งกันและกัน และให้ผู้ปกครองท้องที่เป็นผู้รับรองว่า ที่ดินแปลงที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์มิใช่ที่ดินที่ราษฎร ใช้ทำประโยชน์ร่วมกัน หรือที่สงวนหวงห้าม หรือที่ดินซึ่งทางราชการเห็นว่า ควรสงวนไว้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ในกระบวนการออกหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ได้มีการประกาศปิดคำขอ เพื่อให้ผู้ไม่เห็นด้วยได้คัดค้าน แต่ก็ไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายครบถ้วนแล้ว ทำให้ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น

 

เมื่อประเด็นที่ 1 ได้ข้อสรุปว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง 17 แปลงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประเด็นที่ 2 ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาอีก เพราะถือได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมิได้ละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ในการดำเนินการเพื่อดูแลรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่พิพาท ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

 

 

 

 

 

 

กก.สิทธิเคยพบพิรุธที่ดินสาธารณะ แต่กรมที่ดินไม่ยอมเพิกถอน

 

 

ป่าพรุแม่รำพึงมีรูปร่างคล้ายนกกำลังสยายปีก ชาวบ้านจึงเรียกว่าพื้นที่หัวนก ในเดือนกันยายนปี 2549 มีกลุ่มคนนำเครื่องจักรเข้าแผ้วถางปรับพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านอ้างว่าพบร่องรอยการเคลื่อนย้ายหลักหมุดแสดงเขตที่ดินหลายแห่ง และหลักโฉนดหลายแห่งฝังอยู่ในน้ำซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง เป็นที่มาของการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ชาวบ้านเชื่อว่า น่าจะได้มาโดยมิชอบ ด้วยการนำโฉนดจากที่อื่นมาสวมสิทธิ (สค.บิน) ขณะที่ทางเครือสหวิริยาอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านมาก่อน
 

ชาวบ้านตำบลแม่รำพึงจึงยื่นหนังสือต่อกรมที่ดิน เพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่เอกชนบอกว่า ได้รับมาอย่างถูกต้อง ซึ่งชาวบ้านตรวจสอบพบว่า ที่ดินดังกล่าวผู้นำท้องถิ่นเป็นผู้รวบรวม สมัยก่อนเรียกว่าใบเหยียบย่ำ ทำให้การออกเอกสารสิทธิมีขอบเขตไม่ชัดเจน ชาวบ้านจึงเชื่อว่า ผู้นำท้องถิ่นมีส่วนรู้เห็นกับบริษัทเอกชน การได้ที่ดินจึงได้มาโดยการซื้อและขยายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ซื้อ 5 ไร่ ได้ 10 ไร่

 

 

               “เอกชนพยายามบอกว่านี่คือนาข้าว เพราะถ่ายจากมุมไกลๆ มันเหมือนนาข้าว แต่ลงไปดูแล้วมันคือป่ากก ป่ากระจูด ไม่มีการทำมาหากินมาก่อน แล้วก็เป็นพื้นที่น้ำกร่อย อยู่ๆ ก็เกิดการออกเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านจึงตรวจสอบ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ตอนปี 2551 คุณสุนี ไชยรส (กรรมการสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น) ลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน ผู้ว่าฯ ส่วนราชการ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากเอกชน ที่สุด ทางกสม. ก็เอาผู้เชี่ยวชาญลงหาจีพีเอสและหาหลักหมุด พบว่า หมุดหลายหลักอยู่ในน้ำ พื้นที่ไม่เคยแห้ง จึงตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ถูกต้อง” จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด อธิบาย

 

ภายหลังการตรวจสอบของ กสม. จึงทำการส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ แต่กรมที่ดินอ้างว่า ไม่สามารถเพิกถอนได้ เพราะได้โฉนดมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ชาวบ้านจึงดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครอง กระทั่งมีคำพิพากษาออกมา

 

 

ยันเป็นพื้นที่สาธารณะมากว่า 100 ปี และเป็นป่าชุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์

 

 

จินตนากล่าวว่า ชาวบ้านรู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เคยใช้ประโยชน์ร่วมกันมากว่า 100 ปี ในอดีตชาวบ้านเอาเปลือกเสม็ดจากป่าพรุแห่งนี้มาทำไต้ ทั้งขายและใช้เอง นำไม้เสม็ดมาสร้างบ้าน ใช้ใบจากเป็นวัสดุมุงหลังคา และจับปลาเป็นอาหาร เป็นแหล่งสมุนไพร และเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ร่วมกันโดยไม่มีการแสดงสิทธิการครอบครองที่ดินเป็นของผู้หนึ่งผู้ใดมาก่อน

 

 

 

 

นอกจากนี้ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย (สมัยนั้น) เคยลงพื้นที่สำรวจความอุดมสมบูรณ์ พบว่า มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์ไม้เสม็ดขาวขึ้นหนาแน่นทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก มีพันธุ์ปลาหลายสิบชนิด พื้นที่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน มีลักษณะเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ ตรงตามคุณสมบัติของพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งต่อมาได้มีการเสนอต่อสำนักงานนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้ทำการสำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ กระทั่ง วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 จึงมีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ

 

แม้แต่ในรายงานของบริษัทที่ปรึกษาเองก็ยังระบุว่า มีแพลงตอนพืช 3 ล้านเซลล์ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะมีความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ยิ่งกว่านี้ เมื่อพื้นที่ 18 แปลงกับพื้นที่ป่าชุ่มน้ำทับซ้อนกันเช่นนี้ ชาวบ้านจึงคลางแคลงใจว่าเอกสารสิทธิ์ออกมาได้อย่างไร

 

 

              “เมื่อคำตัดสินออกมาในทำนองว่า เอกชนไม่ผิด ป่าเสม็ดจะถูกโค่นทันที พื้นที่ป่าหัวนกจะถูกถม ในรายงานการวิเคราะห์ผลบกระทบสิ่งแวดล้อมระบุว่า จะถมสูงจากพื้น 7 เมตร ป่าชุ่มน้ำที่มีน้ำขังตลอดเป็นน้ำกร่อยเกิดแพลงตอนพืชที่จะไหลลงสู่ปากคลองแม่รำพึง แหลมแม่รำพึง เป็นที่วางไข่ของปลาทูจะหมดไปเลย ถ้าไม่มีอาหารไหลลง แหล่งวางไข่ในธรรมชาติจะหมดไปเลย ป่าที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์อยู่ เอกชนจะเป็นคนใช้คนเดียว” จินตนากล่าว

 

 

สงสัยบริษัทรู้คำตัดสินของศาลก่อนหรือเปล่า

 

 

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ได้มีการประชุมเพื่อรับทราบความชัดเจนและแนวทางการดำเนินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เชิญตัวแทนของบริษัท ประจวบพัฒนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่า เป็นบริษัทในเครือของสหวิริยา เข้าร่วมประชุมด้วย

 

ในที่ประชุม กนอ. ได้สอบถามทางบริษัท ประจวบพัฒนาฯ ประเด็นป่าพรุแม่รำพึงที่พบว่า พื้นที่ป่าพรุบางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ในสัญญาร่วมดำเนินงาน ทางบริษัท ประจวบพัฒนาฯ ได้ชี้แจงว่า “กรณีดังกล่าว เป็นการประกาศพื้นที่บริเวณที่เป็นพื้นที่ป่าทั้งหมดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยไม่รวมพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของเอกชน ซึ่งประเด็นปัญหานี้ได้มีข้อยุติแล้วตามคำสั่งศาล”

 

เป็นเหตุให้ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดตัวแทนของบริษัทจึงชี้แจงว่า ประเด็นปัญหานี้ได้มีข้อยุติแล้วตามคำสั่งศาล ทั้งที่ในขณะนั้นศาลปกครองยังมิได้มีคำพิพากษาออกมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แกนนำชาวบ้านประกาศไม่ถอย พร้อมเคลื่อนต่อ

 

 

ด้านจินตนากล่าวว่า คาดการณ์ไว้แล้วว่า คำพิพากษาจะออกมาทำนองนี้ ดังนั้น จึงไม่เสียใจ แต่เป็นห่วงชาวบ้านคนอื่นๆ ที่อาจทำใจไม่ได้ ส่วนการเคลื่อนไหวต่อจากนี้ คงต้องกลับไปประชุมหารือกับชาวบ้านในพื้นที่ ศึกษาคำพิพากษาเพื่อยื่นอุทธรณ์ และสื่อสารเรื่องราวของป่าพรุแม่รำพึงแก่สังคม โดยคาดว่าจะเชิญสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์ความอุดมสมบูรณ์ในเร็ว ๆ นี้

 

อย่างไรก็ตาม แม้คดีป่าพรุแม่รำพึง 18 แปลง จะมีคำพิพากษาของศาลปกครองไปแล้ว แต่มิได้หมายความว่าข้อพิพาทเรื่องที่ดินในอ.บางสะพาน ระหว่างชาวบ้านและเครือสหวิริยาถึงตอนอวสาน เพราะยังมีที่ดินอีก 2 กลุ่มใหญ่ที่ยังเป็นปัญหา และสิ่งที่ชาวบ้านหวั่นใจที่สุดขณะนี้ คือเกรงว่าหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้อำนาจและกฎหมายในมือกรุยทางให้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก และการเกิดนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างมหาศาลตลอดไปด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: