ผู้ปกครองสะอื้นรับสภาพชุดนักเรียนแพง จำใจปรับใช้ของเก่า-รับต่อจากเพื่อนบ้าน ศธ.ระบุตามกลไกตลาด-ชงปรับเงินช่วย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 16 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3679 ครั้ง

 

แม้จะเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเผชิญกับการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ในช่วงเปิดเทอมของทุกปี แต่สำหรับปีนี้ดูเหมือนจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อราคาสินค้าในท้องตลาดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตามอัตราแรงงานขั้นต่ำใหม่ 300 บาท จนกลายเป็นประเด็นร้อนแรงรายวันเกี่ยวกับค่าครองชีพของคนไทยที่ต้องแบกรับยุคนี้

 

ชุดนักเรียนแพงขึ้นจริง 25 % เพราะต้นทุนสูงขึ้น

 

ศูนย์ข่าว TCIJ ได้ติดตามประเด็นดังกล่าวพบว่า จากการสำรวจราคาชุดนักเรียนในปีนี้ มีการปรับราคาสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่หากเป็นเสื้อผ้าที่มีตราสินค้าเป็นที่ยอมรับ ราคาปรับตัวขึ้น ประมาณ 25 %  โดยราคาขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของเสื้อผ้า เช่น ราคาชุดเด็กนักเรียนอนุบาล เป็นชุดเสื้อและกางเกง ราคาเดิมที่ 300-350 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 375-450 บาท, ราคาชุดนักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จากเดิมราคาประมาณ 350-400 บาท เพิ่มขึ้นเป็น  400-800 บาท แล้วแต่ขนาด ในขณะที่ชุดที่ต้องสวมใส่ในวิชาพิเศษ เช่น ชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี ชุดยุวกาชาด แบบครบชุด จะตกอยู่ที่ 300-700 บาท

จากการสอบถามร้านค้าชุดนักเรียนในตลาดสำโรง จ.สมุทรปราการ ส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า การปรับตัวสูงขึ้นของราคาเสื้อผ้าชุดนักเรียน เป็นไปตามต้นทุนที่สูงขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่วัตถุดิบจำพวกผ้าที่นำมาใช้ตัดเป็นชุดนักเรียน ค่าแรงช่างตัดเย็บเสื้อผ้า รวมไปถึงค่าขนส่ง และอื่นๆ ทำให้ต้นทุนสินค้าต่อชิ้นเพิ่มขึ้นตกชิ้นละประมาณ 10-20 บาทแล้ว ทำให้เมื่อนำมาขายปลีก ร้านค้าต้องขายในราคาที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 30-40 บาท แต่ยืนยันว่าเป็นราคาที่ไม่ได้เอาเปรียบผู้ปกครองจนเกินไป ส่วนสินค้าที่ทางร้านขายดี ส่วนใหญ่เป็นรองเท้านักเรียน เนื่องจากเด็กโตเร็วทำให้ต้องเปลี่ยนรองเท้าเกือบทุกปี ในขณะที่เสื้อผ้านักเรียนในชุดเด็กอนุบาลจะขายได้มากกว่าชุดนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

เจ้าของร้านชี้ของราคาถูกไม่คุ้มค่าเท่าของมียี่ห้อ

 

               “เป็นเรื่องปกติที่รองเท้าจะขายดีกว่าอย่างอื่น เพราะเด็กจะต้องเปลี่ยนทุกปีจนกว่าจะโต ส่วนชุดนักเรียนอนุบาลพ่อแม่จะต้องซื้อใหม่อยู่แล้ว และราคาอาจจะดูต่ำกว่าชุดเด็กโต ส่วนใหญ่จะซื้อคนละ 3-4 ชุด ส่วนชุดนักเรียนเด็กโตจะขายได้ตกคนละ 1-2 ชุด ตามความจำเป็นเท่านั้น ส่วนใหญ่เขาจะเอาชุดเก่าไปปรับปรุงมากกว่า เดี๋ยวนี้ร้านขายชุดนักเรียนแบบเดี่ยวๆ จะขายได้น้อยลง เพราะส่วนใหญ่คนไปซื้อตามห้างที่ขายเยอะมากกว่า เขาจะลดราคาได้มากกว่า และบางโรงเรียนก็จะนำเสื้อผ้าชุดนักเรียนไปขายเองในโรงเรียน ทำให้ลูกค้ากระจายกันไป แต่สิ่งที่เราได้คือลูกค้าประจำ และส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะมาซื้อกันเป็นประจำ คุณภาพสินค้าของเราก็จะดีกว่าของที่ขายเยอะๆ ตามห้าง ที่ใช้ได้ไม่นาน แต่ของเราที่ขายเสื้อผ้าที่มีแบรนด์จะใช้ได้นานถึง 3 ปี” เจ้าของร้านชุดนักเรียนย่านสมุทรปราการกล่าว

 

 

ผู้ปกครองต้องรับสภาพ-ปรับเปลี่ยนใช้จากพี่ถึงน้อง

 

 

เมื่อสอบถามความคิดเห็นผู้ปกครองนักเรียน เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเสื่อผ้าเครื่องแบบนักเรียนของบุตรหลานในปีนี้ ต่างมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาชุดนักเรียนเพิ่มสูงขึ้นในทุกระดับชั้น แม้ว่าจะมีสินค้าประเภทอุปกรณ์การเรียนวางขายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ในราคาที่ถูกโฆษณาว่า ราคาถูกแต่ผู้ปกครองบางส่วนระบุว่า คุณภาพไม่ดี หากซื้อมาจะใช้ได้ไม่นาน และต้องกลับไปซื้อใหม่ ซึ่งหากเปรียบเทียบราคาและความคุ้มค่าแล้ว การซื้อสินค้าที่มีคุณภาพคุ้มค่ากว่าเพราะใช้ได้นานกว่า

นายสุรเชษฐ์ คำศักดิ์ กล่าวว่า ตนมีลูกชาย 2 คน เรียนอยู่ในระดับชั้น ป.3 และ ป.1 โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว ในปีนี้คงต้องซื้อชุดนักเรียนให้ลูกทั้งสองคนเพิ่มใหม่ เนื่องจากลูกชายโตขึ้น ทำให้เสื้อผ้าเล็กลง โดยเฉพาะลูกชายคนโต ที่อาจจะต้องซื้อชุดนักเรียนใหม่เพิ่มถึง 3-4  ชุด ในขณะที่ลูกคนเล็กสามารถใช้เสื้อผ้าของพี่ได้ แต่ก็ต้องนำไปปรับเปลี่ยนบางส่วน เช่น เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนซิบ เป็นต้น สามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง โดยในการซื้อเสื้อผ้านักเรียนนั้น นิยมซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ มากกว่าซื้อสินค้าที่วางขายตามห้างสรรพสินค้าเพราะคุณภาพต่างกัน และการตัดเย็บไม่ได้รูปทรง เพราะสำหรับตนชุดนักเรียนจะต้องส่งต่อจากพี่สู่น้อง ดังนั้นจึงเน้นการตัดเย็บที่มีคุณภาพมากกว่า

 

บางอย่างยอมรอไปซื้อหลังเปิดเทอมไปแล้ว ราคาจะถูกลง

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะพยายามลดจำนวนการซื้อเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียนลง แต่คิดว่าคงต้องซื้อให้บ้างเพราะกลัวลูกจะน้อยใจ ยอมรับว่าเสื้อผ้าอุปกรณ์การเรียนของเด็กนักเรียนปรับตัวสูงขึ้น ในเกือบทุกประเภท ดังนั้นจึงต้องเลือกซื้อสิ่งที่จำเป็นแทน ส่วนอุปกรณ์อื่น หากยังคงใช้ได้อยู่ ก็จะรอไปก่อนแล้วรอซื้อในช่วงที่เปิดเทอมไปแล้วสักพัก เพราะเชื่อว่าราคาจะลดลงบ้าง เพราะตนมีลูกชาย 2 คนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หากสามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้ก็ต้องทำ แต่คิดว่าอาจจะต้องหาของใหม่ๆ ให้ลูกใช้บ้างเพื่อเป็นการจูงใจ ให้รู้สึกตื่นเต้นกับอุปกรณ์ใหม่ๆ และรู้สึกอยากไปเรียนหนังสือ แต่ก็เข้าใจในสถานการณ์สินค้าแพงที่เป็นไปตามปกติยุคสมัย

 

                “ผมว่าราคาอุปกรณ์ชุดนักเรียนที่ขึ้นมาก็เป็นไปตามยุคสมัย ราคามันต้องปรับขึ้นเป็นธรรมดาอยู่แล้วเป็นไปไม่ได้ที่สินค้าจะราคาเดิม ในขณะที่สภาพสังคมเปลี่ยนไป ราคาที่ปรับขึ้นหากยังพอรับได้ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เราก็เลือกซื้อในส่วนที่เรารับได้ เพราะสินค้าอย่างอื่นก็มีที่ราคาไม่ได้ปรับขึ้น หรือบางอย่างราคาถูก คิดเฉลี่ยกันไป เพราะหากมัวแต่มานั่งคิดว่าของแพงตลอด อาจจะทำให้เครียดได้ เราคงต้องบริหารจัดการเอาเอง”นายสุรเชษฐ์กล่าว

 

 

เลือกประหยัดใช้ต่อกันเป็นทอดๆ แบ่งปันกันไป

 

 

ด้านนางจิราภรณ์ เสมแจ้ง ผู้ปกครองเด็กนักเรียนชั้น ป. 5 และ ชั้น ป.1 โรงเรียนกึ่งเอกชน ย่านบางนา เปิดเผยว่า สำหรับปีนี้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกสาวที่จะต้องเปลี่ยนชุดจากชุดอนุบาลเป็นชุด ป.1 ทำให้ต้องซื้อเพิ่มรวมแล้วค่าอุปกรณ์ทุกอย่างอยู่ในราวๆ 2,000 บาท ไม่รวมค่าเทอม และค่าธรรมเนียมแรกเข้าอื่นๆ  แต่สำหรับลูกชายคนโตจะยังคงให้ใช้ของเดิมไปก่อน แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขหรือขยายให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้ประหยัด เพราะตนมีลูกชายกับลูกสาว ที่ไม่สามารถใช้เสื้อผ้าร่วมกันได้อยู่แล้ว แต่จะพยายามลดค่าใช้จ่ายอย่างอื่น จำพวกอุปกรณ์การเรียนเก่าๆ ที่ใช้ได้จะนำมาดัดแปลง หรือทำความสะอาดให้ใช้ใหม่ได้

 

                        “ส่วนอุปกรณ์พวกเครื่องเขียนบางอย่างจะไม่ซื้อเลย ให้ลูกนำของเดิมมาดูว่า อะไรยังใช้ได้บ้าง บางอย่างเพื่อนบ้านที่โตกว่ายกให้ เราก็ไม่รังเกียจ เอามาให้ลูกใช้ต่อ เพราะเด็กโตเร็วใช้ได้ไม่นานของยังดีอยู่ ก็จะพยายามสอนลูกให้ประหยัดและไม่รังเกียจของที่ส่งต่อกันมา ส่วนของลูกเราหากอันไหนใช้ไม่ได้แต่สภาพยังดี ก็จะแบ่งปันไปให้เพื่อนๆ ใช้ต่อไป ซึ่งจะทำให้ประหยัดไปได้มาก” นางจิราภรณ์กล่าว

 

ระบุสินค้าแพงขึ้นกระทบบ้างแต่ก็ต้องปรับตัว

 

 

ขณะที่นางวันนี้ สินาคมมาศ ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 โรงเรียนประถมของรัฐบาล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนในเครือสาธิตแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ในปีนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของลูกอาจจะมีเพิ่มเติมมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากลูกชายคนกลางและคนโต อยู่ในช่วงที่ต้องเข้าเรียนในระดับใหม่ ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายแรกเข้าเพิ่มขึ้นจากเดิม สำหรับโรงเรียนของลูกชายซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือสาธิต จะจัดอุปกรณ์การเรียนการสอน พร้อมชุดเครื่องแบบนักเรียนรวมมาในแพคเกจค่าเทอมที่จ่ายทั้งหมด ซึ่งอยู่ในหลักหมื่นต้นๆ มีอุปกรณ์พร้อมทุกอย่าง ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแบบนักเรียน เป้ กระเป๋า เครื่องเขียนที่จัดมาแบบครบชุด ไม่จำเป็นต้องซื้ออะไรเพิ่มเติมอีกนอกจากรองเท้า

ในขณะที่ลูกชายคนเล็ก ซึ่งเรียนอยู่โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัด ไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก เนื่องจากไม่ต้องจ่ายค่าเสื้อผ้า หรืออุปกรณ์การเรียนอื่นๆ รวมถึงค่าเทอม เพราะรัฐบาลจัดให้ทั้งหมด  ส่วนเครื่องแบบนักเรียนสามารถใช้ของพี่ชายที่เพิ่งจบชั้นป.6 ได้

ส่วนในเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นนั้น ผู้ปกครองคนดังกล่าว แสดงความคิดเห็นว่า ในสภาพสังคมปัจจุบันคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ราคาสินค้าจะขึ้น เพราะตนเป็นคนค้าขายเหมือนกันจึงค่อนข้างเข้าใจสถานการณ์ อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีรายได้น้อยก็อาจจะส่งผลกระทบบ้าง แต่หากพิจารณาดูหากเป็นโรงเรียนของรัฐบาลโดยทั่วไป ผู้ปกครองจะเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะในเรื่องของอุปกรณ์การเรียน และเสื้อผ้าเท่านั้นเพราะทุกอย่างรัฐบาลจ่ายให้หมดอยู่แล้ว หากบริหารจัดการหรือดัดแปลงชุดเสื้อผ้ามาใช้ใหม่ให้เหมาะสมน่าจะไม่ได้สร้างผลกระทบมากนัก

 

 

ข้องใจค่าเทอมไม่ขยับหรือแอบขยับแล้วแต่ไม่รู้

 

 

เมื่อถามถึงอัตราค่าเทอมที่ต้องชำระให้กับโรงเรียน มีปรับขึ้นหรือไม่ ผู้ปกครองทั้ง  3 ราย ตอบตรงกันว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นความแตกต่างของการปรับค่าเทอมจากปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ยังอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน สำหรับนักเรียนเก่าที่ไม่ต้องเปลี่ยนโรงเรียน อาจจะมีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ก็ไม่รู้สึกเป็นกังวลนัก เพราะทำใจไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่า ค่าเทอมจะต้องสูงขึ้นไปเรื่อย เมื่อมีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย จึงทำให้ไม่ตกใจ แต่ไม่แน่ใจว่าหลังจากที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ หรืออาจจะมีการปรับค่าใช้จ่ายไปเป็นค่ากิจกรรมพิเศษอื่น ที่คงจะต้องจับตาดู

 

                      “ตอนนี้เราไม่เห็นว่าค่าเทอมจะขยับขึ้นมากจนน่าตกใจ หรืออาจจะปรับไปอยู่ในค่าอื่นๆ ที่เราไม่รู้ในอนาคตหรือเปล่า เราก็ไม่รู้แต่เรื่องของค่าเทอมคิดว่า ทางโรงเรียนคงจะไม่ปรับขึ้นมาก เพราะโรงเรียนก็คงกลัวเรื่องร้องเรียน นอกจากโรงเรียนชื่อดังหรือมีระดับ สำหรับลูกคนมีเงินการปรับขึ้นค่าเทอมก็เป็นไปตามนโยบายของโรงเรียนนั้นๆ ที่ผู้ปกครองเขายอมรับได้ แต่ถ้าโรงเรียนในระดับกลางๆ ทั่วไป คิดว่ารัฐบาลน่าจะควบคุมอยู่” นายสุรเชษฐ์กล่าว

 

ร้านซ่อมเสื้อผ้างานเพิ่ม แก้ชุดนักเรียน

 

 

และจากสถานการณ์ราคาชุดนักเรียนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงที่ค่าครองชีพทั่วไปอยู่ในระดับที่สูงขณะนี้ ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากเลือกที่จะแก้ปัญหาค่าครองชีพสูงในช่วงเปิดเทอม โดยการนำเสื้อผ้าชุดนักเรียนเก่า รวมถึงเสื้อผ้าชนิดอื่นไปปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงใหม่ตามร้านตัดเย็บเสื้อผ้ามากขึ้น โดยจากการสำรวจร้านตัดเย็บ แก้ซ่อมเสื้อผ้าของศูนย์ข่าว TCIJ ได้ข้อมูลตรงกันว่า ส่วนใหญ่ระบุว่ามีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมตกเฉลี่ยถึงวันละ 200-300 บาท

นายไพรินทร์ ง่วนกิจ เจ้าของร้านตัดเย็บเสื้อผ้าริมทางเท้าย่านสะพานควาย กรุงเทพฯ กล่าวว่า ตามปกติแล้วลูกค้าประจำของตนส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัททั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และพนักงานแม่บ้าน รปภ.ต่างๆ ที่มักจะนำเสื้อผ้ามาให้แก้ไข ปรับให้สามารถใส่ได้โดยไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ เป็นการประหยัดสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ในช่วงเปิดเทอมของทุกปี ประเภทเสื้อผ้าที่จะเพิ่มขึ้นจะเป็นกลุ่มของชุดนักเรียน นักศึกษา ในทุกแบบ ที่ผู้ปกครองนิยมนำมาให้ปรับแก้ไข และซ่อมแซม เพื่อให้ใช้ได้ใหม่ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นชุดนักเรียนจะเป็นการขยาย ต่อเติมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องไปซื้อใหม่ เพราะราคาที่ต้องซื้อใหม่กับราคาที่นำมาซ่อมแซมแตกต่างกันหลายเท่าตัว เพราะการแก้ไขซ่อมแซมจะอยู่ในหลักสิบเท่านั้น โดยเฉพาะในปีนี้ยอมรับว่าเสื้อผ้าไม่จำกัด เฉพาะชุดนักเรียนอย่างเดียวเท่านั้น และเสื้อผ้าชนิดอื่นๆ ก็มีจำนวนที่ถูกนำมาให้ซ่อมแซมเพิ่มขึ้น ทำให้ตนมีรายได้เพิ่มขึ้น แม้จะไม่มากนักเพราะการทำงานจะต้องอาศัยเวลาตัดเย็บครั้งละตัว แต่ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มรายได้มากขึ้น

 

                      “ช่วงนี้ของแพง คนก็ต้องประหยัด เสื้อผ้าที่เขายังใช้ได้ส่วนใหญ่จะเอามาแก้ไข ซ่อมแซมบ้าง ปรับแก้ทรง เพื่อให้เป็นเสื้อผ้าชนิดใหม่บ้าง สามารถตามแฟชั่นได้โดยไม่ต้องไปซื้อใหม่ ส่วนชุดนักเรียนจะมีมากในช่วงเปิดเทอมเช่นตอนนี้ มีเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นชุดเด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป เพราะช่วงนี้เด็กโตเร็ว เขาจะมาขยายบ้าง แก้ไข ซ่อมที่ขาด อะไรพวกนี้ เพราะราคาซ่อมแซมตกตัวละไม่กี่สิบบาทดีกว่าต้องไปซื้อใหม่ แต่รายได้ของผมก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ก็เพิ่มขึ้นจากเดิมตกวันละประมาณ 200 -300 บาท ขึ้นอยู่กับเวลาในการทำงานมากกว่า” นายไพรินทร์กล่าว

 

 

ยันทำราคาเดิมรักษาลูกค้าแม้ต้นทุนแพงขึ้น

 

 

สอดคล้องกับคำตอบของนายกำธร สุขสำราญและภรรยา ซึ่งเปิดร้านตัดเย็บซ่อมเสื้อผ้าในหมู่บ้านทิพวัล  อ.บางเมือง จ.สมุทรปราการ ให้ข้อมูลกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ในช่วงใกล้เปิดเทอมมีคนนำเสื้อผ้า เครื่องแบบนักเรียนมาปรับเปลี่ยนแก้ไขกันมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการนำมาปรับขนาดให้เล็กลง เนื่องจากเป็นการส่งต่อจากพี่สู่น้อง, เลาะชายกระโปรง-ชายกางเกงลง, เปลี่ยนซิปใหม่ ราคาที่ตนคิดจะขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ต้องการจะทำตกอยู่ที่ 50 บาทขึ้นไป โดยไม่ได้คิดราคาเพิ่มกับลูกค้าแม้ว่าต้นทุนอุปกรณ์, วัสดุ จะเริ่มปรับราคาขึ้นบ้างก็ตาม เพราะคิดว่าเป็นการช่วยเหลือกันไปก่อน และต้องการรักษาลูกค้าไว้ด้วย เพราะหากปรับราคาขึ้นทันที นอกจากจะเสียลูกค้าแล้ว ตนยังคิดว่าเป็นการทำงานที่ไม่เป็นธรรม และค้ากำไรเกินไปด้วย

 

                      “เรานึกถึงตัวเราเอง เพราะตอนนี้ซื้อของอะไรก็แพงไปหมด ถ้ายังอยากประหยัด แต่กลับมาเจอราคาใกล้เคียงกับซื้อของใหม่เขาไปซื้อของใหม่ดีกว่า ดังนั้นจึงพยายามที่จะไม่ขึ้นราคา และอุปกรณ์บางชนิดที่เราซื้อมาตุนไว้ยังอาจจะเป็นล็อตเก่าที่ยังไม่ขึ้นราคา ก็สามารถที่ทำให้ลูกค้าในราคาเดิมได้ และถ้าขึ้นราคามาจริงๆ เราก็อาจจะต้องทำให้ในราคาเดิมไปก่อน ยอมขาดทุนกำไร ถือว่าเป็นการช่วยกันในช่วงนี้ ใครๆ ก็เดือดร้อนกันทั้งนั้น ทุกคนต้องปรับตัว” นายสำราญกล่าว พร้อมเล่าต่อว่า สำหรับรายได้ตามปกติแล้วจะไม่แน่นอน ตกอยู่ในราวๆ วันละ 400-800 บาท แต่ในช่วงใกล้เปิดเทอม อาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นวันละประมาณ 200-300 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงาน เพราะงานแต่ละชิ้นต้องใช้เวลา และการทำงานตัดเย็บ งานฝีมือจำเป็นมีเวลาเป็นข้อจำกัด แม้อยากจะทำให้ได้มากๆ แต่เวลาไม่ให้ก็ไม่สามารถทำได้อยู่ดี

 

 

ศธ.ช่วยไม่ได้แต่จะเพิ่มงบชุดนักเรียนปีหน้า

 

 

ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงปัญหาราคาเครื่องแบบนักเรียน ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงใกล้เปิดเทอมปีนี้ ว่า การปรับขึ้นราคาชุดนักเรียนของร้านค้า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการคงไม่สามารถไปดำเนินการใดๆได้ เพราะเป็นไปตามราคาตลาดปัจจุบัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองบ้าง ในส่วนของกระทรวง ได้จัดสรรงบประมาณการซื้อชุดนักเรียนปีการศึกษา 2555 ให้กับโรงเรียนไป โดยอยู่ในงบประมาณโครงการเรียนดี เรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ส่วนการตั้งงบประมาณที่จะจัดซื้อชุดนักเรียนในปีหน้า หากพิจารณาจากค่าครองชีพของประชาชนและผู้ปกครองที่เพิ่มขึ้น อาจจะให้พิจารณาปรับเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับราคาชุดนักเรียนปรับตัวสูงขึ้นทุกปี แต่เชื่อว่าจากนโยบายของรัฐบาลทั้งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และ เพิ่มเงินเดือนระดับปริญญาตรี 15,000 บาทนั้น อาจจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองไปได้บ้าง

ขณะที่ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ) แสดงความเห็นว่า เรื่องของเสื้อผ้าชุดนักเรียนเป็นเรื่องอยู่ นอกเหนือการควบคุมของของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นผู้ปกครองจึงจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการการซื้ออุปกรณ์ของบุตรหลาน แต่ยอมรับว่าจากข้อมูลพบว่า ราคาอุปกรณ์การเรียนปรับเพิ่มขึ้นจริง ซึ่งในปีหน้าอาจจะต้องเสนอให้มีการเพิ่มงบประมาณด้านชุดนักเรียน เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครองและสอดคล้องกับสถานการณ์ราคาสินค้า ค่าครองชีพที่แพงขึ้น 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: