เตือน'ธปท.-ผู้ประกอบการ'รับมือ 'แบงก์ใหญ่'มั่นใจฐานเงินเข้มแข็ง กระแส'คอนโด'ไม่ก่อวิกฤตฟองสบู่

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 16 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1541 ครั้ง

 

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดคอนโดมิเนียม ที่ในปี 2555 ยอดจดทะเบียนแซงบ้านแนวราบเป็นครั้งแรก และในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีโครงการใหม่เปิดตัวรวมกันมากถึง 46,000 หน่วย พร้อมกับการเกิดนักเก็งกำไรกว้านซื้อห้องเพื่อขายใบจอง จนมีเสียงเตือนให้ระวังปัญหา ‘ฟองสบู่’ อันจะนำไปสู่วิกฤตการณ์การเงินครั้งใหม่ ซึ่งประเทศไทยและคนไทยเจ็บปวดมาแล้วจาก 'ต้มยำกุ้ง' เมื่อปี 2540

 

 

จับตาฟองสบู่คอนโดฯ หวั่นซ้ำรอยปี’40

 

 

เพราะความร้อนแรงของตลาดคอนโดมิเนียม ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งในปี 2555 ถือเป็นปีที่มีโครงการคอนโดมิเนียม เกิดขึ้นจำนวนมาก และยอดจับจองรวมถึงยอดโอนของกรมที่ดิน ก็พุ่งสูงแซงหน้าบ้านแนวราบได้เป็นครั้งแรก ตลอดจนเริ่มมีการซื้อ-ขายใบจองอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยนักเก็งกำไรจะไปกวาดจองคอนโดมิเนียมที่น่าสนใจ และอยู่ในย่านทำเลทอง ก่อนประกาศขายต่อ โดยบวกราคาระดับ 20,000-100,000 บาท ตามทำเล และมูลค่าห้อง

 

จึงมีเสียงเตือนจากหลาย ๆ ฝ่ายเกี่ยวกับ'ฟองสบู่' ว่า อาจจะกลับมาอีกครั้ง หากยังมีโครงการคอนโดมิเนียมผุดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ แถมนักเก็งกำไรยังสร้างความต้องการเทียมขึ้นมา ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจว่าสินค้าขายดี จึงแข่งกันสร้างยกใหญ่ ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ มีความใกล้เคียงกับช่วงปี 2537-2540 เป็นอย่างมาก เนื่องจากขณะนั้น มีการซื้อขายบ้านที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีนักเก็งกำไรเข้ามาซื้อขายเป็นทอด ๆ จนเกิดการปั่นราคาจนแพงเกินจริง ท้ายที่สุดเกิดฟองสบู่แตก เป็นหนึ่งในปัจจัยให้เกิดวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’

 

 

 

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เตือนไว้ในการเสวนาเรื่อง “วิกฤตการณ์ยูโรโซน : ปัญหาผลกระทบและทางออก” ตอนหนึ่งว่า ปัญหาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ส่อเค้าจะทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ หลังจากพบปริมาณของโครงการก่อสร้างเกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับกำลังซื้อของคนในประเทศ เมื่อรวมกับปัญหาเศรษฐกิจยุโรปที่ฉุดให้ทั้งโลกต้องสะดุด ประเทศไทยยากจะรอดพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านโดนกันถ้วนหน้าแล้ว

 

 

                “ระวังฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มก่อตัวให้เห็นบ้างแล้ว สังเกตได้ตามเส้นทางที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ยกตัวอย่างถนนสุขุมวิทขณะนี้วิ่งไปถึงสำโรงแล้ว เฉพาะช่วงซอยทองหล่อถึงซอยเอกมัย ระยะทางเพียง 4-5 ซอยมีโครงการเกิดขึ้นถึง 35 โครงการ มียูนิตรวมกันประมาณ 10,000 กว่ายูนิต”

 

 

เตือนรัฐบาล-ธปท.คุมปล่อยกู้

 

 

ดร.สมภพกล่าวอีกว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องระวังเรื่องฟองสบู่ เพราะเวลาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกแล้ว ปราบเซียนจริง ๆ ไปดูอเมริกาจนถึงวันนี้ปัญหาซับไพร์มทำไมจัดการไม่อยู่ เพราะปัญหาอสังหาริมทรัพย์ หรือญี่ปุ่นที่เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกในปี 1990 จนขณะนี้ยังจัดการไม่ได้ และประเทศสเปนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้มาจากปัญหาอสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้นถ้าดูแลฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ให้ไปสอดคล้องกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และอำนาจของคนซื้อในประเทศสอดคล้องกับโครงการก่อสร้างที่เกิดขึ้นจะเกื้อกูลกัน

 

ต้องไม่ลืมว่า ฟองสบู่รอบที่แล้วที่เกิดการขยายตัวของเรียลเอสเตทมากๆ ช่วงก่อนเกิดต้มยำกุ้ง ช่วงเปิดให้มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเข้ามาใช้กันมากๆ หรือบีไอบีเอฟ และช่วงนั้นคอนโดในกรุงเทพพุ่งขึ้นมา ช่วงนี้ผ่านมา 10 กว่าปี เมื่อคอนโดใหม่เกิดขึ้นมามีปริมาณไม่สอดคล้องกับอำนาจซื้อของคนภายในประเทศ คนซื้อมาเพื่อปล่อยเช่า จะทำให้คอนโดที่สร้างมาในรอบที่แล้วจะว่างกันมาก ตอนนี้ขายก็ขายไม่ได้ เพราะมีคอนโดใหม่ให้เลือกเป็นดอกเห็ด เพราะฉะนั้นไม่น่าแปลกใจ ทำไมการโฆษณาคอนโด ขณะนี้จองพื้นที่สื่อทุกสื่อกันเต็มไปหมด มีการแจกโบชัวร์เต็มไปหมด ในมือถือมีคน SMS ตลอดเวลา

 

 

                   “ขณะนี้จึงมีวี่แววเริ่มจะก่อตัว ระวังไว้แต่เนิ่นๆ เพราะผู้ซื้อคอนโด ผู้ทำโครงการก่อสร้างคอนโดต่างก็กู้เงินธนาคาร เมื่อมีปัญหาจะลากให้สถาบันการเงินมีปัญหา จะสร้างปัญหาได้มาก ฉะนั้นตัดไฟแต่ต้นลม ระวังตัวให้ดี ดูแลให้ยั่งยืน ขยายตัวให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจของไทย”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แม้ยังไม่มองถึงวิกฤตฟองสบู่ แต่ก็เตือนปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินไทยแข่งขันกันอำนวยสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัย จนอำนวยสินเชื่อถึง 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นจุดเปราะบางในอนาคต

 

 

                   “รัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังจะจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้เกิดฟองสบู่ในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังควรระวังการทุจริตจากการอำนวยสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินมีโอกาสล้มลงได้ หากขาดความโปร่งใสในการอำนวยสินเชื่อโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่หรือผู้กู้ที่มีความเกี่ยวพันทางการเมือง เชื่อว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะยังเจริญเติบโตต่อไปแต่ควรที่จะมีการติดตามและควบคุมการอำนวยสินเชื่อโดยใกล้ชิด”

 

 

ผู้ประกอบการมั่นใจไม่มีปัญหา

 

 

แม้จะมีเสียงเตือนเรื่องฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับผู้ประกอบการกลับมองอีกมุมหนึ่งว่า การเพิ่มขึ้นของคอนโดมิเนียมในขณะนี้เพราะความต้องการมีมาก อีกทั้งปัญหาน้ำท่วมทำให้บ้านแนวราบขายได้น้อยลง เพราะคนหันมาสนใจคอนโดฯ มากกว่า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวถึงภาพรวมภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมใน กทม. พบว่าพื้นที่แถวรถไฟฟ้าบริเวณ บางนา พระโขนง และอ่อนนุช มีโครงการคอนโดมิเนียมสร้างใหม่จำนวนมากกว่า 12,000 ยูนิต ถือเป็นพื้นที่มีโครงการมากกว่าความต้องการซื้อของผู้บริโภคเช่นกัน แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาฟองสบู่แตกในธุรกิจคอนโดมิเนียมอย่างแน่นอน เพราะยังมีผู้บริโภคในพื้นที่ดังกล่าวอาศัยอยู่พร้อมกับทำงานไปด้วย จึงยังต้องการซื้อคอนโดมิเนียมอยู่

 

ส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่หัวหิน และพัทยา ที่มีการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมใหม่จำนวนมาก มองว่าสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่แตกในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ในหัวหินจะมีจำนวนมากกว่า 20,000 ห้อง มากกว่าความต้องการของผู้บริโภค

 

 

                      “จากโครงการคอนโดมิเนียมที่มีจำนวนมาก คาดว่าคงต้องใช้ระยะเวลาในการระบายสต็อกโครงการใหม่นานพอสมควร เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จึงดำเนินธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับที่ผ่านมา หัวหินมีโครงการคอนโดมิเนียมก่อสร้างไว้จำนวนมาก และผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อเก็บไว้แล้ว”

 

 

 

 

 

ส่วนคอนโดมิเนียมในพัทยานั้น มีจำนวนที่มากเช่นกัน แต่ยังไม่เท่ากับหัวหินและมีราคาที่ถูกกว่าด้วย โดยโครงการคอนโดมิเนียมพัทยา มีราคาเริ่มต้นที่ 50,000 บาทต่อ ตร.ม.ขึ้นไป ทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อไว้พักอาศัยได้เร็วขึ้น ส่วนราคาขายให้กับต่างชาติ จะเริ่มต้นที่ 70,000 บาทต่อ ตร.ม. ประกอบกับพัทยามีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก และมีลูกค้าต่างชาตินิยมเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมเช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันจะมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

 

 

                     “นอกจากนี้การที่ประเทศไทยเปิดกว้างให้ต่างชาติสามารถถือครองคอนโดมิเนียมได้ 100% ก็ทำให้คนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยซื้อคอนโดมิเนียมอยู่อาศัยเอง อีกทั้งกระแสการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี) ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ประชาชนในกลุ่มอาเซียนซื้อคอนโดมิเนียมพักอาศัยเช่นกัน”

 

 

 

 

 

 

 

คอนโดฯเด่น-เพราะบ้านแนวราบด้อย

 

 

เช่นเดียวกับดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์  เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ จำกัด มองว่า ขณะนี้ยังไม่มีปรากฏการณ์ฟองสบู่เกิดขึ้นแต่อย่างใด แม้มีโครงการอาคารชุดเกิดขึ้นมามากมาย จนดูคล้ายล้นตลาดนั้น เพราะในร่างผังเมืองใหม่โอกาสจะเกิดห้องชุดอาจจะน้อยลง ภาคเอกชนจึงเร่งการพัฒนาห้องชุดในขณะนี้ ประกอบกับการขนส่งมวลชนผ่านรถไฟฟ้าสะดวกไม่มีทำเลอื่นเทียบเคียงได้ และประชาชนบางส่วนยังไม่มั่นใจในทำเลน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ดังนั้น  จึงมีห้องชุดเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ

 

 

                “เมื่อปี 2554 มีห้องชุดเกิดขึ้นถึง 60 เปอร์เซนต์ ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในตลาด ขณะที่ในปี 2553 มีเพียง 50 เปอร์เซนต์ และเชื่อว่าในปี 2555 จะมีห้องชุดเกิดขึ้นถึง 70 เปอร์เซนต์ ของที่อยู่อาศัยทั้งตลาด การที่ห้องชุดเกิดขึ้นได้มากก็เพราะที่อยู่อาศัยประเภทอื่นเกิดขึ้นได้น้อยด้วยเช่นกัน บวกกับตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศมีความแข็งแกร่ง ขนาดของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่ำ หนี้ของภาคเอกชนต่ำ อัตราการว่างงานต่ำ อัตราเงินเฟ้อต่ำ จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจยังดีอย่างต่อเนื่อง”

 

 

ดร.โสภณ มองถึงภาวะความผันผวนในต่างประเทศไม่ส่งผลต่อประเทศไทย ยกเว้นอสังหาริมทรัพย์ตากอากาศ ที่กลุ่มผู้ซื้อจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาลดน้อยลง แต่คาดว่าจะถูกแทนที่โดยผู้ซื้อจากรัสเซีย จีนและอินเดีย นอกจากนี้กลุ่มประเทศในเอเชียยังแข็งแกร่งอยู่มาก เช่น ฮ่องกง มีมาตรการสกัดการเก็งกำไร เก็บภาษีค่าโอนเปลี่ยนมือระยะสั้นสูงถึง 15 เปอร์เซนต์ ของราคาขายต่อหากขายในระยะ 6 เดือนนับแต่ซื้อ

 จีนมีมาตรการให้หนึ่งครอบครัวซื้อที่อยู่อาศัยได้เพียง 1 หลังที่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ สิงคโปร์มีมาตรการสกัดการเก็งกำไรของต่างชาติด้วยการคิดค่าธรรมเนียมโอนของชาวต่างชาติถึง 10% ของราคาขาย ดังนั้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียจึงแข็งแกร่งและไม่ส่งผลกระทบในแง่เลวร้ายต่อประเทศไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แบงก์กสิกรฯชี้ไม่พบฟองสบู่

 

 

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แสดงความเห็นว่า ราคาคอนโดมิเนียมปรับขึ้นเร็ว คาดว่าสาเหตุที่มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวตั้งเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ และตามแนวรถไฟฟ้านั้น อาจจะเป็นเพราะความต้องการหรือดีมานด์ของคนอยากจะอยู่คอนโดมิเนียมมากขึ้น แต่ยังไม่มีสัญญาณที่ผิดปกติ

 

 

                      “อสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาปรับสูงขึ้นมาก คืออาคารชุด ที่ราคาปรับขึ้นมาบ้างในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเป็นไปตามไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ที่อยากอยู่คอนโดมิเนียมกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากน้ำท่วมด้วย ทำให้เกิดการย้ายทำเลที่อยู่อาศัย”

 

 

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย มองว่า ความร้อนแรงที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ได้เหมือนที่เกิดในอดีต ที่มีการปั่นราคาที่ดิน แล้วไปปั่นราคาหุ้นต่อ ที่สำคัญธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์เข้มงวดมาก นอกจากนี้การปั่นหุ้นก็ไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนในอดีต จึงเชื่อว่ายังไม่เกิดภาวะฟองสบู่ หรือเป็นต้นเหตุของวิกฤตรอบใหม่

 

 

 

 

             

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

      “ภาคการเงินไม่ได้มีปัญหาเหมือนในอดีตแล้ว ทุกธนาคารมีความเข้มแข็ง มีฐานเงินกองทุนที่สูง มีการสำรองหนี้เสียสูง มีการปรับระบบการบริหารความเสี่ยงใหม่ การปล่อยสินเชื่อจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ แต่เหตุผลที่จะทำให้การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์มากมายแค่ไหน ดอกเบี้ยก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ หากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากเกินไปอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการถอนเงินฝาก ออกมาเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์และหุ้น แต่ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มทรงตัวและเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากธนาคารออกแคมเปญดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษของพาณิชย์ต่างๆ สะท้อนให้เห็นภาพการแข่งขันระดมเงินฝาก”

 

 

นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ปีนี้คอนโดมิเนียมที่ขายดีจะอยู่ที่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท แต่ตลาดที่ชะลอตัวลงอยู่ที่ราคา 2-3 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าคอนโดมิเนียมจะได้รับการตอบรับจากตลาดไปทั้งหมด เพราะในเมื่อคู่แข่งขันระดับบิ๊กๆ พร้อมเปิดหน้าชนขณะที่ผู้บริโภคเองก็ยังมีสถานะทางการเงินที่ไม่แข็งแรงมากพอ ด้วยปัจจัยลบทางเศรษฐกิจเป็นตัวฉุดรั้ง ผู้ประกอบการจึงต้องทำการบ้านและออกแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อเอาชนะคู่แข่งในตลาด

 

 

ย้อนรอยวิกฤตการณ์'ต้มยำกุ้ง'

 

 

การออกมาเตือนเรื่องฟองสบู่คอนโดฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยยังเจ็บปวดจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ซึ่งถือเป็นวิกฤตทางการเงิน ทางสังคม ที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยประสบมาก็ว่าได้ แม้สาเหตุจะมาจากหลายปัจจัยแต่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ถือว่าเป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้วิกฤตต้มยำกุ้งแพร่ลามไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

 

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลเช่น วิกฤตการณ์ค่าเงิน ที่ประเทศไทยถูกโจมตีค่าเงินจากนักเก็งกำไร ทำให้ประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ต้องลดค่าเงินลง (จาก 25 บาท/1ดอลล่าร์ เป็นเกือบ 50 บาท/ 1 ดอลล่าร์) ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องตรึงค่าเงินจนเสียทุนสำรองระหว่างประเทศไปจำรนวนมาก ใช้นโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศให้อยู่ในระดับสูง เพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก

 

วิกฤตการณ์ธนาคาร ที่ธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงให้ความช่วยเหลือ หรือเข้าไปยึดกิจการมาดำเนินการเอง และมีธนาคารหลายแห่งต้องควบรวมกับต่างชาติ และสุดท้ายคือวิกฤตหนี้ระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ไม่ว่าเป็นหนี้ภาครัฐหรือเอกชน เนื่องจากเวลานั้นการเงินสะพัดอย่างมากภาคเอกชนกู้เงินต่างประเทศมาลงทุนขายกิจการ และบางส่วนยังกู้เงินมาเก็งกำไรที่ดิน เก็งกำไรหุ้น หรือแม้กระทั่งกู้เงินมาฝากธนาคารเนื่องจากดอกเบี้ยต่างประเทศถูกกว่าของไทยมาก เมื่อค่าเงินบาทของไทยลดลงกว่า 1 เท่าตัว ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถใช้คืนได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2535-2538 เศรษฐกิจขยายตัวสูง ทั้งด้านอุตสาหกรรม คมนาคมขนส่ง ก่อสร้าง และการเงิน-การธนาคาร และยังเปิดเสรีทางการเงินระหว่างประเทศ (IBF: International Banking Facilities) จนมาถึงปี 2539 เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลก การส่งออกของประเทศไทยขยายตัวไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับปี 2537 และปี 2538 ซึ่งขยายตัว 23 เปอร์เซนต์ และ 21 เปอร์เซนต์ ตามลำดับ การส่งออกที่ไม่ขยายตัวในปี 2539 ทำให้มีผลกระทบด้านจิตวิทยา และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ในเรื่องปัญหาสภาพคล่องของทุนสำรองระหว่างประเทศและค่าเงิน เพราะประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอดตั้งแต่ปี 2530 และขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การโจมตีค่าเงินและเกิดวิกฤตสถาบันการเงินในที่สุด

 

 

เศรษฐกิจยับเยินตกงานนับล้าน

 

 

นอกจากนี้ผลจากการลงทุนมากเกินไป จากการการเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้ธุรกิจและสถาบันการเงิน สามารถกู้ยืมเงินจากต่างประเทศได้ ทำให้มีการขยายการลงทุนมากเกินไป อีกประการหนึ่งเกิดจากการที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ และตราสารทางการเงินต่างๆ มีราคาสูงขึ้นก่อให้เกิดซื้อเพื่อเก็งกำไร และทำให้มีการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าเก็งกำไรเป็นหลัก

 

ส่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ช่วงปี 2530-2539 ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานสนามกอล์ฟ สวนเกษตร เติบโตอย่างมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกต่ำกว่าในประเทศ ผู้ประกอบการหันไประดมทุนจากต่างประเทศพร้อมกับระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โหมการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ การที่ราคาอสังหาริมทรัพย์และที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงก่อให้เกิดการซื้อเพื่อเก็งกำไร และดึงดูดให้ผู้ประกอบการสมัครเล่นหันมาทำธุรกิจประเภทนี้อย่างกว้างขวาง จนเกิดภาวะฟองสบู่

 

 

ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้คนว่างงานเพิ่มโดยในเวลาเพียงปีเดียวมีคนตกงานมากถึง 1.13 ล้านคน เพราะบริษัทต่างๆไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า จากการซื้อที่ลดลงกะทันหัน ส่งผลต่อการผลิตและการซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ปัญหาการล้มละลายหรือการปิดกิจการของภาคธุรกิจทุกขนาด ทำให้ปัญหาการว่างงานทั้งจากสาเหตุการถูกปลดออกจากการเป็นพนักงานบริษัท และปัญหาการไม่มีตลาดแรงงานรองรับนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ธุรกิจการเงินขนาดเล็ก คนไทยระดับกลางและล่างได้รับผลกระทบมากที่สุด คุณภาพชีวิตที่ลดลงเป็นอย่างมาก เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง สวัสดิการต่างๆทั้งภาครัฐ และเอกชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

แต่ผลของต้มยำกุ้งทำให้ประเทศไทยออกมาตรการด้านการเงิน-การคลัง รัดกุมมากขึ้น กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์สำรองหนี้เสียในอัตราสูงเพื่อป้องกันปัญหา เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนกู้หนี้ต่างประเทศน้อยลง

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 15 ปี วิกฤตต้มยำกุ้งถูกพูดถึงอีกครั้งหลังจากเห็นความร้อนแรงของตลาดคอนโดมิเนียม ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนไม่น้อยที่ซื้อเก็งกำไร ขายเปลี่ยนมือเป็นทอด ๆ จนหลายฝ่ายเริ่มกังวล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: