เครือข่ายผู้บริโภคฟ้องศาลปค. ทวงคืนท่อก๊าซฯจากบมจ.ปตท.

16 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1741 ครั้ง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ตุลาคม น.ส.รสนา โตสิตระกูล ในฐานะตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมประชาชน ซึ่งล่ารายชื่อได้ 1,500 คนมายังศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นขอให้ศาลปกครองพิจารณากรณีที่ ปตท.ยังส่งคืนทรัพย์สินให้รัฐไม่ครบ โดย ปตท.คืนทรัพย์สินให้คลังมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท จากที่ต้องคืนรวม 52,000 ล้านบาท

 

ดังนั้นจึงต้องคืนให้รัฐอีก 36,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจแล้วว่า ยังคืนไม่ครบจริง ระบบท่อก๊าซทั้งหมดเป็นมูลค่าที่คิดค่าเสื่อม แต่มูลค่าการตลาดสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท ทำให้ ปตท.ยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขอเพิ่มราคาค่าผ่านท่ออีกหน่วยละ 2 บาท ทำให้ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ปตท.ได้เงินมากกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท กลายเป็นต้นทุนราคาก๊าซและค่าไฟฟ้าแพง

 

สำหรับคดีนี้ น.ส.รสนา และคณะได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน และ บมจ.ปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของ ปตท. พ.ศ. 2554 และ พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 เกี่ยวกับการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็น บมจ.ปตท. ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2554 ซึ่งศาลได้ตัดสินคดีปี 2550 ให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องให้เสร็จก่อนการแต่งตั้ง กกพ.

 

ทั้งนี้ เนื่องจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ชี้แจง พ.ร.บ.งบปี 2556 ระบุว่าเรื่องทั้งหมดดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จึงเป็นที่มาของการทวงคืนครั้งนี้

 

โดยก่อนหน้านี้ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดชัดเจนว่าให้แบ่งทรัพย์สินกลับคืนมาเป็นของรัฐ และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบทรัพย์สิน โดย ปตท.คืนเงินให้ 1.6 หมื่นล้านบาททั้ง ๆ ที่ต้องคืน 5.2 หมื่นล้านบาท จึงยังไม่ครบ

 

ดังนั้น มูลนิธิและเครือข่ายได้ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อบังคับคดี แต่ศาลเห็นว่าไม่ใช่ผู้เสียหายเป็นเพียงผู้ร้องเท่านั้น จากนั้นเครือข่ายได้ไปยื่นเรื่องที่กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานเพื่อให้นำทรัพย์สินคืนมา แต่กลับไม่มีหน่วยงานไหนดำเนินการ และต่อมา ปตท.เอาท่อที่ต้องคืนตามคำพิพากษาไปตีมูลค่าใหม่เพื่อหาประโยชน์จากการให้เช่า ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น หลังจากจัดเวทีเสวนาไป 10 ครั้ง จึงได้ตัดสินใจเดินหน้าบังคับคดีเพื่อเอาทรัพย์สินกลับคืนมา

 

ด้านข้อมูลของ ปตท.มีการชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงคือ ปตท. และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดได้ดำเนินการตามคำพิพากษาโดยแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลคืนให้รัฐครบถ้วนถูกต้องแล้ว และศาลก็ได้มีคำสั่งยืนยันในเรื่องดังกล่าวถึง 2 ครั้งแล้ว

 

โดยการโอนทรัพย์สินตามคำพิพากษา ประกอบด้วย 1. ที่ดินจากการได้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เนื้อที่ 32 ไร่ 74.1 ตารางวา รวม 106 แปลง ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มูลค่า 1 ล้านบาท 2. สิทธิการใช้ที่ดินของเอกชน ที่ ปตท.ได้มาโดยอำนาจมหาชนเพื่อการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ประกอบด้วยทรัพย์สินระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (ตัวท่อส่งก๊าซฯ วัสดุ และอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นระบบท่อส่งก๊าซฯ) มูลค่า 1,137 ล้านบาท

 

3. ระบบท่อส่งก๊าซฯ เฉพาะส่วนที่อยู่ในที่ดินของเอกชน ประกอบด้วยโครงการท่อบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อชายแดนไทย-พม่า-ราชบุรี โครงการท่อราชบุรี-วังน้อย โครงการท่อมาบตาพุด-บางปะกง มูลค่า 15,037 ล้านบาท นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้บันทึกในคำร้องขอของ ปตท.ว่า “…วิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ถูกฟ้อง คดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...”

 

ปตท.ยังระบุด้วยว่า ในการแปรรูป ปตท. นอกจากจะโอนทรัพย์สินระบบท่อตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ยังเป็นการโอนหนี้สินและเงินกู้มาด้วย ถึงแม้ทรัพย์สินบางส่วนจะถูกส่งคืนกระทรวงการคลัง แต่ ปตท.ยังคงต้องรับผิดชอบหนี้สินและดอกเบี้ยของการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาให้พร้อมใช้งาน

 

ขณะที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานการตรวจสอบบริษัทที่ปรึกษาด้านมวลชนสัมพันธ์ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเกี่ยวโยงกับบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายณัฐวุฒิถือหุ้นในช่วงปี 2544-2551) ได้รับว่าจ้างจัดการด้านมวลชนสัมพันธ์ โครงการท่อก๊าช ปตท.ในพื้นที่ต่างๆ อย่างน้อย 14 โครงการ กว่า 226 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2555 ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาว่าจ้างที่บริษัท ซีวิล โปร จำกัด เป็นที่ปรึกษามวลชนสัมพันธ์ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บนบกภาคเหนือ (นครสวรรค์) วงเงิน 39,024,000 บาท

 

ผลจากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท ซีวิล โปร จำกัด จดทะเบียนวันที่ 16 กรกฎาคม 2542 ทุน 3 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 92/473 หมู่ที่ 2 ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร มีนายสนธยา ทิพย์อาภากุล อาชีพรับจ้าง เป็นผู้ถือหุ้นในช่วงก่อตั้งร่วมกับนายสุวรรณ บัณฑิต ผู้ก่อการจดทะเบียนในช่วงก่อตั้ง บริษัท ซีวิล โปร จำกัด มีผู้ถือหุ้น 7 คน คือ 1.นายสุวรรณ บัณฑิต อยู่บ้านเลขที่ 51/10 ซอยสุขุมวิท 39 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 2. น.ส.สุพร บัณฑิต อยู่บ้านเลขที่ 94 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 2 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 3.นายธนะสาร พงศ์ปิตานนท์ อยู่บ้านเลขที่ 124 หมู่ที่ 1 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 4.นายสนธยา ทิพย์อาภากุล อยู่บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 2 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 5.นายสุวิทย์ บัณฑิต อยู่บ้านเลขที่ 94 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 2 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 6.น.ส.ศิรินาถ หนูนวล อยู่บ้านเลขที่ 224/8 ถนนชาววัง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 7.นายสุวัฒน์ บัณฑิต อยู่บ้านเลขที่ 94 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 2 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

 

ทั้งนี้ นายสนธยา ทิพย์อาภากุล เป็นผู้ก่อตั้งและร่วมถือหุ้นบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาและวางแผนด้านการประชาสัมพันธ์และมวลชนสมพันธ์ โครงการท่อก๊าซ ปตท.ร่วมกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในช่วงปี 2544 ก่อนที่นายณัฐวุฒิโอนหุ้นให้นายเจตนันท์ ใสยเกื้อ พี่ชาย ในช่วงปี 2551 ขณะที่นายสนธยายังคงถือหุ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า บริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ของนายณัฐวุฒิกับพวก ได้รับว่าจ้างเป็นที่ปรึกษามวลชนสัมพันธ์โครงการท่อส่งก๊าซ รวม 13 โครงการ กว่า 31 ล้านบาท

 

ขอบคุณภาพจาก ผู้จัดการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: