แนะสร้างสมดุลเกษตร   ขับเคลื่อนอธิปไตยอาหาร

15 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1830 ครั้ง

เสวนา ‘ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเกษตรนิเวศ สิทธิชาวนา และอธิปไตยทางอาหารสำหรับประเทศไทย’ ในเวทีวิชาการเรื่อง ‘การเกษตรนิเวศ สิทธิชาวนา อธิปไตยทางอาหาร และขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนา’ จัดโดยลาเวียคัมเปซินา (La Via Campesina) รวมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South) และมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 12 พ.ย.55

 

สืบเนื่องมาจาก ‘การประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 1 ว่าด้วยเกษตรนิเวศ และเมล็ดพันธุ์ของชาวนา’ ระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน ที่มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศ จ.สุรินทร์ จัดโดย สมัชชาคนจน ซึ่งเป็นสมาชิกของลาเวียคัมเปซินาในประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ เพื่อทบทวนสถานการณ์และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค และร่างแผนปฏิบัติการรวมระดับนานาชาติ โดยมีชาวนาจาก 9 ภูมิภาคทั่วโลก กว่า 70 คน เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

 

 

‘เกษตรนิเวศ’ สิทธิในการเลือกที่ถูกผูกมันจากระบอบทุนนิยม

 

 

ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยเกิดการปฏิวัติเขียว ตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) สู่การผลิตเกษตรเชิงเดี่ยว ขณะที่เกษตรยังยืนหรือเกษตรนิเวศเพิ่งก่อตัวเมื่อประมาณปี 2520 โดยเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอย ๆ อีกทั้งไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับเกษตรสมัยใหม่เสียทีเดียว เพราะเกษตรกรไม่ได้ต้องการย้อนไปสู่อดีต แต่เกิดในบริบทที่เกษตรกรไปไม่รอดในระบบเกษตรสมัยใหม่ จึงพยายามหาการผลิตที่เป็นทางเลือก โดยโยงสู่การค้าที่เป็นธรรม และตลาดสีเขียวในปัจจุบัน

 

ดร.ประภาสกล่าวว่า ชนบทไทย สังคมชาวนาที่ผลิตเพื่อยังชีพและแลกเปลี่ยนนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว และกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมกึ่งเกษตรกึ่งแรงงานรับจ้าง เพราะรายได้ไม่ได้อยู่บนฐานของภาคเกษตรอีกแล้ว เกษตรกรมีรายจ่ายต่าง ๆ มากขึ้น ชาวนาปลูกข้าวเพื่อขายแล้วซื้อข้าวถุงกินแทน ซึ่งตรงนี้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน การออกจากระบบอย่างนี้ไม่ง่าย เพราะเงื่อนไขทั้งหนี้สิน ปัจจัยการผลิต ที่ดิน การผลิตในรูปแบบเกษตรนิเวศถือเป็นทางเลือกสำหรับคนที่พร้อมจะออกไปก่อน ซึ่งต้องเข้าใจเกษตรรายย่อยในภาพรวมด้วย แล้วเกษตรกรที่ก้าวหน้าจะพัฒนาและขยายวงให้กว้างต่อไปในระยะยาว

 

ดร.ประภาสกล่าวว่า ภายใต้โลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่ เมื่อพูดถึงสิทธิชาวนา สิทธิเกษตรกรหนีไม่พ้นการพูดถึงมิติประชาธิปไตย ซึ่งเกษตรกรชาวนาชาวไร่ควรได้รับการรับรองสิทธิให้สามารถต่อรองได้ และสามารถรับรู้ข่าวสารรวมทั้งการทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา ที่ผ่านมาจึงมีการเดินขบวนเพื่อต่อรอง อีกทั้งมีการใช้พื้นที่การเมืองที่เป็นทางการ ตามช่องทางมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ทั้งประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยตัวแทน ควรได้รับการผลักดันร่วมกัน เพื่อให้ลงรากปักฐานในสังคมต่อไป

 

 

ด้านนายวิรัต พรมสอน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวถึงสิทธิชาวนาว่า คือ 1.สิทธิในปัจจัยการผลิต เช่นที่ดิน น้ำ และป่าไม้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร นอกเหนือจากเครื่องจักร 2.สิทธิในการเลือกใช้วิถีการผลิต ไม่ถูกบังคับ 3.สิทธิในการขยายเผ่าพันธุ์ ทั้งกรณีของเผ่าพันธุ์ชาวนาและพันธุกรรมพืช และ 4.สิทธิในองค์ความรู้ ซึ่งการที่เกษตรกรเลือกที่จะใช้สารเคมีและปลูกพืชจีเอ็มโอนั้นมากจากการถูกช่วงชิงองค์ความรู้ทำให้ตัวเลือกในการเพาะปลูกถูกจำกัด ทั้งที่เกษตรกรควรมีสิทธิ์เลือกทั้งวิถีการผลิตและเมล็ดพันธุ์

 

 

ชี้สมดุล ‘เกษตรกร-ผู้บริโภค-สิ่งแวดล้อม’ ตัวสร้าง ‘อธิปไตยทางอาหาร’

 

 

ด้าน วิฑูรย์ ปัญญากุล นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรด้านการตลาดทางเลือก กล่าวว่า อธิปไตยทางอาหารมีพลวัตขึ้นอยู่กับปัจจัย บริบท และสภาพแวดล้อม โดยมีประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำหรับตนเองอธิปไตยทางอาหารจะเกิดขึ้นได้หากจัดความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ส่วนได้อย่างสมดุล ภายใต้บริบทและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่าการทำลายป่ามีปัจจัยสำคัญคือภาคการเกษตร แม้ว่าคนตัดป่าจะถือว่าเป็นคนทำลายในขั้นที่หนึ่ง ตัวอย่างป่าอะเมซอนก็ถูกทำลาย เนื่องจากการขยายพื้นที่ผลิตพืชอาหาร ดังนั้นการยอมรับกันได้ ข้อตกลงร่วมจากทั้ง 3 ส่วนจะทำให้ดำรงอยู่กันได้อย่างยังยืนแต่ก็เป็นภายใต้ภาวะจำกัด อย่างไรก็ตามเป้าหมายอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญ ระหว่างทางที่จะไปสู่ตรงนั้นอาจเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

 

 

แจงยุทธศาสตร์ ‘พ่อค้าคนกลาง’ ความสำคัญในห่วงโซ่ที่ไม่ควรมองข้าม

 

 

ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน นายวิฑูรย์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาให้ความสำคัญ โดยในส่วนผู้ผลิตมีคำถามท้าทายคือ 1.เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศในอนาคต และอาจส่งผลได้ทั้งดีและเลวต่อการเพาะปลูก 2.การแก่ตัวลงของประชากรในภาคเกษตร ซึ่งประเทศในเอเชียกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก รวมทั้งเรื่องท้าทายจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ โดยการนำเครื่องจักรมาใช้อย่างเป็นระบบมากขึ้น 3.ความต้องการปัจจัยการผลิตเกษตรนิเวศที่มีมากขึ้นทั้งเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีปัญหาปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว

 

สำหรับกรณีพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมีกลุ่มแนวความคิดที่ต้องการตัดห่วงโซ่ตรงนี้ออกไป แต่ในระบบการกระจายสินค้าในส่วนนี้มีความสำคัญ ควรมีการแบ่งงานกันทำ เกษตรกรไม่ควรต้องผลิต และต้องมาคิดเรื่องการตลาดด้วยตนเอง ตรงนี้ควรเป็นระบบที่พึ่งพาอาศัยกัน โดยมีผู้ประกอบการมาทำงานในการรวบรวมและกระจายสินค้า ซึ่งการกระจายสินค้าตรงนี้ ก็ควรมีหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับผลผลิตและบริบทของพื้นที่ ซึ่งตนต้องการเห็นธุรกิจเพื่อสังคม และยอมรับว่า ปัจจุบันเรื่องการจัดการห่วงโซ่ตรงนี้มีจุดอ่อนหลายจุด

 

นายวิฑูรย์กล่าวต่อถึงประเด็นท้าทายสำหรับผู้บริโภคว่า ข้ออ้างเรื่องความสะดวกสบายอาจเป็นปัญหาหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบ ไม่ควรบริโภคโดยทำลายสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการบริโภคที่เป็นปัญหา นอกจากนั้นยังมีกรณีความเข้าผิด ๆ ในการบริโภคอาหารแบบชาตินิยมซึ่งจะเป็นปัญหามากกว่า ยกตัวอย่าง การสนับสนุนให้บริโภคผักในประเทศของเนเธอร์แลนด์ที่ปลูกในรูปแบบเรือนกระจก (Green house) ที่ใช้พลังงานสูงยิ่งกว่า พลังงานงานที่ใช้ในการเพาะปลูกและขนส่งผักจากแอฟริกาเข้าประเทศ

 

ในส่วนของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการสนับสนุนงบประมาณหลายพันล้าน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น ในขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง กลับกลายเป็นหน่วยงานที่ขัดขวางการทำเกษตรนิเวศ เพราะมองเห็นว่าเป็นความผิดพลาด และไม่เชื่อถือในรูปแบบการผลิตนี้ แตกต่างกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่า เป็นโอกาสในการสร้างผลงาน ดังนั้นการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ประกอบการกระจายสินค้าถือเป็นสิ่งสำคัญ หากรัฐจะเข้ามาช่วยก็ให้เข้ามาได้แต่อย่าตั้งความหวัง

 

 

เรียกร้อง ‘ผู้บริโภค’ ตระหนักถึงอำนาจ สร้างพลังการต่อรอง

 

 

ทางด้าน น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนกลุ่มกินเปลี่ยนโลก กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องอธิปไตยทางอาหารมักมีการพูดถึงสมดุลสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือสมดุลทางอำนาจ ซึ่งอำนาจทุน อำนาจการเมืองมีอาจมากกว่าเรา แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคและผู้ผลิตเองก็คิดว่าตนเองไม่มีอำนาจที่จะเลือก นี่คือไม่มีความเข้าใจในอำนาจของตัวเอง ดังนั้นการคิดว่าสร้างภาวะอำนาจให้ใกล้เคียงกันได้อย่างไร ตรงนี้ต้องอาศัยความรู้

 

น.ส.กิ่งกรกล่าวในฐานะตัวแทนผู้บริโภคว่า ผู้บริโภคต้องการกินอาหารที่ดี ปลอดภัย หากราคาถูกได้ก็จะดี เพราะมีผู้บริโภคบางส่วนสามารถจ่ายได้ เพื่อแลกกับสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งสำหรับผู้บริโภคชาวไทยนั้นต้องการการรับรอง เพื่อสร้างความมั่นใจ จึงเกิดการสร้างระบบมาตรฐานขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงมาตรฐานดังกล่าวกลับไม่สามารถเชื่อถือได้ ทำให้การเลือกบริโภคต้องมีความรู้ อีกทั้งอาหารที่ดีต่อการบริโภคก็หาซื้อได้ยาก

 

น.ส.กิ่งกรกล่าวอีกว่า สำหรับผู้บริโภคในกรุงเทพ ฯ ต้องลงทุนเรื่องการเดินทางเพื่อบริโภค หากต้องการอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับการดำเนินชีวิตของคนชั้นกลาง ที่มีรายได้ไม่สูงนัก ต้องหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือระบบกระจายสินค้าที่มีคุณภาพ ตอบสนองกับวิถีชีวิตคนเมือง ไม่ใช้ระบบที่สินค้าเกษตรถูกส่งมายังแหล่งใหญ่ที่ตลาด 4 มุมเมืองแห่งเดียว ซึ่งไม่ได้รองรับการผลิตที่มีความหลากหลาย หรือเป็นรายย่อย ๆ

 

ทั้งนี้ระบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยผู้บริโภคที่มีความเข้าใจจริง ๆ อาจเริ่มต้นจากการที่ผู้บริโภคห่วงใยสุขภาพ สู่การเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเข้าใจว่าการผลิตอาหารที่ดีมีคุณภาพไม่สามารถทำได้ในรายของแปลงใหญ่ ดังนั้นต้องค่อย ๆ ยกระดับความเข้าใจของผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรต้องเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันในระบบการตัดสินใจบางอย่างของประเทศด้วย

 

ตัวแทนกลุ่มกินเปลี่ยนโลกกล่าวด้วยว่า หากผู้บริโภคเชื่อว่าสามารถเลือกบริโภคได้ ระบบการผลิตที่ดีจะไม่ถูกทำลายและยังจะขยายต่อไปได้ อีกทั้งผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น ในฐานะคนจ่ายเงิน ส่วนผู้ผลิตตรงนี้ก็เป็นทางเลือกในแง่ยุทธศาสตร์ ถือเป็นโอกาสทองทางการตลาดที่สำคัญ เพราะผู้บริโภคต้องการที่จะบริโภคและต้องการการทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เผย 4 พันธะกิจ ‘เกษตรนิเวศ’ ฟื้นฟูทรัพยากร-เกื้อหนุนเกษตรกรรายย่อย

 

 

นายบุญส่ง มาตรขาว เครือข่ายเกษตรทางเลือก สมัชชาคนจน กล่าวถึงนิยามของเกษตรนิเวศ ในฐานะเกษตรกรว่า หมายถึงการทำเกษตรที่มีระบบการผลิตที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เกื้อกูลต่อธรรมชาติ และมีส่วนในการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า ซึ่งขณะนี้ส่วนตัวก็ทำอยู่และมีการส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องเกษตรนิเวศซึ่งก็คือเกษตรยั่งยืน เพราะคิดว่าเป็นทางเลือกทางรอดของเกษตรกร

 

ต่อกรณีการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล นายบุญส่งแสดงความเห็นว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีเกษตรกรอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งไปกับกระแสของรัฐ ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค ขอให้ได้เงินเยอะๆ เป็นพอ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามทวนกระแส แม้นโยบายตรงนี้จะได้ใจ โดนใจจริง แต่การผลิตเพื่อขาย โดยที่คนผลิตไม่กินผลผลิตของตนเอง ตรงนี้จะย้อนกลับมาทำลายวิถีของเกษตรกรเอง

 

นายบุญส่งกล่าวต่อมาถึงพันธะกิจของกลุ่มเกษตรกรผู้ทำเกษตรนิเวศว่ามี 4 ประเด็น 1.ฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหาร ทั้งป่าและแหล่งน้ำ 2.ฟื้นฟูทรัพยากรมนุษย์ที่ถูกมอบเมาโดยทุนนิยม จนขาดความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของตนเอง ให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อปรับตัวกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 3.ฟื้นฟูพันธุกรรมท้องถิ่นที่เริ่มหายไป โดยเริ่มต้นสำรวจ รวบรวม พัฒนาสายพันธุ์ มีงานศึกษาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่ตลาดเป็นศูนย์กลางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 4.การตลาดผลผลิตอินทรีย์ ทั้งตลาดท้องถิ่น ตลาดเมือง ตลาดกลาง ต้องขยายผลให้เพิ่มขึ้น

 

ส่วนรัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมเกษตรนิเวศอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน การที่ผลผลิตปลอดภัยจากครัวไทยสู่ครัวโลกจะเกิดขึ้นได้ ต้องควบคุมตั้งแต่การนำเข้าสารเคมี โดยเพิ่มภาษีหรือลดการนำเข้าสารเคมีโดยไม่จำเป็น และเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยผลิตและค้าขายได้ เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: