‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’พินิจการเมืองไทย พิเคราะห์ประชาธิปไตย'ตุลา16ถึงพค.35' การเมืองของสีเสื้อและความเปลี่ยนแปลง

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 14 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5402 ครั้ง

หากเปรียบวิถีประชาธิปไตยของสังคมไทยเป็นถนนที่ทอดยาวสายหนึ่ง โดยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475  เป็นป้ายจำหลักแรก  ระยะทาง 80 ปีอาจกล่าวได้ว่า หมุดหมายสำคัญที่สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อระบบการเมืองและสังคมไทย คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535

แม้ว่าสำหรับคนจำนวนมากที่อยู่ห่างจากศูนย์อำนาจในกรุงเทพฯ และไม่มีความสนใจทางการเมือง สองเหตุการณ์ข้างต้นอาจเป็นเพียงสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ถูกบอกเล่าหรือหยิบยก  ต่อเมื่อฤดูกาลรำลึกเวียนมาถึง  แต่สำหรับผู้ที่สนใจ  มันคือจุดเปลี่ยนและสิ่งบ่งชี้ถึงก้าวสำคัญทางการเมืองไทย  ที่สมควรถูกนำมาศึกษาอยู่เสมอ  เพราะร่องรอย เงื่อนงำ และเหตุการณ์ทางการเมืองอันสืบเนื่องซ้ำรอย ต่อๆมา  ล้วนเกิดด้วยเงื่อนไขของอำนาจแทรกแซงและผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว  จนถึงวันที่สังคมไทยเปลี่ยน ไป   ด้วยกลุ่มพลังทางการเมืองอันหลากหลายและประชาชนธรรมดา  ที่เข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมือง  ต่อรองและขอมีส่วนในสิทธิประชาธิปไตย 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ สัมภาษณ์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตแกนนำนักศึกษายุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทเป็นอาจารย์สอนการเมืองการปกครองไทยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากว่า 20 ปี ยังเป็นนักคิดนักเขียน ที่มีผลงานจำนวนมากเผยแพร่อยู่ในทุกวันนี้ ในความเห็นของเราเขา จึงเป็นตัวแทนแห่งยุคสมัยที่โดดเด่นที่สุดเหมาะสมที่สุด ที่จะเป็นผู้ถือคบไฟในการศึกษาอดีตมองหาอนาคตร่วมกัน ณ ที่นี้

 

14 ตุลา16 คือการระเบิดครั้งใหญ่ของการเมืองไทย

 

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยในมิติต่างๆ ตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535  เสกสรรค์เปิดประเด็นการอธิบายอย่างกระชับชัดเจนว่า คือช่วงที่สังคมไทยอยู่ระหว่างการปรับสภาพจากสังคมที่มีระบบการเมืองปิด ไปสู่สังคมที่มีระบบการเมืองเปิด ทั้งนี้โดยมีสถานการณ์หลักเป็นการแย่งยื้ออำนาจการนำระหว่างชนชั้นนำเก่าที่มาจากทหารและข้าราชการพลเรือน  กับชนชั้นนำใหม่ที่มาจากภาคธุรกิจเอกชน

 

               “ช่วง 14 ตุลาคม 2516 นับเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ในทางการเมือง เราอาจพูดได้ว่าก่อนหน้านั้นเป็นเวลายาวนาน ระบบการเมืองไทยเป็นระบบที่ปิด 100 เปอร์เซ็นต์ คืออำนาจกระจุกตัวอยู่ในหมู่ของผู้นำกองทัพไม่กี่ครอบครัว และแม้จะมีชนชั้นนำจากราชการเข้าไปเกี่ยวข้องก็อยู่ในฐานะที่เป็นมือรองหรือผู้ช่วย บางพวกอาจเป็นนักวิชาการที่เรียกว่า เทคโนแครต พ้นจากนั้นแล้วพวกภาคเอกชนก็ดี หรือแม้แต่พวกที่อยากเล่นการเมืองในระบบรัฐสภาก็ดี แทบจะไม่มีหนทางเข้าสู่ศูนย์อำนาจ เว้นเสียแต่จะเข้าไปสวามิภักดิ์ ยอมตัวเป็นลูกน้องบริวารผู้กุมอำนาจ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงชนชั้นกลางที่ก่อรูปขึ้นมาจากแผนพัฒนาประเทศช่วงสองสามแผนแรก และชนชั้นล่างๆ เช่น กรรมกร ชาวนา หรือคนจนอีกหลายหมู่เหล่า”

 

ด้วยสภาพเช่นนี้จึงก่อให้เกิดการรวมตัวของผู้คนจำนวนมากจากหลากกลุ่ม หลายระดับ ซึ่งในสภาวะปกติการรวมตัวดังกล่าวคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ แนวร่วมต่อต้านเผด็จการทหารประกอบด้วยบุคคลชั้นสูงไปจนถึงแม่ค้าหาบเร่แผงลอย คนงานรับจ้าง ปัญญาชน นิสิต นักศึกษา ซึ่งต่างมารวมตัวกันในช่วง 14 ตุลาคม แต่ละชั้นชนอาจมีสาเหตุความไม่พอใจแตกต่างกัน แต่สรุปถึงที่สุดแล้วก็รวมศูนย์อยู่ที่การเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้กุมอำนาจมองข้ามมองเขา ไม่ได้เหลียวแล ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขา อีกทั้งยังปิดกั้นลู่ทางเข้าถึงอำนาจของพวกเขา ซึ่งเสกสรรค์ใช้ความเปรียบเปรยว่า “การรวมตัวครั้งนั้นก็เพื่อจะดันกำแพงที่กั้นทุกหมู่เหล่าจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้ทะลุออกไป”

 

ถามว่ามีปัจจัยจากภายนอกประเทศด้วยหรือไม่ เสกสรรค์คิดว่าแรงกดดันหลักๆ มาจากภายในสังคมไทยเอง ปัจจัยจากต่างประเทศไม่ถือว่ามีบทบาทสำคัญ แม้จะมีการเกิดขึ้นของขบวนนักศึกษาและขบวนต่อต้านสงครามเวียดนามในโลกตะวันตกอยู่ในระยะใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจจะส่งต่อความคิด ความอ่านมาถึงนักศึกษาหรือปัญญาชนบางกลุ่ม แต่ก็เป็นคนกลุ่มน้อยมาก

 

 

ชัยชนะที่มาพร้อมความสับสน

 

สังคมไทยรับรู้ประวัติศาสตร์ของห้วงเวลานั้นว่าจบลงด้วยชัยชนะของประชาชน และผู้ปกครองต้องหลบลี้ออกนอกประเทศ กำแพงปิดกั้นทางการเมืองที่เคยทอดเงาทะมึนพังครืนลง แต่เพราะถูกปิดกั้นมานาน ผู้ได้รับชัยชนะจึงพบตัวเองยืนอยู่ท่ามกลางความสับสน เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีโครงสร้างรองรับกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่มีการจัดสรรพื้นที่ทางการเมืองอย่างชัดเจน นอกเหนือไปจากแนวคิดพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างการเลือกตั้งผู้แทน

 

“พอเกิด 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทำให้ระบบเผด็จการแบบเต็มรูปพังครืนลงไป แต่ละกลุ่มก็มีความคิดของตนว่าจะใช้เสรีภาพอย่างไร บางกลุ่มคิดถึงการตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง บางกลุ่มอยากตั้งองค์กรประชาสังคมล้อมรอบความคิดความเชื่อของตน บางกลุ่มก็งงๆ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาคิดว่าเสรีภาพคือการบอกโลกว่าตัวเองเดือดร้อนเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นในหมู่ชนชั้นล่างๆ หรือกลุ่มผู้มีอำนาจน้อย จึงแสดงออกด้วยการชุมนุมประท้วง หรือทำสิ่งที่เคยต้องห้ามทั้งปวง เช่น คนงานหยุดงานถึงสามสี่ร้อยครั้งภายในเดือนเดียว หลัง 14 ตุลาคมแค่ 3 เดือน ชาวนาเริ่มเดินขบวนเข้ามาที่สนามหลวงเรียกร้องให้แก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน หาบเร่ประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยจับกุมพวกเขา กระทั่งนักเรียนก็ประท้วงครูที่ไม่เคยฟังเด็ก พูดง่ายๆคือทุกกลุ่มอยากจะมี 14 ตุลาขนาดย่อยของตน อะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นกล่าวโดยรวมแล้วมันจึงเกิดสภาพที่เหมือนกับการระเบิดอย่างไม่มีทิศทาง แต่จริงๆ แล้วก็อธิบายได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”

 

ถามว่าใช่หรือไม่ว่านี้คือจุดเริ่มต้นของการเมืองภาคประชาชน เสกสรรค์กล่าวว่ามองในมุมกว้างอาจกล่าวได้เช่นนั้น เพียงแต่ในห้วงยามหลังชัยชนะ แนวความคิดเรื่องการเมืองภาคประชาชนยังไม่ได้ก่อรูปขึ้นอย่างชัดเจนในสังคมการเมืองไทย ประชาชนชั้นล่างๆรับรู้แค่ว่า ต้องใช้เสรีภาพที่ได้มาเพื่อแก้ปัญหาของตน ขณะที่กลไกการเลือกตั้งปกติก็ดูจะเป็นที่พึงพอใจของชนชั้นนำบางส่วน คนชั้นกลางทั่วไปและนักการเมืองส่วนใหญ่ ซึ่งต้องการหยุดการเปลี่ยนแปลงไว้ตรงจุดนั้น ด้วยเหตุดังกล่าว ภายใน 1 ปีต่อมา ผู้ที่เคยร่วมมือกันในช่วง 14 ตุลาคม จึงต่างค่อยๆ แยกสายกันออกไป

 

              “พวกที่เห็นอกเห็นใจคนทุกข์คนยากคิดว่า ประชาธิปไตยไม่ควรหยุดแค่การเลือกตั้ง แต่ควรจะแก้ปัญหาถึงขั้นปฏิรูปเศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม กลุ่มนี้กลายเป็นพวกปัญญาชนฝ่ายซ้าย ส่วนกลุ่มที่เห็นว่าควรใช้เวทีรัฐสภาเป็นหลักในการแก้ปัญหาก็จะออกไปทางเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม ซึ่งมักมองว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนหลายหมู่เหล่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควร เป็นความระส่ำระสายที่ทำให้ประเทศชาติไม่มีความมั่นคง”

 

ข้อสังเกตต่อมาของเสกสรรค์ชี้ให้เห็นว่า แม้ระบอบเผด็จการจะล้มลง แต่ประชาธิปไตยก็มิได้ลงหลักปักฐานอย่างที่ควรจะเป็น สาเหตุสำคัญเป็นเพราะกลุ่มชนที่เคยกุมอำนาจร่วมกับอดีตผู้นำประเทศยังคงมีฐานะครอบงำอยู่ในสังคมไทย บรรดาสมาชิกชนชั้นปกครองเก่าเหล่านี้ แม้ด้านหนึ่งอาจเห็นว่าการปกครองด้วยระบบอำนาจนิยมเต็มรูปแบบไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ตกใจกับการตื่นตัว และการเคลื่อนไหวของประชาชนหลายหมู่เหล่าทั่วประเทศ ด้วยเหตุดังนี้พวกเขาจึงคิดจำกัดขอบเขตและความหมายของประชาธิปไตยเสียตั้งแต่ต้น  ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องกวาดล้างส่วนที่พวกเขาคิดว่า’ล้นเกิน’ออกไป นั่นคือที่มาของเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งไม่ได้เป็นแค่การยึดอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคล หากเป็นการทวงอำนาจคืนในระดับชนชั้นเลยทีเดียว แน่ละ ความผิดพลาด ความไร้เดียงสาของขบวนปัญญาชนสมัยนั้นอาจมีส่วนนำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าวด้วย แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กำหนดสถานการณ์ กรณี6ตุลาคมเป็นผลงานรวบยอดของขบวนการ’ฝ่ายขวา’ที่เตรียมการล่วงหน้าเป็นแรมปี

 

ชนชั้นนำในรอยต่อสุญญากาศทางอำนาจ

 

เมื่อถามว่า ช่วงเวลา 14 ตุลาคม 2516 ถึงก่อนเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 สถาบันกษัตริย์มีบทบาทอย่างไรต่อการเมืองไทย เสกสรรค์อธิบายว่า การล้มลงอย่างฉับพลันของรัฐบาลเผด็จการที่กุมอำนาจมาเนิ่นนานได้ทำให้เกิดสุญญากาศตรงศูนย์อำนาจในขนาดที่ใหญ่โตมาก ในเวลานั้นระบบรัฐสภายังไม่ได้ถูกฟื้นฟู รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยก็ยังไม่ได้ร่าง กองทัพเองก็รู้สึกว่าความน่าเชื่อถือของตนถูกสั่นคลอน จนไม่กล้าแสดงบทบาททางการเมือง ส่วนภาคเอกชนนั้นไม่ต้องพูดถึง พวกเขาไม่เคยคุ้นกับการมีฐานะนำทางการเมืองมาก่อน ดังนั้นจึงเหลืออยู่แค่สถาบันกษัตริย์ที่มีบารมีโดยจารีตประเพณีที่จะแสดงภาวะผู้นำทางการเมือง

 

                “ในช่วงนี้ ผมคิดว่าคงเป็นครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่สถาบันกษัตริย์ได้แสดงบทบาททางการเมืองอย่างเปิดเผย โดยทรงเป็นผู้เอื้ออำนวยในการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งก็สอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์ คิดดูแล้วกันว่าในเวลานั้นใครจะเหมาะเท่ากับอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งใกล้ชิดทั้งในรั้วในวังและใกล้ชิดกับนิสิตนักศึกษา ท่านเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของขบวนนักศึกษาประชาชน”

กล่าวโดยรวมๆ ก็คือชนชั้นนำเก่ามีบทบาทในการจัดการบ้านเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดีในช่วง 2516-2519 โครงสร้างของรัฐในแง่การบริหารราชการแผ่นดินไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่หลัง 6 ตุลาคม 2519 มีการกระชับความเข้มข้นในการควบคุมสังคมมากขึ้น สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการเสริมความมั่นคงมากขึ้น การที่นักศึกษาไปเป็นฝ่ายซ้าย กระทั่ง สุดท้ายถูกขับให้ไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทำให้การควบคุมมหาวิทยาลัยมีมากขึ้น การดัดแปลงวัฒนธรรมนักศึกษาให้กลายเป็นนอบน้อมนุ่มนิ่ม และเชื่องเฉื่อยทางการเมือง ก็ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมไทยมีเบ้าหลอมใหม่ของเยาวชนที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

                    “ในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐไทย กับกองกำลังอาวุธของฝ่ายนักศึกษาประชาชนซึ่งนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ทางกองทัพไม่มีธงอื่นให้ชูนอกจากธงชาตินิยมกับอนุรักษ์นิยม พวกเขาจะบอกว่าตัวเองอยู่ค่ายประชาธิปไตยก็พูดไม่ได้เต็มปากเพราะเพิ่งล้มประชาธิปไตยไปหยกๆ ด้วยเหตุนี้จึงต้องกลับมาสู่แนวคิดเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ ชูธง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นขบวนการปฏิวัติ ที่มีตัวตนจริง มีปืนจริง แล้วก็เป็นคนไทยด้วย ด้วยเงื่อนไขปัจจัยเหล่านี้ ในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ฐานะและบารมีของสถาบันกษัตริย์จึงได้ถูกยกระดับขึ้นกว่าเดิมในหลายๆ ด้าน”

 

 

ปรับสมดุลอำนาจใหม่

 

 

อย่างไรก็ตาม เสกสรรค์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้จะมีการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ในช่วงเวลาระหว่าง 6 ตุลาคม 2519 ถึงพฤษภาคม 2535 ทิศทางหลักของสังคมการเมืองไทยก็ยังคงอยู่ที่การพยายามปรับหาสมดุล เพราะหลังรัฐประหารปี 2519 ฝ่ายปกครองเรียนรู้ว่าวิธีการสุดขั้วแบบที่ผ่านมาส่งผลเสียมากกว่าดี มันผลักให้คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะระดับปัญญาชน หลั่งไหลเข้าไปสมทบกับ พคท. และจับอาวุธสู้กับอำนาจรัฐเก่า สภาพดังกล่าวทำให้ พคท. ซึ่งเคยเป็นขบวนการที่ประชาชนไม่ค่อยรู้จัก หรือไม่ก็ประกอบด้วยชนชาติส่วนน้อยและชาวนาห่างไกล กลายเป็นขบวนปฏิวัติที่น่าสะพรึงกลัวขึ้น กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยในช่วงหลัง6ตุลาคมเต็มไปด้วยผู้คนและปัญญาชนที่สังคมไทยรู้ว่าเป็นใคร อย่างน้อยก็เป็นนิสิต นักศึกษาระดับหัวกะทิของประเทศเกือบทั้งหมด

 

ในเมื่อสภาพเป็นเช่นนี้แล้ว ฝ่ายรัฐเองก็ต้องปรับเปลี่ยนท่าทีของตน กล่าวคือ พคท. เฟื่องฟูขึ้นมาได้ไม่นาน บรรดานักคิดในกองทัพก็เริ่มมองปัญหาคอมมิวนิสต์ในลักษณะที่ตรงความจริงมากขึ้น คือมองว่ามีพื้นฐานมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ นอกจากนี้แล้วทางฝ่ายปกครองยังมองเห็นโอกาสทองที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์สากล ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และความแตกแยกในหมู่ประเทศสังคมนิยม ได้กลายเป็นปัจจัยเกื้อหนุน ซึ่งนำไปสู่การเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างไทยกับจีน โดยทางการไทยได้ขอให้จีนยุติการสนับสนุน พคท.เป็นผลสำเร็จ ยังผลให้เกิดวิกฤตศรัทธาขึ้นในขบวนปฏิวัติที่มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นองค์กรนำ จากนั้นเมื่อผู้นำรัฐไทยใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกในทางการเมือง ด้วยการออกนโยบาย 66/23 บรรดานิสิต นักศึกษา ปัญญาชนที่ผิดหวังกับการนำของ พคท. จึงสามารถเลือกกลับบ้านได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี

 

                 “หลังจากใช้วิธีสุดขั้วในช่วงปี 2519 ไปแล้ว ทางฝ่ายผู้ปกครองเองก็มีการปรับตัว ผมเข้าใจว่าพวกเขาเริ่มคิดถึงการเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นเพื่อลดแรงกดดัน แต่จะเปิดประตูแบบที่ว่า เขาเป็นคนเลือกเองว่า จะให้ใครเข้ามาได้บ้าง การปรับตัวดังกล่าวเริ่มด้วยรัฐประหารปี 2520 เพื่อเปลี่ยนรัฐบาลขวาจัดให้เป็นขวาน้อยลง จากนั้นก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง แต่ยังคงรักษาอำนาจของผู้นำจากกองทัพและระบบราชการไว้ด้วยการบัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. นอกจากนี้ยังมีวุฒิสภาที่สมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งด้วย ซึ่งแน่ละ ระบอบการเมืองแบบนี้คงไม่ใช่ประชาธิปไตยในอุดมคติเท่าใดนัก แต่ตอนนั้นพวกนักการเมืองและชนชั้นนำจากภาคเอกชนที่อยากเล่นการเมืองก็ยินดีต้อนรับ เพราะในด้านหนึ่งตนเองก็กลัวคอมมิวนิสต์ กลัวบ้านเมืองจะตกอยู่ในมือของฝ่ายซ้ายจนยอมยกอำนาจการนำให้ทหารมาตั้งแต่ต้นแล้ว ยิ่งมีพื้นที่ให้ตัวเองเข้าไปถือหุ้นอำนาจร่วมกับพวกชนชั้นนำเก่ายิ่งดีใหญ่ ถึงจะให้เป็นแค่พระรองหรือตัวประกอบก็เอา”

 

เมื่อนักการเมือง-ภาคเอกชนปีกกล้าขาแข็ง

 

 

หลังจากระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบดำเนินไปราวหนึ่งทศวรรษ บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองที่มาจากภาคเอกชนก็เริ่มปีกกล้าขาแข็ง ถึงตอนนี้สภาพบ้านเมืองสงบลงมาก สถานการณ์โลกเริ่มเปลี่ยน ไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี2531 ขณะที่นักการเมืองจากภาคธุรกิจก็เริ่มเข้ามากุมอำนาจนำแทนที่ชนชั้นนำจากกองทัพ ความขัดแย้งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านลดลง เกิดกระแสแปรสนามรบให้เป็นสนามการค้า อีกด้านหนึ่งก็เกิดกระแสเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นส.ส.ด้วย ซึ่งมักใช้คำว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง

 

                   “สโลแกนพวกนี้มีขึ้นเพื่อดิสเครดิตผู้นำจากกองทัพ จนในที่สุดรัฐบาลพรรคชาติไทยในช่วงนั้นก็สามารถตั้งรัฐบาลของนักการเมืองขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องเชิญพลเอกเปรมหรือนายทหารท่านอื่นเป็นนายกฯ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจึงเห็นได้ว่า การเกิดรัฐประหารในปี 2534 ซึ่งนำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ก็เหมือนการยื้ออำนาจการนำของชนชั้นนำจากกองทัพและระบบราชการกลับคืนมา”

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่โดยพื้นฐาน ชนชั้นนำจากภาคเอกชนและจากกองทัพจึงไม่อาจตัดขาดจากกันได้โดยสิ้นเชิง เพียงแต่ในระยะนี้ มีการแย่งกันว่าใครจะมีฐานะเป็นหุ้นส่วนรายใหญ่ในพันธมิตรการปกครองเท่านั้นเอง อันที่จริงหลังรัฐประหารปี 2534 คณะรสช.ได้แสดงออกอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่ได้ต้องการยึดพื้นที่อำนาจไว้ทั้งหมด ดังจะเห็นได้จากการให้นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมาเป็นนายกฯในระยะก่อนที่พลเอกสุจินดาจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ เอง นายอานันท์ เป็นทั้งอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และมีฐานะสูงอยู่ในภาคธุรกิจเอกชน จึงได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพความเป็นไปได้ที่ชนชั้นนำภาครัฐกับชนชั้นนำภาคธุรกิจจะร่วมมือกันในการจัดการประเทศ

 

แต่เมื่อพลเอกสุจินดาคิดจะขึ้นเป็นผู้นำประเทศโดยตรง ก็เกิดคำถามว่า จะให้ทหารขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนรายใหญ่ในพันธมิตรการปกครองอีกแล้วหรือ ในที่สุดประชาชนในเมืองหลวงที่เคยยอมรับรัฐประหารและรัฐบาลนายอานันท์ก็หันมาต่อต้านรัฐบาลที่มีทหารเป็นผู้นำ กลายเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ซึ่งเนื้อแท้แล้วคือการแย่งยื้อการนำระหว่างชนชั้นนำที่มีที่มาแตกต่างกันสองกลุ่ม โดยมีชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเป็นแนวร่วมหรือฐานมวลชนที่ค่อนข้างจะแกว่งไกวไปมาพอสมควร

เสกสรรค์ชี้ให้เห็นว่า รัฐประหารปี 2534 มีความคล้ายคลึงกับรัฐประหารปี 2549 ตรงที่ไม่มีคนคัดค้าน และก่อนหน้ารัฐประหารก็มีกระแสวิจารณ์เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอย่างหนาหู กระทั่งที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ก็ได้มีการจัดมหกรรมเปิดโปงการโกงบ้านกินเมืองโดยองค์การนักศึกษา ซึ่งนับเป็นการทำลายเครดิตของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา ถึงตอนนั้นคนกรุงเทพโดยเฉพาะชนชั้นกลางก็ไม่สนใจแล้วว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ เนื่องจากยังมีแนวคิดเรื่องผู้กุมอำนาจที่สืบเนื่องจากโบราณสมัย คือต้องการผู้นำที่มีคุณธรรม มีความ สามารถ และมีความตั้งใจจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชน ส่วนที่มาของอำนาจกลับไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

 

“ในช่วงรัฐประหาร 2534 ชนชั้นกลางเงียบกริบเลย ขนาดผมเองซึ่งเป็นคอลัมนิสต์อยู่เวลานั้น ยังหยุดเขียนไป 8 เดือน เพราะนึกไม่ออกว่าจะเขียนยังไง คือจะเชียร์ทหารก็ไม่ถูก จะปกป้องรัฐบาลที่เพิ่งล้มลงไปก็ไม่มีจุดให้ปกป้อง”

 

 

2435-2535 ร้อยปีโครงสร้างการปกครองไทยไม่เคยเปลี่ยน

 

 

แม้เหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 จะผลักดันให้ทหารกลับเข้ากรมกอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นชัยชนะอีกครั้งของประชาชนนับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ชัยชนะครั้งนี้กลับมีสภาพไม่ต่างจากอดีต นั่นก็คือขับไล่ได้เฉพาะตัวบุคคล แต่ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีพื้นที่ทางการเมืองและสามารถจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง

เสกสรรค์อธิบายว่า ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นักการเมืองเริ่มกุมอำนาจได้มากขึ้น ชนชั้นนำของภาคธุรกิจเองก็มีฐานะและอิทธิพลมากขึ้น แต่การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินหรือโครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์เอาไว้ที่ส่วนกลางกลับไม่เกิดขึ้น เพราะอะไร? คำตอบของเสกสรรค์ก็คือนักการเมืองเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการมีเครื่องจักรสำเร็จรูปที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไว้ใช้งาน

 

                   “คุณได้รับเลือกตั้งจากเขตเดียวสามารถคุมกระทรวงมหาดไทยได้ ถ้าหากพรรคของคุณเป็นผู้ตั้งรัฐบาล คุณคุมได้ทั้งประเทศ จริงๆแล้ว คุณคุมกระทรวงไหนก็คุมได้ทั้งประเทศ เพราะทุกกระทรวงมีสาขาทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางจึงเป็นของโปรดของชนชั้นนำทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำจากภาคธุรกิจที่เรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตย หรือชนชั้นนำที่มาจากจารีตประเพณี หรือที่เติบโตมาจากระบบราชการ ทั้งนี้เนื่องเพราะมันเป็นระบบสั่งการจากข้างบนลงมา แล้วทุกตารางนิ้วในประเทศไทยคุมได้จากกรุงเทพฯ”

 

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงไม่เปลี่ยนแปลงหลัง 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 เสกสรรค์มองว่า โดยพื้นฐานแล้วมันไม่เคยเปลี่ยนเลยตั้งแต่ปี 2435 เมื่อแรกตั้งกระทรวง ทบวง กรม กระทั่งระยะหลังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้น อำนาจก็ยังมีน้อยมาก ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย

“กระทรวงอื่นยิ่งรวมศูนย์อำนาจมากกว่านี้ เพราะในขณะที่มหาดไทยแบ่งอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปบ้างแล้วเล็กน้อย แต่กระทรวงอื่นกลับไม่ค่อยมีเรื่องแบบนั้น จริงอยู่มันมีภารกิจบางอย่างที่ถ่ายโอนไปให้เทศบาลหรืออบต.ทำ แต่คุณก็ไม่มีเกษตรจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งหรือว่ามีสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอที่มาจากการเลือกตั้ง พูดโดยย่อคือมันไม่ใช่แค่มหาดไทย กระทรวงอื่นๆ ที่ทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้ จริงๆ รวมศูนย์อำนาจทั้งนั้น ควบคุมงบประมาณมหาศาลที่จะทำให้ประเทศนี้มีโฉมหน้าอย่างไรก็ได้”

 

เสกสรรค์คิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่นักการเมืองพลเรือนและพรรคการเมืองที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งล้วนละเลยการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองซึ่งถือเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์

 

                    “การปกครองมันหมายถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ซึ่งถ้าคุณยังจัดให้รัฐมีฐานะควบคุมสังคมตามต้นฉบับเดิม มันก็เป็นประชาธิปไตยแค่ผิวนอก เนื้อในยังเป็นระบอบอำนาจนิยม ทุกวันนี้คนในท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นต่างๆยังไม่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากร หรือกำหนดแผนพัฒนาท้องถิ่นตนได้อย่างแท้จริง”

 

ถามว่าการไม่ยอมกระจายอำนาจ ส่วนหนึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่า ประชาชนยังไม่ตื่นตัว ไม่มีความรู้ จึงยังไม่สามารถรักษาสิทธิของตนได้ ใช่หรือไม่ เสกสรรค์เห็นว่าก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สาเหตุหลักจริงๆ คือนักการเมืองได้ประโยชน์จากการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ ได้ประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินและการควบคุมทุกข์สุขหรือส่วนได้ส่วนเสียของท้องถิ่นไว้ในกำมือ

 

                   “นักการเมืองควรจะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่จะบอกว่า ประชาชนไม่พร้อมหรือประชาชนไม่มีการศึกษา เพราะเขาเองมีรากฐานความเป็นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าประชาชนเลือกคนมากุมอำนาจในระดับชาติได้ ทำไมถึงดูแลตัวเองในระดับท้องถิ่นไม่ได้ มันเล็กกว่ากันตั้งเยอะ ตรรกะตัวนี้จึงใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นข้าราชการหรือชนชั้นนำภาครัฐมองประชาชนแบบนั้นก็พอเข้าใจได้ กระทั่งชนชั้นกลางที่มีการศึกษามองประชาชนอย่างดูแคลน เขาก็อาจจะรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แต่ว่านักการเมืองมองแบบนั้นไม่ได้ คำถามก็คือแล้วทำไมนักการเมืองจึงไม่ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจส่วนนี้ ทำไมไม่กระจายอำนาจเพื่อสร้างฐานรากประชาธิปไตยขึ้นมาจากข้างล่าง”

 

 

ทุนนิยม ตัวการแช่แข็งการปฏิรูป

 

 

ส่วนหนึ่งของคำตอบ เสกสรรค์ได้ตอบไปแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งของคำตอบที่เขาเห็นว่าสำคัญไม่แพ้กันอยู่ที่การขับเคลื่อนของระบบทุนนิยม

 

เสกสรรค์อธิบายว่า ระบบทุนนิยมนั้นดูผิวเผินเหมือนเป็นระบบแข่งขันเสรี ทว่า ความจริงแล้วระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบันกลับค่อนข้างรวมศูนย์อำนาจในการควบคุมและจัดสรรทรัพยากร ตัวอย่างเช่นบริษัทเอกชนขอสัมปทานที่กรุงเทพฯ ก็สามารถไปทำเหมืองโปแตซที่อีสานได้ สามารถทำโรงไฟฟ้า สร้างโรงงาน หรือได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ไปใช้ทรัพยากรที่ไหนก็ได้ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้บ้านใครเดือดร้อน ชุมชนท้องถิ่นมีปัญหา ก็ไม่ต้องสนใจ หรือการเข้ามาลงทุนของทุนข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันแทบจะแยกไม่ออกแล้วว่าเป็นทุนไทยหรือทุนต่างชาติ เหล่านี้ล้วนมาจากการเอื้ออำนวยของการส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายที่ออกโดยส่วนกลางทั้งสิ้น ในขณะที่ชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาชนแทบกำหนดอะไรไม่ได้เลย

 

 

พูดให้ชัดขึ้นก็คือรัฐบาลไม่ว่ามาจากพรรคไหน ล้วนทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการระบบทุนนิยมไปโดยปริยาย ในฐานะดังกล่าวการมีอำนาจรวมศูนย์ย่อมทำงานได้สะดวกกว่า ขณะที่ความทุกข์สุขร้อนหนาวของชาวบ้านถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้รัฐบาลอาจจะต้องดูแลเอาใจใส่บ้าง แต่ก็ทำได้ไม่เกินกรอบทุนนิยม เสกสรรค์ยกตัวอย่างการขึ้นค่าแรง 300 บาท ซึ่งเป็นการผสมผสานนโยบายหาเสียงเข้ากับการดูแลชนชั้นล่าง ปรากฏว่าตัวแทนกลุ่มทุน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย ต่างออกมาท้วงติงและรัฐบาลก็ต้องฟัง

 

                    “ปกติบรรดาองค์กรนำและบุคคลชั้นนำในระบบทุนนิยมไทย ซึ่งตอนนี้อาจถือว่าเป็นทุนนิยมโลกาภิวัตน์สาขาประเทศไทย เขาเข้าถึงอำนาจมาตลอด แม้ในยามที่เป็นระบบเผด็จการ เขาก็มีวิธีที่จะกระซิบกระซาบพูดคุยกัน และรัฐไทยก็เห็นด้วยกับการสร้างทุนนิยมมาตั้งแต่หลังสนธิสัญญาเบาริ่งแล้ว จึงไม่ทำอะไรที่ไม่เกื้อหนุนการเติบโตของทุน”

 

สิ่งเหล่านี้เมื่อบวกกับโลกทัศน์ที่เห็นว่าประชาชนไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง บวกกับผลประโยชน์รายทางของผู้คนที่กุมอำนาจทุกขั้นตอน ผลก็คือไม่มีใครคิดที่จะปฏิรูปโครงสร้างอำนาจให้ท้องถิ่นมีระบบประชาธิปไตยของตัวเองจริงๆ ไม่มีใครยอมตัดสายบัญชาการจากข้างบนลงไป หรือจากเมืองหลวงออกมา

 

 

รัฐธรรมนูญปี 2540 และการเกิดขึ้นของมวลชนทักษิณ

 

 

ผลพวงจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 อีกประการคือการตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของนักการเมือง ทั้งเรื่องการทุจริตโกงกินจนกลายเป็นข้ออ้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร และการสมคบคิดกับผู้นำกองทัพทั้งที่เพิ่งถูกรัฐประหารไป เพียงเพื่อจะตั้งพันธมิตรการปกครองเหนือประเทศไทยอีกครั้ง สภาพดังกล่าวเป็นที่มาของกระแสปฏิรูปการเมือง ซึ่งพยายามหาทางออกที่ไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างเผด็จการทหารกับประชาธิปไตยแบบน้ำเน่า คำตอบสุดท้าย ณ ห้วงยามนั้นคือขยายระบอบประชาธิปไตยให้มากกว่าการเลือกตั้ง ด้วยการเพิ่มอำนาจประชาชนและสร้างองค์กรตรวจสอบ

 

ในเวลาต่อมาไม่นาน คำตอบ 2 ประการข้างต้นจึงกลายเป็นวิญญาณของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งกำหนดให้สร้างองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบนักการเมือง และยอมรับฐานะทางกฎหมายของการเมืองภาคประชาชนเป็นครั้งแรก โดยเชื่อว่าทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยให้ระบบรัฐสภาหรือระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งมีความสมบูรณ์ครบถ้วน และมั่นคงมากขึ้น ตั้งอยู่บนทำนองคลองธรรม ไม่อ่อนแอจนกระทั่งอีกฝ่ายหนึ่งถือเป็นข้ออ้างเพื่อโค่นล้ม

 

และแล้วรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ส่งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นอีกขั้นหนึ่งที่พรรคการเมืองและภาคธุรกิจกลืนเป็นเนื้อเดียวกันชัดเจน รัฐมนตรีหลายคนเป็นสายตรงจากภาคธุรกิจ ทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ว่าการก้าวขึ้นเวทีการเมืองโดยตรงของนักธุรกิจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

 

อย่างไรก็ตาม ลำพังแค่นั้นอาจยังไม่พอที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง อีกประเด็นหนึ่งที่เสกสรรค์คิดว่าเป็นปมเงื่อนสำคัญในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้สถานการณ์เดินมาถึงปัจจุบัน คือการเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารและผู้บริหารพรรคการเมือง

 

                       “เพราะก่อนหน้านั้นมันเป็นระบบพรรคการเมืองที่ค่อนข้างอ่อนแอ ผู้นำรัฐบาลคุม ส.ส. ตัวเองไม่อยู่ ทำให้ไม่มีเสถียรภาพ กระแสปฏิรูปจึงอยากได้ผู้บริหารที่เข้มแข็ง อยากให้เป็นพรรคการเมืองใหญ่จำนวนน้อย ไม่ปล่อยให้มีพรรคการเมืองจำนวนมากแล้วไม่เกิดประโยชน์ ในที่สุดอานิสงส์เหล่านี้เลยไปตกอยู่กับคุณทักษิณซึ่งขึ้นมาเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในช่วงปี 2544 นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้เป็นไปตามฝันของรัฐธรรมนูญปี 2540 เริ่มด้วยฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดีความฝันไม่ได้มีแค่นั้น เรายังอยากให้มีองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็งด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เริ่มที่ความเข้มแข็งขององค์กรอิสระ ก็เพราะตอนนั้นองค์กรอิสระเพิ่งจะตั้งขึ้น ยังต้องใช้เวลาในการสร้างเนื้อสร้างตัว”

แล้วความฝันของรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เอียงไปด้านเดียว

 

                 “คุณทักษิณพยายามเลิกระบบมุ้ง ซึ่งเป็นระบบเก่าในพรรคการเมืองที่ใครฝีปากคม คารมกล้า มีทุนเล็กน้อย รวบรวม ส.ส. ไว้ในมือได้ก็ต่อรองเป็นรัฐมนตรีได้ คุณทักษิณต้องการให้มีการจัดตั้งที่กระชับกว่านั้น ซึ่งหมายความว่าอำนาจตัดสินใจจะต้องอยู่ในมือหัวหน้าพรรค เรื่องนี้ไม่เพียงสอดคล้องกับการที่ผู้บริหารประเทศส่วนใหญ่เป็นสายตรงของภาคธุรกิจ หากยังตอบสนองนโยบายของพรรคไทยรักไทยซึ่งต้องการขับเคลื่อนทุนนิยมไทยให้ไปถึงขั้นที่มีฐานะได้เปรียบในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นความพยายามที่จะรวมศูนย์อำนาจสั่งการมากขึ้น ซึ่งเดิมก็รวมศูนย์ผ่านระบบการปกครองอยู่แล้ว นี่จะรวมเพิ่ม  ให้รวมศูนย์สู่พรรคและบุคคลที่กุมอำนาจ เป็นนายกฯ ซีอีโอ เพื่อจะได้เหมือนการบริหารบริษัท”

 

แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 จะวางขั้นตอนการถ่ายโอนอำนาจสู่ท้องถิ่นไว้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เกิดขึ้น ส่วนการเมืองภาคประชาชนในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยเรืองอำนาจก็อ่อนแอลงเนื่องจากนโยบายประชานิยมที่มาแรง ประชาชนที่เคยรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์อันชอบธรรมของตน ต้องเลือกระหว่างการเคลื่อนไหวอิสระกับเคลื่อนไหวใต้ร่มเงาของพรรคการเมือง หลายคนเห็นว่าการอยู่กับองค์กรเอ็นจีโอหรือกลุ่มชาวบ้านไม่เคยได้รับชัยชนะสักที จึงหันไปฝากผีฝากไข้ไว้กับพรรคไทยรักไทย กลายไปเป็นมวลชนของนักการเมือง ทั้งที่โดยธรรมชาติของการเมืองภาคประชาชนจะไม่สังกัดพรรคหรือรัฐบาลใดทั้งสิ้น หากจะต่อรองกับฝ่ายรัฐและฝ่ายทุนจากจุดยืนของกลุ่มตน

 

ความสามารถประการหนึ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ คือการดึงกลุ่มซ้ายเก่าหลายคนมาทำงานด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยทำงานเอ็นจีโอ มีเครือข่ายภาคประชาชน หรืออย่างน้อยก็เคยเคลื่อนไหวมวลชนมาก่อน เงื่อนไขข้อนี้เมื่อบวกกับหลายนโยบายของพรรคที่ถูกอกถูกใจประชาชน ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนนิยมอย่างกว้างขวาง นับเป็นสถานการณ์ใหม่ที่พรรคการเมืองเดียวสามารถได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าเรามองกลับไปก่อนปี 2544 หลังฤดูหาเสียงแล้วนักการเมืองรุ่นเก่ามักไม่ค่อยเหลียวแลชาวบ้าน ไม่ว่าในระดับผิวเผินหรือลึกซึ้ง อย่างดีก็มีเพียงคำสัญญานามธรรม แต่ พ.ต.ท.ทักษิณคือผู้ที่ทำให้นโยบายกลายเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น กองทุนหมู่บ้าน  30 บาทรักษาทุกโรค

 

                 “สิ่งเหล่านี้อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ชาวบ้านที่ฝักใฝ่ทุนนิยมและอยากเป็นนายทุนน้อย หรือต้องอาศัยทุนเพราะไม่มีทางเลือกเป็นอื่น รู้สึกดีว่ามันยังมีขอนไม้มาให้เกาะ มีปลาสเตอร์ให้ปิดแผล มียาแก้ปวด ที่ช่วยบรรเทาอาการจนเจ็บได้บ้าง ดีกว่านั่งครวญครางไปตามยถากรรม”

 

 

เหลือง-แดง ไม่เน้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

 

 

ถามว่าสภาพที่การเมืองภาคประชาชนแปรรูปเป็นมวลชนพรรคการเมือง ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาหรือถดถอย หรือไม่สามารถชี้ชัดได้ เสกสรรค์ตอบว่า

 

                  “แม้การเมืองภาคประชาชนแบบหนึ่งกลุ่มหนึ่งประเด็นยังมีอยู่ แต่กระแสมันลดลงตั้งแต่สมัยคุณทักษิณเรื่อยมาและถูกแปรรูปมากขึ้นในช่วงที่เกิดสีเหลือง-สีแดง แปรรูปจากการเมืองภาคประชาชนฉบับเดิมมาเป็นการเมืองภาคประชาชนที่...ถ้าเรายังใช้คำนี้อยู่นะ... แบบว่าไม่ได้จับประเด็นเฉพาะของตน เช่น ไม่ใช่ชาวนาเรียกร้องที่ดิน ไม่ใช่คนงานที่ขอตั้งสหภาพ ไม่ใช่คนกะเหรี่ยงที่อยากมีเขตวัฒนธรรม แต่กลายเป็นมวลชนที่ชูธงอุดมการณ์นามธรรมมากขึ้น เลือกสนับสนุนกลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่มมากขึ้น บางด้านก็คล้ายๆ กับการแบ่งซ้าย-ขวาสมัยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือตีเส้นแบ่งแยกมิตรแยกศัตรูอย่างค่อนข้างตายตัว”

 

เพียงแต่การแบ่งฝักฝ่ายครั้งนี้ เนื้อในของอุดมการณ์ค่อนข้างแตกต่างจากช่วงปี 2516-2519 ช่วงนั้นฝ่ายซ้ายพูดเรื่องสังคมนิยม มีแนวคิดว่าการปฏิรูปแบบปะผุ ไม่พอสำหรับประเทศไทย ความฝันที่จะให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและเสมอหน้ากัน จะทำได้ต้องเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่แค่เปลี่ยนผู้นำรัฐบาลขณะที่ปัจจุบันไม่มีเรื่องทำนองนี้ ที่น่าแปลกคือทั้งสีเหลือง-สีแดง แม้ชูธงอุดมการณ์ทางการเมืองก็ตาม แต่เสกสรรค์เห็นว่ากลับไม่ค่อยมีเนื้อหาเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างสังคมที่จะช่วยยกระดับชีวิตคนชั้นล่าง

 

ทักษิณคิดรื้อดุลทางอำนาจ ย่อมไม่มีพลังไหนยอมอยู่เฉย

 

 

เสกสรรค์กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำให้การเลือกตั้งมีความหมายมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็มีความหมายมากกว่าเดิม แต่กระนั้นก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยของไทยยังคงมีเพดานในระดับนโยบาย ที่คอยปิดกั้นความพยายามในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางการปกครอง เศรษฐกิจ หรือการศึกษา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักการเมืองจากภาคธุรกิจและตัวระบบทุนนิยมเองล้วนได้ประโยชน์จากโครงสร้างที่เป็นอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะเกรงว่าการปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องอำนาจและทรัพย์สินอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองชนิดที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้  ซึ่งเมื่อพิจารณาผลได้เสียแล้ว นักการเมืองอาจจะเห็นว่าไม่ควรแลก

 

           “ถามว่าทำไมถึงแลกไม่ได้ ด้านหนึ่งคงเป็นเพราะรัฐบาลประชานิยม เขาไม่ได้มีนโยบายที่จะออกนอกกรอบทุนนิยมอยู่แล้ว คือเขายังใช้ระบบทุนนิยมเป็นฐานความคิดในการวัดความเจริญของประเทศและวัดความสำเร็จของฝ่ายบริหาร สอง ถ้าเขาทำตามข้อเรียกร้องประชาชนในการปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปภาษีหรือการโอนอำนาจปกครองให้ท้องถิ่น ให้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เขาอาจจะต้องทะเลาะกับชนชั้นนำอีกหลายกลุ่มที่เป็นเจ้าของผลประโยชน์อันมีมาแต่เดิม”

 

เสกสรรค์กล่าวว่า คนที่จะเลือกการทะเลาะนี้ต้องใจถึงมาก เพราะมันเป็นการเปลี่ยนระบบกรรมสิทธิ์ไม่มากก็น้อย เคยมีกรณีที่รัฐบาลฝ่ายก้าวหน้าถูกโค่นมาแล้วหลายประเทศ เพราะฉะนั้นคนที่เล่นการเมืองคงต้องคิดว่าคุ้มหรือไม่ที่จะไปเจ็บตัวเพื่อชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เป็นคนละเรื่องกับสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการปรับความสัมพันธ์ต่างๆ ในหมู่ชนชั้นนำเพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากขึ้น อันนั้นเป็นคนละความหมายกับการปฏิรูปโครงสร้างประเทศ

 

         “ผมไม่ทราบว่านี่เป็นความอ่อนหัดหรือเป็นความประมาทเลินเล่อทางการเมือง หรือเป็นความไม่เข้าใจศาสตร์แห่งการปกครอง อันที่จริงเขาสอนกันมาตั้งแต่สมัยมาเคียเวลลี่ ไม่ต่ำกว่า 500 ปีแล้วว่า ผู้ปกครองประเทศจะต้องใส่ใจการมีอยู่ของบุคคล หรือกลุ่มคน ที่ทรงอิทธิพลในสังคมตลอดเวลา ไม่ว่าคนเหล่านี้จะมีฐานะใด เป็นทางการหรือไม่ก็ตาม เพราะนั่นคือภูมิประเทศทางการเมืองที่เป็นจริง แน่ละ ต้องพิจารณาความเรียกร้องต้องการของผู้อยู่ใต้การปกครองด้วย ที่สำคัญคือต้องรักษาความสมดุลของแรงกดดันจากทั้งสองจุดให้ได้”

ความพยายามของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้บริหารซึ่งถือตนว่ามาจากการเลือกตั้ง ได้นำไปสู่การปะทะเสียดสีกับพลังต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยรักไทยจากที่แข็งแรงในช่วงแรกค่อยๆ ถูกกัดกร่อนและมีศัตรูเพิ่มมากขึ้น ผู้คนที่อึดอัดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ มีมากขึ้น และไม่เพียงกลุ่มชนชั้นนำที่ถูกลดทอนบทบาทเท่านั้นที่ไม่พอใจ เสกสรรค์กล่าวว่า ตอนนั้นแทบไม่มีปัญญาชนสาธารณะคนใดที่ไม่ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบโต้แดกดัน นอกจากนี้ท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำยังพุ่งใส่สื่อมวลชน เอ็นจีโอ ตลอดผู้นำภาคประชาชนกลุ่มต่างๆด้วย ในที่สุดความอึดอัดก็นำไปสู่การต่อต้าน

 

เสกสรรค์อธิบายในมุมมองนักวิชาการว่า พลังในสังคมไทยที่ให้คุณให้โทษได้มีตั้งแต่สูงสุดลงมาถึงล่างสุด แล้วจู่ๆ มาถูกมองข้ามก็ย่อมไม่มีพลังไหนจะยอมอยู่เฉย  เขามองว่า ในช่วงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ค่อนข้างรีบร้อนที่จะดัดแปลงประเทศไทยเข้าสู่โลกาภิวัตน์ โดยไม่ค่อยรับฟังความเห็นที่แตกต่าง มิพักต้องเอ่ยถึงข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในกระบวนการดังกล่าว ซึ่งได้สร้างความเสียหายทางการเมืองต่อ พ.ต.ท.ทักษิณไม่น้อย

 

               “การต่อต้านมันสลับซับซ้อนเพราะประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย มีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย  บางกลุ่มต่อต้านจากหลักการ อุดมการณ์ เหตุผล บ้างต่อต้านเพราะความผิดหวัง อกหัก สูญเสียผลประโยชน์ บางพวกต่อต้านเพราะไม่ชอบหน้าหรืออยากจะแย่งอำนาจเสียเองก็มี แต่สิ่งที่เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลช่วงนั้นก็คือ คุณไปสร้างความแปลกแยกให้คนมากเกินไป จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มันมากจนเกิดเป็นแนวร่วมที่กว้างขวาง ถ้าคุณย้อนกลับไปดูพันธมิตรฯ ยุคแรก...จะพบว่ามีคนสนับสนุนมาก ซึ่งแตกต่างจากระยะหลัง”

 

เมื่อการปะทะหนักหน่วงขึ้นจนนำไปสู่ความขัดแย้งขนาดใหญ่ในสังคม ในที่สุดกองทัพที่เคยถอยกลับเข้ากรมกองหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ตบเท้าออกมาทำรัฐประหารอีกครั้ง

 

             “ถึงตรงนี้...คงต้องบอกก่อนว่า เรากำลังเข้าสู่ปริมณฑลที่ผมไม่รู้ความจริงแล้วนะ ผมรู้เท่ากับคนทั่วไปว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่เบื้องลึกแล้วไม่รู้ว่าใครรับบทไหนหรือใครโยงใยกับใคร เพราะฉะนั้นผมจะไม่ออกความเห็นอะไรมาก ผมเพียงแต่สังเกตว่าสถานการณ์ตอนนั้นมันนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่จะโค่นคุณทักษิณด้วยวิธีนอกระบบ ความเป็นไปได้นั้นมีและมันได้เกิดขึ้นแล้วจริง ประเด็นนี้ไม่ต้องเถียงกัน ประเด็นที่สำคัญกว่าคือประเทศไทยจำเป็นต้องทำเช่นนั้นหรือเปล่า อันนี้ยังเถียงกันอยู่จนปัจจุบัน... คือเหตุปัจจัยที่กำหนดความเคลื่อนไหวต่างๆในโลกนี้มันประกอบด้วยทั้งความจำเป็นและความเป็นไปได้ บางอย่างจำเป็นแต่เป็นไปไม่ได้ หรือยังต้องรอเงื่อนไขเพิ่ม บางอย่างเป็นไปได้แต่ไม่จำเป็น...” เสกสรรค์กล่าว

 

‘ต้องมีพื้นที่ให้ทุกฝ่าย’ ก่อนจะแหลกกันทุกฝ่าย

 

บทสนทนาเดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย กับคำถามว่าด้วยหนทางที่การเมืองไทยจะออกจากวังวนความขัดแย้งและก้าวเดินสู่วิถีประชาธิปไตยในแบบที่น่าจะเป็น ซึ่งเสกสรรค์กล่าวอย่างมีอารมณ์ขันว่า นี่ถือเป็นความทะเยอทะยานมากที่ให้ตอบคำถามนี้ใน 15 นาที ดังนั้น เขาก็จะตอบคำถามแบบ 15 นาที

 

เสกสรรค์เริ่มต้นตอบคำถามอันทะเยอทะยานนี้ ผ่านการอธิบายถึงสังคมปัจจุบันที่ประกอบด้วยพลังอันหลากหลาย ยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ที่ปัจจัยใหม่ๆหลั่งไหลเข้ามาทั้งในรูปของทุน แรงงาน ข่าวสาร วัฒนธรรม และความคิด ก็ยิ่งทำให้มโนทัศน์เก่าๆ ของสังคมแทบจะใช้การไม่ได้ การเกาะเกี่ยวยึดโยงกันในสังคมจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนรูป เราต้องจัดพื้นที่ทางการเมืองสำหรับผู้คนที่มีความหลากหลาย มีความต้องการที่แตกต่างกัน ให้สามารถสนองความต้องการของตนได้อย่างสมดุลกับความต้องการของผู้อื่น นี่คือประเด็นสำคัญของยุคสมัย เราจะต้องสามารถบริหารจัดการความแตกต่างให้ได้ ต้องอยู่กับภาวะเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนรวดเร็วของสังคมให้ได้ เสกสรรเตือนว่า

 

               “ถ้าเราไม่ยึดกุมสภาพนี้ไว้ ก็จะพยายามสร้างแต่สังคมในอุดมคติของตัวเอง ไม่ว่าเรานั้นคือใครก็ตาม แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ยุคสังคมเกษตรกรรมเรียบง่าย หรืออุตสาหกรรมยุคแรกที่ผู้คนคิดคล้ายกัน เชื่อในสิ่งเดียวกัน นี่มันยุคที่ทุนมาวันนี้ มะรืนนี้มันก็ไป เป็นยุคที่นิยามความมั่นคงเปลี่ยนไปหมดแล้ว ยามสูญเสีย คุณอาจจะสูญเสียถึงขั้นไม่มีอะไรเหลือเลย วันดีคืนดีรายได้ของคุณอาจจะหายไปทั้งหมด จากเหตุปัจจัยที่คุณเข้าใจไม่ได้ มันเป็นยุคที่คุณอาจถูกยึดที่ดิน ยึดรถ ยึดบ้านหรือตกงานเอาง่ายๆ ทุกสรรพชีวิตมีความไม่มั่นคงเป็นเจ้าเรือน เพราะฉะนั้นจะต้องมีระบบการเมืองที่เปิดพื้นที่กว้างมาก และมีความยืดหยุ่นในเรื่องบรรทัดฐานผิดถูกให้มากขึ้น อุดมคติของคนต่างกลุ่มอาจจะไม่เหมือนกันเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องฟังกันให้มากขึ้น คุยกันให้มากขึ้น และมีกระบวนการตัดสินใจร่วมกันมากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วจะไปไม่รอด ถ้าเราทิ้งให้คนบางกลุ่มหรือหลายกลุ่มไม่มีทางออกที่เป็นระบบและชอบด้วยกฎกติกา ก็อาจทำให้เกิดสภาพระเบิดตูมตามได้เหมือนอย่างที่เราเห็น”

 

นอกจากนี้ เสกสรรค์ยังเสนอว่า การออกแบบระบบการเมืองควรจะออกแบบให้น้อยที่สุด แต่อาศัยข้อตกลงร่วมกันให้มากที่สุด เขาเอ่ยถึงความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าไม่ควรเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ แต่ควรเป็นข้อตกลงของผู้คนที่อยากมีส่วนปกครองบ้านเมือง ซึ่งบัดนี้ได้รวมประชาชนด้วย ไม่ว่าประชาชนคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเขาเป็นพลังหนึ่งของสังคม เขาควรต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนผังของอำนาจในสังคม

ทั้งนี้แผนผังอำนาจดังกล่าวควรได้รับฉันทานุมัติอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับที่มาของอำนาจ, จุดหมายของอำนาจ และวิธีการที่จะใช้อำนาจ มีแต่ทำเช่นนี้ จึงจะทำให้กระบวนการของอำนาจในประเทศไทยครองความชอบธรรมครบทุกขั้นตอน ไม่ใช่นำคนมีฐานะจำนวนหนึ่งมาตกลงกัน แล้วทุกอย่างเป็นอันจบ เพราะวิธีเช่นนั้นไม่สามารถรองรับผู้เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด ยิ่งสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยแล้ว ระบบการเมืองจะต้องไม่แข็งตัวเกินไป หรือมีโครงสร้างปิดกั้นส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นอันขาด

 

                “เพราะมันจะทำให้ทะเลาะกัน เราต้องมีระบบที่สามารถขยับปรับตัวเองได้เสมอ เหมือนการเดินบนเส้นลวดที่ต้องเดินเอียงไปมาถึงจะเดินไปข้างหน้าได้ ขืนยืนตัวแข็งทื่อก็ตกลงมาเท่านั้นเอง เรือที่จะวิ่งฝ่าคลื่นได้ต้องรู้จักโคลง ไม่อย่างนั้นก็ล่ม เราต้องเรียนรู้ที่จะโคลงเคลงอย่างมีจังหวะจะโคน โดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าตกใจ”

 

เสกสรรค์ย้ำว่า คำอธิบายข้างต้นคือกรอบคิดกว้างๆ ถ้ากล่าวให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น หมายความว่าต้องมีพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงตัวตนได้ และมีบรรยากาศที่ยอมรับสิทธิของและกัน

 

                 “ที่น่าห่วงคือประสบการณ์สี่ห้าปีมานี้ กลุ่มคนที่ขัดแย้งกันกลับมีความคิดในลักษณะไม่ยอมร่วมแผ่นดินกับใครที่คิดต่าง วิธีคิดแบบนี้อันตราย ประเภทถ้าโลกไม่เป็นดังที่ฉันต้องการก็จงอย่าได้อยู่เป็นสุขเลย วิธีคิดแบบนี้มันตกทอดมาจากสมัยสงครามเย็น หรือไม่ก็คล้ายกับเมืองจีนยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ยังไม่ต้องเอ่ยถึงกัมพูชาสมัยเขมรแดง มันไม่ใช่วิธีคิดที่จะอยู่กับโลกาภิวัตน์หรือสังคมพหุนิยมได้ และถ้าไม่เลิกก็จะกลาย เป็นปัญหาใหญ่มาก คุณอย่าลืมว่าการฆ่าฟันนั้นมักเริ่มต้นด้วยการด่าทอ”

 

ท้ายที่สุด ทุกฝ่ายจะต้องปรับโลกทัศน์ด้วย ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปมากแล้วและกำลังเปลี่ยนต่อไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการใช้สโลแกนง่ายๆ มาแก้ปัญหา แบบรักกันไว้เถิดหรือสโลแกนประเภทประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งอย่างเดียว มันไม่พอ หรือสโลแกนที่ว่าไม่รักชาติเท่ากับขายชาติ ก็ไม่พอเช่นกัน ยิ่งพูดถึงความเป็นชาติหรือผลประโยชน์แห่งชาติแบบลอยๆในยุคโลกไร้พรมแดนด้วยแล้ว คงต้องบอกว่าก่อปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ในชั่วโมงนี้สิ่งที่จะทำให้สังคมไทยยึดโยงกันได้อย่างต่อเนื่อง คือสภาพที่ทุกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองมีพื้นที่ และตัวเองได้รับความเป็นธรรม

 

                     “ปัญหาคือว่าถ้าพวกเขาไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ทันเวลาก็คงฉิบหายกันหมด คงตีกันไม่เลิกจนกว่าจะแหลกกันไปข้างหนึ่ง หรือแหลกกันหมดทุกฝ่าย”

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: