สมช.ออก29เป้าหมายดับไฟใต้ ยัน3กรอบเดินหน้าทิศทางเดียว

มูฮำหมัด ดือราแม โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) 13 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1566 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรม ซี เอส ปัตตานี สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดประชุมสัมมนาเพื่อชี้แจงแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555 – 2557 โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน

 

นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ และชนต่างวัฒนธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ชี้แจงว่า ปัจจุบันกรอบในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 3 กรอบหลัก ๆ คือ หนึ่ง นโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา สอง นโยบายความมั่นคงแห่งชาติในระดับประเทศ ที่ทำโดย สมช. ซึ่งมีกรอบเวลา 5 ปี และดำเนินการต่อเนื่องโดยไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และสามคือ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 -2557 ซึ่งมีกรอบเวลา 3 ปี ซึ่งทั้งสามกรอบนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 -2557 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 และมีการนำเสนอให้รัฐสภาอภิปราย ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2555 นับว่าเป็นนโยบายฉบับแรก ที่เป็นนโยบายเฉพาะ ที่ได้มีการนำเข้าอภิปรายในรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

 

นายดนัยกล่าวว่า จากนโยบายดังกล่าวซึ่งมีวัตถุประสงค์ 9 ข้อ ได้มีการจัดทำเป้าหมายร่วมระหว่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งมีทั้งหมด 29 ข้อ

 

พ.อ.สิทธิ ตระกูลวงศ์ หัวหน้าแผนกนโยบายและแผน ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กอ.รมน. กล่าวว่า กลไกหลักในการแก้ปัญหาในพื้นที่มี 3 ขา คือ กอ.รมน., ศอ.บต. และหน่วยงานส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาต่างก็มีนโยบายของตัวเอง และต่างคนต่างทำ เดินไปคนละทาง แต่วันนี้มีการกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมกันแล้ว ขณะนี้ในระดับนโยบายมีความเป็นหนึ่งกันแล้ว

 

กอ.รมน.ได้นำเอาเป้าหมายร่วม 29 ข้อ มาจัดทำเป็น 5 แนวทางขับเคลื่อน ซึ่งได้แก่ 1.ทำพื้นที่เขตเมืองให้มีความปลอดภัย 2.กระตุ้นการลงทุน เพื่อให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อให้มีการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งควรจะให้โอกาสกับทุนภายใต้ก่อน 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  4.การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ โดยสนับสนุนการกระจายอำนาจซึ่งอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นและเปิดเวทีให้ผู้มีความเห็นต่างจากรัฐให้เข้ามาพูดคุย และ 5.ป้องกันการยกระดับสู่สากล โดยการป้องกันมิให้เกิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

ด้าน นายประสิทธ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวยังไม่ตรงประเด็นกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขอเสนอให้ระบุให้ตรงประเด็นว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มบีอาร์เอ็น และจะต้องจัดระบบการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกัน ระหว่างระดับนโยบายและปฏิบัติ ต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปฎิบัติมีความมุ่งมั่นและรู้สึกว่าตรงประเด็นกับปัญหาในพื้นที่

 

การขับเคลื่อนนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ไปสู่การปฏิบัติ

 

 

 

 

29 เป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมของแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ได้แก่

 

1.พื้นที่เศรษฐกิจในเมืองสำคัญ และสถานที่ชุมชนสาธารณะ ปลอดพ้นจากเหตุการณ์รุนแรง

2.หมู่บ้าน/ชุมชนที่เป็นพื้นที่เขตอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ลดจำนวนลงในพื้นที่เดิม และไม่เพิ่มในพื้นที่ใหม่

3.ศาสนสถาน ศาสนบุคคล และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการคุ้มครอง ปลอดพ้นจากเหตุรุนแรง

4.เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมาย และผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

5.คดีหรือเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยของประชาชน และต่างประเทศ ได้รับการเร่งรัดและนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยทันที

6.การดำเนินคดีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ ทั้งกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานที่รัดกุมและโปร่งใส ผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย

7.กระบวนการยุติธรรมทางเลือกได้รับการสนับสนุนโดยให้ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาและชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้ง

8.ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ได้รับการเยียวยาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นรวมทั้งลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงตลอดจนสร้างความไว้วางใจ

9.ประชาชนมีความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงในพื้นที่ผ่านเวทีการสื่อสารที่ส่งเสริมการพูดคุยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

10.จำนวนกลุ่มเป้าหมายมีองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางและทักษะการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี

11.การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นไปอย่างต่อเนื่องมั่นคงสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ วิถีชีวิต ตรงกับความต้องการของประชาชน และมีผลต่อการสร้างอาชีพและการกระจายรายได้ที่ทั่วถึงให้กับประชาชน ส่งผลให้อัตราการว่างงานในระดับหมู่บ้านลดลงอย่างต่อเนื่อง

12.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยี ศักยภาพแรงงาน ทั้งต้นน้ำ ปลายน้ำ ครอบคลุมทั้งพื้นที่ในประเทศและรอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

13.สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนได้รับการพัฒนาคุณภาพของหลักสูตรการศึกษาและครูทั้งสายสามัญและศาสนาอย่างครบถ้วน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเทียบเท่ามาตรฐานกลางของประเทศ

14.เด็ก เยาวชน และผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้รับความรู้ การเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ โดยพัฒนา/สร้างแหล่งเรียนรู้และสนับสนุนระบบการศึกษานอกโรงเรียน

15.ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับหลักประกันการมีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเพื่อการดำรงชีพและการสร้างรายได้ที่พอเพียงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

16.ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเต็มประสิทธิภาพประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย ปฏิบัติตามประเพณีและศาสนา

17.เป็นพลังสร้างสรรค์สังคมพหุวัฒนธรรมและเป็นที่ยอมรับของสังคมทั้งภายนอกและภายใน

18.การฟื้นฟู อนุรักษ์ รักษาอัตลักษณ์ทางภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่มีเพิ่มขึ้น

19.เด็กและเยาวชน มีความรู้ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษามลายูถิ่น ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับการศึกษา

20.ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักการศึกษา มีบทบาทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนเพิ่มขึ้น

21.ประชาชนได้รับข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในเชิงสร้างสรรค์

22.ประเด็นปัญหา จชต. ไม่ถูกหยิบยกเป็นวาระระหว่างประเทศ อาทิ เวทีขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และสหประชาชาติ

23.ประชาชนในโลกมุสลิมและต่างประเทศมีความเข้าใจและสนับสนุนการพัฒนา รวมทั้งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยอาศัยความร่วมมือของประชาคมอาเซียนและกิจการฮัจญ์

24.หน่วยงานของรัฐมีประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกการจัดพื้นที่และกระบวนการสื่อสาร พูดคุย เพื่อลดและป้องกันการขยายตัวของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนและระหว่างประเทศกับประชาชนเพิ่มขึ้น

25.จำนวนเวทีส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการพูดคุยระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการแสวงหารูปแบบการกระจายอำนาจที่สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทและส่วนร่วมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีมากขึ้น

26.ผู้มีความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ต่างจากรัฐ มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลได้รับหลักประกันความปลอดภัยจากรัฐอย่างทั่วถึง

27.กลไกขับเคลื่อนการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ

28.ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำนโยบายยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติและการติดตามประเมินผล

29.เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องมีความเข้าใจนโยบายและยุทธศาสตร์ไปในทิศทางเดียวกัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: