เตือนรับมือไวรัสเอนเทอโร 71 ระวัง'โรคมือเท้าปาก'จากกัมพูชา

สุมาลี ประทุมนันท์ ศูนย์ข่าว TCIJ 13 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2714 ครั้ง

 

จากข่าวการเสียชีวิตของเด็กเล็กในประเทศเขมร 61 คนที่ป่วยด้วยอาการไข้สูง ปวดหน้าอกรุนแรง และมีอาการทางสมองร่วมด้วย จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ อย่างไรก็ตามนักวิชาการสาธารณสุขออกมาให้ข้อมูลว่า อาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากเชื้อโรคที่มีชื่อว่า เอนโทโรไวรัส 71 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ น.พ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อจากเชื้อไวรัส กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และการศึกษาของหลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เพื่อหารายละเอียดเกี่ยวกับเชื้อโรคนี้ รวมทั้งแนวทางป้องกันรักษาต่าง ๆ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ 

 

น.พ.ประเสริฐเล่าให้ฟังว่า เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 นั้นอยู่ในธรรมชาติ โดยมีรายงานการเกิดโรคจากเชื้อโรคนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก แต่พบมากในแถบเอเชียแปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย บรูไน จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลี สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยพบการระบาดในมาเลเซียปี 2540 ไต้หวัน ปี 2541 สิงคโปร์ ปี 2543 และในปี พ.ศ.2552 มีการระบาดในประเทศจีน โดยพบผู้ป่วยจากเชื้อโรคนี้ 1.1 ล้านราย ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง 13,810 ราย และเสียชีวิต 353 ราย  และปี 2554 พบการระบาดของโรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสในประเทศเวียดนาม มีผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 23,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 70 ราย และล่าสุดคือในประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีรายงานจากการศึกษาในประเทศนอร์เวย์ พบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่ไม่แสดงอาการในชุมชนด้วย

 

น.พ.ประเสริฐระบุว่า ประเทศในเขตร้อนชื้น สามารถเกิดโรคนี้ได้ แบบประปรายตลอดปี พบมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ซึ่งอากาศ เย็นและชื้น สำหรับประเทศไทยตรวจพบเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ในผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ในปี พ.ศ.2541 จากนั้นจึงเริ่มมีการเฝ้าระวัง รายงานและสอบสวนผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อโรคนี้อย่างต่อเนื่อง  โดยระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 มีรายงานผู้ป่วยต่อเนื่องตลอดทั้งปี มักพบผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนต่อกับต้นฤดูฝน โดยมีผู้ป่วยสูงสุดในเดือนมิถุนายน ยกเว้นปี พ.ศ.2550 ที่พบว่ามีผู้ป่วยสูงขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน สูงสุดในเดือนธันวาคม จากนั้นลดลงจนกลับมาเป็นปกติในเดือนมีนาคมของปีถัดไป เป็นการระบาดคร่อมปี โรคนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคเหนือ มีเด็กเล็กก่อนวัยเรียนเสียชีวิตจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 รวม 6 ราย โดยมีอาการก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อ และปอดอักเสบ และการหายใจล้มเหลว  สาเหตุที่เกิดมากในเด็กเล็กนั้น นพ.ประเสริฐให้ข้อมูลว่า เพราะเด็กเล็กไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีมากพอ ประกอบกับผู้ดูแลทั้งในครอบครัวและโรงเรียนยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้น้อย

 

สำหรับอาการของโรคนั้น ข้อมูลจากสำนักโรคอุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้รายละเอียดว่า มีหลายลักษณะและจากเชื้อโรคหลายชนิด คือ โรคแผลในคอหอย เกิดจากเชื้อไวรัสคอกแซกกี เอ 1-10, 16 และ 22 เป็นโรคที่เกิดลักษณะเฉียบพลันแต่หายได้เอง โดยทั่วไปจะมีไข้ เจ็บคอ มีตุ่มพองใสขนาด 1-2 มิลลิเมตร มีสีแดง กระจายอยู่บริเวณคอหอย และตุ่มพองใสจะขยายกลายเป็นแผลคล้ายแผลร้อนใน โดยมากพบที่บริเวณด้านหน้าของต่อมทอนซิล เพดานปาก ลิ้นไก่ และต่อมทอนซิล และมักเป็นอยู่นาน 4-6 วัน

 

หลังเริ่มมีอาการ มีรายงานพบว่า อาจพบอาการชักจากไข้สูงร่วมได้ร้อยละ 5 แต่ไม่มีรายงาน ผู้เสียชีวิต  โรคมือ เท้า ปาก โรคนี้ต่างจากโรคแผลในคอหอย เกิดจากเชื้อไวรัสคอกแซกกี เอ 16 เป็นส่วนใหญ่ พบน้อยที่เกิดจากเอนเทอโร ไวรัส 71 โดยลักษณะแผลในปากค่อนข้างกระจายกว้างในช่องปาก กระพุ้งแก้ม และเหงือก รวมทั้งด้านข้างของลิ้น ลักษณะตุ่มพองใสอาจอยู่นาน 7 - 10 วัน และ มีผื่นหรือตุ่มพองใสเกิดที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ  และฝ่าเท้า หรือบริเวณก้น โดยทั่วไปหายได้เอง พบน้อยมากที่ทำให้เด็กทารกเสียชีวิต โรคคออักเสบมีต่อมนํ้าเหลืองโต โรคนี้แตกต่างจากโรคแผลในคอหอย มักมีสาเหตุจาก เชื้อคอกแซกกี เอ 10 ส่วนเอนเทอโรไวรัสตัวอื่นๆ โดยลักษณะแผลที่ค่อนข้าง แข็ง นูน กระจาย มีตุ่มก้อนสีขาวหรือเหลืองขนาดประมาณ 3 - 6 มม. อยู่บนฐานรอบสีแดง และพบมากบริเวณลิ้นไก่ ด้านหน้าต่อมทอนซิล และคอหอยด้านหลัง แต่ไม่พบผื่นหรือตุ่มพอง

 

ในประเด็นเรื่องการรับมือกับโรคนี้นั้น น.พ.ประเสริฐเล่าว่า ตนเองไม่กังวลมากนัก เพราะประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ชัดเจนคือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งมีแพทย์และนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องนี้และสนใจติดตามกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน

 

อย่างไรก็ตาม น.พ.ประเสริฐระบุว่า สิ่งที่สังคมไทยควรทำมากที่สุดคือ การเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการเฝ้าระวังที่ระดับปลายทาง ซึ่งคือ พื้นที่และชุมชน โดยต้องรีบแจ้งสถานการณ์และลักษณะของโรคให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทราบทันทีเมื่อพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ที่มีอาการรุนแรง และการระบาดของ โรคอย่างรวดเร็ว และต้องแยกเด็กที่มีไข้ที่สงสัยว่าติดเชื้อโรคนี้ ไม่ให้คลุกคลีกับเด็กปกติ ระมัดระวังการสัมผัสนํ้ามูก นํ้าลาย หรือสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วย และถ้าพบว่ามีผู้ป่วยในห้องเรียนเดียวกันมากกว่า 2 คน ควรปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษานั้นอย่างต่ำ 5 วัน เพื่อทำความสะอาดและลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค

 

เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน และการรักษาเน้นการรักษาตามอาการเป็นหลัก การป้องกันและควบคุมโรคจึงสำคัญมาก สำหรับแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคนั้น น.พ.ประเสริฐให้คำแนะนำว่า เบื้องต้นต้องลดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คน เช่น การลดความแออัด และการมีระบบถ่ายเทอากาศที่ดีภายในบ้าน โรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก กำจัดขยะ นํ้ามูก นํ้าลาย เสมหะ และสิ่งขับถ่ายของผู้ป่วยด้วยความระมัดระวัง สวมถุงมือ เครื่องป้องกัน ร่างกายที่เหมาะ สม และล้างมือด้วยนํ้าและสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัส

 

น.พ.ประเสริฐมองว่า การที่ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาหลายจังหวัด สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งทำคือการให้ความรู้กับทีมของท้องถิ่น ท้องที่ โดยเฉพาะส่วนสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถออกมาตรการเฝ้าระวังในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก

 

(อ่านรายละเอียดของโรคจากบทสัมภาษณ์)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: