ยกย่อง‘ปรีดี’เป็นผู้นำแก้ปัญหา ประนีประนอมลดขัดแย้งในสังคม

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 13 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3219 ครั้ง

 

กิจกรรมรำลึก 112 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้นำคณะราษฎร์ มีการจัดเสวนาหัวข้อ “ปรีดี พนมยงค์ กับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในชาติ” โดยรศ.ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตกุล

 

ยกหลักคิด‘ปรีดี’แก้ปัญหาความขัดแย้ง

 

ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ช่วงที่นายปรีดีมีบทบาททางการเมือง ได้เผชิญกับความขัดแย้งในสังคมหลายครั้ง แต่นายปรีดีมีแนวคิดหลักในการแก้ไขความขัดแย้ง 3 ประการ ได้แก่ 1.แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม เพราะแนวคิดแบบขวาจัดทำให้เกิดปัญหากับผู้ใช้แรงงาน และคนส่วนใหญ่ของประเทศ

2.แนวคิดภราดรภาพนิยม มองว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน ปฏิเสธการแก่งแย่งแข่งขันอย่างไร้ขอบเขต และ 3.กฎแห่งธรรม ที่แสดงให้เห็นว่า การกระทำของเราจะมีผลกระทบต่อผู้อื่นทั้งแง่ดีและแง่ร้าย จึงต้องมีอะไรกำกับ อาทิ กฎหมายปัจจุบัน กรณีอากง กรณีมาตรา 112 การแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นปากท้องเศรษฐกิจ หรือปัญหามลพิษ ก็ควรนำหลักภราดรภาพมาใช้ หากจำเป็นต้องปะทะแตกหักกันก็ต้องแตกหักโดยที่ไม่มีความรุนแรง

 

              “ผู้นำของทั้งสองขั้ว ความขัดแย้งต้องมีความเสียสละ ประนีประนอมในสิ่งที่ประนีประนอมได้ อันไหนยอมไม่ได้ให้ยึดหลักประชาธิปไตย เอาเสียงส่วนใหญ่มาตัดสิน แต่เสียงส่วนใหญ่ต้องไม่ละเมิดเสียงข้างน้อย โดยพื้นฐานเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ รู้จักปล่อยวาง เข้าใจความเป็นความอนิจจังของระบบการเมือง เศรษฐกิจ ก็จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ในอนาคต หวังว่าชนนั้นนำจะตระหนักว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว และควรเริ่มต้นเรื่องการปฏิรูปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ก่อนที่จะมีการปฏิวัติอย่างรุนแรง”

ยึดหลักพี่น้องร่วมชาติในการปรองดอง

 

 

ส่วนประเด็นที่นายปรีดีเคยทำไว้เกี่ยวกับการปรองดองโดยยึดหลักภราดรภาพ ประชาชนทุกคนเป็นเหมือนพี่น้องร่วมประเทศ ร่วมชาติ เป็นแนวคิดในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกัน ประเด็นที่แตกหักแต่ไม่รุนแรง หมายความว่า เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ไม่สามารถหาตัวกลางระหว่างกัน ในการแก้ไขปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องแตกหัก แต่ไม่รุนแรง

ดร.อนุสรณ์กล่าวด้วยว่า คนที่จะเข้าไปแก้ไขความขัดแย้ง ในฐานะเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ รวมถึงมีจุดยืนที่แสดงตัวชัดเจนว่า อยู่ฝ่ายไหนของความขัดแย้ง เพราะบางอย่างไม่สามารถประนีประนอมได้ ต้องปะทะแตกหักและเกิดพัฒนาการ เราต้องปะทะแตกหักโดยไม่มีความรุนแรง เรื่องประเด็นการปรองดองคิดว่า คนที่มีแนวคิดประชาธิปไตยไม่สามารถปรองดองกันได้ กับคนที่มีแนวคิดเผด็จการ หรือไม่สามารถปรองดองกันได้ระหว่างคนที่ไม่ยึดถือคุณธรรม กับคนที่ยึดถือคุณธรรม

 

 

วิเคราะห์ช่วงชีวิต ‘ปรีดี’ เผชิญความขัดแย้ง 9 เรื่อง

 

 

ด้านดร.นครินทร์กล่าวว่า มองว่าการใช้วิธีคิด หรือสนใจประวัติศาสตร์มากเกินไปจะนำไปสู่ความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัญหาอยู่ที่การนิยามปัญหา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในชาติอย่างไร คิดว่าเรื่องนี้ต้องชี้แจง ตนมองว่า ความขัดแย้งภายในชาติ เกิดขึ้นต้องมีคน 2 ฝ่าย 3 ฝ่าย 4-6 ฝ่ายอย่างมาก ที่มีความเห็นไม่ตรงกัน เกิดการปะทะกัน โดยอะไรก็ตาม ถ้าเป็นการปะทะกันทางความคิด การกระทำ การเคลื่อนไหวก็ไม่ถือเป็นความขัดแย้ง แต่คิดว่าความขัดแย้งเป็นเหตุการณ์ปกติ ถ้ามองในกรอบหยาบๆ คิดว่าในช่วงชีวิตของนายปรีดีจะเผชิญความขัดแย้งอยู่หลักๆ 9 เรื่องคือ

 

1.ประการแรก กรณีการคิดก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2475 เพราะเพียงแค่คิดก็ก่อให้เกิดความขัดแย้ง มีทั้งคนที่คิดจะทำและไม่ทำ ถือเป็นปัญหาที่พัวพันกับตัวนายปรีดีมาโดยตลอด การร่างประกาศคณะราษฎร์ ฉบับที่ 1 ที่พิมพ์แจกจ่ายทั่วกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดทั้งคนชื่นชม ยินดี และตัดพ้อต่อว่า ทำให้เกิดความขัดแย้งในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 นำไปสู่การขัดแย้ง และมีบันทึกจากเอกสารทางการทูตญี่ปุ่น ที่ระบุถึงการเจรจาต่อรอง 1 วันเต็มๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หนักหน่วงมาก ท้ายที่สุดก็มีการลงพระปรมาภิไธยเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว คิดว่านายปรีดีแก้ไขความขัดแย้งด้วยการประนีประนอม

“อาจารย์ปรีดีคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงยอมประนีประนอม เพราะคิดว่ายังมีเรื่องใหญ่รออยู่ข้างหน้า”

 

2.ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากเค้าโครงทางเศรษฐกิจ หรือสมุดปกเหลือง มีการต่อสู้ในการพิจารณาคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ แต่นายปรีดีนำเรื่องนี้เข้าสู่สภาและช่วงชิงกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ชิงปิดสภาไม่ให้มีการประชุม นายปรีดีตัดสินใจปล่อยวาง ไม่ผลักดันเค้าโครงเศรษฐกิจ ถือว่าวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคือการปล่อยวาง ซึ่งอาจจะคิดว่าทำเศรษฐกิจเล็กๆ เป็นส่วนๆ ไป

3.ความขัดแย้งเรื่องกบฏบวรเดช  มีคนถูกจับกุมทั้งหมดเกือบ 700 คน นายปรีดีผลักดันแก้ปัญหานี้ โดยนำเรื่องเข้าสภา ซึ่งเกิดความวุ่นวายมาก เพราะคนที่ถูกจับต่างเป็นข้าราชการ นายทหารชั้นสูง มีการวิ่งเต้นต่างๆ มากมาย นายปรีดีมีส่วนแก้ไขปัญหานี้คือ การออกพ.ร.บ.ป้องกันรัฐธรรมนูญ จัดตั้งศาลพิเศษทางการเมือง ถือเป็นครั้งแรกในปี 2476 เป็นศาลฎีกา ศาลเดี่ยวซึ่งในสมัยนั้นรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงรัฐบาล ไม่อยากให้มีการจัดตั้งศาลพิเศษ แต่จะให้พระราชทานอภัยโทษ แต่รัฐบาลขณะนั้นต้องการให้ความจริงปรากฏ ฉะนั้นการตัดสินขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องเกิดขึ้นหลังจากมีการขึ้นศาลและยอมรับโทษ ข้อสรุปเรื่องนี้มีการกลั่นกรองหลายชั้น และท้ายที่สุดมีคนติดคุกจริงๆเพียง 200 คน และผู้เกี่ยวข้องให้ออกจากราชการ

 

แก้ปัญหา-เสียสละเพื่อลดความขัดแย้ง

 

4.การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ถือเป็นเรื่องขัดแย้ง และไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับการเมืองไทย สำหรับเรื่องนี้นายปรีดี ปล่อยวางและปล่อยให้เป็นไปตามราชประเพณี และตามรัฐธรรมนูญ เข้าช่องทางรัฐสภา 

5.ความขัดแย้งเรื่องญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 หลังจากญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานในการต่อสู้ เรื่องนี้มีความขัดแย้งมากมีทั้งฝ่ายที่เชียร์และต่อต้าน ทำให้บริษัทต่างชาติที่บริหารงานโดยฝรั่งหนีการลงทุนหมด สงครามเต็มไปด้วยโอกาสของพ่อค้า เรื่องนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เรื่องนี้นายปรีดีเสียสละ โดยการตั้งเสรีไทย คิดว่านายปรีดีเสียสละ อยู่ในภาวะที่สีเทาคลุมเครือ ที่ต้องใช้กำลังเผชิญหน้ากับหลายฝ่าย ญี่ปุ่นได้บันทึกข้อมูลแสดงความยินดี ที่รัฐบาลเสรีไทยให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น ได้ดีกว่ารัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ในช่วงปลาย

6.ความขัดแย้งเรื่องความเป็นอิสระของประเทศเพื่อนบ้าน หลายภูมิภาคมีการแบ่งแยกดินแดน และอยากให้มีการใช้กฎหมายในการปกครองตนเอง เช่น ภาคใต้ใช้กฎหมายอิสลามในการปกครองตนเอง โดยการจัดตั้ง South East  Asian Lead ความเสียสละเหล่านี้ของนายปรีดี นำไปสู่ข้อครหานินทามากมาย ในการช่วยเหลือคอมมิวนิสต์

7.กรณีสวรรคต ของรัชกาลที่ 7 คิดว่านายปรีดีมีความเสียสละ ในการเป็นผู้นำสูงสุดในการสอบสวนจนกระทั่งตลอดชีวิตของนายปรีดี

8.ความขัดแย้งในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2485 โดยมองว่า รัฐธรรมนูญปี 2475 เป็นรัฐธรรมนูญกึ่งประชาธิปไตย ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ นายปรีดีจึงลงไปจัดการ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะนายปรีดีใช้วิธีการจัดการกับปัญหานี้ ด้วยกฎหมาย

9.ความขัดแย้งกรณีกบฏวังหลวง มีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ และมีเหตุการณ์ล้มตายอย่างต่อเนื่อง มีความขัดแย้งทำให้นายปรีดีเสียสละออกจากประเทศไทย ไม่เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกเลย แม้ว่าจะกลับมาได้ แต่ไม่อยากกลับมา เนื่องจากจะทำให้ลูกศิษย์มิตรสหายเดือดร้อน

 

“แน่นอนว่า นายปรีดี พนมยงค์ กับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในชาติ มีอยู่หลายส่วน หลายแพทเทิร์น ส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งหนึ่งคือการเสียสละ เสียสละตนเอง ชีวิต ร่างกาย แรงงานรวมถึงเสียสละชีวิตครอบครัวด้วย อีกส่วนหนึ่งคือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการประนีประนอม ปล่อยวาง ผมคิดว่านายปรีดีเป็นนักคิดมากมาย เป็นนักคิดของสังคมไทยคนหนึ่ง และแต่ละเรื่องก็ได้ทำอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนที่ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่องคือ ท่านปล่อยวางเพราะอาจจะมีเรื่องอื่นมากกว่านั้น เราจะคิดทุกเรื่อง ทำทุกเรื่องไม่ได้ “ ดร.นครินทร์กล่าว

‘ชาญวิทย์’ติงชื่นชมสรรเสริญต้องมองสองด้าน

 

ด้านนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมหลังจากการเสวนาว่า อยากให้มองประเด็นนี้เหมือนเหรียญสองด้าน ในการสรรเสริญเมื่อพูดด้านบวกเกี่ยวกับนายปรีดี ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในชาติ คิดว่ายังไม่ครบถ้วน คิดว่า นายปรีดีคงเป็นคนที่เมื่อถึงเวลาแตกหักก็ต้องแตกหักเช่นเดียวกัน เราไม่น่าจะมองเฉพาะด้านปรองดอง เสียสละ และอุเบกขา กรณีกบฏวังหลวง เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ในแง่วิชาการยังมีการศึกษาไม่เพียงพอ สิ่งที่ตามมาจากกบฏวังหลวง เกิดผลพวงมาจากความขัดแย้งมากมาย

 

แนะผู้นำขั้วสีต่างๆต้องเสียสละ

 

ขณะที่นายอนุสรณ์กล่าวปิดการเสวนาว่า ความขัดแย้งทางการเมือง หากไม่พิจารณาเฉพาะความขัดแย้งเฉพาะบุคคล จะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างคือ ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้ระบบเศรษฐกิจศักดิ์นาถดถอยลงมีแรงกดดันจากภายนอก การผูกขาดเศรษฐกิจโดยราชสำนักถูกลดทอนลง ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมไทยเริ่มเปลี่ยน ระบบเศรษฐกิจไทยเริ่มเปลี่ยนเป็นระบบทุนนิยมมากขึ้น ถือเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญนำมาสู่โครงสร้างส่วนบน นำไปสู่ระบบโครงสร้างส่วนบน ระบบการเมือง วิธีคิด วัฒนธรรม กฎหมาย สังคม ในเมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยน แต่รัฐรวมศูนย์ ในขณะที่ระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีการร่างรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง

การรัฐประหารกว่า 10 ครั้ง ถือว่าเป็นประชาธิปไตย ที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ระบบการเมืองในช่วงต่อไป จะพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น ระบบการผลิต เศรษฐกิจเปลี่ยนไปแล้ว แน่นอนว่าคนที่ยังยึดติดกับอะไรเดิมๆ หรือพลังอนุรักษ์นิยมไม่ยอมเปลี่ยนแปลง จึงอาจจะเกิดการปะทะกันระหว่างคนที่ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงกับคนที่ต้องการให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลง การปะทะกันจึงกลายเป็นเรื่องปกติ นำมาสู่การที่มีผู้นำที่เสียสละ

 

                      “ผู้นำของขั้วความขัดแย้งต่างๆ ต้องเสียสละประนีประนอมในสิ่งที่ประนีประนอมได้ แต่ถ้าสิ่งไหนที่ประนีประนอมไม่ได้ ก็ต้องยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นคนตัดสิน เพราะประเทศนี้เป็นของประชาชน ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นว่า ต้องการอย่างไรปัญหามันก็จะจบ โดยที่เสียงส่วนใหญ่จะไม่ไปละเมิดเสียงส่วนน้อย อยู่กันได้ด้วยกฎหมาย จึงถือว่าเกิดพลังการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นภาวะปกติ”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: